ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (ไอริช: An Gorta Mór, อังกฤษ: Irish Potato Famine) หรือในภาษาเกลิก “An Gorta Mór” แปลตรงตัวว่า “ความโหยหิวอันยิ่งใหญ่” หรือ “An Drochshaol” ที่แปลว่า “ชีวิตอันตกอับ” เป็นสมัยที่เกิดทุพภิกขภัย โรคระบาด และการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ.

1845 จนถึงปี ค.ศ. 1852 ซึ่งทำให้จำนวนประชากรลดลงไปถึงราวระหว่างร้อยละ 20 ถึง 25 ชาวไอร์แลนด์เสียชีวิตไปราวหนึ่งล้านคนและอีกกว่าล้านคนอพยพหนีความยากเข็ญไปประเทศอื่น สาเหตุของวิกฤติทุพภิกขภัยมาจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อรามันฝรั่ง (potato blight หรือ phytophthora infestans) ทำลายผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ แม้ว่าเชื้อราเดียวกันนี้จะทำลายผลผลิตของมันฝรั่งไปทั่วยุโรปในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 เช่นกัน แต่ผลกระทบที่มีต่อชีวิตของคนในไอร์แลนด์—ซึ่งหนึ่งในสามของประชากรบริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก—รุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามสาเหตุที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่รวมทั้งสภาวะทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์ ที่แม้ในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์
ภาพร่างสตรีและเด็กที่เป็นบรรยายความยากเข็ญของบริจิต โอดอนเนล จากลอนดอนนิวส์ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1849

ทุพภิกขภัยดังกล่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ มันเปลี่ยนลักษณะของประชากร การเมือง และวัฒนธรรมของไอร์แลนด์ไปอย่างถาวร สำหรับทั้งชาวไอร์แลนด์และชาวไอร์แลนด์พลัดถิ่นแล้ว ทุพภิกขภัยนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำพื้นบ้าน และกลายมาเป็นเหตุผลของการรณรงค์ของขบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นชาตินิยมของไอร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีความเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดสำคัญพอที่จะที่ใช้ในการแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์ออกเป็น “สมัยก่อนอดอยาก” และ “สมัยหลังอดอยาก”

สาเหตุและปัจจัยที่ประกอบ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ไอร์แลนด์ปกครองโดยตรงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร อำนาจการบริหารตกอยู่ในมือของข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์และเลขาธิการเอกแห่งไอร์แลนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลบริติช ไอร์แลนด์มีสมาชิกรัฐสภา 105 คนในสภาสามัญชน และ ขุนนางสืบตระกูลไอร์แลนด์ก็เลือกสมาชิกในกลุ่มของตนเองอีก 28 คนสำหรับนั่งในสภาขุนนาง ระหว่างปี ค.ศ. 1832 จนถึงปี ค.ศ. 1859 เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของผู้แทนของไอร์แลนด์มาจากเจ้าของที่ดินหรือลูกของเจ้าของที่ดิน

ในช่วงสี่สิบปีหลังการรวมตัวเป็นสหราชอาณาจักรรัฐบาลบริติชต่อมาหลายรัฐบาลก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาการปกครองในไอร์แลนด์ ตามที่เบนจามิน ดิสราเอลีกล่าวในปี ค.ศ. 1844 ว่าเป็นประเทศที่ “ประชากรเต็มไปด้วยทุพภิกขภัย, ขุนนางที่ไม่มีตัวตน, สถาบันศาสนาที่เข้าไม่ถึงประชาชน และระบบบริหารที่ย่ำแย่ที่สุดในโลก” นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งคำนวณว่าระหว่างปี ค.ศ. 1801 จนถึงปี ค.ศ. 1845 รัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมาธิการ 114 คณะ และคณะกรรมาธิการพิเศษอีก 61 คณะ เพื่อทำการศึกษาสถานการณ์ของไอร์แลนด์ ซึ่งต่างก็เห็นพ้องกัน “โดยไม่มีข้อยกเว้นจากการวินิจฉัยที่ต่างก็ทำนายถึงวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นที่รวมทั้ง: ไอร์แลนด์อยู่ในภาวะที่ใกล้จะอดตาย, ประชากรทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว, ประชากรสามในสี่ไม่มีงานทำ, สภาวะการอยู่อาศัยอยู่ในสภาพที่น่าขยะแขยง และ มาตรฐานความเป็นอยู่อยู่ในระดับต่ำอย่างเหลือเชื่อ” สภาวะของสังคมดังกล่าวนี้ตรงกันกับข้ามกับสภาวะสังคมในบริเตนในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะนั้นบริเตนเริ่มจะได้รับผลประโยชน์จากความมั่งมีของสมัยใหม่ของสมัยวิคตอเรียที่เป็นผลจากความเจริญรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นกฎหมายที่จำกัดการศึกษาสำหรับชาวไอริชคาทอลิก และการเป็นเจ้าของที่ดินก็เป็นผลให้ความเจริญเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นไปได้ยากในไอร์แลนด์ จนกระทั่งเมื่อกฎหมายอาญาถูกยกเลิกเพียงห้าสิบปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย แต่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินก็ยังคงรักษาที่ดินไว้ในมือ

เจ้าของและผู้ทำงานในที่ดิน

นโยบายปลดแอกคาทอลิกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1829 ประชากรของไอร์แลนด์ 80 เปอร์เซ็นต์นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่อยู่ในสภาพที่ยากจนและไม่มีความมั่นคงทางสังคม ในขณะที่ชนชั้นสูงในสังคมเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ที่เป็นครอบครัวชาวอังกฤษหรือชาวอังกฤษ-ไอร์แลนด์ ผู้มีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งหมด และมีอำนาจอันไม่มีขอบเขตเหนือผู้ทำงานในที่ดิน เจ้าของที่ดินบางคนก็มีที่ดินเป็นจำนวนมากเช่นเอิร์ลแห่งลูคันที่เป็นเจ้าของที่ดินถึง 240 ตารางกิโลเมตร เจ้าของที่ดินหลายคนมีที่พักในอังกฤษซึ่งทำให้เป็นเพียงเจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตน (absentee landlords) เจ้าของที่ดินเหล่านี้ใช้ตัวแทนในการบริหารที่ดินในไอร์แลนด์และส่งรายได้ที่ได้รับกลับไปอังกฤษ เจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษบางคนก็ไม่เคยแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินไอร์แลนด์ ได้แต่เพียงเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าผู้ยากเข็ญ หรือจ่ายค่าจ้างเพียงจำนวนเพียงเล็กน้อยในการทำการเกษตรกรรมหรือเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อส่งออก

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
แดเนียล โอคอนเนลล์แห่งสมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1843 เมื่อรัฐบาลบริติชภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเซอร์ โรเบิร์ต พีลพิจารณาเห็นว่าปัญหาที่ดินเป็นบ่อเกิดของความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ พีลก็ได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการเดวอน (Devon Commission) โดยมีเอิร์ลแห่งเดวอนเป็นประธานเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของที่ดินในในไอร์แลนด์ นักการเมืองไอริชแดเนียล โอคอนเนลวิจารณ์คณะราชกรรมาธิการชุดนี้ว่าเป็นคณะกรรมการข้างเดียวอย่างแท้จริงเพราะสมาชิกทั้งหมดเป็นเจ้าของที่ดินโดยไม่มีตัวแทนที่เป็นผู้เช่าที่ดิน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 คณะราชกรรมาธิการก็รายงานว่า “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรยายถึงความลำบากยากเข็ญที่[ชนชั้นแรงงานชาวไอริชและครอบครัว]ต้องทนกันมาอย่างไม่มีปากมีเสียง . . . ในบางแขวงอาหารอย่างเดียวที่มีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็มีแต่มันฝรั่ง . . .กระท่อมที่อยู่ก็แทบจะไม่มีการป้องกันจากสภาวะอากาศ . . .เตียงหรือผ้าห่มก็หายากที่จะมีกัน . . .และทรัพย์สมบัติอย่างเดียวที่มีกันเกือบทุกคนก็คือหมูและกองขี้หมู” สมาชิกของคณะราชกรรมาธิการสรุปว่าสมาชิกเอง “ไม่อาจจะยับยั้งที่จะกล่าวถึงความอดทนต่อสภาวะอันแสนเข็ญของชนชั้นแรงงานที่คณะกรรมาธิการเชื่อว่าเป็นความลำบากอันมากกว่าชาติใดใดในยุโรปที่ต้องทน”

คณะราชกรรมาธิการกล่าวว่าต้นตอของปัญหามาจากความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดิน ซึ่งเป็นภาวะของการขาดความจงรักภักดีต่อเจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินเองก็ขาดความรับผิดชอบในการพิทักษ์ผู้ทำงานในที่ดิน ซึ่งแตกต่างกับที่ปฏิบัติกันในอังกฤษเพราะไอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ถูกพิชิต เมื่อเอิร์ลแห่งแคลร์กล่าวถึงเจ้าของที่ดินว่า “การยึดที่ดินเป็นเรื่องที่ทำกันโดยปกติ” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเซซิล วูดแดม-สมิธกล่าวว่าเจ้าของที่ดินถือว่าที่ดินเป็นแหล่งหารายได้สำหรับการบีบคั้นให้ได้รายได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ชาวไอริช “ก้มหน้าก้มตาวิตกถึงความไม่พึงพอใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ตามความเห็นของเอิร์ลแห่งแคลร์เจ้าของที่ดินมีความเห็นว่าไอร์แลนด์คือดินแดนที่ไม่เป็นมิตรสำหรับการใช้เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลทำให้เจ้าของที่ดินเลี่ยงที่จะพำนักอยู่กับที่ดินและกลายมาเป็นเจ้าของที่ดินล่องหนกันไปตามตามกัน จะมีบางคนทีอาจจะเดินทางไปดูที่ครั้งหรือสองครั้งในชีวิต ค่าเช่าที่ได้รับมาก็นำไปใช้ในอังกฤษ ซึ่งในปี ค.ศ. 1842 ประมาณกันว่าได้มีการนำเงินออกจากไอร์แลนด์เป็นจำนวนถึง £6,000,000 การเก็บค่าเช่าก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการที่ทำงานให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งตามความเห็นของวูดแดม-สมิธแล้ว ความมีประสิทธิภาพของผู้จัดการก็วัดได้จากการเรียกเก็บหรือขูดค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ได้มีการนำระบบใหม่ในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของที่ดินเข้ามาใช้ในรูปของ “ระบบคนกลาง” ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับรายได้จากที่ดินอย่างสม่ำเสมอและลดภาระจากความรับผิดชอบต่างๆ ลง แต่ผลเสียคือผู้เช่าที่ดินถูกตักตวงเพิ่มขึ้นโดยคนกลาง คณะกรรมาธิการบรรยายระบบนี้ว่าเป็น “ระบบอันกดขี่ที่สุดของผู้เผด็จการที่ยื่นมือเข้ามาช่วยในการทำลายประเทศ” คนกลางเหล่านี้มักจะได้รับการขนานนามว่า “ฉลามบก” หรือ “คนดูดเลือด”

คนกลางจะเช่าที่ดินผืนใหญ่จากเจ้าของที่ดินโดยเป็นสัญญาประเภทเช่านานโดยจ่ายค่าเช่าที่คงตัว จากนั้นก็หันไปเอาที่ดินที่เช่ามาไปให้เช่าต่อตามแต่จะเหมาะสม การแบ่งที่ดินให้เช่ายิ่งย่อยออกไปเท่าใดก็ยิ่งจะทำรายได้เพิ่มขึ้นได้มากเท่านั้น ผู้เช่าที่ดินอาจจะถูกไล่ออกจากที่ดินด้วยเหตุผลเช่นไม่จ่ายค่าเช่าซึ่งเป็นจำนวนสูง หรือเมื่อเจ้าของที่ดินเปลี่ยนใจหันไปเลี้ยงแกะแทนที่จะใช้ที่ดินในการปลูกธัญพืช ถ้าผู้เช่าปรับปรุงสิ่งใดในที่ดินสิ่งนั้นก็กลายเป็นของเจ้าของที่ดินหลังจากหมดสัญญาเช่า หรือเมื่อถูกเลิกสัญญา ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ใดที่ต้องการที่จะปรับปรุงที่ดิน นอกจากนั้นผู้เช่าที่ดินก็ขาดความมั่นคงในการเช่าเพราะอาจจะถูกไล่ที่เมื่อใดก็ได้ตามแต่เจ้าของที่ดินต้องการ ชนชั้นนี้เป็นชนส่วนใหญ่ของชาวนาที่เช่าที่ดินในไอร์แลนด์ ยกเว้นแต่ในบริเวณอัลสเตอร์ที่มีระบบ “สิทธิผู้เช่าที่ดิน” ซึ่งผู้เช่าที่ดินได้รับค่าตอบแทนเมื่อทำการปรับปรุงที่ดินที่เช่า คณะกรรมาธิการตามความเห็นของวูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความมั่งคั่งและความสงบในอัลสเตอร์เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นของไอร์แลนด์เป็นผลมาจากลักษณะของสิทธิผู้เช่าที่ดิน”

