คริปโทเคอร์เรนซี

คริปโทเคอร์เรนซี หรือ เงินตราเข้ารหัสลับ (อังกฤษ: cryptocurrency, crypto currency) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ที่ใช้วิทยาการเข้ารหัสลับเพื่อรับประกันธุรกรรม เพื่อควบคุมการสร้างหน่วยเงินเพิ่ม และเพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนทรัพย์ เป็นรูปแบบหนึ่งของเงินดิจิทัล (digital currency) เงินทางเลือก (alternative currency) และเงินเสมือน (virtual currency) เป็นเงินที่ควบคุมโดยกระจายศูนย์กลาง เทียบกับเงินดิจิทัลที่ควบคุมโดยศูนย์กลาง หรือกับระบบธนาคารกลาง การควบคุมแบบกระจายศูนย์จะทำผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลธุรกรรมสาธารณะ โดยใช้เป็นบัญชีแยกประเภทแบบกระจาย

บิตคอยน์ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2009 เป็นคริปโทเคอร์เรนซีแบบกระจายศูนย์สกุลแรก ตั้งแต่นั้นมา ก็มีคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นอีกมากมาย บ่อยครั้งเงินสกุลเหล่านี้จะเรียกในภาษาอังกฤษว่า altcoins โดยเป็นคำผสมจากคำว่า alternative coin (เหรียญทางเลือก)

นิยาม

คริปโทเคอร์เรนซี 
แผนผังแบบทำให้ง่ายซึ่งแสดงโซ่ความเป็นเจ้าของหน่วยเงินบิตคอยน์ แต่ในบล็อกเชนของบิตคอยน์จริง ๆ ธุรกรรมหนึ่ง ๆ สามารถมีข้อมูลธุรกรรมขาเข้ามากกว่าหนึ่ง และมีข้อมูลขาออกมากกว่าหนึ่ง

ตามนักวิชาการผู้หนึ่ง คริปโทเคอร์เรนซีเป็นระบบที่เข้าเกณฑ์ 6 อย่าง คือ

  1. ระบบไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลาง ข้อมูลที่กระจายจะทำให้สามารถถึงความเห็นพ้อง/ความเห็นข้างมากเกี่ยวกับสถานะปัจจุบัน (ดูตัวอย่างที่ การตราเวลาสำหรับบิตคอยน์)
  2. ระบบจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยคริปโทเคอร์เรนซีและผู้ที่เป็นเจ้าของ
  3. ระบบจะกำหนดว่า หน่วยคริปโทเคอร์เรนซีใหม่จะสร้างขึ้นได้หรือไม่ ถ้าหน่วยเงินใหม่สามารถสร้างได้ ระบบจะกำหนดแหล่งกำเนิดและกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของหน่วยเงินใหม่
  4. ความเป็นเจ้าของในหน่วยเงินแต่ละหน่วยจะสามารถพิสูจน์อย่างสิทธิ์ขาดตามวิทยาการเข้ารหัสลับ
  5. ระบบจะอนุญาตให้ทำธุรกรรมที่สามารถเปลี่ยนเจ้าของหน่วยเงินได้ โดยข้อความสั่งธุรกรรมจะสามารถทำได้โดยบุคคลที่สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหน่วยเงินเหล่านั้น
  6. ถ้ามีคำสั่งเปลี่ยนเจ้าของสำหรับเงินหน่วยหนึ่ง ๆ เข้ามาในระบบพร้อม ๆ กัน ระบบจะทำการตามคำสั่งเดียวเท่านั้นเป็นอย่างมาก (ดูตัวอย่างที่ การตราเวลาสำหรับบิตคอยน์)

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 คำว่า cryptocurrency ก็ได้เพิ่มเข้าในพจนานุกรม Merriam-Webster

ภาพรวม

คริปโทเคอร์เรนซีที่กระจายศูนย์จะสร้างโดยระบบคริปโทเคอร์เรนซีรวม ๆ กัน ในอัตราที่กำหนดเมื่อสร้างระบบและเป็นเรื่องที่รู้กันโดยสาธารณะ ในระบบธนาคารกลาง คณะกรรมการบริษัทหรือรัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุมอุปทานของเงินโดยออกเงินตราที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง หรือโดยสั่งให้เพิ่มเงินในบัญชีแยกประเภทของธนาคารดิจิทัล เทียบกับคริปโทเคอร์เรนซีที่กระจายศูนย์ ซึ่งบริษัทและรัฐบาลจะไม่สามารถสร้างหน่วยใหม่ ๆ และยังไม่รับประกันให้แก่องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทหรือธนาคารซึ่งมีสินทรัพย์เป็นคริปโทเคอร์เรนซี เทคนิคที่ใช้ควบคุมคริปโทเคอร์เรนซีแบบกระจายศูนย์ เป็นผลงานของกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่รู้จักว่าซะโตชิ นะกะโมโต โดยเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 มีคริปโทเคอร์เรนซีกว่าพันสกุล ส่วนมากจะคล้ายกับและเป็นเงินอนุพันธ์ของคริปโทเคอร์เรนซีที่สร้างอย่างสมบูรณ์สกุลแรก คือ บิตคอยน์

ภายในระบบคริปโทเคอร์เรนซี ความปลอดภัย บูรณภาพ และดุลของบัญชีแยกประเภท จะดำรงเก็บรักษาโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันที่เรียกว่า ไมเนอร์/คนขุดหาเหรียญ ส่วนบุคคลทั่วไปจะใช้คอมพิวเตอร์ของไมเนอร์/คนขุดหาเหรียญ เพื่อยืนยันความถูกต้องของและตราเวลาแก่ธุรกรรม เป็นการเพิ่มธุรกรรมลงยังบัญชีแยกประเภทตามกระบวนการตราเวลาบางอย่าง คนขุดหาเหรียญได้ผลประโยชน์ในการดำรงรักษาความปลอดภัยของบัญชีแยกประเภท คือได้เหรียญที่ขุดได้และ/หรือค่าธรรมเนียมของธุรกรรม

คริปโทเคอร์เรนซีโดยมากได้ออกแบบให้ค่อย ๆ ลดการสร้างหน่วยเงินใหม่ ซึ่งเท่ากับกำหนดจำนวนเงินมากที่สุดที่จะมีให้ใช้ เป็นการเลียนแบบสถานการณ์ของโลหะมีค่า เช่น บิตคอยน์ออกแบบให้มีเงินในระบบมากที่สุด 21 ล้านเหรียญ

เทียบกับเงินธรรมดาที่เก็บโดยสถาบันการเงินหรือบุคคลต่าง ๆ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองอาจเข้ายึดคริปโทเคอร์เรนซีได้ยากกว่า ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีวิทยาการเข้ารหัสลับ

