นครวัด

นครวัด (เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์) แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อน ๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยนครวัดถือเป็นจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่ของนักท่องเที่ยว

นครวัด
អង្គរវត្ត
นครวัด
มุมมองนครวัดจากสระเก็บน้ำ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562
นครวัดตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
นครวัด
สถานที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
ที่ตั้งเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
พิกัด13°24′45″N 103°52′01″E / 13.41250°N 103.86694°E / 13.41250; 103.86694
ค่าระดับความสูง65 m (213 ft)
ความเป็นมา
ผู้สร้างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
สร้างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12
วัฒนธรรมจักรวรรดิเขมร
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมเขมร (รูปแบบนครวัด)
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเมืองพระนคร
ประเภทวัฒนธรรม
เกณฑ์(i), (ii), (iii), (iv)
ขึ้นเมื่อค.ศ. 1992 (วาระการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 16)
เลขอ้างอิง668
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นครวัด
ภาพบริเวณลานระเบียงแห่งเกียรติยศ (Terrace of Honor) ในปี ค.ศ. 2019 ก่อนเข้าสู่ภายในนครวัด

นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม เช่น ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก

นครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดเสียมราฐขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในนาม "เมืองพระนคร (อังกอร์)" ใน ค.ศ. 1992

ประวัติ

นครวัด 
พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด

นครวัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐในปัจจุบัน ห่างออกไป 5.5 กิโลเมตรจากตัวเมือง แต่หากวัดจากเมืองหลวงก่อนหน้าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน นครวัดจะมีระยะห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนครวัดจะตั้งอยู่ทางทิศใต้เยื้องไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย และถือเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของบริเวณเมืองพระนคร

ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์ ตามบันทึกในช่วงคริสศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน

การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1113-1150) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ และเนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้างหรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาทได้ แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังการสวรรคตของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น ในปี 1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุรยวรรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจามที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร ภายหลังจึงมีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้นคือนครธมและปราสาทบายน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่น ๆ ในเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่าเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้

หนึ่งในชาวตะวันตกคนแรก ๆ ที่ได้พบเห็นนครวัดคือ แอนโตนิโอ ดา มาดาลีนา นักบวชชาวโปรตุเกส ผู้เดินทางมาถึงในปี 1586 และกล่าวเอาไว้ว่านครวัดคือ “สิ่งก่อสร้างที่น่าพิศวง ซึ่งไม่สามารถอธิบายมันออกมาผ่านปลายปากกาได้ ที่สำคัญคือ ปราสาทหลังนี้ไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างใด ๆ บนโลกนี้เลย ปราสาทมียอดหลายยอด มีการตกแต่ง และมีความวิจิตรที่มีเพียงคนอัจฉริยะเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้เช่นนี้”

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นครวัดไม่ได้ถูกทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวัดในศาสนาพุทธอยู่เช่นเดิม มีการค้นพบศิลาจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กว่า 14 หลักในบริเวณพื้นที่เมืองพระนคร ระบุถึงผู้แสวงบุญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แสวงบุญในศาสนาพุทธที่ได้มาตั้งชุมชนเล็ก ๆ ติดกับชาวเขมรท้องถิ่น โดยในตอนนั้นชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนนครวัดคิดว่าปราสาทแห่งนี้คือสวนของวัดเชตวันมหาวิหารอันเลื่องชื่อของพระพุทธเจ้า ซึ่งแท้จริงแล้วตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย โดยจารึกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือจารึกเรื่องราวของอูกนดายุ คาซูฟูสะ นักแสวงบุญผู้ได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เขมรที่นครวัดในปี ค.ศ. 1632

ภาพวาดบริเวณทางเดินหลัก (causeway) เข้าสู่ของนครวัด วาดโดย อ็องรี มูโอ เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1860
ภาพร่างปราสาทนครวัด วาดโดย หลุยส์ เดอลาปอร์ต เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1880

ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ปราสาทแห่งนี้ โดยมูโอได้ทำให้นครวัดเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านบันทึกการเดินทางที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา เขาได้เขียนไว้ว่า