เจ้าของที่ดินในไอร์แลนด์ใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมโดยไม่มีความละอายใจ และผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจก็ได้แต่ชิงชัง ในบรรยากาศดังกล่าวนี้วูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความอุตสาหะและความต้องการในการปรับปรุงก็ดับ และสร้างเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในยุโรป”

ผู้เช่าที่ดิน, การแบ่งที่ดิน และ การล้มละลาย

ในปี ค.ศ. 1845 ยีสิบสี่เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มที่ให้เช่าในไอร์แลนด์มีขนาดระหว่าง 0.4 ถึง 2 เฮคตาร์ (1 ถึง 5 เอเคอร์) อีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์มีขนาดระหว่าง 2 ถึง 6 เฮคตาร์ (5 ถึง 15 เอเคอร์) ขนาดของที่ดินที่แบ่งออกไปมีขนาดเล็กจนกระทั่งปลูกได้ก็แต่มันฝรั่งเพียงอย่างเดียว—ไม่มีพืชอื่น—ที่ปลูกได้พอที่จะเลี้ยงครอบครัว รัฐบาลบริติชรายงานไม่นานก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยว่าความจนแผ่ขยายอย่างกว้างขวางจนหนึ่งในสามของผู้เช่าที่ดินไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้หลังจากที่จ่ายค่าเช่าแล้ว นอกจากว่าจะเดินทางไปหารายได้เพิ่มเติมเป็นคนงานชั่วฤดู (migrant labour) ในอังกฤษหรือสกอตแลนด์ หลังจากวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ก็มีการปฏิรูปที่ดินที่ห้ามการแบ่งที่ดินให้มีขนาดเล็กลงไปอีก

จากการสำรวจจำนวนประชากรในปี ค.ศ. 1841 พบว่ามีประชากรกว่าแปดล้านคน สองในสามของจำนวนนวนนั้นดำรงชีพโดยการทำการเกษตรกรรมและแทบจะไม่มีรายได้จากค่าแรงงานอื่น ประชากรเหล่านี้ต้องทำงานให้แก่เจ้าของที่ดินเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ดินเพียงกระแบะมือที่ใช้ในการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งทำให้ระบบเกษตรกรรมของไอร์แลนด์กลายเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรปลูกแต่เพียงพืชชนิดเดียว ซึ่งก็คือมันฝรั่งเพื่อให้เป็นจำนวนพอเพียงที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ สิทธิในการได้ที่ดินในไอร์แลนด์ในช่วงนั้นจึงมีความหมายถึงการตายหรือการอยู่รอดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

ภาวะพึ่งพิงมันฝรั่ง

มันฝรั่งนำเข้ามาปลูกในไอร์แลนด์ในช่วงแรกเป็นพืชสวนสำหรับชนชั้นผู้ดี เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 มันฝรั่งก็แพร่หลายไปเป็นอาหารประกอบแทนที่จะเป็นอาหารหลัก อาหารหลักขณะนั้นยังเป็นเนย นม และธัญพืช ในยี่สิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 มันฝรั่งจึงกลายมาเป็นอาหารหลักสำหรับคนยากจนโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว การขยายตัวของเศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. 1760 จนถึง ค.ศ. 1815 ทำให้มันฝรั่งกลายมาเป็นอาหารหลักตลอดปีสำหรับเกษตรกรและชนชั้นเกษตรกรที่มีที่ทำกินน้อย

การขยายการปลูกมันฝรั่งเป็นปัจจัยของการวิวัฒนาการของระบบเกษตรกรผู้เช่านา ที่ทำให้เจ้าของที่ดินสามารถได้แรงงานที่มีราคาต่ำที่สุดแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับความเป็นอยู่ของแรงงานที่จ้างมาต่ำตามลงไปด้วย สำหรับเกษตรกรเองค่าจ้างมันฝรั่งก็สิ่งจำเป็นในการขยายเศรษฐกิจการเกษตรกรรม การขยายตัวนี้ก็นำไปสู่การขยายเนื้อที่ในการปลูกมันฝรั่งที่เพิ่มมากขึ้นและการขยายตัวของชนชั้นแรงงานเกษตรกรที่ตามมา เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1841 ชนชั้นเกษตรกรแรงงานก็มีด้วยกันกว่าหนึ่งล้านคน ผู้มีครอบครัวอีกเจ็ดแสนห้าหมื่นคน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากระบบนี้คือผู้บริโภคในอังกฤษ

รามันฝรั่งในไอร์แลนด์

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
จ้ำดำที่ปรากฏบนใบมันฝรั่งที่โดยไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
หัวมันฝรั่งที่ถูกเชื้อราที่ในที่สุดก็จะเน่าเละส่งกลิ่นเหม็น

ก่อนหน้าที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” หรือที่เรียกว่า “รามันฝรั่ง” จะระบาดขึ้นในไอร์แลนด์ มันฝรั่งมีโรคหลักอยู่สองโรค โรคหนึ่งเรียกว่า “dry rot” หรือ “taint” อีกโรคหนึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เรียกกันว่า “curl” นักเขียนดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคกล่าวว่า “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เป็นราน้ำ (oomycete) ที่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ “รา” ตามที่เข้าใจกัน

ในปี ค.ศ. 1851 การสำรวจจำนวนประชากรในไอร์แลนด์ของคณะราชกรรมาธิการบันทึกความเสียหายที่ต่างระดับกันของผลผลิตมันฝรั่งที่เกิดขึ้นถึงยี่สิบสี่ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1728 เป็นต้นมา

  • ค.ศ. 1739 และ ค.ศ. 1740 ผลผลิตทั้งหมดถูกทำลายจนหมดสิ้น
  • ค.ศ. 1770 ผลผลิตส่วนใหญ่ก็ได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1800 เกิดความเสียหายโดยทั่วไป
  • ค.ศ. 1807 ครึ่งหนึ่งของผลผลิตได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1821 และ ค.ศ. 1822 ผลผลิตในมันสเตอร์ (Munster) และ คอนนอต (Connacht) ถูกทำลายจนหมดสิ้น
  • ค.ศ. 1830 และ ค.ศ. 1831 ผลผลิตใน มาโย, ดอเนอกัล และ กาลเวย์ ได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1832, ค.ศ. 1833, ค.ศ. 1834 และ ค.ศ. 1836 ผลผลิตมันฝรั่งจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างหนัก
  • ค.ศ. 1835 ใน อัลสเตอร์
  • ค.ศ. 1836 และ ค.ศ. 1837 เป็นปีที่ผลผลิตได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวางโดยทั่วไปในไอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1839 ความเสียหายเกิดขึ้นโดยทั่วไปทั้งประเทศ
  • ค.ศ. 1841 และ ค.ศ. 1844 ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง

วูดแดม-สมิธสรุปว่า “ความไม่แน่นอนของผลผลิตมันฝรั่งกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันเป็นปกติในไอร์แลนด์

จะเป็นวิธีใดหรือเมื่อใดที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เข้ามาเผยแพร่ในไอร์แลนด์นั้นไม่เป็นที่ทราบ แต่พี. เอ็ม. เอ. เบิร์คเชื่อว่ามิได้เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 1842 และอาจจะเข้ามาเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1844 อย่างน้อยแหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งเสนอว่าอาจจะมาจากทางตอนเหนือของเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะจากเปรู จากนั้นก็เข้ามาเผยแพร่ในยุโรปโดยมากับเรือที่บรรทุกปุ๋ยขี้นก (guano) ที่เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการกันมากในการใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรกรรมในยุโรปและบริเตนมาขาย

ในปี ค.ศ. 1844 หนังสือพิมพ์ไอร์แลนด์รายงานข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ระบาดและทำความเสียหายแก่มันฝรั่งอยู่เป็นเวลาสองปีในอเมริกา นักเขียนเจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าต้นตอของเชื้อโรคน่าจะมาจากทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่ในปี ค.ศ. 1843 และ ค.ศ. 1844 เชื้อราทำลายพืชผลส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ดอนเนลลีเสนอว่าเรือที่เดินทางมาจากบัลติมอร์ ฟิลาเดลเฟีย และนิวยอร์ก อาจนำเชื้อโรครามันฝรั่งมายังเมืองท่าในยุโรป ดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคเสนอว่าเชื้อโรคมากับมันฝรั่งที่บรรทุกมาในเรือที่ใช้เลี้ยงผู้โดยสารในเรือรับส่งผู้โดยสารที่แล่นระหว่างอเมริกาและไอร์แลนด์

เมื่อเชื้อโรคมาถึงไอร์แลนด์ก็ระบาดอย่างรวดเร็ว เมื่อมาถึงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1845 รามันฝรั่งก็ระบาดไปทั่วบริเวณตอนเหนือและตอนกลางของยุโรป เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ตอนเหนือของฝรั่งเศส และทางใต้ของอังกฤษ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมมันฝรั่งทั้งหมดก็โดนเชื้อรา

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นิตยสาร “Gardeners' Chronicle and Horticultural Gazette” ก็พิมพ์รายงานที่บรรยาย 'เชื้อราที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนปกติ' ที่พบบนเกาะไวท์ อาทิตย์หนึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นิตยสารก็รายงานว่า 'โรคร้ายระบาดในบรรดาแปลงมันฝรั่ง...ในเบลเยียมกล่าวกันว่าแปลงมันฝรั่งถูกทำลายทั้งแปลง ในตลาดคัฟแวนท์การ์เด็นแทบจะหามันฝรั่งที่ไม่มีเชื้อโรคได้...ถ้าพูดถึงวิธีการกำจัดโรคร้ายนี้ ก็เห็นจะไม่มี...' รายงานเหล่านี้ตีพิมพ์อย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ไอริช เมื่อวันที่ 13 กันยายน นิตยสาร “Gardeners' Chronicle” ประกาศว่า: 'เราขอประกาศข่าวใหญ่ด้วยความเศร้าใจว่าเชื้อมันฝรั่งเมอร์เรนได้ประกาศตนเองในไอร์แลนด์อย่างไม่มีข้อกังขา แต่รัฐบาลบริติชก็ยังมีความหวัง[ว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น]อยู่ต่อไปอีกหลายสัปดาห์'

ความเสียหายของพืชผลในปี ค.ศ. 1845 ประมาณกันว่าสูงถึงราว 50% ของพืชผลทั้งหมด ถึงหนึ่งในสาม คณะกรรมาธิการแมนชันเฮาส์ (The Mansion House Committee) ในดับลิน ที่เป็นที่รับจดหมายจากทั่วไอร์แลนด์อ้างว่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1845 ทางคณะกรรมาธิการก็ได้ประเมินผลเสียหายอย่าง 'ไม่มีข้อสงสัยว่าเกิดขึ้นกับหนึ่งในสามของพืชผลมันฝรั่งทั้งหมด ... ถูกทำลายไปเสร็จสิ้นแล้ว'

ในปี ค.ศ. 1846 สามในสี่ของพืชผลก็สูญเสียไปกับเชื้อโรค เมื่อมาถึงเดือนธันวาคม ผู้คนราวสามแสนห้าหมื่นคนของผู้ที่หมดหนทางก็ได้รับการจ้างโดยรัฐบาลให้ทำงานสาธารณะ (public works) คอร์แม็ค โอเกรดากล่าวว่าการระบาดครั้งแรกทำให้เกิดความยากเข็ญในชนบทของไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีบันทึกเป็นครั้งแรกถึงการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากทุพภิกขภัย ในปี ค.ศ. 1848 หัวมันฝรั่งที่ใช้ในการเพาะก็เริ่มหายากขึ้น และแทบจะไม่มีการปลูกมันฝรั่งกัน ฉะนั้นแม้ว่าอัตราพืชผลจะเป็นระดับปกติ แต่ผลผลิตทั้งหมดก็เป็นเพียงสองในสามของจำนวนการปลูกตามปกติ ซึ่งทำให้วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อชาวไอริช 3 ล้านคนต้องพึ่งมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก ความหิวโหยและทุพภิกขภัยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฏิกิริยาในไอร์แลนด์

รัฐบาลดับลิน (Corporation of Dublin) ส่งคำร้องไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียร้องขอให้พระองค์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการฉุกเฉิน และขอให้ทรงส่งเงินจากภาษีรายได้มาเพื่อใช้ในการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยการนำไปใช้ในการว่าจ้างแรงงานสำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างสารธารณะโดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟในไอร์แลนด์ เทศาภิบาลแห่งเมืองเบลฟาสต์ประชุมและตกลงกันส่งคำร้องที่คล้ายคลึงกัน ตามความเห็นของจอห์น มิทเชลในหนังสือ “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” (The Last Conquest of Ireland (Perhaps)) กล่าวว่าทั้งสองรัฐบาลต่างก็มิได้ขอเงินทาน “[ดับลินและเบสฟาสต์]เรียกร้องว่าถ้าไอร์แลนด์เป็นส่วนสำคัญของสหราชอาณาจักรจริงแล้ว เงินในท้องพระคลังของทั้งสองอาณาจักรก็เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาใช้[ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น]—ฉะนั้นจึงมิใช่เป็นการให้เงินทาน แต่เพื่อใช้ในการว่าจ้างแรงงานสำหรับการสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นของสารธารณะเพื่อการใช้สอยโดยทั่วไป” มิทเชลให้ความเห็นต่อไปว่า “ถ้ายอร์คเชอร์และแลงคาสเชอร์ในอังกฤษต้องประสบปัญหาอันเลวร้ายเช่นในไอร์แลนด์ ก็เห็นจะไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่าการแก้ปัญหาดังที่กล่าวจะเป็นไปอย่างเร่งด่วนและเป็นอันมาก”