สถาปัตยกรรม

บล็อกเชน

คริปโทเคอร์เรนซี 
แผนภาพของบล็อกเชน (หรือโซ่บล็อก) สายโซ่หลักมีบล็อกต่อกันยาวสุดตั้งแต่บล็อกเริ่มต้น (สีเขียว) จนถึงบล็อกปัจจุบัน บล็อกกำพร้า (สีม่วง) จะอยู่นอกโซ่หลัก

ความถูกต้องของหน่วยคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละหน่วยจะยืนยันโดยบล็อกเชน ซึ่งเป็นรายการระเบียนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า บล็อก ที่เชื่อมกันเป็นลูกโซ่และรับประกันโดยวิทยาการเข้ารหัสลับ บล็อกแต่ละบล็อกปกติจะมีตัวชี้แบบแฮชไปยังบล็อกที่มาก่อน ตราเวลา และข้อมูลธุรกรรม

ตามการออกแบบ บล็อกเชนจะทนทานต่อการเปลี่ยนข้อมูล คือมันเป็น "บัญชีแยกประเภทแบบกระจายและเปิด ที่สามารถบันทึกธุรกรรมระหว่างคู่กรณีสองบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและโดยวิธีที่พิสูจน์ความถูกต้องได้และถาวร"

เพื่อใช้เป็นบัญชีแยกประเภทแบบกระจาย บล็อกเชนจะบริหารจัดการโดยเครือข่ายเพียร์ทูเพียร์ที่ร่วมใช้เกณฑ์วิธีเดียวกันเพื่อยืนยันพิสูจน์บล็อกใหม่ ๆ เมื่อบันทึกแล้ว ข้อมูลที่อยู่ในบล็อกไม่สามารถแก้ย้อนหลังโดยไม่เปลี่ยนบล็อกที่เชื่อมต่อ ๆ มาทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องได้การสมรู้ร่วมคิดของสถานีโดยมากในเครือข่าย

บล็อกเชนออกแบบตั้งแต่ต้นให้ปลอดภัยรับประกันได้ (secure by design) และเป็นตัวอย่างของระบบคอมพิวเตอร์แบบกระจายที่ทนความผิดพร่องแบบไบแซนไทน์ (Byzantine fault tolerance) ได้สูง ดังนั้น บล็อกเชนจึงสามารถให้ความเห็นพ้องแบบไม่รวมศูนย์ได้ เป็นระบบที่แก้ปัญหาใช้จ่ายเกินครั้ง (Double-spending) โดยไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามที่เชื่อใจหรือคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง

การตราเวลา (Timestamping)

คริปโทเคอร์เรนซีจะใช้แผนการตราเวลาต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงความจำเป็นต้องมีบุคคลที่สามที่เชื่อใจเพื่อตราเวลาธุรกรรมที่จะเพิ่มใส่ในบัญชีจำแนกประเภทคือบล็อกเชน

แผนการ Proof-of-work

แผนการตราเวลาแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นก็คือ วิธี proof-of-work และวิธีการคำนวณที่ใช้มากที่สุดจะเป็นแบบ SHA-256 และ scrypt โดยแบบหลังปัจจุบันเป็นแบบที่ใช้มากที่สุดในระบบคริปโทเคอร์เรนซี คือมีการประยุกต์ใช้ถึง 480 ระบบ

ฟังก์ชันแฮชอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับ proof-of-work รวมทั้ง CryptoNight, Blake, SHA-3, และ X11

Proof-of-stake และแผนผสมต่าง ๆ

คริปโทเคอร์เรนซีบางสกุลใช้แผน proof-of-work/proof-of-stake ผสมกัน proof-of-stake เป็นวิธีการรับประกันเครือข่ายคริปโทเคอร์เรนซีให้ได้ความเห็นพ้องแบบกระจาย ผ่านการบังคับให้ผู้ใช้แสดงความเป็นเจ้าของของเงินจำนวนหนึ่ง (คือให้แสดง stake) เป็นวิธีที่แตกต่างจาก proof-of-work ซึ่งต้องกราดคำนวณหาค่าแฮชที่ยากเพื่อยืนยันพิสูจน์ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แผนการจะขึ้นอยู่กับสกุลเงิน และปัจจุบันก็ยังไม่มีมาตรฐานของขั้นตอนวิธีนี้

คริปโทเคอร์เรนซี 
ฮาร์ดแวร์พิเศษที่ใช้เพื่อ "ขุดหา" คริปโทเคอร์เรนซี

การขุดหาเหรียญ (Mining)

ในเครือข่ายคริปโทเคอร์เรนซี mining (การขุดหาเหรียญ) เป็นการยืนยันพิสูจน์ธุรกรรม เนื่องกับการทำงานให้เช่นนี้ ผู้ขุดหาเหรียญก็จะได้คริปโทเคอร์เรนซีใหม่เป็นรางวัล รางวัลจะลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมโดยสร้างแรงจูงใจเสริมให้ออกแรงประมวลผลเพื่อเครือข่าย

อัตราการคำนวณค่าแฮช ซึ่งเป็นตัวยืนยันพิสูจน์ธุรกรรม ได้เพิ่มขึ้น (คือการคำนวณใช้เวลาน้อยลง) เนื่องจากการใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น เอฟพีจีเอ และ Application-specific integrated circuit (ASIC) เพื่อคำนวณขั้นตอนวิธีแฮชที่ซับซ้อน เช่น SHA-256 และ Scrypt การแข่งขันในทางอาวุธเพื่ออุปกรณ์ที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่การเริ่มใช้คริปโทเคอร์เรนซีแรก คือ บิตคอยน์ ตั้งแต่ปี 2009 เมื่อมีคนมากขึ้นลงทุนในวงการเงินเสมือน การคำนวณค่าแฮชเพื่อยืนยันพิสูจน์เช่นนี้ก็เพิ่มความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ผ่านไปและตามเกณฑ์กำหนดของระบบ โดยคนขุดหาเหรียญก็จำต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อใช้ ASIC ความเร็วสูงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เงินที่ได้เนื่องจากการคำนวณค่าแฮชบ่อยครั้งไม่คุ้มกับทุนที่ใช้เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ เพื่ออุปกรณ์ลดความร้อนมหาศาลที่สร้างโดยอุปกรณ์พิเศษ และเพื่อค่าไฟฟ้า

คนขุดหาเหรียญบ่อยครั้งจะใช้ทรัพยากรร่วมกัน คือ แชร์กำลังการประมวลผลร่วมกันทางเครือข่ายและแบ่งรางวัลอย่างเสมอภาคกันตามงานที่ตนทำเพื่อสร้างบล็อกใหม่ ดังนั้น ก็จะมีการให้แชร์แก่คนขุดหาเหรียญที่แสดง proof-of-work ได้เป็นบางส่วน