หนึ่งในปราสาทเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นคู่ปรับกับวิหารโซโลมอน ถูกสร้างสรรค์โดยมีเกลันเจโลแห่งยุคโบราณ อาจจะเป็นสถานที่ที่น่ายกย่องพอ ๆ กับสิ่งก่อสร้างที่งดงามของพวกเรา ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด ๆ ที่กรีกหรือโรมันทิ้งเอาไว้ แต่ก็ช่างขัดแย้งอย่างน่าเศร้ากับดินแดนที่เสื่อมอำนาจจนกลายเป็นแดนป่าเถื่อนไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่พบเห็นนครวัด มูโอนั้นแทบจะไม่เชื่อว่าชาวเขมรจะสามารถสร้างปราสาทหลังนี้ได้ และได้กำหนดอายุสมัยของนครวัดเอาไว้อย่างผิดพลาด โดยระบุว่าน่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยเดียวกันกับกรุงโรม ประวัติที่แท้จริงของนครวัดได้รับจากเพียงแค่หลักฐานด้านรูปแบบการสร้างและจารึกที่ถูกรวบรวมขึ้นในระหว่างการเก็บกวาดและบูรณะพื้นที่ในช่วงหลังที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมดของเมืองพระนคร ในการบูรณะพื้นที่นั้นไม่มีการค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานหรือที่พักอาศัยทั่วไปเลย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบอาหาร อาวุธ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายซึ่งมักจะพบเจอในบริเวณเขตเมืองโบราณ แต่ถึงอย่างนั้น หลักฐานที่ค้นพบก็คือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนั่นเอง

ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นครวัดมีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชและกองดินเสียส่วนใหญ่ แต่งานบูรณะก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาและกองกำลังเขมรแดงก็ได้เข้ามาควบคุมประเทศตลอดในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ถึงทศวรรษที่ 1980 แต่ตลอดระยะเวลานั้น ตัวปราสาทก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก กองกำลังเขมรแดงที่ต้องพักแรมได้ใช้ไม้ทุกชนิดที่เหลืออยู่ในปราสาทเพื่อเป็นฟืน หนึ่งในโคปุระในพื้นที่นั้นถูกทำลายลงด้วยปลอกระเบิดของทหารฝั่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การยิงตอบโต้กันของกองกำลังเขมรแดงและทหารเวียดนามก็ได้สร้างร่องรอยกระสุนเล็กน้อยบนภาพสลักนูนต่ำ ความเสียหายที่รุนแรงกว่าเกิดขึ้นภายหลังสงครามยุติลง โดยเหล่าหัวขโมยงานศิลปะที่ปฏิบัติการกันนอกประเทศไทย ซึ่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้อ้างสิทธิ์ครอบครองพระเศียรแทบทุกชิ้นที่สามารถตัดออกจากส่วนพระศอทั้งจากประติมากรรมและจากงานบูรณะได้

ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศกัมพูชา และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่มีส่วนช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชามานับตั้งแต่ ค.ศ. 1863 ซึ่งเป็นธงรุ่นแรกที่ใช้ภาพของนครวัดบนตัวธง อย่างไรก็ตาม หากดูจากมุมมองทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติหรือแม้แต่ทางด้านประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้นก็จะพบว่านครวัดนั้นไม่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติกัมพูชาเพียงชาติเดียว แต่นครวัดยังถูกจดจำด้วยกระบวนการด้านวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดจากมรดกที่ตกทอดมาของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดแสดงปราสาทนครวัดที่จำลองไว้ในนิทรรศการของอาณานิคมฝรั่งเศสที่ปารีสและมาร์แซย์ระหว่างปี ค.ศ. 1889 ถึงปี ค.ศ. 1937 และความงดงามของนครวัดยังถูกจัดแสดงในรูปแบบแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่พิพิธภัณฑ์ของหลุยส์ เดอลาปอร์ตที่ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งตรอกาเดโร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในวังพาริเซิน ตรอกาเดโล ให้ชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมในความเกรียงไกรของการแผ่ขยายอาณานิคมของตนตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1880 ถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 20

ตำนานเกี่ยวกับความงามด้านศิลปะของนครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตเมืองพระนคร ได้ส่งผลโดยตรงต่อการที่ฝรั่งเศสเลือกประเทศกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1863 และเริ่มบุกรุกสยาม เพื่อหวังเข้ามาควบคุมและจัดการโบราณสถานต่าง ๆ การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คืนจากการครอบครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดินแดนดังกล่าวได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยามมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1351 หรือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1431 ตามที่บันทึกบางชิ้นได้อ้างถึงกัมพูชาได้รับอิสรภาพคืนจากฝรั่งเศสในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 และได้เข้ามาดูแลปราสาทนครวัดมานับแต่นั้นเป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงช่วงที่นครวัดได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกใน ค.ศ. 1992 ตัวปราสาทนครวัดนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างแห่งยุคสมัยใหม่ และช่วยเผยแพร่แนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ได้มีการประกาศว่าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้ค้นพบกลุ่มซากปราสาทฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน โดยคาดว่ามีการสร้างและพังทลายลงในช่วงการก่อสร้างนครวัดเช่นเดียวกับป้อมปราการที่ทำจากไม้และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทางทิศใต้ที่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของการสร้าง การค้นพบครั้งนี้ยังรวมไปถึงการค้นหลักฐานเรื่องการตั้งถิ่นที่อยู่ของผู้คนที่ไม่ได้หนาแน่นนัก รวมไปถึงการตัดถนนแบบตาราง สระน้ำ และคันดิน ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณของปราสาทที่แม้จะมีการล้อมอาณาเขตด้วยคูน้ำและกำแพงนั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่ถูกจำกัดเอาไว้ให้คนชนชั้นสูงที่เป็นนักบวชเพียงอย่างเดียวดังที่เคยสันนิษฐานไว้ในตอนแรก ทีมวิจัยยังได้ใช้ไลดาร์ ให้สัญญาณเรดาร์ทะลุทะลวงลงไปในพื้นดินและพื้นที่ขุดค้นที่สนใจเพื่อทำแผนที่ของนครวัดขึ้น