ตัวแทนจากประชาชนดับลินที่รวมทั้งดยุคแห่งไลนสเตอร์, นายกเทศมนตรี, ลอร์ดคลอนเคอร์รี และ แดเนียล โอคอนเนลล์เดินทางไปพบปะกับลอร์ดเฮทสบรีข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์เพื่อตั้งข้อเสนอต่างๆ ในการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเปิดเมืองท่าสำหรับข้าวโพดจากต่างประเทศในชั่วระยะเวลานั้น หยุดยั้งการทำการกลั่นจากธัญพืช หรือสร้างโครงการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะ ซึ่งต่างก็เป็นโครงการที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนหลายล้านคนแทบจะไม่มีอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คำตอบของลอร์ดเฮทสบรีต่อผู้มาพบปะคือ “ตีตนไปก่อนไข้” และกล่าวแนะนะว่าไม่ควรจะตื่นตัว และ ทางด้านการบริหารก็ได้ส่งผู้มีความรู้ไปยังอังกฤษเพื่อไปสอบถามกิจการที่เกี่ยวกับปัญหานี้ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสำคัญๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการเสนอรายงานจากแขวงต่างๆ และไม่ปรากฏว่ามี “ความกดดันอันเร่งด่วนจากตลาด” ในจดหมายของเซอร์โรเบิร์ต พีลถึงรัฐมนตรีว่าการภายในของประเทศเซอร์เจมส์ แกรมกล่าวสรุปจากบรรดารายงานที่ส่งไปจากลอร์ดเฮทสบรีว่า มีเนื้อหาที่เป็นการแสดงสถานการณ์ที่ “น่าวิตกเป็นอันมาก” แต่ตามความเห็นของวูดแดม-สมิธติงว่า “การรายงานข่าวของไอร์แลนด์มักจะออกไปในทางเกินเลย” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1845 แดเนียล โอคอนเนลล์แห่งสมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพ เสนอการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่างๆ ที่ข้อแรกคือการนำ “สิทธิผู้เช่าที่ดิน” ที่ปฏิบัติกันในอัลสเตอร์อยู่แล้วมาใช้ในบริเวณอื่นของไอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เจ้าของที่ดินได้ค่าเช่าที่ยุติธรรม และในขณะเดียวกันผู้เช่าก็ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของที่ดินถ้าทำการลงทุนไปในการปรับปรุงการใช้ที่ดินอย่างถาวรระหว่างการที่เช่าที่ดินอยู่

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
จอห์น มิทเชลผู้นำของสมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพ

แดเนียล โอคอนเนลชี้ให้เห็นถึงวิธีที่รัฐบาลเบลเยียมใช้ในการแก้ปัญหาในฤดูเดียวกันโดยการปิดเมืองท่าจากการส่งอาหารออกนอกประเทศ แต่เปิดให้ส่งอาหารเข้าได้ และเสนอว่าถ้าไอร์แลนด์มีรัฐสภาเป็นของตนเองแล้วเมืองท่าเหล่านี้ก็คงจะเปิดกว้างเพื่อรับอาหาร และพืชผลจำนวนมากมายที่ปลูกในไอร์แลนด์ก็คงจะได้รับการรักษาไว้เพื่อประชากรของไอร์แลนด์เอง โอคอนเนลมีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าการมีรัฐสภาแห่งไอร์แลนด์เท่านั้นที่จะเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องอาหารและแรงงานแก่ประชากรของไอร์แลนด์เองได้ และกล่าวว่าการยกเลิกพระราชบัญญัติสหภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำเพราะเป็นความหวังเดียวที่ไอร์แลนด์ยังคงมีอยู่

จอห์น มิทเชลหนึ่งในผู้นำของนักเขียนบทความทางการเมืองของขบวนการยังไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมือง วัฒนธรรม และสังคมเพื่อการปลุกเร้าความเป็นชาตินิยมของไอร์แลนด์เขียนในหนังสือพิมพ์ “ดิ เนชั่น” ให้ความเห็นถึงปัญหา “เชื้อโรคมันฝรั่ง” ในไอร์แลนด์ ว่าทุพภิกขภัยเป็นพลังสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 มิทเชลเสนอความเห็นถึง “วิธีอันน่าเวทนาของการแก้ปัญหาทุพภิกขภัยว่าเป็นการแก้กันอย่างเป็นเรื่องปลีกย่อย” และตั้งกระทู้ว่ารัฐบาลถึงความเข้าใจว่าเพียงอีกไม่นาน “ประชาชนในไอร์แลนด์เป็นจำนวนหลายล้านคนจะไม่มีอะไรใส่ปากใส่ท้อง”

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 มิทเชลตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเพื่อการรักษาความสงบในไอร์แลนด์ ที่ได้รับการเสนอต่อสภาขุนนาง ว่าเป็นเพียงร่างพระราชบัญญัติที่จงใจที่จะเขียนขึ้นโดยไม่ให้มีผู้ใดเป็นคัดค้านในสภาสามัญชน แต่มิทเชลให้ความเห็นว่าทัศนคติของรัฐบาลอาจจะแตกต่างกันเมื่อมาถึงปัญหาการเลี้ยงประชาชนไอริช ซึ่งก็คือ “การตกลงกันที่เป็นไปอย่างราบรื่นในนโยบายการเก็บภาษี, การพิจารณาโทษ และการทำลาย[ชาวไอริช]” ในบทความ “การปกครองของอังกฤษ” (English Rule) ของวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1846 จอห์น มิทเชลเขียนว่าชาวไอร์แลนด์ “คาดการณ์ทุพภิกขภัยที่จะมาถึงเป็นกิจการประจำวัน” และมีความเห็นพ้องต้องกันว่ามิได้เป็นเหตุการณ์ที่ “เกิดจากการกระทำของพระเจ้า แต่เกิดจากความโลภและนโยบายอันทารุณของอังกฤษ” และกล่าวต่อไปในบทความเดียวกันว่าประชาชนชาวไอร์แลนด์“เชื่อว่าแรงงานที่ลงไปเป็นแรงงานที่ทำเพื่อเป็นการสนองความความโลภของอังกฤษ และลูกที่หิวโหยไม่อาจจะเห็นอาหารบนจาน เห็นก็แต่อุ้งมือของชาวอังกฤษที่มาแย่งฉวยอาหารจากจานตรงหน้า” มิทเชลกล่าวชาวไอร์แลนด์ได้แต่นั่งมอง “อาหารที่ละลายไปกับการเน่าสลายลงไปในปฐพี” ขณะเดียวกันกับที่นั่งมอง “เรือที่เพียบไปด้วยข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจากการหว่านการปลูกด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองกางใบแล่นไปยังอังกฤษ”

ต่อมามิทเชลก็เขียนบทความอีกบทความหนึ่งเกี่ยวกับทุพภิกขภัยที่เป็นที่แพร่หลายชื่อ “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” ในปี ค.ศ. 1861 ซึ่งเป็นบทความที่สร้างทัศนคติที่แพร่หลายว่าการแก้ปัญหาทุพภิกขภัยโดยบริติชเป็นการจงใจฆาตกรรมชาวไอร์แลนด์ และมีวลีที่มีชื่อเสียงที่ว่า:

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
ชาร์ลส์ เกวัน ดัฟฟี

ข้อเขียนของมิทเชลทำให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นการปลุกปั่น (sedition) ข้อหานี้ถูกยกเลิก แต่มาถูกพิจารณาโดยคณะลูกขุนว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการก่ออาชญากรรมที่เป็นกบฏ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติในปี ค.ศ. 1848 และมิทเชลได้รับโทษให้ถูกเนรเทศไปยังเบอร์มิวดาเป็นเวลา 14 ปี

ชาร์ลส์ เกวัน ดัฟฟีแห่ง หนังสือพิมพ์ “ดิ เนชั่น” กล่าวยืนยันว่าวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาซึ่งเป็นวิธีที่ชาติอื่นในยุโรปใช้ ที่แม้แต่ภูมิภาคเพล (the Pale) ในไอร์แลนด์เองก็ใช้ระหว่างวิกฤติการณ์ก็คือการกักอาหารที่ปลูกโดยประชาชนในประเทศจนกว่าทุพภิกขภัยจะยุติลง

เมื่อว่าตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 แล้วไอร์แลนด์ก็เป็นส่วนสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษซึ่งเป็น “จักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก” และไอร์แลนด์เป็น “ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจักรวรรดิ” นอกจากนั้นก็ยังได้รับการพิทักษ์จากทั้ง “...ระบบศาลและระบบการพิจารณาคดีโดยลูกขุน...” (Habeas Corpus and trial by jury) แต่ผู้แทนราษฎรของไอร์แลนด์ในฐานะสมาชิกของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรก็ดูเหมือนจะไม่มีอำนาจแต่อย่างใดในการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จอห์น มิทเชลให้ความเห็นในข้อนี้ว่า “เกาะที่กล่าวกันว่าเป็นส่วนสำคัญของจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ... ที่ในห้าปีมาเสียประชากรไปถึงสองล้านห้าแสนคน (กว่าหนึ่งในสี่) จากทุพภิกขภัย, โรคภัยที่เกิดจากทุพภิกขภัย และ การอพยพหนีจากทุพภิกขภัย...”

ในสมัยที่เกิดรามันฝรั่งในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1851 เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าทางการเมือง ขบวนการของกลุ่มผู้ประสงค์จะเพิกถอนพระราชบัญญัติสหภาพประสบความล้มเหลวเมื่อผู้นำของขบวนการแดเนียล โอคอนเนลมาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1847[ต้องการอ้างอิง] กลุ่มขบวนการยังไอร์แลนด์ซึ่งเป็นขบวนการที่มีหัวรุนแรงกว่าดำเนินการเรียกร้องต่อมาและพยายามก่อการปฏิวัติในการปฏิวัติของขบวนการยังไอร์แลนด์ ค.ศ. 1848 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

การตอบโต้วิกฤติการณ์ของรัฐบาล

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
นายกรัฐมนตรีเซอร์โรเบิร์ต พีล
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
นายกรัฐมนตรีลอร์ดรัสเซลล์

เอฟ.เอส.เอล. ลิยอนส์บรรยายถึงการตอบโต้ต่อวิกฤติการณ์ของรัฐบาลบริติชในระยะแรกที่ทุพภิกขภัยยังไม่รุนแรงว่าเป็นการตอบโต้ที่ “ทันต่อเหตุการณ์และมีความสำเร็จพอสมควร” เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างกว้างขวางในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1845 นายกรัฐมนตรีเซอร์โรเบิร์ต พีลก็ซื้อข้าวโพดอินเดียและข้าวโพดป่น (cornmeal) อย่างลับๆ จากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเงิน £100,000 บริษัทแบริงบราเธอร์สต้องเป็นตัวแทนทำการซื้อขายในนามของรัฐบาล รัฐบาลมีความหวังว่าการซื้อขายครั้งนี้จะไม่เป็นการ “บีบคั้นกิจการของเอกชน” หรือหยุดยั้งโครงการช่วยเหลือระดับท้องถิ่น แต่สภาวะอากาศอันแปรปรวนทำให้เรือบรรทุกสินค้าข้าวโพดมิได้มาถึงไอร์แลนด์จนกระทั่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี ค.ศ. 1846