บริษัทหนึ่งได้ตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อขุดหาเหรียญ ณ ที่ขุดเจาะหาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในแคนาดา เพราะได้ราคาแก๊สที่ถูกกว่า

เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่อาจมีเนื่องกับการขุดหาเหรียญ จึงกำลังมีการพัฒนาระบบคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ขุดหาเหรียญ ไม่เหมือนกับบล็อกเชนธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซีแบบ directed acyclic graph บางประเภทจะใช้ระบบ pay-it-forward ที่แต่ละคนจะต้องคำนวณอะไรที่ค่อนข้างยากเกี่ยวกับธุรกรรมสองอย่างที่เกิดล่วงหน้าเพื่อพิสูจน์ยืนยัน

โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2018 รัฐบาลจีนได้ระงับการแลกเปลี่ยนเงินเสมือน ห้ามการเสนอขายเบื้องต้น (ICO) และปิดบริษัทที่ขุดหาเหรียญ ดังนั้น ผู้ขุดหาเหรียญชาวจีนบางพวกจึงได้ย้ายบริษัทไปยังประเทศแคนาดา

ตามรายงานของนิตยสาร ฟอร์ชูน เดือนกุมภาพันธ์ 2018 ประเทศไอซ์แลนด์ได้กลายเป็นแหล่งรวมผู้ขุดหาคริปโทเคอร์เรนซี โดยส่วนหนึ่งก็เพราะค่าไฟฟ้าราคาถูก ค่าใช้จ่ายจะจำกัดเพราะพลังงานในประเทศเกือบทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานทดแทน ทำให้บริษัทขุดหาเหรียญพิจารณาย้ายที่ไปยังประเทศเป็นจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความบ้าคริปโทเคอร์เรนซีอาจจะเกินไปหน่อยในประเทศ บริษัทพลังงานจึงกล่าวว่า การขุดหาเหรียญได้กลายเป็นเรื่องยอดฮิตจนกระทั่งว่า ได้ใช้พลังงานมากกว่าบ้านช่อง

ในเดือนมีนาคม 2018 เมืองในรัฐนิวยอร์กตอนเหนือได้พักการทำการของการขุดหาคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเวลา 18 เดือนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ "แบบลักษณะและทิศทาง" ของเมือง

วอลเลต

คริปโทเคอร์เรนซีวอลเลต (cryptocurrency wallet) จะเก็บรหัสทั้งที่เป็นสาธารณะและส่วนตัว หรือเก็บ "เลขที่อยู่ต่าง ๆ " เพื่อสามารถใช้รับหรือใช้จ่ายคริปโทเคอร์เรนซี คือด้วยรหัสส่วนตัว ก็จะสามารถบันทึกธุรกรรมในบัญชีแยกประเภทที่เป็นสาธารณะ ซึ่งเท่ากับใช้จ่ายคริปโทเคอร์เรนซีที่สัมพันธ์กัน และด้วยรหัสสาธารณะ ก็จะทำให้ผู้อื่นส่งเงินมาที่วอลเลตนั้นได้

สภาวะนิรนาม

บิตคอยน์เป็นเงินแบบนิรนามเทียมเพราะคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในวอลเลตไม่ได้สัมพันธ์กับบุคคล แต่สัมพันธ์กับรหัสหนึ่งรหัสหรือมากกว่านั้น (หรือสัมพันธ์กับเลขที่อยู่ต่าง ๆ ) ดังนั้น เจ้าของบิตคอยน์จึงไม่สามารถระบุได้ แต่ธุรกรรมทั้งหมดก็จะปรากฏอยู่ในบล็อกเชนที่เป็นสาธารณะ อย่างไรก็ดี ศูนย์แลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีบ่อยครั้งจะบังคับโดยกฎหมายให้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ มีการเสนอการเพิ่มบริการ เช่น Zerocoin ซึ่งจะทำให้ได้สภาวะนิรนามจริง ๆ เมื่อไม่นานนี้ เทคโนโลยีนิรนามอื่น ๆ เช่น zero-knowledge proofs และ ring signatures ก็ได้นำมาใช้ในระบบคริปโทเคอร์เรนซีเช่น Zcash และ Monero ตามลำดับ

เศรษฐกิจ

คริปโทเคอร์เรนซี 
มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซี โดยวันที่ 27 มกราคม 2018 หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

คริปโทเคอร์เรนซีจะใช้โดยหลักนอกสถาบันคือธนาคารและองค์กรของรัฐและมักจะแลกเปลี่ยนผ่านอินเทอร์เน็ต แม้การแลกเปลี่ยนมูลค่าแบบกระจายศูนย์นี้จะอยู่ในระยะพัฒนาการต้น ๆ แต่ก็มีโอกาสกลายเป็นตัวท้าท้ายระบบเงินตราและการแลกเปลี่ยนที่มีอยู่ โดยเดือนธันวาคม 2017 มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีมากกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18.7 ล้านล้านบาท) และปริมาณแลกเปลี่ยนสูงสุดต่อวันได้เกิน 500,000 ล้านเหรียสหรัฐ (ประมาณ 15.6 ล้านล้านบาท) แล้ว

การแข่งขันระหว่างคริปโทเคอร์เรนซี

โดยเดือนมกราคม 2018 มีคริปโทเคอร์เรนซีกว่า 1,384 สกุล ที่อยู่ในตลาดและก็ยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรม

ค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมจะขึ้นอยู่กับอุปทานของสมรรถภาพเครือข่ายในเวลานั้น ๆ เทียบกับอุปสงค์ของเจ้าของเงินที่ต้องการทำธุรกรรมให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว เจ้าของเงินสามารถเลือกจ่ายค่าธรรมเนียมตามความจำเป็น และสถานีในเครือข่ายก็สามารถเลือกทำธุรกรรมตามลำดับค่าธรรมเนียมตั้งแต่สูงสุดไปยังต่ำสุด ศูนย์แลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำให้ง่ายสำหรับเจ้าของเงินโดยให้บริการด่วน และดังนั้น เท่ากับกำหนดค่าธรรมเนียมที่ธุรกรรมน่าจะสำเร็จตามเวลาที่ต้องการ

สำหรับคริปโทเคอร์เรนซีอีเธอร์ (ether) ค่าธรรมเนียมธุรกรรมจะต่างกันขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการคำนวณ อัตราการส่งถ่ายข้อมูลและขนาดหน่วยเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ เทียบกับบิตคอยน์ที่ธุรกรรมต่าง ๆ จะแข่งขันกันเพื่อการประมวลผลอย่างเท่าเทียมกัน ในเดือนธันวาคม 2017 ค่าธรรมเนียมมัธยฐานของอีเธอร์อยู่ที่ $0.33 (ประมาณ 10 บาท) เทียบกับบิตคอยน์ที่ $23 (ประมาณ 693 บาท)