สถาปัตยกรรม

ผังของนครวัด
ผังโดยรวมของนครวัดซึ่งมีการสร้างปราสาทไว้ตรงจุดศูนย์กลาง
ผังของปราสาทโดยละเอียด

ที่ตั้งและผัง

นครวัด 
ภาพนครวัดจากมุมสูง

นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นด้วยการรวมเอาลักษณะการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (แบบแผนของการออกแบบปราสาทของอาณาจักร) เข้ากับแบบผังของอาคารในสมัยหลังที่มีการทำระเบียงคดล้อมจุดศูนย์กลาง การก่อสร้างนครวัดยังได้บ่งบอกให้ทราบว่าปราสาทยังมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับท้องฟ้าเนื่องด้วยองค์ประกอบบางส่วนของตัวปราสาท นัยยะดังกล่าวคือในบริเวณด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งระเบียงภายในได้มีการออกแบบให้เชื่อมต่อเข้าหากันโดยปราศจากสิ่งกำบัง ส่งผลให้ปราสาททั้งสองทิศตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นช่วงวันอายัน ปราสาทแห่งนี้คืออาคารที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยปรางค์ประธานตรงกลางทั้งห้านั้นเป็นสัญลักษณ์แทนถึงยอดห้ายอดของภูเขา ส่วนกำแพงแต่ละชั้นและคูน้ำนั้นก็แทนถึงเขาสัตบริภัณฑ์และมหาสมุทร แต่เดิมพื้นที่ส่วนบนของปราสาทนั้นถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงมาโดยตลอด ผู้ที่เป็นฆราวาสจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่บริเวณส่วนล่างของปราสาทเท่านั้น

นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทเขมรหลังอื่นในเรื่องของการวางทิศประธานที่หันไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นทิศตะวันออก ความต่างนี้ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมไปถึงมอริส เกรซ และ ยอร์ช เซเดส์) ออกมาสรุปว่าพระเจ้าสุริยวรรมันนั้นประสงค์ที่จะสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นให้เป็นปราสาทที่เก็บพระบรมศพของพระองค์ แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จากการศึกษาภาพสลักนูนต่ำที่เรียงลำดับเรื่องราวในทิศทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งต่างไปจากเทวสถานฮินดูทั่วไป โดยพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ในพิธีพระบรมศพก็ยังจัดขึ้นแบบย้อนลำดับอีกด้วย นักโบราณคดี ชาร์ล ไฮแฮม ยังได้อธิบายถึงภาชนะชิ้นหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ โดยภาชนะนี้ถูกขุดขึ้นมาจากปรางค์ประธานตรงกลาง โดยบุคคลบางกลุ่มได้เสนอแนวคิดที่ว่าปรางค์ประธานตรงกลางนั้นเหมาะสมที่สุดในการทำพิธีจัดการกับพระบรมศพ เพราะเชื่อกันว่าเปรียบเสมือนศูนย์รวมของพลังอำนาจทั้งปวง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนได้ระบุว่าปราสาทหลายหลังในเมืองพระนครเองก็ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียมเสียหมด และได้เสนอว่าการที่นครวัดมีการวางทิศเช่นนี้ก็เพราะปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตก

เอเลนอร์ แมนนิกกาได้นำเสนอการตีความนครวัดในแบบที่แตกต่างออกไป โดยได้วิเคราะห์จากการวางทิศ มิติของอาคาร และจากลำดับการเล่าเรื่องและเนื้อหาของภาพสลักนูนต่ำ เธอได้แย้งว่า ปราสาทแห่งนี้ได้อ้างถึงยุคสมัยใหม่แห่งความสงบสุขในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 โดยได้ระบุว่า “เนื่องจากมีการคำนวณวงจรเวลาการขึ้นของพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนครวัด ภาพเทพเทวดาผู้อยู่ในอาณัติของการปกครองจึงได้ปรากฏอยู่บนตัวเรือนธาตุและเฉลียง สื่อความหมายถึงปกปักษ์ให้อำนาจของกษัตริย์เป็นนิจนิรันดร เป็นการเฉลิมพระเกียรติและสร้างความสงบแก่เหล่าเทวดาที่ประทัพอยู่บนสรวงสวรรค์” ข้อเสนอของแมนนิกกานั้นได้มอบทั้งความสนใจและข้อแคลงใจในแวดวงวิชาการ เธอได้ฉีกหนีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการคนอื่น ๆ เช่น แกรแฮม แฮนคอก ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่านครวัดนั้นคือสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงกลุ่มดาวมังกร