เมื่อมาถึงเมล็ดข้าวโพดก็นำมาขายต่อในราคาปอนด์ละหนึ่งเพ็นนี เมล็ดข้าวโพดแห้งที่ได้รับเป็นเมล็ดข้าวโพดที่ยังไม่ได้รับการป่นซึ่งทำให้ยังใช้บริโภคไม่ได้ นอกจากนั้นการป่นข้าวโพดเป็นกรรมวิธีที่ซับซ้อนและใช้เวลานานถ้าจะทำให้ถูกต้องซึ่งโอกาสที่จะทำกันได้ในท้องถิ่นนั้นไม่มี เมื่อป่นแล้วก็จะต้องหุงกันอีกเป็นเวลาพอสมควรจึงจะบริโภคได้ ผู้ที่กินเข้าไปแล้วบ่นว่าทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง การที่ข้าวโพดมีสีเหลืองและต้องบดสองครั้งก่อนที่จะกินได้จึงมาเป็นที่รู้จักกันในไอร์แลนด์ “กำมะถันพีล” ในปี ค.ศ. 1846 พีลก็ดำเนินการยกเลิกกฎหมายข้าวโพดซึ่งเป็นกฎหมายที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อที่จะรักษาระดับราคาขนมปังให้อยู่ในราคาสูง วิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยเลวร้ายลงระหว่างปี ค.ศ. 1846 และการยกเลิกกฎหมายอากรข้าวโพดในปีนั้นก็มีผลเพียงเล็กน้อยในการแก้ทุพภิกขภัยของชาวไอริช มาตรการนี้นำความแตกแยกมาสู่พรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำมาสู่การล่มของการเป็นนายกรัฐมนตรีของพีล ในเดือนมีนาคมพีลก็ก่อตั้งโครงการการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะขึ้นในไอร์แลนด์ แต่พีลมาถูกบังคับให้ลาออกจากรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรีเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน การล่มของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เมื่อพีลได้รับความพ่ายแพ้ในสภาสามัญชนเมื่อมีญัตติในการอ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อการรักษาความสงบในไอร์แลนด์เป็นครั้งที่สอง นักเขียนและสมาชิกของขบวนการยังไอร์แลนด์ไมเคิล โดเฮนีกล่าวว่าฝ่ายเสียงข้างมากที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพีลมีจำนวนเจ็ดสิบสามคนที่ประกอบด้วย “วิก, คอนเซอร์เวทีฟหัวรุนแรง, กลุ่มที่มีความคิดรุนแรง และผู้ต้องการเพิกถอนการรวมตัว” สิบวันหลังจากนั้นลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ก็รับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

มาตรการที่ลอร์ดรัสเซลล์นายกรัฐมนตรีคนต่อมากระทำก็ยังคงเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอในการพยายามกู้สถานการณ์ และโดยทั่วไปแล้วสถานการณ์ก็เลวร้ายลงยิ่งขึ้นไปอีก รัฐบาลของรัสเซลล์เสนอโครงการการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะซึ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1846 เป็นผลให้มีการจ้างชาวไอริชครึ่งล้านคน แต่กลายเป็นสิ่งที่ล้นมือในการทำการบริหาร เซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารโครงการช่วยผู้ประสบทุพภิกขภัยของรัฐบาลจำกัดการช่วยเหลือเพราะมีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “การตัดสินของพระเจ้าในการส่งความภัยพิบัติลงมาเพื่อสั่งสอนชาวไอริชให้ได้รับบทเรียน” โครงการก่อสร้างเป็นโครงการสั่งทำที่ไม่มีผลประโยชน์จากสิ่งที่สร้างขึ้น—คือเป็นโครงการที่มิได้สร้างรายได้ที่นำมาใช้กู้รายจ่ายได้ จอห์น มิทเชลบรรยายว่าแรงงานเป็นพันเป็นหมื่นที่ผอมแห้งอดอยากต่างก็ทำงานดำเนินการงานก่อสร้างขุดถนนที่ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

พรรควิกภายใต้ผู้บริหารใหม่ลอร์ดรัสเซลล์ที่ถือปรัชญา “ไม่แทรกเซง” --ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปจนแก้ไขตนเองในที่สุด--เชื่อว่าในที่สุดตลาดก็จะสามารถสร้างอาหารที่สนองความต้องการได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ละเลยการดำเนินการส่งอาหารออกไปยังอังกฤษต่อไป แต่ยุติการส่งอาหารไปช่วยเหลือและยุติโครงการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากมายไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน และไม่มีอาหาร ในเดือนมกราคมรัฐบาลก็ยุติโครงการต่างๆ และหันไปใช้วิธีการช่วยเหลือโดยตรงแบบผสมผเสระหว่าง “ในบ้าน” และ “นอกบ้าน” การช่วยเหลือ “ในบ้าน” ก็ได้แก่การก่อตั้งเคหสงเคราะห์และโรงทำงานขึ้นตามบทบัญญัติในกฎหมายประชาสงเคราะห์ และ “นอกบ้าน” ก็คือการจัดโรงแจกอาหาร (soup kitchen) ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการประชาสงเคราะห์ส่วนใหญ่มาจากเจ้าของที่ดินท้องถิ่น ผู้หันมาทดแทนเงินที่เสียไปโดยการขับไล่ผู้เช่าที่ดิน ที่ทำได้ง่ายขึ้นโดย “พระราชบัญญัติว่าด้วยการขับไล่ผู้เช่าที่ดิน” (Cheap Ejectment Acts) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1847 ข้อแก้ไขกฎหมายประชาสงเคราะห์ก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา เจมส์ ดอนเนลลีบรรยายการโต้ตอบของรัฐบาลใน “"Fearful Realities: New Perspectives on the Famine"” ("ความเป็นจริงอันน่าประหวั่น: ทัศนคติใหม่เกี่ยวกับทุพภิกขภัย") ว่าเป็นการโต้ตอบที่สะท้อนปรัชญาพื้นฐานที่แพร่หลายในบริเตนที่ว่าทรัพย์สินของไอร์แลนด์ต้องใช้สนับสนุนความยากจนของไอร์แลนด์เอง ผู้มีที่ดินในไอร์แลนด์ถูกกล่าวหาในบริเตนว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ทุพภิกขภัย แต่ก็ได้เพิ่มเติมว่ารัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่การใช้พระราชบัญญัติสหภาพก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดที่ว่านี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ “"Illustrated London News"” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 ที่กล่าวว่า “ไม่มีกฎหมายใดที่จะไม่ผ่านตามคำขอของไอร์แลนด์ และไม่มีการข่มเหงใดที่ไม่มีการป้องกันให้เกิดขึ้น” เมื่อวันที่ 24 มีนาคมหนังสือพิมพ์ “ไทม์” รายงานว่าบริเตนเป็นเปิดโอกาสให้เกิดสถานการณ์ในไอร์แลนด์ที่เป็น “ความยากจนอันใหญ่หลวง ความละเลย และความเสื่อมโทรมอันไม่มีสิ่งใดที่จะเปรียบได้ในโลกเกิดขึ้น [บริเตน]เปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินดูดเลือดดูดเนื้อจากชาวไอริชผู้แสนเข็ญ”

“อนุประโยคเกรกอรี” ของกฎหมายประชาสงเคราะห์ระบุห้ามผู้ที่มีที่ดินอย่างน้อยหนึ่งในสี่เอเคอร์จากการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ข้อจำกัดนี้หมายความว่าเกษตรกรผู้ขายสินค้าทั้งหมดเพื่อนำมาเสียค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และภาษี (ซึ่งเป็นการปฏิบัติกันโดยทั่วไป) จนหมดตัวและต้องการที่จะมาสมัครรับเงินช่วยเหลือ แต่ก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือเพราะมีที่ดินมากกว่าหนึ่งในสี่เอเคอร์ นอกไปจากว่าจะยกที่ดินให้เจ้าของที่ดินไป มิทเชลวิจารณ์กฎหมายนี้ว่าเป็นกฎหมายที่ “ทำให้ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่ยอมใช้ได้รับการเลี้ยงดู—ถ้าผู้ใดพยายามไถหว่านแม้แต่เพียงเล็กน้อยผู้นั้นก็จะอดตาย” วิธีการขับไล่ผู้เช่าที่ดินอย่างง่ายๆ นี้เรียกว่าเป็นการ “ส่งคนจนไปให้โรงแรงงาน” — ซึ่งเป็นระบบที่คนเข้าไปทางหนึ่งออกมาเป็นคนจนอีกทางหนึ่ง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นผลให้ชาวไอริชจำนวนมากถูกขับออกจากที่ดินที่ใช้ทำมาหากิน ในปี ค.ศ. 1849 มีผู้ถูกขับเป็นจำนวน 90,000 คน และในปี ค.ศ. 1850 เป็นจำนวนอีก 104,000 คน

การส่งอาหารไปยังอังกฤษ

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
อนุสรณ์สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุนาฏกรรมดูโลห์ (30 มีนาคม ค.ศ. 1849) กลุ่มชนที่หวังที่จะยังคงได้รับความช่วยเหลือ ถูกสั่งให้เดินทางไปหลายไมล์ในสภาวะอากาศที่เลวร้าย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

จากบันทึกพบว่าไอร์แลนด์ยังคงส่งอาหารออกแม้แต่ในปีที่วิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยถึงขีดสูงสุด เมื่อไอร์แลนด์ประสบกับทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1782 ถึงปี ค.ศ. 1783 ทางการก็ปิดเมืองท่าเพื่อรักษาอาหารที่ปลูกในไอร์แลนด์เอาไว้เลี้ยงชาวไอริชเอง ซึ่งทำให้ราคาอาหารลดต่ำลงทันที พ่อค้าพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการแต่รัฐบาลของคริสต์ทศวรรษ 1780 ก็มิได้ยินยอมต่อพ่อค้า แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1840 ทางการมิได้บังคับใช้มาตรการใดใดในการหยุดยั้งการส่งอาหารออกนอกไอร์แลนด์ทั้งสิ้น

เซซิล วูดแดม-สมิธผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์กล่าวใน “The Great Hunger: Ireland 1845–1849” (ไทย: “ทุพภิกขภัยอันยิ่งใหญ่: ไอร์แลนด์ ค.ศ. 1845 ถึง ค.ศ. 1849”) ว่าไม่มีวิกฤติการณ์ใดที่สร้างความความโกรธและความขมขื่นให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์เท่ากับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เมื่อ “ไม่เป็นที่โต้แย้งได้ว่าอาหารเป็นจำนวนมากยังคงถูกส่งจากไอร์แลนด์ไปยังอังกฤษตลอดเวลาที่ประชากรของไอร์แลนด์ถูกคร่าชีวิตจากทุพภิกขภัย” และการการส่งอาหารเป็นสินค้าส่งออกหลักของไอร์แลนด์ก็ยังคงดำเนินอยู่ตลอดห้าปีของวิกฤติการณ์ดังกล่าว

คริสติน คินีลนีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลและนักเขียนตำราสองเล่มเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย “Irish Famine: This Great Calamity” (ไทย: “ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์: ความทุกข์ยากครั้งใหญ่”) และ “A Death-Dealing Famine” (ไทย: “ความตายจากทุพภิกขภัย”) กล่าวว่าอันที่จริงแล้วในช่วงทุพภิกขภัยสินค้าออกของไอร์แลนด์ที่รวมทั้งลูกวัว ปศุสัตว์ (ยกเว้นหมู) เบคอน และ แฮมมีจำนวนสูงขึ้น การส่งออกต้องทำกันด้วยการป้องกันอย่างแข็งแรงจากบริเวณต่างๆ ของไอร์แลนด์ทีประสบกับวิกฤติการณ์ แต่จะอย่างไรก็ตามคนยากจนก็ยังไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารดังกล่าวได้ และรัฐบาลก็มิได้ทำการหยุดยั้งการส่งออก

นักเขียนผู้เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันดีเจน ฟรานเซสคา เอลกีเขียนโคลงที่บรรยายสถานการณ์ที่พิมพ์ใน carried in the เดอะ เนชั่น

ความช่วยเหลือ

วิลเลียม สมิธ โอไบรอันกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่องการให้ “ทาน” (charity) ที่สมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 สรรเสริญความเห็นทั่วไปในหัวข้อนี้ว่าไอร์แลนด์จะไม่ยอมรับ “ทาน” จากอังกฤษ โอไบรอันให้ความเห็นว่าทรัพยากรของไอร์แลนด์ยังคงมีมากมายพอที่จะดำรงความเป็นอยู่ของประชากร และจนกว่าทรัพยากรเหล่านั้นจะหมดสิ้นโอไบรอันก็ยังคงหวังว่าจะไม่มีผู้ใดใน “ไอร์แลนด์ที่จะยอมลดตัวลงไปขอให้อังกฤษช่วย”

มิทเชลใน “การพิชิตไอร์แลนด์ครั้งสุดท้าย (อาจเป็นได้)” (The Last Conquest of Ireland (Perhaps)) กล่าวในหัวข้อเดียวกันว่าไม่มีผู้ใดเลยจากไอร์แลนด์ที่หาทานในช่วงนี้ และผู้ที่เสาะหาทานคืออังกฤษเองที่ทำในนามของไอร์แลนด์และเมื่อได้รับมาแล้วก็เป็นผู้บริหารเอง มิทเชลเสนอว่าหนังสือพิมพ์อังกฤษเท่านั้นที่เป็นผู้บรรยายว่า “ในชั่วขณะนั้นไอร์แลนด์ตกอยู่ในสภาวะอันวิกฤติ ที่ทำให้เป็นกลายเป็นขอทานผู้น่าสังเวชอยู่หน้าประตูอังกฤษ และไอร์แลนด์ก็ยังต้องการเงินทานสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด” มิทเชลกล่าวเน้นว่าไอร์แลนด์ไม่เคยขอทานหรือความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นชนิดใดจากอังกฤษหรือชาติอื่น แต่อังกฤษเองที่เป็นฝ่ายขอในนามของไอร์แลนด์ และเสนอว่าอังกฤษเองเป็น “ผู้แบมือขอไปทั่วโลก ขอให้บริจาคให้ช่วยคนยากจนที่น่าสงสารในไอร์แลนด์” และตั้งตนเป็นผู้แทนขององค์การกุศลและเอากำไรจากผลประโยชน์นั้นด้วยตนเอง