ความถูกต้องตามกฎหมาย

ความถูกต้องตามกฎหมายของคริปโทเคอร์เรนซีจะต่างกันอย่างสำคัญระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยยังไม่ชัดเจนหรือยังเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ แม้จะมีบางประเทศที่อนุญาตให้ใช้และแลกเปลี่ยนได้อย่างชัดแจ้ง บางประเทศก็ได้ห้ามหรือจำกัดการใช้ และคล้าย ๆ กัน องค์กรของรัฐบาลต่าง ๆ รวมทั้งศาลก็พิจารณาบิตคอยน์ต่าง ๆ กัน ธนาคารกลางจีนได้ห้ามสถาบันการเงินในจีนไม่ให้บริหารจัดการบิตคอยน์ในช่วงการยอมรับที่เกิดอย่างรวดเร็วต้นปี 2014 ในรัสเซีย แม้คริปโทเคอร์เรนซีจะถูกกฎหมาย แต่การซื้อสินค้าด้วยเงินตรานอกเหนือจากรูเบิลก็ยังผิดกฎหมาย

คริปโทเคอร์เรนซี 
Cryptocurrency Alliance Super PAC เป็นองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี

สถานะทางภาษีในสหรัฐอเมริกา

วันที่ 25 มีนาคม 2014 หน่วยเก็บภาษีสหรัฐ (IRS) ได้ตัดสินว่า บิตคอย์จะปฏิบัติเหมือนกับทรัพย์สินเมื่อพิจารณาในเรื่องภาษี ซึ่งก็หมายความว่า อาจจะถูกเก็บภาษีกำไรส่วนทุน ในงานศึกษาปี 2014 นักวิจัยได้แสดงว่า บิตคอยน์มีลักษณะบางอย่างเหมือนกับโลหะมีค่ามากกว่าเงินปกติ ดังนั้น จึงเข้ากับการตัดสินใจของ IRS แม้จะมีเหตุผลต่างกัน โดยเป็นการตอบสนองต่อการตัดสินใจของ IRS จึงเกิดองค์กรต่าง ๆ มากมายเพื่อเป็นเสียงให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างเด่นที่สุดก็คือ Cryptocurrency Alliance ในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชน

ยังมีปัญหาทางกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลต่าง ๆ โดยตรง เช่น เงินสกุล Coinye ได้ใช้นักร้องแร็ป คานเย เวสต์ เป็นโลโกโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อได้ยินถึงแผนการวางตลาดเงินสกุล Coinye ซึ่งดั้งเดิมเรียกว่า Coinye West (ฟังคล้ายชื่อนักร้อง) ทนายของคานเยได้ส่งจดหมายเพื่อให้หยุดและงดเว้นแก่ผู้พัฒนา Coinye ในวันที่ 6 มกราคม 2014 จดหมายอ้างว่า Coinye เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า เป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต เป็นการละลายชื่อเสียง และสั่งให้ Coinye หยุดใช้ภาพเหมือนและชื่อของนักร้อง ต่อมาวันที่ 17 มกราคม Coinye ก็ถึงจุดจบ

ตัวอย่างหลักเรื่องปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีมาจากตลาดนิรนาม Silk Road ที่เจ้าของตลาดได้ซ่อนบิตคอยน์โดย "เก็บไว้ต่างหาก ๆ และ...เข้ารหัสลับ"

ปัญหาเศรษฐกิจแบบไม่ควบคุม

เมื่อเงินออนไลน์ได้เพิ่มความนิยมและความต้องการเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นใช้บิตคอยน์ในปี 2009 ก็เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจแบบทั่วโลกระหว่างบุคคลต่อบุคคลและคริปโทเคอร์เรนซีจะกลายเป็นอันตรายต่อสังคม โดยเฉพาะก็คือ เงินทางเลือกเช่นนี้จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ทำผิดกฎหมายนิรนาม

เครือข่ายคริปโทเคอร์เรนซีมักจะไร้การควบคุมโดยกฎหมาย ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ต้องการใช้เงินตราที่แลกเปลี่ยนกันโดยกระจายศูนย์ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นตัวช่วยผู้ทำผิดกฎหมายผู้ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีและต้องการฟอกเงิน

ธุรกรรมที่เกิดผ่านการใช้และแลกเปลี่ยนเงินทางเลือกเหล่านี้จะเป็นอิสระจากระบบธนาคารทั่วไป และดังนั้น อาจทำให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ง่ายกว่า เนื่องจากการติดตามรายได้ที่ต้องเสียภาษีจะขึ้นอยู่กับการรายงานไปยังหน่วยภาษี จึงอาจเป็นเรื่องยากมากที่จะติดตามธุรกรรมที่ใช้ระบบคริปโทเคอร์เรนซีที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อน และในบางกรณี เป็นไปไม่ได้ที่จะติดตาม ระบบนิรนามที่ระบบคริปโทเคอร์เรนซีโดยมากให้บริการ ยังสามารถใช้เป็นวิธีการฟอกเงิน คือแทนที่จะฟอกเงินผ่านเครือข่ายนิติบุคคลและบัญชีธนาคารนอกประเทศโดยวิธีที่ซับซ้อน การฟอกเงินผ่านระบบเงินทางเลือกสามารถทำได้เนื่องกับธุรกรรมที่นิรนาม

การสูญหาย การขโมย และการฉ้อโกง

GBL ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์การซื้อขายบิตคอยน์ในประเทศจีน ได้ปิดบริษัทอย่างกะทันหันในวันที่ 26 ตุลาคม 2013 ผู้ใช้บริการซึ่งไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ได้เสียบิตคอยน์มูลค่าอาจถึง $5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 151 ล้านบาท)