รูปแบบ

นครวัด 
ภาพนครวัดจากมุมมองด้านข้าง

นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม

ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่น ๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา”

งานประติมากรรม

ทางด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราววรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปแกะสลักการกวนเกษียรสมุทร มีรูปแกะสลักนางอัปสรมากกว่า 1,796 นาง ที่ทั้งหมดมีเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ไม่ซ้ำกัน

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Albanese, Marilia (2006). The Treasures of Angkor (Paperback). Vercelli: White Star Publishers. ISBN 88-544-0117-X.
  • Briggs, Lawrence Robert (1951, reprinted 1999). The Ancient Khmer Empire. White Lotus. ISBN 974-8434-93-1.
  • Forbes, Andrew; Henley, David (2011). Angkor, Eighth Wonder of the World. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN: B0085RYW0O
  • Freeman, Michael and Jacques, Claude (1999). Ancient Angkor. River Books. ISBN 0-8348-0426-3.
  • Higham, Charles (2001). The Civilization of Angkor. Phoenix. ISBN 1-84212-584-2.
  • Higham, Charles (2003). Early Cultures of Mainland Southeast Asia. Art Media Resources. ISBN 1-58886-028-0.
  • Hing Thoraxy. Achievement of "APSARA": Problems and Resolutions in the Management of the Angkor Area.
  • Jessup, Helen Ibbitson; Brukoff, Barry (2011). Temples of Cambodia - The Heart of Angkor (Hardback). Bangkok: River Books. ISBN 978-616-7339-10-8.
  • Petrotchenko, Michel (2011). Focusing on the Angkor Temples: The Guidebook, 383 pages, Amarin Printing and Publishing, 2nd edition, ISBN 978-616-305-096-0
  • Ray, Nick (2002). Lonely Planet guide to Cambodia (4th edition). ISBN 1-74059-111-9.

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

นครวัด ประวัตินครวัด สถาปัตยกรรมนครวัด งานประติมากรรมนครวัด ระเบียงภาพนครวัด อ้างอิงนครวัด บรรณานุกรมนครวัด แหล่งข้อมูลอื่นนครวัดจักรวรรดิขแมร์ธงชาติกัมพูชาประเทศกัมพูชาพระวิษณุพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2ภาษาเขมรยโศธรปุระลัทธิไศวะศาสนาพุทธศาสนาฮินดูเมืองพระนคร

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

จังหวัดเชียงรายมณี สิริวรสารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)วรันธร เปานิลอำเภอชา อึน-อูพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโหราศาสตร์ไทยอิสระ ศรีทะโรคณะองคมนตรีไทยอมีนา พินิจสโมสรฟุตบอลวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีบาท (สกุลเงิน)สมณะโพธิรักษ์พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์เจสัน สเตธัมไทใหญ่วรกมล ชาเตอร์ราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีนภรภัทร ศรีขจรเดชาวัชรพล ประสารราชกิจสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดบีบีซี เวิลด์นิวส์พฤษภาคมพัชรวาท วงษ์สุวรรณหน้าไพ่ฟุตบอลโลก2ราณี แคมเปนไตรลักษณ์จังหวัดจันทบุรีประเทศลาวอริยบุคคลศาสนาฮินดูระบบสุริยะกันต์ กันตถาวรธัชทร ทรัพย์อนันต์เอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยคณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์หอแต๋วแตก (ภาพยนตร์ชุด)จังหวัดตากสโมสรฟุตบอลการท่าเรือประเทศรัสเซียก็อตซิลลาลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุลทุเรียนบรรดาศักดิ์ไทยฟุตซอลโลก 2016หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลศาลยุติธรรม (ประเทศไทย)ภาคใต้ (ประเทศไทย)วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์รายชื่อตัวละครในยอดนักสืบจิ๋วโคนันเซเรียอา ฤดูกาล 2023–24เพลิงพรางเทียนยูโรมหาวิทยาลัยรังสิตรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยป๊อกเด้งชนิกานต์ ตังกบดีสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ดธนาคารแห่งประเทศไทยสล็อตแมชชีนกูเกิล แผนที่ภาคตะวันตก (ประเทศไทย)พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรพัฒน์ชัย ภักดีสู่สุขโรนัลโดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประเทศฟิลิปปินส์ไทยลีกคัพรายชื่อช่องที่มียอดติดตามสูงสุดในยูทูบดาวิกา โฮร์เน่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี🡆 More