เงินบริจาคจำนวนมากหลั่งไหลมาจากที่ต่างๆ การรณรงค์ระดมทุนครั้งแรกในต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 1845 นั้นรวมถึงสมาคมชาวไอร์แลนด์ในบอสตัน (Boston Repeal Association) และโบสถ์คาทอลิก โกลกาตาได้ชื่อว่าเป็นเมืองแรกที่สมทบบริจาคก้อนใหญ่ เป็นเงินจำนวน £14,000 จากการสมทบโดยทหารไอริชที่รับราชการอยู่ที่โกลกาตาและชาวไอริชที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของบริติช, สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ประทานเงิน และ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชทานเงิน £2,000

เควคเกอร์อัลเฟรด เว็บบ์หนึ่งในอาสาสมัครในไอร์แลนด์ขณะนั้นบรรยายว่า:

นอกจากองค์การทางศาสนาแล้วก็มีองค์การเอกชนที่เข้ามาทำการช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อของทุพภิกขภัย องค์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริติช (British Relief Association) ก็เป็นองค์การหนึ่ง ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1847 องค์การจัดหาเงินทั่วอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย โดยใช้ “พระราชสาส์นจากพระราชินี” ซึ่งเป็นพระราชสาส์นจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียร้องขอให้ช่วยบริจาคเงินผู้ประสบความทุกข์ยากในไอร์แลนด์ จดหมายฉบับแรกทำให้องค์การได้รับเงินบริจาคจำนวน £171,533 “พระราชสาส์นจากพระราชินี” ฉบับที่สองออกในปลายปี ค.ศ. 1847 ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าฉบับแรก แต่เงินทั้งหมดที่ได้รับจากการบริจาคก็ตกประมาณ £200,000

ความเช่วยเหลือจากจักรวรรดิออตโตมัน

ในปี ค.ศ. 1845 สุลต่านอับดุลเมซิดที่ 1 แห่งจักรวรรดิออตโตมันทรงแสดงพระราชประสงค์จะส่งเงินจำนวน £10,000 มาช่วยเกษตรกรชาวไอริชแต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงขอให้ส่งไปเพียง £1,000 เพราะพระองค์เองทรงส่งเงินไปช่วยเพียงจำนวน £2,000 สุลต่านอับดุลเมซิดก็ทรงทำตามพระราชประสงค์แต่ทรงแอบส่งเรือพร้อมอาหารมาช่วยสามลำ ศาลอังกฤษพยายามยับยั้งเรือแต่เรืออาหารก็เดินทางไปถึงอ่าวโดรเกดาจนได้

ความช่วยเหลือจากอเมริกันอินเดียน

ในปี ค.ศ. 1847 ระหว่างกลางวิกฤติการณ์กลุ่มชาวอเมริกันอินเดียนชอคทอว์ รวบรวมเงินจำนวน $710 (แต่บทความหลายบทความกล่าวว่าเป็นจำนวน $170 หลังจากที่แอนจี เดโบพิมพ์จำนวนผิดใน The Rise and Fall of the Choctaw Republic และส่งมาให้ชาวไอริชผู้อดอยาก จูดี แอลแลนบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “"Choctaw Nation of Oklahoma"” กล่าวว่า “เป็นช่วงเวลาเพียงสิบหกปีที่ชอคทอว์ต้องประสบกับเส้นทางธารน้ำตา และต้องประสบกับทุพภิกขภัย...ซึ่งเป็นการกระทำอันน่าประทับใจ ถ้าเป็นในปัจจุบันเงินจำนวนนี้อาจจะเป็นจำนวนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ” เพื่อเป็นการำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาวไอริชแปดคนก็เดินตามรอยเส้นทางธารน้ำตา

การขับไล่

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
ครอบครัวชาวไอริชที่ถูกไล่ที่ ราว ค.ศ. 1879

เจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เช่าที่ดินทุกคนที่ต้องเสียค่าเช่าต่ำกว่า £4 ต่อปี ฉะนั้นผู้ที่มีผู้เช่าเป็นจำนวนมากจึงต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการเลี้ยงดูผู้เช่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการกำจัดผู้เช่าที่ดินที่ยากจนออกจากที่ดินแปลงเล็ก และจัดให้เช่าที่ดินผืนที่ใหญ่ขึ้นในราคาที่เกินกว่า £4 ต่อปีซึ่งทำให้เป็นการลดหนี้สินลงไป ในปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีการไล่ที่แต่การไล่ที่ขนานใหญ่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1847 เจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็นการยากที่จะกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าผู้เช่าที่ดินที่ถูกขับไล่มีจำนวนเท่าใดระหว่างช่วงเวลาที่เกิดทุพภิกขภัยและหลังจากนั้น การบันทึกสถิติโดยตำรวจเพิ่งมาเริ่มทำกันในปี ค.ศ. 1849 ที่บันทึกว่ามีผู้ถูกขับไล่อย่างเป็นทางการทั้งหมดเกือบ 250,000 คนระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854

เจมส์ ดอนเนลลีมีความเห็นว่าจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และถ้ารวมจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้ “อาสา” ละทิ้งที่ดิน จำนวนทั้งหมดในช่วงวิกฤติการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 จนถึงปี ค.ศ. 1854 ก็คงจะเกินกว่าครึ่งล้านคนอย่างเป็นที่แน่นอน ขณะเดียวกันเฮเลน ลิตตันก็กล่าวใน “The Irish Famine: An Illustrated History” (ไทย: “ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์: ประวัติศาสตร์ประกอบภาพ”) ถึงผู้ “อาสา” ละทิ้งที่ดินว่าในบางกรณีผู้เช่าที่ดินก็ได้รับการหว่านล้อมให้ละทิ้งด้วยจำนวนเงินเล็กน้อยและถูก “หลอกให้เชื่อว่าถ้าออกไปแล้วทางโรงแรงงานก็จะรับเลี้ยง”

บริเวณเวสต์แคลร์เป็นบริเวณที่เกิดการไล่ที่กันมากที่สุดเมื่อเจ้าของที่ดินขับไล่ผู้เช่าเป็นจำนวนพันและทำลายกระท่อมที่อยู่อาศัยลงจนหมด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1848 กัปตันเคนเนดีประมาณว่ากระท่อมราว 1,000 หลังที่มีผู้อาศัยถัวเฉลี่ยบ้านละหกคนถูกทำลายราบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ในปี ค.ศ. 1847 ตระกูลแมนแห่งคฤหาสน์สโตรคสทาวน์ตระกูลเดียวไล่ผู้เช่าทั้งหมด 3,000 คน และตามคำกล่าวของจอห์น กิบนีย์ไล่ผู้เช่าขณะที่ตนเองนั่งกินซุปกุ้งมังกร

บริเวณที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากถัดจากแคลร์ก็ได้แก่เคานตี้มาโย ที่จำนวนผู้ถูกไล่ทั้งหมดสูงถึง 10% ของการถูกไล่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1849 จนถึงปี ค.ศ. 1854 เอิร์ลแห่งลูคันผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 240 ตารางกิโลเมตรเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าของที่ดินที่ทำการขับไล่ที่มากที่สุด กล่าวกันว่าเอิร์ลกล่าวว่าจะไม่เป็นผู้ที่ “ขยายพันธุ์ผู้ยากจนเพื่อให้ไปเลี้ยงนักบวช” หลังจากขับไล่ผู้เช่าที่ดินไปกว่า 2,000 คนในแขวงวัดบอลลินโรบแล้วเอิร์ลแห่งลูคันก็หันมาใช้ที่ดินที่ว่างลงในการเลี้ยงปศุสัตว์ ในปี ค.ศ. 1848 มาควิสแห่งสไลโกเป็นหนี้จำนวน £1,650 แต่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำการขับไล่ผู้เช่าแต่อ้างว่าทำอย่างเลือกสรร โดยกำจัดเฉพาะผู้ที่ถือว่าขี้เกียจและขี้โกง จำนวนได้รับการ “เลือกสรร” เป็นหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้เช่าที่ดินทั้งหมดของสไลโก

จากคำกล่าวของเฮเลน ลิตตันการไล่ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเพราะความกลัวสมาคมลับต่างๆ แต่เมื่อสถานการณ์ทุพภิกขภัยเกิดขึ้นสมาคมเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง แต่การแก้แค้นจากการถูกไล่ก็ยังคงมีอยู่บ้างที่เจ้าของที่ดินเจ็ดคนถูกยิง หกคนปางตายระหว่างฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1847 ลิตตันกล่าวต่อไปอีกว่าผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่ไม่มีผู้เช่าที่ดินอีกสิบคนถูกฆาตกรรม

ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์มีความวิตกถึงสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เกิดการปฏิวัติร้องขอรัฐบาลให้มอบอำนาจพิเศษให้ แต่ลอร์ดรัสเซลล์ไม่มีความรู้สึกเห็นใจต่อคำขอ ลอร์ดแคลเรนดอนเชื่อว่าเจ้าของที่ดินมีความรับผิดชอบในการทำให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายแทบทั้งหมดโดยกล่าวว่า “ก็จริงที่ว่าเจ้าของที่ดินในอังกฤษไม่อยากจะถูกยิงเหมือนกระต่ายหรือไก่ฟ้า...แต่เจ้าของที่ดินในอังกฤษก็มิได้ขับไล่ผู้เช่าทีละห้าสิบคนแล้วเผาทีอยู่อาศัยโดยไม่ทิ้งอะไรให้เหลือสำหรับอนาคต” ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 รัฐสภาก็อนุมัติพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมและการกระทำอันเกินเลยเพื่อเป็นการประนีประนอมและส่งกองทหารไปสมทบยังไอร์แลนด์

ภายใต้ “อนุประโยคเกรกอรี” อันเลื่องชื่อของกฎหมายประชาสงเคราะห์ ดอนเนลลีกล่าวว่าเป็น “บทแก้สำหรับคนยากจนชาวไอริชอันทารุณ” ที่ตั้งตามชื่อสมาชิกรัฐสภาวิลเลียม เอช. เกรกอรี และมักจะเรียกกันว่า 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' ซึ่งระบุว่าไม่มีผู้เช่าที่ดินที่มีที่ดินเกินกว่าหนึ่งในสี่เอเคอร์จะมีสิทธิที่จะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐบาลไม่ว่าจะนอกหรือในบ้าน อนุประโยคนี้ได้รับการเสนอโดยพรรคทอรีเป็นบทแก้ไขของกฎหมายประชาสงเคราะห์ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 1847 ที่สมาชิกรัฐสภาโดยทั่วไปมองเป็นว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งในการทำที่ดินให้ว่างลงเร็วขึ้น แม้ว่าจะมิได้มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวระหว่างการเสนอ ในระยะแรกคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์และผู้ตรวจสอบเห็นว่าอนุประโยคเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการบริหารโครงการช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่นานนักผลเสียก็เป็นที่ปรากฏ แม้แต่จากมุมมองของผู้บริหารเองและในที่สุดก็มองเห็นตนเองว่าอย่างดีก็เป็นฆาตกรในนามของมนุษยธรรมเท่านั้น ตามความเห็นของดอนเนลลี 'อนุประโยคหนึ่งในสี่เอเคอร์' เป็น “เครื่องมือทางอ้อมที่ใช้ในการฆ่า[ประชาชนผู้อดอยาก]”

การอพยพ

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
“ผู้อพยพออกจากไอร์แลนด์” ภาพพิมพ์แกะโดยเฮนรี ดอยล์ (ค.ศ. 1827–ค.ศ. 1892) สำหรับหนังสือ “Illustrated History of Ireland” โดยแมรี ฟรานซ์ คูแซ็ค, ค.ศ. 1868
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
อัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1841 ถึงปี ค.ศ. 1851

ขณะที่ทุพภิกขภัยเป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้อพยพออกจากไอร์แลนด์จำนวนระหว่าง 45% จนถึงเกือบ 85% ขึ้นอยู่กับปีและสถานที่แต่มิใช่เป็นเพียงสาเหตุเดียว และมิใช่เป็นช่วงเดียวที่มีการอพยพกันอย่างขนานใหญ่ การอพยพเริ่มกันมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงห้าสิบปีเมื่อประชากรราวสองแสนห้าหมื่นคนอพยพจากไอร์แลนด์ไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ ตั้งแต่การพ่ายแพ้ของนโปเลียนมาจนถึงการเริ่มต้นทุพภิกขภัยเป็นเวลาราวสามสิบปี “อย่างน้อยก็ 1,000,000 คนหรืออาจจะเป็น 1,500,000 คนทำการอพยพ” แต่ในช่วงที่เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในระหว่างวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยผู้อพยพมีจำนวนสูงถึงราว 250,000 คนภายในหนึ่งปีเท่านั้น และมาจากทางตะวันตกเป็นจำนวนมากกว่าส่วนอื่นของประเทศ