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ศูนย์แลกเปลี่ยนบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Mt. Gox ได้ประกาศล้มละลาย บริษัทกล่าวว่า ได้สูญบิตคอยน์ของลูกค้ามูลค่าเกือบ $473 ล้านเหรียญ (ประมาณ 14,251 ล้านบาท) น่าจะเป็นเพราะถูกขโมย ซึ่งเท่ากับประมาณ 750,000 เหรียญบิตคอยน์ หรือ 7% ของเหรียญที่มีทั้งหมด เพราะวิกฤติการณ์นี้ มูลค่าของบิตคอยน์ (ต่อเหรียญ) จึงได้ตกจากค่าสูงสุดที่ $1,160 (ประมาณ 34,951 บาท) ในเดือนธันวาคมเหลือน้อยกว่า $400 (ประมาณ 12,052 บาท) ในเดือนกุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่สองคนของคณะสืบคดีเฉพาะกิจ Silk Road ซึ่งเป็นหน่วยรวมองค์กรรัฐบาลกลางสหรัฐที่ตรวจสอบคดีเกี่ยวกับตลาด Silk Road ได้ยึดบิตคอยน์เพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเมื่อกำลังสืบคดี ต่อมาเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (DEA) ผู้ได้กรรโชกผู้ก่อตั้งตลาด Silk Road (Ross Ulbricht ผู้มีฉายาว่า "Dread Pirate Roberts") ได้ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดในฐานะฟอกเงิน กีดขวางกระบวนการยุติธรรม และกรรโชกในอำนาจหน้าที่ และถูกตัดสินให้จำคุกของรัฐบาลกลางเป็นเวลาหกปีครึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน U.S. Secret Service ได้ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดในข้อหาเกี่ยวกับการโอนบิตคอยน์มูลค่า $800,000 (ประมาณ 24.1 ล้านบาท) เข้าบัญชีตนเองเมื่อกำลังตรวจสอบคดี และในข้อหาการฟอกเงินต่างหากเนื่องจากการลักคริปโทเคอร์เรนซีอีกสกุลหนึ่ง แล้วถูกตัดสินให้จำคุกรัฐบาลกลางเกือบแปดปี

คริปโทเคอร์เรนซี 
ธุรกิจแบบพีระมิด

ส่วนผู้ก่อตั้งบริษัท GAW Miner และ ZenMiner ในปี 2014 ได้ให้การสารภาพว่า บริษัทเป็นส่วนของธุรกิจแบบพีระมิด และได้ยอมรับความผิดในข้อหาการฉ้อฉลผ่านระบบโทรคมนาคมในปี 2015 ต่อมา องค์กร Securities and Exchange Commission (SEC) ยังได้ฟ้องคดีกับเจ้าของ ผู้ในที่สุดศาลก็ตัดสินปรับ $9.1 ล้านเหรียญ (ประมาณ 274 ล้านบาท) บวกกับดอกเบี้ย $700,000 (ประมาณ 21 ล้านบาท) โดยองค์กรได้กล่าวหาว่า เจ้าของได้ฉ้อฉลผ่านบริษัทโดยขาย "สัญญาการลงทุนโดยเป็นแชร์ในกำไรที่ตนอ้างว่าจะได้" จากการขุดหาเหรียญคริปโท

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2017 บริษัทเริ่มก่อตั้งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีชื่อว่า Tether ได้ประกาศว่าบริษัทถูกแฮ็ก และสูญคริปโทเคอร์เรนซีมูลค่า $31 ล้าน (ประมาณ 934 ล้านบาท) จากวอลเลตหลักของบริษัท แต่บริษัทได้ "ติดป้าย" คริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกขโมย โดยหวังว่าจะทำให้เงินไม่สามารถใช้จ่ายจากวอลเลตของขโมยได้ บริษัทยังชี้ว่า จะสร้างโปรแกรมใหม่สำหรับวอลเลตหลักโดยเป็นการตอบสนองต่อการถูกแฮ็ก เพื่อป้องกันเหรียญที่ถูกขโมยไม่ให้ใช้ได้

ในวันที่ 6 ธันวาคม 2017 บริษัทขุดหาเหรียญบิตคอยน์ประเทศสโลวีเนีย NiceHash ถูกขโมยบิตคอยน์มูลค่าเกินกว่า $60 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,808 ล้านบาท) ในช่วงการถูกโจมตีทางไซเบอร์

ตลาด Darknet

คริปโทเคอร์เรนซีก็ใช้ด้วยในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจในรูปแบบของตลาดมืดออนไลน์ เช่น Silk Road ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมที่ปิดในเดือนตุลาคม 2013 แม้จะมีตลาดที่ใช้ชื่อเดียวกันซึ่งได้เกิดขึ้นมาแทนที่ถึงสองครั้ง แต่ตลาดชื่อนี้ปัจจุบันก็ล่มไปหมดแล้ว

รูปแบบของตลาด Silk Road ได้นำมาใช้ในตลาดมืดออนไลน์อีกมากมาย เท่ากับเป็นการกระจายศูนย์ตลาดมืด ในปีต่อมาหลังจากรัฐบาลสหรัฐได้ปิดตลาด Silk Road ตลาดมืดเด่น ๆ ได้เพิ่มจาก 4 ตลาดเป็น 12 ตลาด ในขณะที่รายการยาเสพติดที่ขายเพิ่มจาก 18,000 รายการเป็น 32,000 รายการ ตลาด Darknet เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางกฎหมาย และบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้ในตลาดมืด ก็ไม่ได้กำหนดตามกฎหมายให้ชัดเจนในประเทศโดยมากในโลก

ในสหรัฐอเมริกา บิตคอยน์เรียกว่าเป็น สินทรัพย์เสมือน (virtual assets) การจัดหมู่ที่คลุมเครือเช่นนี้ สร้างความกดดันต่อองค์กรบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ทั่วโลกให้ปรับตัวเข้ากับการซื้อขายยาเสพติดผ่านตลาดมืดที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

เนื่องจากตลาด darknet โดยมากจะเข้าถึงผ่านทอร์ (เครือข่ายนิรนาม) จึงสามารถหาชื่อได้ง่าย ๆ ในเว็บไซต์ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งหมายความว่า สามารถหาที่อยู่ หารีวิวของลูกค้า และหากลุ่มพูดคุยเปิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ขายในตลาด โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อผู้ใช้ระบบ ความนิรนามเช่นนี้ทำให้ผู้ซื้อขายในตลาดมืดหลีกเลี่ยงการถูกจับจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้ ผลก็คือ เจ้าหน้าที่ต้องทำการต่อตลาดโดยเฉพาะ ๆ และผู้ขายยาเสพติดโดยเฉพาะ ๆ เพื่อลดอุปทานของยา แต่ผู้ขายก็ยังสามารถดำรงความเหนือชั้นต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ไม่สามารถติดตามตลาดมืดนิรนามที่สามารถแตกตัวไปได้อย่างรวดเร็ว

initial coin offering (ICO)

การเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (initial coin offering, ICO) เป็นวิธีการหาเงินเริ่มต้นของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งอาจทำโดยบริษัทที่เพิ่งเริ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการหาทุนจากบริษัทร่วมลงทุนหรือจากธนาคารที่ต้องทำอย่างรัดกุมและควบคุมโดยกฎหมาย อย่างไรก็ดี องค์กรควบคุมหลักทรัพย์ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐและแคนาดา ได้ชี้ว่า ถ้าเหรียญหรือโทเค็นเป็น "สัญญาการลงทุน" (ซึ่งก็คือ เป็นการลงทุนที่มีหวังอย่างสมเหตุสมผลที่จะได้กำไร โดยขึ้นอยู่กับความพยายามประกอบการและบริหารของคนอื่น) มันก็จัดว่าเป็นหลักทรัพย์และอยู่ภายใต้การควบคุมหลักทรัพย์ตามกฎหมาย