โดยทั่วไปแล้วการอพยพของชาวไอร์แลนด์มิได้เป็นการยกกันไปทั้งครอบครัว ผู้ที่ทำการอพยพมักเป็นผู้ที่มีอายุน้อยราวกับว่าการอพยพจะเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ (rite of passage) ที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติซึ่งไม่เหมือนกับการอพยพอื่นๆ ในประวัติศาสตร์โลกที่จำนวนสตรีที่อพยพมีจำนวนพอๆ กับบุรุษ ผู้ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในโลกใหม่ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในไอร์แลนด์เป็นจำนวน “ถึง £1,404,000 ภายในปี ค.ศ. 1851” ซึ่งเป็นเงินที่นำไปใช้ในการช่วยให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้มีโอกาสอพยพ

การอพยพในช่วงวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 เป็นการอพยพไปยังอังกฤษ สกอตแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ออสเตรเลีย ผู้ที่อพยพไปอเมริกาหลายคนใช้เส้นทางเรือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่เรียกว่า “เรือสายแม็คคอร์เคลล์” (McCorkell Line)

ในจำนวนผู้เดินทางจากไอร์แลนด์ 100,000 คนไปยังแคนาดาในปี ค.ศ. 1847 หนึ่งในห้าคนตายด้วยการติดโรค การขาดอาหาร รวมทั้งอีก 5,000 คนที่เสียชีวิตที่เกาะโกรสส์ (Grosse Isle) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ ที่ใช้เป็นศูนย์กักกันและตรวจสอบผู้อพยพก่อนจะอนุญาตให้เข้าแคนาดาได้ อัตราการเสียชีวิตถึง 30% ของผู้อพยพที่เดินทางโดยเรือศพถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1854 ชาวไอร์แลนด์ระหว่าง 1½ ถึง 2 ล้านคนก็อพยพออกจากไอร์แลนด์เพราะถูกไล่จากที่ดิน, จากทุพภิกขภัย และ จากสภาวะความเป็นอยู่อันทารุณ ในอเมริกาผู้ที่อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเพราะมีเงินไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองท่าที่ขึ้นฝั่ง ในปี ค.ศ. 1850 บอสตัน นครนิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย และบัลติมอร์ ก็มีประชากรที่เป็นชาวไอร์แลนด์ถึงหนึ่งในสี่ นอกจากนั้นก็ยังมีเป็นจำนวนมากตามเมืองที่มีเหมือง

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
กราฟแสดงดัชนีจำนวนประชากรของไอร์แลนด์และยุโรปเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1750 ที่แสดงให้เห็นถึงผลอันร้ายแรงของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1849

การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 รายงานว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในโทรอนโต และ ออนทาริโอเป็นชาวไอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1847 เพียงปีเดียว มีชาวไอริชอพยพเข้ามาถึง 38,000 คนในเมืองที่มีประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว 20,000 คน เมืองในแคนาดาอื่นๆ เช่นเซนต์จอห์นในนิวบรันสวิค เมืองควิเบค และมอนทริออลรับผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากเพราะเมืองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะปิดอ่าวต่อเรือจากไอร์แลนด์ได้ นอกจากนั้นผู้อพยพก็สามารถที่จะซื้อตั๋วราคาถูกได้ (หรืออาจจะฟรีในกรณีที่โดนไล่จากที่ดิน) แต่ความกลัวในการก่อตัวของกลุ่มชาตินิยมทำให้รัฐบาลบริติชตั้งข้อจำกัดอันรุนแรงต่อผู้อพยพไปยังแคนาดาหลังจากปี ค.ศ. 1847 ที่เป็นผลทำให้มีผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น สุสานที่ใหญ่ที่สุดของชาวไอร์แลนด์นอกไอร์แลนด์อยู่ที่เกาะโกรสสในควิเบค ในอังกฤษเองในปี ค.ศ. 1851 ราวหนึ่งในสี่ของประชากรของเมืองลิเวอร์พูลเกิดในไอร์แลนด์

วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็นจุดเริ่มต้นของการลดจำนวนประชากรของไอร์แลนด์อย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 13–14% ในสามสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างปี ค.ศ. 1831 และ ค.ศ. 1841 ประชากรเพิ่มขึ้นราว 5%

ความคิดของทอมัส โรเบิร์ต มาลธัสที่ว่าประชากรจะขยายตัวอย่างรวดเร็วตามอัตราทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายระหว่างที่เกิดสถาวะทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1817 ถึงปี ค.ศ. 1822 แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษ 1830 สิบปีก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ทฤษฎีนี้ก็เห็นกันว่าเป็นทฤษฎีที่ง่ายเกินไป และปัญหาที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ก็เห็นกันว่าเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับการขยายตัวของประชากรแต่ “มาจากการขาดการลงทุน” และในช่วงเดียวกันประชากรของไอร์แลนด์มิได้ขยายตัวขึ้นมากไปกว่าในอังกฤษซึ่งมิได้ประสบวิกฤติการณ์เช่นเดียวกับไอร์แลนด์

การปฏิวัติ ค.ศ. 1848

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
วิลเลียม สมิธ โอไบรอัน

ในปี ค.ศ. 1847 วิลเลียม สมิธ โอไบรอันผู้นำของขบวนการยังไอร์แลนด์กลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสันนิบาตไอร์แลนด์ (Irish Confederation) เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสหภาพ และเรียกร้องให้ยุติการส่งออกธัญญาหารและให้ปิดท่าเรือ ในปีต่อมาโอไบรอันได้ช่วยจัดการสนับสนุนเกษตรผู้ไร้ที่ดินทำกินในเคานตี้ทิพเพอรารีให้ต่อต้านเจ้าของที่ดินและตัวแทน (Young Irelander Rebellion of 1848)

จำนวนผู้เสียชีวิต

จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยไม่เป็นที่ทราบ แต่เชื่อกันว่าผู้ที่เสียชีวิตเสียชีวิตจากโรคภัยมากกว่าจากการอดตาย ขณะนั้นบันทึกการเกิด การแต่งงาน และการเสียชีวิตยังมิได้เริ่มทำกัน และบันทึกของวัดโรมันคาทอลิกก็ไม่สมบูรณ์ บันทึกผู้เห็นเหตุการณ์ช่วยให้นักประวัติศาสตร์การแพทย์สามารถบ่งได้ถึงทั้งความเจ็บป่วยและผลที่เกิดจากทุพภิกขภัย และใช้ในการอธิบายถึงรายละเอียดของลักษณะของทุพภิกขภัย ในมาโยเควคเกอร์อังกฤษวิลเลียม เบ็นเน็ตตบันทึกถึง

เรฟเวอเร็นด์ ดร. เทรลล์ ฮอลล์ของเชิร์ชออฟไอร์แลนด์ในชัลล์บรรยายว่า

เด็กที่ต้องประสบกับโรคมาราสมัส (marasmus) สร้างความประทับตาแก่เควคเกอร์โจเซฟ ครอสฟิล์ดผู้ในปี ค.ศ. 1846 เป็นพยานต่อเหตุการณ์ที่

วิลเลียม ฟอร์สเตอร์บรรยายว่า

การประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตวิธีหนึ่งได้มาจากการเปรียบเทียบจำนวนประชากรที่คาดว่าจะมีขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1850 การพยากรณ์แรกเริ่มคาดว่าภายในปี ค.ศ. 1851 ไอร์แลนด์ควรจะมีประชากรราว 8 หรือ 9 ล้านคน การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1841 พบว่ามีประชากรเกินกว่า 8 ล้านคนไปเล็กน้อย แต่การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ทันทีหลังจากวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยพบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 6,552,385 คนซึ่งเท่ากับลดจำนวนลงถึงเกือบ 1,500,000 คนในรอบสิบปี นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อาร์.เจย์. ฟอสเตอร์ประมาณว่าประชากร “อย่างน้อย 775,000 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่จากโรคร้ายที่รวมทั้งอหิวาตกโรคระหว่างบั้นปลายของความทุกข์ยาก” ฟอสเตอร์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “การคำนวณอันซับซ้อนประมาณผู้เสียชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1846 ถึงปี ค.ศ. 1851 ว่าตกราวระหว่าง 1,000,000 ถึง 1,500,000 คน...; หลังจากการพิจารณาอย่างระมัดระวังแล้ว สถิติอื่นก็ประมาณว่าเป็นจำนวน 1,000,000 คน” นอกจากนั้นก็ยังมีชาวไอร์แลนด์อีกกว่า 1 ล้านคนที่อพยพไปยังเกรตบริเตน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และอื่นๆ และอีกหลายล้านคนที่อพยพในระหว่างหลายสิบปีที่ตามมา

การลดจำนวนประชากรระหว่าง ค.ศ. 1841–ค.ศ. 1851 (%)
ไลน์สเตอร์ มันสเตอร์ อัลสเตอร์ คอนนอท ไอร์แลนด์
15.3 22.5 15.7 28.8 20
ตารางจาก Joe Lee, The Modernisation of Irish Society (Gill History of Ireland Series เลข.10) หน้า. 2
รายละเอียดสถิติของประชากรของไอร์แลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1841 แสดงในบทความการวิจัยจำนวนประชากรไอร์แลนด์ (Irish Population Analysis)

การประมาณตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่อาจเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในระดับเคานตี้อาจเป็นของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอเมริกันโจล โมคีร์ (Joel Mokyr) ตัวเลขผู้เสียชีวิตของโมคีร์ตกระหว่าง 1.1 ถึง 1.5 ล้านคนระหว่างปี ค.ศ. 1846 ถึงปี ค.ศ. 1851 1846 and 1851 โมคีร์ให้ตัวเลขสองชุด ประเมินค่าสูงสุด (upper-bound) และประเมินค่าต่ำสุด (lower-bound) ซึ่งไม่แสดงความแตกต่างกันเท่าใดนักในตัวเลขระหว่างระดับท้องถิ่น เนื่องจากความผิดปกติของตัวเลข คอร์แม็ค โอเกรดาก็กลับไปตรวจสอบงานของเอส. เอช. คูเซน ตัวเลขของการประมาณของคูเซน เป็นตัวเลขที่ส่วนใหญ่คำนวณจากข้อมูลที่มาจากการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ตารางตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นตัวเลขที่ประมาณต่ำกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิต 800,000 คนของคูเซนในปัจจุบันจึงถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ที่มาจากสาเหตุหลายประการเช่นเป็นตัวเลขที่เก็บจากครอบครัวรอดมาจากวิกฤติการณ์ และอื่นๆ ที่รวมทั้งการเสียชีวิตและการอพยพก็ทำให้ไม่มีผู้มาให้ทำการสำรวจ

อีกปัญหาหนึ่งคือความไม่แน่นอนของข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ทำให้เสียชีวิตที่ได้จากญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต แม้ว่างานของไวล์ดจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ แต่ก็เป็นตัวเลขที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ โรคที่มีผลอย่างรุนแรงต่อประชากรแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โรคที่เกิดจากทุพภิกขภัยและโรคที่เกิดจากการขาดอาหาร โรคที่เกิดจากการขาดอาหารจะเป็นความหิวโหยและโรคมาราสมัสและอาการท้องมาน (Dropsy) ที่เป็นชื่อที่นิยมใช้เรียกอาการของโรคหลายโรค โรคหนึ่งคือโรคควาซิโอกอร์ (Kwashiorkor) ที่เกิดจากการขาดอาหาร แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดมิได้มาจากโรคที่มาจากการขาดอาหารแต่เป็นทุพภิกขภัยที่ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ผู้ขาดอาหารจะมีร่างกายที่อ่อนแอที่ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายและ และเมื่อเจ็บแล้วก็จะมีอาการรุนแรงกว่าปกติและรักษาให้หายได้ยาก โรคต่างๆ ก็ได้แก่ โรคหัด โรคที่เกี่ยวกับท้องเสีย โรคเกี่ยวกับระบบการหายใจเกือบทุกโรค โรคไอกรน และโรคพยาธิต่างๆ ในลำไส้ โรคที่เป็นอันตรายถึงตาย เช่น ฝีดาษและไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นโรคที่ระบาดเป็นอิสระจากสภาวะการขาดอาหาร