ในการรณรงค์เปิด ICO คริปโทเคอร์เรนซีส่วนหนึ่ง (โดยบ่อยครั้งเรียกว่าเป็น โทเค็น) จะขายให้แก่ผู้สนับสนุนเริ่มต้นของโครงการโดยแลกเปลี่ยนกับเงินตราตามกฎหมายหรือกับคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ บ่อยครั้งเป็นบิตคอยน์หรืออีเธอร์ โดยเหรียญอาจจะหมายให้ใช้เป็นสื่อการค้าขายในแพล็ตฟอร์มหนึ่ง ๆ หรือใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น การยืนยันพิสูจน์บุคคลในระบบหนึ่ง ๆ

ประธานาธิบดีรัสเซียวลาดีมีร์ ปูติน ได้อนุมัติแผนการร่างกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมการเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (ICO) และการขุดหาเหรียญคริปโท

คริปโทเคอร์เรนซีในเกม

เกม ล็อตเตอรี่ กาสิโนออนไลน์ และแหล่งการพนันออนไลน์อื่น ๆ ที่ใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นวิธีการจ่ายหรือเพื่อมอบมูลค่าที่ชนะให้ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ตามความนิยมและความยอมรับของคริปโทเคอร์เรนซี

ล็อตเตอรี่

ในเดือนธันวาคม 2017 บริษัทการพนัน Lottoland ในยิบรอลตาร์ได้เริ่มขายล็อตเตอรี่ที่ให้มูลค่าที่ชนะเป็นบิตคอยน์ โดยขายทั่วโลก ควบคุมโดยรัฐบาล และมีรางวัลสูงสุดที่ 1,000 เหรียญบิตคอยน์ แต่คนเล่นจะต้องซื้อล็อตเตอรี่โดยใช้เงินปกติแม้จะสามารถเลือกรับมูลค่าที่ชนะเป็นบิตคอยน์ได้

กาสิโนออนไลน์และไซท์เล่นลูกเต๋า

กาสิโนและไซท์เล่นลูกเต๋าออนไลน์หลายแห่งได้เริ่มดำเนินงาน เพื่อถือเอาประโยชน์จากความนิยมของคริปโทเคอร์เรนซี แต่ความชอบธรรมของไซท์เหล่านี้มักเป็นปัญหา เพราะความสงสัยว่าไม่ยุติธรรมเพราะเหตุขั้นตอนวิธีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเล่น จึงได้เกิดบริการแบบ Provably fair (ยุติธรรมแบบพิสูจน์ได้) เพื่อพยายามแก้ความสงสัยของลูกค้าว่าถูกโกง

งานวิชาการ

ในเดือนกันยายน 2015 มีการจัดตั้งวารสารวิชาการที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน คือ Ledger (บัญชีแยกประเภท) (ISSN 2379-5980) ซึ่งรวมการศึกษาคริปโทเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก วารสารสนับสนุนให้ผู้เขียนประทับชื่อแบบดิจิทัลสำหรับค่าแฮชของไฟล์ที่ส่ง ซึ่งก็จะลงตราเวลาใส่เข้ากับบล็อกเชนของบิตคอยน์ต่อไป วารสารยังขอให้ผู้เขียนแสดงที่อยู่บิตคอยน์ส่วนตัวในหน้าแรกของเอกสารอีกด้วย

ข้อวิจารณ์

มีการเทียบคริปโทเคอร์เรนซีกับการฉ้อฉลแบบพอนซีและธุรกิจแบบพีระมิด และฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ เช่น ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนอภิมหาเศรษฐีผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ในปี 2017 ว่า เงินดิจิทัล "ไม่ใช่อะไรนอกจากเป็นแฟชั่นสมัยนิยมที่ไร้เหตุผล (หรือบางทีอาจเป็นธุรกิจแบบพีระมิดด้วยซ้ำ) โดยมีมูลฐานจากการให้ค่าแก่อะไรที่มีคุณค่าน้อยหรือไม่มีเลยนอกเหนือจากสิ่งที่บุคคลยอมจ่ายแลกเปลี่ยนกับมัน" แล้วได้เทียบเงินดิจิทัลกับความคลั่งทิวลิป (1637) เหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี (1720) และภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม (1999) ในเดือนตุลาคม 2017 ประธานบริหารของบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเรียกบิตคอยน์ว่า เป็นดรรชนีการฟอกเงิน เพราะ "บิตคอยน์เป็นเพียงตัวแสดงว่ามีอุปสงค์ในการฟอกเงินในโลกเท่าไร"

แม้คริปโทเคอร์เรนซีและเงินดิจิทัลจะบริหารจัดการผ่านเทคนิคการเข้ารหัสที่ก้าวหน้า รัฐบาลต่าง ๆ ก็ค่อนข้างระมัดระวังต่อพวกมัน โดยเกรงการไม่มีการควบคุมแบบรวมศูนย์และผลที่มันมีต่อความปลอดภัยทางการเงิน องค์กรควบคุมของรัฐหลายประเทศได้ให้คำเตือนต่อต้านคริปโทเคอร์เรนซี และบางประเทศก็ได้ทำการควบคุมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปรามผู้ใช้บริการ นอกจากนั้น ธนาคารจำนวนมากยังไม่มีบริการสำหรับคริปโทเคอร์เรนซี และปฏิเสธให้บริการแก่บริษัทเงินเสมือน เทียบกับบริการทางการเงินปกติที่มีหลักซึ่งมั่นคงเพื่อป้องกันผู้บริโภค บิตคอยน์ไม่มีผู้มีอำนาจพอที่จะจำกัดความเสียหายถ้ามีการสูญเสียหรือถูกขโมย ยกตัวอย่างเช่น คุณสมบัติหนึ่งอของคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่มีเทียบกับบัตรเครดิตก็คือ การป้องกันผู้บริโภคจากการฉ้อฉล คือการให้เงินคืนแก่ผู้บริโภค (ที่มีบริการในสหรัฐอเมริกาโดยมาก)

การขุดหาเหรียญคริปโทแบบ proof-of-work ใช้พลังงานอย่างมหาศาล แม้ผู้สนับสนุนคริปโทเคอร์เรนซีจะกล่าวว่า ต้องเทียบกับพลังงานที่ใช้ในระบบการเงินปกติ

ยังมีปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ ที่ควรพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีเช่น บิตคอยน์ มีผลเป็นการลงทุนสูงสำหรับผู้ขุดหาเหรียญเพื่อซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พิเศษ ธุรกรรมเนื่องกับคริปโทเคอร์เรนซีปกติจะย้อนกลับไม่ได้หลังจากมีบล็อกจำนวนหนึ่งที่ได้ยืนยันธุรกรรมแล้ว นอกจากนั้น คริปโทเคอร์เรนซีอาจหายไปอย่างถาวรจากหน่วยเก็บข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากมัลแวร์หรือข้อมูลสูญหาย ซึ่งก็อาจเกิดเนื่องจากสื่อข้อมูลเสียหาย ทำให้เงินหายจากระบบอย่างถาวร

ชุมชนคริปโทเคอร์เรนซีเรียกปฏิบัติการแบบ pre-mining, การเริ่มใช้เงินแบบซ่อน, การเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (ICO), หรือการให้รางวัลแบบสุดโต่งแก่ผู้ตั้งสกุลเงินทางเลือก ว่าเป็นปฏิบัติการแบบฉ้อฉล แต่นี่ก็อาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบคริปโทเคอร์เรนซีด้วย โดย pre-mining หมายถึงเงินที่สร้างขึ้นโดยผู้ตั้งสกุลเงินก่อนที่จะให้สาธารณชนได้ใช้

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่ง (Paul Krugman) ไม่ชอบบิตคอยน์ โดยพูดซ้ำหลายครั้งแล้วว่า มันเป็นฟองสบู่ที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และเชื่อมมันกับความคลั่งทิวลิป

ส่วนนักลงทุนระดับโลกวอร์เรน บัฟเฟตต์ คิดว่า คริปโทเคอร์เรนซีจะมีจุดจบที่ไม่ดี

เป็นเหตุให้ราคา GPU สูงขึ้น

คริปโทเคอร์เรนซี 
เครื่องมือขุดหาเหรียญ ทำจากหน่วยประมวลผลกราฟิกส์ ปี 2012

การเกิดบริษัทขุดหาเหรียญคริปโทอย่างรวดเร็วได้เพิ่มอุปสงค์ของการ์ดแสดงผล (GPU) อย่างมหาศาล การด์ที่นิยมของผู้ขุดหาเหรียญรวมทั้งการด์อินวิเดีย GTX 1060 และ GTX 1070 และการด์เอเอ็มดี RX 570 และ RX 580 ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าถ้าไม่ถึงสามเท่า หรือก็จะหมดสต็อกโดยทันที การด์ GTX 1070 Ti ซึ่งวางตลาดขายที่ $450 ปัจจุบันขายได้ราคาถึง $1,100 การ์ดที่นิยมอีกอย่างคือ GTX 1060's 6 GB โดยเริ่มวางตลาดขายที่ $250 แต่ปัจจุบันขายเกือบ $500 การ์ด RX 570 และ RX 580 จากเอเอ็มดีไม่เหลือสต็อกเกือบปีแล้ว คนขุดหาเหรียญซื้อสต็อกของ GPU ใหม่ ๆ ทั้งหมดเป็นปกติทันทีที่มี ซึ่งผลักราคาให้สูงขึ้นไปอีก และโดยทั่วไปสร้างความไม่พอใจจากคนเล่นเกมและแฟนเทคโนโลยีใหม่ ๆ

มีรายงานว่า อินวิเดียได้ขอให้ผู้ขายปลีกทำสิ่งที่ทำได้เพื่อขาย GPU ให้คนเล่นเกมแทนที่ผู้ขุดหาเหรียญ ตามสัมภาษณ์กับผู้จัดการประชาสัมพันธ์ของบริษัทในเยอรมนี "ผู้เล่นเกมเป็นผู้มาก่อนสำหรับอินวีเดีย... สิ่งที่เราทำทุกอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รุ่น GeForce ก็เพื่อลูกค้าหลักของเรา เราจึงแนะนำหุ้นส่วนการค้าของเราให้หาวิธีเพื่อขายสินค้าแก่คนเล่นเกมตามความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน"

ประวัติ

ในปี 1983 นักวิทยาการรหัสลับชาวอเมริกันเดวิด ชอม ได้คิดค้นเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารหัสและนิรนามซึ่งเรียกว่า ecash ต่อมาในปี 1995 เขาจึงอิมพลิเม้นต์มันให้เป็น Digicash ซึ่งเป็นวิธีการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเข้ารหัสในยุคต้น ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีซอฟต์แวร์เพื่อถอนเงินจากธนาคารและกำหนดกุญแจเข้ารหัสโดยเฉพาะ ๆ ก่อนจะส่งเงินไปให้ผู้รับ เป็นวิธีที่ทำให้เงินดิจิทัลไม่สามารถติดตามได้โดยธนาคารที่ออกเงิน หรือรัฐบาล หรือบุคคลที่สามอื่น ๆ

ในปี 1996 สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐตีพิมพ์เอกสารชื่อว่า วิธีสร้างโรงกระษาปรณ์ - วิทยาการรหัสของเงินอิเล็กทรอนิกส์นิรนาม (How to Make a Mint: the Cryptography of Anonymous Electronic Cash) ซึ่งอธิบายระบบคริปโทเคอร์เรนซี โดยพิมพ์มันเป็นครั้งแรกในบัญชีจ่าหน้าของเอ็มไอที แล้วต่อมาจึงพิมพ์ในวารสาร The American Law Review

ในปี 1998 Wei Dai ได้ตีพิมพ์คำอธิบายของ b-money ซึ่งเป็นระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบกระจายและนิรนาม ต่อมาไม่นาน Nick Szabo ก็สร้าง "bit gold" ขึ้น คล้ายกับบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ที่จะติดตามมา bit gold (อย่าสับสนกับตลาดแลกเปลี่ยนทองที่จะเกิดต่อมาคือ BitGold) เป็นระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่บังคับให้ผู้ใช้คำนวณฟังก์ชัน proof of work โดยสิ่งที่คำนวณจะรวมเข้ารหัสแล้วแสดงเป็นสาธารณะ ส่วนระบบเงินแบบ reusable proof of work ต่อมาจึงสร้างขึ้นโดย Hal Finney

ในปี 2009 นักพัฒนาซอฟต์แวร์โดยนามปากกาซะโตชิ นะกะโมโต (Satoshi Nakamoto) ได้สร้างคริปโทเคอร์เรนซีแบบไม่รวมศูนย์สกุลแรกคือ บิตคอยน์ ซึ่งใช้ SHA-256 เป็นฟังก์ชันแฮชสำหรับวิธีการ proof-of-work ในเดือนเมษายน 2011 มีการสร้าง Namecoin ขึ้นโดยเป็นส่วนของการตั้งดีเอ็นเอสแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะทำให้การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตทำได้ยากมาก ต่อมาในเดือนตุลาคม 2011 จึงมีการวางตลาด Litecoin ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีสกุลแรกที่ใช้ scrypt เป็นฟังก์ชันแฮชแทน SHA-256 ส่วนคริปโทเคอร์เรนซีที่เด่นอีกสกุลก็คือ Peercoin ซึ่งเริ่มใช้ระบบผสม คือ proof-of-work/proof-of-stake เป็นสกุลแรก ส่วน IOTA เป็นคริปโทเคอร์เรนซีแรกที่ไม่ได้ใช้บล็อกเชน แต่ใช้ Tangle แทน

ในปี 2017 The Divi Project ทำระบบที่ช่วยให้แลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ ภายในวอลเลตเดียวกันได้ง่าย โดยสร้างใช้บล็อกเชนแบบพิเศษ และให้สมรรถภาพในการให้ข้อมูลระบุบุคคลในธุรกรรม มีคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ อีกมากที่ได้สร้างขึ้น แม้น้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะล้วนแต่ไม่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทำอะไรได้ดีขึ้น

วันที่ 6 สิงหาคม 2014 สหราชอาณาจักรประกาศว่า กระทรวงการคลังได้รับคำสั่งให้ศึกษาคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อดูว่า มันสามารถมีบทบาทในเศรษฐกิจของประเทศได้บ้างหรือไม่ งานศึกษาก็จะรายงานด้วยว่า ควรจะมีกฎหมายควบคุมหรือไม่

ความสนใจจากสาธารณชน

คริปโทเคอร์เรนซี 
เครื่องแลกเปลี่ยนบิตคอยน์อัตโนมัติ (Bitcoin ATM)

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลาง (Gareth Murphy) แห่งหนึ่งได้กล่าวว่า "การใช้คริปโทเคอร์เรนซีอย่างแพร่หลายจะทำให้องค์กรสถิติมีปัญหามากขึ้นในการเก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลใช้ในการคัดท้ายเศรษฐกิจ" เขาได้เตือนว่า เงินเสมือนเป็นการท้าทายธนาคารกลางในการควบคุมนโยบายการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ส่วนบริษัท Robocoin ได้เริ่มติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนบิตคอยน์อัตโนมัติ (Bitcoin ATM) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014 เครื่องที่ติดตั้งในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส คล้ายกับเครื่องเอทีเอ็ม แต่มีเครื่องอ่านบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐบาล เช่น ใบขับขี่หรือหนังสือเดินทางเพื่อยืนยันพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลนั้น ๆ โดยเดือนกันยายน 2017 มีเครื่องแลกเปลี่ยนบิตคอยน์อัตโนมัติ 1,574 เครื่องที่ได้ติดตั้งทั่วโลกโดยมีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่ 9.05% มีการติดตั้งเครื่องโดยเฉลี่ย 3 เครื่องต่อวันในเดือนกันยายน 2017

มูลนิธิโดชคอยน์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลและจัดตั้งโดยผู้ร่วมสร้างโดชคอยน์ (คือ Jackson Palmer) ได้บริจาคโดชคอยน์มูลค่ากว่า $30,000 (ประมาณ 903,900 บาท) เพื่อให้ทุนแก่ทีมกีฬา Jamaican bobsled team เพื่อเดินทางไปแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชี ประเทศรัสเซีย ชุมชนผู้ใช้โดชคอยน์ที่กำลังขยายกว้างขึ้น ยังเพิ่มชื่อเสียงทางการกุศลของตนโดยหาเงินจำนวนเท่ากันเพื่อซื้อสุนัขบริการสำหรับเด็กพิการ

เชิงอรรถ

อ้างอิง

อ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

คริปโทเคอร์เรนซี นิยามคริปโทเคอร์เรนซี ภาพรวมคริปโทเคอร์เรนซี สถาปัตยกรรมคริปโทเคอร์เรนซี เศรษฐกิจคริปโทเคอร์เรนซี ความถูกต้องตามกฎหมายคริปโทเคอร์เรนซี ในเกมคริปโทเคอร์เรนซี งานวิชาการคริปโทเคอร์เรนซี ข้อวิจารณ์คริปโทเคอร์เรนซี ประวัติคริปโทเคอร์เรนซี เชิงอรรถคริปโทเคอร์เรนซี อ้างอิงคริปโทเคอร์เรนซี อ่านเพิ่มเติมคริปโทเคอร์เรนซี แหล่งข้อมูลอื่นคริปโทเคอร์เรนซีฐานข้อมูลบล็อกเชนภาษาอังกฤษวิทยาการเข้ารหัสลับ

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

จังหวัดของประเทศเกาหลีใต้แบมแบมพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลสังโยชน์ประเทศเกาหลีใต้สูตรลับตำรับดันเจียนดราก้อนบอลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ประเทศไทย)สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมิเกล อาร์เตตาปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม รอดสวาสดิ์เสกสรรค์ ศุขพิมายประเทศอังกฤษนาฬิกาหกชั่วโมงการ์ตูนสุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานีภาคตะวันออก (ประเทศไทย)ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีวันมูหะมัดนอร์ มะทาสโมสรฟุตบอลยูเวนตุสพ.ศ. 2567เรวัช กลิ่นเกษรเฮลล์คิทเช่นไทยแลนด์ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวชภาษาไทยพอได้เกิดใหม่เป็นองค์ชายลําดับที่เจ็ด ก็เพื่อเรียนเวทให้สนุกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทยเกศริน ชัยเฉลิมพลสุชาติ ภิญโญภาคใต้ (ประเทศไทย)อริยบุคคลจิราพร สินธุไพรโรงพยาบาลในประเทศไทยทวีปยุโรปมิถุนายนมหาวิทยาลัยศรีปทุมพระโคตมพุทธเจ้าการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจังหวัดหนองคายภาษาไทยถิ่นเหนือแมวสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีดาบพิฆาตอสูรข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคณะรัฐมนตรีไทยวรันธร เปานิลประยุทธ์ จันทร์โอชาเซเว่น อีเลฟเว่นประเทศอิสราเอลกรณิศ เล้าสุบินประเสริฐยากูซ่าฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024จ้าว ลู่ซือลาลิกาสราลี ประสิทธิ์ดำรงไค ฮาเวิทซ์นกกะรางหัวขวานภาษาอังกฤษวอลเลย์บอลบรรดาศักดิ์ไทยพรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์พรหมลิขิตสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตีลุค อิชิกาวะ พลาวเดนจังหวัดของประเทศไทยเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี (พระราชมนู)ไทยรัฐรณิดา เตชสิทธิ์อชิรญา นิติพนธนวรรธน์ วรรธนะภูติพันทิป.คอม🡆 More