สาเหตุสำคัญของการระบาดของเชื้อโรคระหว่างวิกฤติการณ์มาจากสภาวะที่เรียกว่า “การเคลื่อนย้ายของสังคม” (social dislocation) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือไข้ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาย ตามคตินิยมและทัศนคติทางการแพทย์ ไข้และทุพภิกขภัยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ความคิดเห็นนี้ไม่เกินไปกว่าความเข้าใจผิดเท่าใดนัก แต่ความสัมพันธ์ที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุมกันหนาแน่นในโรงแจกอาหาร โรงจ่ายอาหาร และโรงแรงงานซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะแก่การระบาดของโรคติดเชื้อ เช่น ไข้รากสาดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย และไข้ที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนโรคที่เกี่ยวกับท้องเสียมีสาเหตุมาจากสภาวะการอนามัยที่อยู่ในระดับต่ำและการเปลี่ยนแปลงอาหาร แต่สิ่งที่คร่าชีวิตในบั้นปลายของผู้หมดแรงจากทุพภิกขภัยคืออหิวาตกโรคเอเชีย อหิวาตกโรคเข้ามาระบาดในไอร์แลนด์แล้วในระยะหนึ่งก่อนหน้านั้นในคริสต์ศตวรรษ 1830 แต่ในทศวรรษต่อมาอหิวาตกโรคที่ไม่อาจจะหยุดยั้งได้ก็ระบาดจากเอเชียมายังทั่วยุโรป มายังบริเตนและในที่สุดก็มาถึงไอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1849

ทั้งคอร์แม็ค โอเกรดา และ โจล โมคีร์ กล่าวถึงการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 ว่าเป็นสถิติที่มีชื่อเสียงแต่เป็นข้อมูลที่บกพร่อง และอ้างว่าตัวเลขของทั้งที่เกี่ยวกับสถาบันและบุคคลเป็นตัวเลขที่เกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างวิกฤติการณ์เป็นตัวเลขที่ “ไม่สมบูรณ์และมีความลำเอียง” โอเกรดาอ้างงานของดับเบิลยู.เอ. แม็คอาร์เธอร์ ว่าผู้เชี่ยวชาญต่างก็ทราบกันมานานแล้วว่าตัวเลขของจำนวนผู้เสียชีวิตในไอร์แลนด์เป็นตัวเลขที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในด้านความเที่ยงตรง ฉะนั้นโอเกรดาจึงกล่าวว่าการใช้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสำรวจจำนวนประชากรของ ค.ศ. 1851 ตามตัวเป็นการใช้ตัวเลขที่ผิดที่แสดงตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอันมากทั้งก่อนและระหว่างวิกฤติการณ์

คณะกรรมาธิการการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 รวบรวมข้อมูลของจำนวนผู้เสียชีวิตของแต่ละครอบครัวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ที่รวมทั้งสาเหตุ ฤดู และปีที่เสียชีวิต ตัวเลขที่เป็นที่ครหาก็ได้แก่: มีผู้เสียชีวิตจากทุพภิกขภัยทั้งสิ้น 21,770 คนในรอบสิบปีที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตจากโรคภัย 400,720 คน โรคที่บันทึกก็รวมทั้งไข้ ท้องเสีย อหิวาตกโรค ฝีดาษ และไข้หวัดใหญ่ สองโรคแรกเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตมากที่สุด (222,021 และ 93,232 คนตามลำดับ) คณะกรรมาธิการยอมรับว่าตัวเลขที่เก็บเป็นตัวเลขที่ไม่สมบูรณ์ และตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่า: “จำนวนผู้ตายที่ยิ่งสูงขึ้นเท่าใด...จำนวนการบันทึกจากผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ยิ่งลดลงเท่านั้น เพราะไม่แต่ครอบครัวทั้งครอบครัวเท่านั้นถูกคร่าชีวิตไป แต่หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถูกลบไปจากแผ่นดิน” นักประวัติศาสตร์ต่อมากล่าวว่า “คณะกรรมาธิการการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 พยายามสร้างตารางการเสียชีวิตของแต่ละปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ...สถิติที่รวบรวมเป็นสถิติการเสียชีวิตที่บกพร่องและอาจจะประเมินระดับการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าความเป็นจริง...”

สถิติอื่นที่อาจจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าและประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งล้านคนจากทุพภิกขภัยและเชื้อโรค และอีกหนึ่งล้านคนอพยพหนีจากทุพภิกขภัย นักวิชาการบางคนประมาณว่าประชากรของไอร์แลนด์ลดจำนวนลงไปราวระหว่าง 20 ถึง 25% ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ยังคงเก็บภาษี ค่าเช่า และส่งอาหารออกไปยังอังกฤษเป็นจำนวนกว่า £6,000,000

ผลสะท้อน

วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยครั้งนี้เป็นผลให้สถานการณ์ทุพภิกขภัยครั้งย่อยที่เกิดขึ้นต่อมากระทบต่อความรู้สึกของสาธารณชนไม่เท่าและมักลืมกันไป เว้นก็แต่นักประวัติศาสตร์ เมื่อมาถึงการสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1911 ประชากรของไอร์แลนด์ลดลงเหลือเพียง 4.4 ล้านคนเท่ากับจำนวนในปี ค.ศ. 1800 และปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรเมื่อถึงจุดสูงสุด

การวัดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์

ความเห็นร่วมสมัย

ความเห็นร่วมสมัยวิจารณ์วิธีการโต้ตอบและการบริหารวิกฤติการณ์ของรัฐบาลของลอร์ดรัสเซลล์อย่างรุนแรง ตั้งแต่เริ่มต้นก็มีการกล่าวหารัฐบาลว่าขาดความเข้าใจถึงความใหญ่หลวงของสถานการณ์อันเลวร้าย เซอร์เจมส์ แกรมผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการภายในของประเทศในรัฐบาลก่อนหน้านั้นของเซอร์โรเบิร์ต พีลเขียนจดหมายถึงพีลว่า “สถานภาพอันใหญ่หลวงของวิกฤติการณ์ในไอร์แลนด์ตามความเป็นจริงนั้นสูงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้เป็นอันมาก และไม่อาจจะสามารถวัดได้โดยกฎอันจำกัดของเศรษฐศาสตร์”

ข้อวิจารณ์มิใช่แต่จะมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์เขียนจดหมายถึงลอร์ดรัสเซลล์เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1849 ขอร้องให้รัฐบาลเพิ่มเติมความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์: “กระผมไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลใดใดในยุโรปที่จะละเลยความทุกข์ยากที่กำลังประสบกันทางตะวันตกของไอร์แลนด์ หรือยังคงยืนยันรักษานโยบายอันเลือดเย็นของการกำจัด[ประชากร]ต่อไป” และในปี ค.ศ. 1849 เอ็ดเวิร์ด ทวิสเซิลทัน (Edward Turner Boyd Twistleton) ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์ก็ลาออกในการประท้วงพระราชบัญญัติ (Rate-in-Aid Act) ที่ระบุการหาเงินเพิ่มสำหรับการประชาสงเคราะโดยการเรียกเก็บภาษีที่ดินเพิ่มร้อยละหกของราคาประเมินของที่ดินในไอร์แลนด์. ทวิสเซิลทันให้การว่า “เพียงจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับบริเตนในการแก้ความน่าละอายอันน่าอดสูอันเกิดจากการปล่อยให้ประชาชนร่วมชาติให้อดตายเพราะทุพภิกขภัย” ปีเตอร์ เกรย์ในหนังสือ The Irish Famine (ทุพภิกขภัยของชาวไอร์แลนด์) กล่าวว่ารัฐบาลใช้เงินจำนวนกว่าเจ็ดล้านปอนด์สำหรับการช่วยเหลือไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 ซึ่งเป็นจำนวนที่ “น้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ของมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศในช่วงเวลาห้าปี ผู้ร่วมสมัยกล่าวว่าเป็นจำนวนที่ต่างกันอย่างมหาศาลกับจำนวนเงิน 20 ล้านปอนด์ที่จ่ายให้เป็นค่าทดแทนเจ้าของทาสในเวสต์อินดีสในคริสต์ทศวรรษ 1830”

นักวิจารณ์ผู้อื่นกล่าวว่าแม้ว่าหลังจากที่เริ่มมีความเข้าใจถึงสภาวะอันเลวร้ายของวิกฤติการณ์ รัฐบาลก็ยังคงมิได้แสดงการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างพอเพียง จอห์น มิทเชลหนึ่งในผู้นำของขบวนการยังไอร์แลนด์เขียนในบทความปี ค.ศ. 1860 ว่า “ข้าพเจ้าเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็นทุพภิกขภัยเทียม ซึ่งหมายถึงทุพภิกขภัยที่สร้างความลำบากยากเข็ญให้แก่แผ่นดินทีอุดมสมบูรณ์ที่ผลิตข้าวปลาอาหารอันมากมายทุกปีที่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรของตนเองและผู้อื่นอีกมาก แต่ฝ่ายอังกฤษเรียกสถานการณ์นี้ว่า 'แรงบันดาลของพระเจ้า' (dispensation of Providence) และลงความเห็นว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากรามันฝรั่ง แต่การเสียผลผลิตมันฝรั่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุโรปในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีที่ใดที่ประสบกับทุพภิกขภัยนอกไปจากไอร์แลนด์ ฉะนั้นพฤติกรรมของบริติชในการตอบสนองวิกฤติการณ์จึงแสดงถึง หนึ่งความหลอกลวง สองความอัปยศ พระเจ้าอาจจะทรงเป็นผู้ส่งรามันฝรั่งลงมา แต่อังกฤษเป็นผู้สร้างทุพภิกขภัย”

แต่นักวิจารณ์อื่นมองเห็นการตอบโต้วิกฤติการณ์เป็นการตอบโต้ของรัฐบาลตามทัศนคติต่อปัญหาที่เรียกว่า “ปัญหาไอร์แลนด์” นาซอ ซีเนียร์ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวถึงทุพภิกขภัยว่า “ไม่ได้คร่าชีวิตคนมากไปกว่าล้านคน ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจำนวนมากที่จะทำเป็นเรื่องใหญ่” ในปี ค.ศ. 1848, เดนนิส ไชน์ ลอว์เลอร์เสนอว่าลอร์ดรัสเซลล์เป็นนักศึกษาตามทฤษฎีของกวีสมัยเอลิซาเบธเอ็ดมันด์ สเปนเซอร์ (Edmund Spenser) ผู้ได้คำนวณว่า “การครอบครองและนโยบายของอังกฤษจะยืดไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นานเท่าใดโดยการปล่อยให้ชาวไอร์แลนด์อดอยาก” เซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการตอบโต้ต่อปัญหาวิกฤติการณ์ของรัฐบาลบรรยายในปี ค.ศ. 1848 ว่า “การกระตุ้นผู้มีอำนาจและความกรุณาเบื้องบน” ที่เปิดให้เห็น “ถึงรากของความชั่วร้ายในสังคม” เทรเวเลียนยืนยันต่อไปว่าทุพภิกขภัยคือ “บทแก้ของปัญหาอันรุนแรงแต่มีประสิทธิภาพและอาจจะเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ พระเจ้าประทานว่าชนรุ่นที่ประสบกับวิธีแก้ปัญหาที่ว่านี้จะเป็นประชาชนที่ได้รับโอกาสที่ประพฤติตัวดีขึ้น...”

ประวัติศาสตร์

คริสติน คินีลนีให้ความเห็นที่พ้องกับนักประวัติศาสตร์อื่นๆ เมื่อกล่าวว่า “เรื่องน่าเศร้าของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยของปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1852 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์สมัยใหม่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่ทั้งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดกันมาก่อนหรือเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” วิกฤติการณ์เพิ่มความเลวร้ายลงด้วยการตอบสนองอันไม่พอเพียงของรัฐบาล ที่คินีลนีกล่าวว่า

...รัฐบาลต้องตอบรับปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะช่วยผ่อนปรนการทุกข์ทรมาน ลักษณะของการโต้ตอบโดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 1846 ทำให้เห็นว่ามีนโยบายหรือแรงบันดาลใจอันซ่อนเร้น เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลใช้ข้อมูลมิใช่แต่เพียงเพื่อการวางแผนในการวางนโยบายความช่วยเหลือแต่เป็นโอกาสในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะทำมานานแล้วในไอร์แลนด์ ที่รวมทั้งการควบคุมจำนวนประชากรและการรวบรวมที่ดินด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการอพยพ... แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทุพภิกขภัยที่ยืดเยื้อมาจากรามันฝรั่งที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า แต่พื้นฐานของปรัชญาของการช่วยเหลือก็ยังเป็นการดำเนินการให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และตามความเป็นจริงแล้วก็ลดความช่วยเหลือลงเมื่อภาวะทุพภิกขภัยเลวร้ายขึ้น

นักเขียนหลายคนโทษข้อที่สำคัญที่สุดของนโยบายของรัฐบาล ที่ยังคงอนุญาตให้ดำเนินการส่งอาหารออกจากไอร์แลนด์ต่อไป ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนโยบายของรัฐบาล ลีออน ยูริสเสนอว่า “ไอร์แลนด์มีอาหารเพียงพอภายในประเทศ” ขณะที่วัวที่เลี้ยงในไอร์แลนด์ถูกส่งออกไปยังอังกฤษ การโต้ตอบข้างล่างปรากฏในองค์ที่ 4 ของบทละคร “Man and Superman” โดย จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์:

MALONE: เดี๋ยวเขาก็หายของเขาเองแหละ คนเราจะรู้สึกดีขึ้นก็เมื่อได้ผิดหวังกับความรักเข้าเสียหน่อยแทนที่จะผิดหวังเรื่องเงิน คุณอาจจะคิดว่าความคิดของผมไม่เข้าเรื่อง แต่ผมรู้นะว่าผมพูดเรื่องอะไร พ่อผมตายเพราะความหิวโหยในไอร์แลนด์เมื่อปี 47 คุณคงได้ข่าวเรื่องนั้นบ้างหรอก

VIOLET: อ้อทุพภิกขภัยน่ะหรือ?

MALONE: [ชักเริ่มกรุ่น] ไม่ใช่ทุพภิกขภัย เมื่อบ้านเมืองเต็มไปด้วยข้าวด้วยน้ำแล้วยังแถมส่งออกอีก อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าทุพภิกขภัยหรอก พ่อของผมหิวตายและตัวผมเองก็ถูกแม่ลากตัวทั้งหิวไปอเมริกา การปกครองของอังกฤษขับผมและพวกผมออกจากไอร์แลนด์ คุณก็เก็บไอร์แลนด์ของคุณไว้เถอะ ผมและพวกผมจะกลับมาซื้ออังกฤษ และจะซื้อไอ้ที่ดีๆ ด้วย ผมไม่ซื้อหรอกไอ้ทรัพย์สินชั้นกลางน่ะ และเฮ็คเตอร์ก็เหมือนกันไม่เอาผู้หญิงชั้นกลางให้ ที่พูดนี่ก็ตรงจุดใช่ใหมเล่า เหมือนคุณนั่นแหละ

ผู้วิจารณ์ความเป็นจักรวรรดินิยมของอังกฤษชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของจักรวรรดิเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เจย์.เอ. เฟราด์ เขียนว่า “อังกฤษปกครองไอร์แลนด์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยการคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้ แต่ทิ้งความรับผิดชอบทางจรรยาธรรมไว้อีกทางหนึ่งราวกับว่าความถูกหรือความผิดถูกลบออกไปจากจักรวาล” เด็นนิส คลาคนักประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์-อเมริกันอ้างว่าทุพภิกขภัย “เป็นสิ่งที่ปัญหาสะสม ที่เกิดมาหลายชั่วคนจากความละเลย การปกครองที่ไม่ถูกต้อง และความเก็บกด และเป็นมหาเหตุการณ์ที่แสดงถึงความทารุณและความไม่พอเพียงของการแก้ปัญหาของการถูกครอบครองโดยอังกฤษ สำหรับผู้ไม่มีที่ดินก็หมายถึงการอพยพหนีหรือไม่ก็ความสิ้นสุด...”

ข้อเสนอการล้างชาติพันธุ์

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ 
อนุสรณ์สำหรับผู้ประสบวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในดับลิน

วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ก็ยังคงเป็นเหตุการณ์อันเป็นที่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ การโต้แย้งและการถกเถียงตั้งแต่การตอบโต้สถานการณ์โดยรัฐบาลอังกฤษไปจนถึงการสูญเสียผลผลิตมันฝรั่งในไอร์แลนด์ และทุพภิกขภัยอันแพร่หลายต่อมา หรือที่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการล้างชาติพันธุ์หรือไม่ ต่างก็ยังเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง

ในปี ค.ศ. 1996 ฟรานซิส เอ. บอยล์ศาสตราจารย์ทางกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์เขียนรายงานให้แก่คณะกรรมมาธิการทุพภิกขภัย/การล้างชาติพันธุ์ของชาวไอร์แลนด์ที่มีฐานอยู่ที่นิวยอร์กสรุปว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดว่าระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชดำเนินนโยบายสร้างทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์โดยความตั้งใจที่จะทำลายปัจจัยสำคัญของชาติ ชาติพันธุ์ และกลุ่มชนที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าชาวไอร์แลนด์.... ฉะนั้นระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชจึงได้ดำเนินนโยบายโดยเป็นที่ทราบในการสร้างทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมของการล้างชาติพันธุ์ต่อชาวไอร์แลนด์ตามมาตราที่ 2 (c) ที่ระบุในอนุสัญญาพันธุฆาตของสหประชาชาติของปี ค.ศ. 1948 รายงานของบอยล์มีน้ำหนักพอที่ทำให้รัฐนิวเจอร์ซีย์รวมเนื้อหาเกี่ยวกับทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ให้เป็น “หลักสูตรเกี่ยวกับการล้างชาติพันธุ์และพันธุฆาต” ของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

นักประวัติศาสตร์ปีเตอร์ ดัฟฟีเขียนว่า “อาชญากรรมของรัฐบาลที่สมควรจะได้รับการประณามตลอดไป...” มีรากฐานมาจาก “ความพยายามที่จะปฏิรูปไอร์แลนด์โดยอำนาจของเจ้าของที่ดิน ในการเปลี่ยนจากที่ดินทางเกษตรกรรมไปเป็นที่ดินในการเลี้ยงปศุสัตว์...ที่กลายเป็นนโยบายที่มีความสำคัญกว่าหน้าที่ในการหาอาหาร...ให้แก่ประชากรที่อดอยาก ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่ามีผู้ที่มีความเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายพันธุฆาต

ผู้ออกความเห็นหลายคนโต้ว่าประสบการณ์ทุพภิกขภัยมีผลที่จารึกในความทรงจำทางวัฒนธรรมของชาวไอร์แลนด์ที่คล้ายคลึงกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์พันธุฆาตที่ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น โรเบิร์ต คีนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับไอร์แลนด์เสนอว่าทุพภิกขภัยเป็นจิตใต้สำนึกของชาติที่มีพลังที่เปรียบได้กับ “การแก้ปัญหาสุดท้าย” (final solution) ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และก็มีที่เห็นว่าวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็น “แผนการฆ่าล้างชาติที่วางโดยฝ่ายอังกฤษต่อชาวไอร์แลนด์” ความคิดนี้สะท้อนในงานเขียนของเจมส์ ดอนเนลลีนักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสันใน “Landlord and Tenant in Nineteenth-Century Ireland” (เจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดินในคริสต์ศตวรรษที่ 19) ที่ตั้งข้อสรุปว่า “ตั้งแต่เมื่อเกือบเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลในการหยุดยั้งการขับไล่หรือการชะลอการกำจัดผู้เช่าที่ดินเท่ากับเป็นการสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัดของความคิดอันแพร่หลายของชาวไอร์แลนด์ที่ว่าเป็นการล้างชาติพันธุ์ที่สนับสนุนโดยอังกฤษ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าในทัศนคติของชาวไอร์แลนด์...และแม้ว่าตามความคิดของผมแล้วการล้างชาติพันธุ์มิได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างและที่เป็นผลจากการขับไล่ที่มีลักษณะของการฆ่าล้างชาติพันธุ์ตามความคิดของชาวไอร์แลนด์หลายคน”

นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์คอร์แม็ค โอเกรดาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าวิกฤติการณ์เป็นการจงใจฆ่าล้างชาติพันธุ์ด้วยเหตุผลที่ว่า: ประการที่หนึ่ง “การฆ่าล้างชาติพันธุ์รวมความตั้งใจและสามารถกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าไม่มีผู้ใดแม้แต่ผู้ไม่เป็นกลางที่สุดหรือที่ดูถูกเผ่าพันธุ์มากที่สุดของยุคนั้นจะมีความตั้งใจที่จะฆ่าล้างชาวไอร์แลนด์” ประการที่สองสมาชิกในรัฐสภาแทบทุกคนต่างก็ “หวังให้สถานการณ์ในไอร์แลนด์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” และ ประการที่สุดท้ายผู้ที่อ้างว่าเป็นการฆ่าล้างชาติพันธุ์มองข้าม “ขนาดของวิกฤติการณ์ที่ผู้พยายามช่วยเหลือต้องประสบทั้งระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และทั้งของหลวงและของราษฏร์” โอเกรดามีความเห็นว่าวิกฤติการณ์มีต้นตอมาจากการละเลยมากกว่าที่จะเป็นเจตนาของการฆ่าล้างชาติ แต่ผู้ที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินการช่วยเหลือเช่นเซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนค้านกับความคิดที่ว่า “ละเลย” ผู้มีทัศนคติของผู้ครอบครองว่าทุพภิกขภัยเป็น “วิธีลดจำนวนประชากรที่เกินต้องการ” และเป็น “การตัดสินของพระเจ้า”

นักเขียนผู้เป็นที่รู้จักชาวไอร์แลนด์และนักแต่งเพลงจอห์น วอเตอร์สบรรยายทุพภิกขภัยว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ประกอบด้วยความทารุณทุกแบบทุกอย่าง และทุพภิกขภัยเป็น “การฆ่าล้างชาติที่มีสาเหตุมาจากการถือชาติถือผิวและถือว่าทำได้ตามเหตุผลทางปรัชญา” และโต้แย้งว่าการทำลายวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจหลากหลายของไอร์แลนด์ และการลดตัวทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์มาเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวเป็นวิกฤติการณ์ของการล้างชาติที่รอแต่เวลาเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Mary E. Daly, The Famine in Ireland
  • R. Dudley Edwards and T. Desmond Williams (eds.), The Great Famine: Studies in Irish history 1845-52
  • Peter Gray, The Irish Famine
  • Joseph O'Connor, Star of the Sea
  • Cormac Ó Gráda, An Economic History of Ireland
  • Cormac Ó Gráda, Black '47 and Beyond
  • Robert Kee, Ireland: A History (ISBN 0-349-10678-9)
  • Christine Kinealy, This Great Calamity: The Irish Famine 1845 - 1852[3]
  • John Mitchel, The Last Conquest of Ireland (1861) (University College Dublin Press reprint, 2005 paperback) ISBN I-904558-36-4
  • Cecil Woodham-Smith, The Great Hunger, 1845-49 (Penguin, 1991 edition)
  • Marita Conlon-McKenna, Under the Hawthorn Tree
  • Thomas Gallagher, Paddy's Lament, Ireland 1846-1847: Prelude to Hatred
  • Canon John O'Rourke, The Great Irish Famine (ISBN 1-85390-049-4 Hardback) (ISBN 1-85390-130-X Paperback) Veritas Publications 1989. First published in 1874.
  • Liam O'Flaherty, Famine
  • Colm Tóibín and Diarmaid Ferriter, The Irish Famine, ISBN 1-86197-249-0 / 9781861972491 (first edition, hardback)
  • Kevin Baker, Paradise Alley
  • Several Books By Young Irelanders make reference to the Great Irish Famine

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ สาเหตุและปัจจัยที่ประกอบทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ปฏิกิริยาในไอร์แลนด์ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ การตอบโต้วิกฤติการณ์ของรัฐบาลทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ความช่วยเหลือทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ การขับไล่ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ การอพยพทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ การปฏิวัติ ค.ศ. 1848ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ จำนวนผู้เสียชีวิตทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ผลสะท้อนทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ การวัดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ อ้างอิงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ บรรณานุกรมทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ดูเพิ่มทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ แหล่งข้อมูลอื่นทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

เรโทรสเปกต์สายัณห์ สัญญารามาวดี นาคฉัตรีย์ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหมรายชื่อบัญชีอินสตาแกรมที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดบรูโน มาส์สติปัฏฐาน 4รายชื่ออักษรย่อของโรงเรียนในประเทศไทย/สพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวน้ำอสุจิหลิว เต๋อหัวคิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัสสำนักงานอัยการสูงสุด (ประเทศไทย)อสุภสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีรายชื่อตัวละครในขอต้อนรับสู่ห้องเรียนนิยม (เฉพาะ) ยอดคนรณิดา เตชสิทธิ์ออลเทอร์นาทิฟร็อกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลาน้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์กรมการปกครองพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรฟุตบอลยอดนักสืบจิ๋วโคนันฉบับภาพยนตร์เจตริน วรรธนะสินจังหวัดกำแพงเพชรเดมี มัวร์หมากรุกปรีดี พนมยงค์ธีรเดช เมธาวรายุทธพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475พรรคประชาธิปัตย์ทิน โชคกมลกิจกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยฟุตบอลทีมชาติโปรตุเกสเมลดา สุศรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถจักรพรรดินโปเลียนที่ 1เกรซ มหาดำรงค์กุลปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม รอดสวาสดิ์มณฑลของประเทศจีนสารัช อยู่เย็นหมาล่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาธนพล จารุจิตรานนท์ซูเปอร์เซ็นไตซีรีส์สุวัฒน์ แจ้งยอดสุขฮันเตอร์ x ฮันเตอร์เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสภูมิภาคของประเทศไทยบิลลี ไอลิชราชมังคลากีฬาสถานณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ณเดชน์ คูกิมิยะโอดะ โนบูนางะแอน ทองประสมเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเรวัช กลิ่นเกษรดอลลาร์สหรัฐเจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์สุภาพร มะลิซ้อนทวีปแอฟริกาที-อาราพงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัยอินเจนูอิตีกระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)จังหวัดนครราชสีมารายชื่อนักฟุตบอลทีมชาติไทยสายัณห์ ดอกสะเดาร่างทรง (ภาพยนตร์)🡆 More