โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล (อังกฤษ: Anxiety disorders) เป็นกลุ่มความผิดปกติทางจิตกำหนดโดยความวิตกกังวลและความกลัว ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตและความกลัว (fear) เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ความรู้สึกเช่นนี้อาจทำให้เกิดอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็วและตัวสั่น มีโรควิตกกังวลหลายอย่าง รวมทั้งโรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD), โรคกลัว (phobia) ที่เฉพาะเจาะจง, โรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder), โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (separation anxiety disorder), โรคกลัวที่ชุมชน (agoraphobia), และโรคตื่นตระหนก (panic disorder) โดยโรคจะต่าง ๆ กันตามอาการ แต่คนไข้มักจะมีโรควิตกกังวลมากกว่าหนึ่งชนิด โรคมีปัจจัยจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งประวัติถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ประวัติความผิดปกติทางจิตในครอบครัว และความยากจน โรคมักเกิดร่วมกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า (MDD) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (PD) และการเสพสารเสพติด (substance use disorder) เพื่อจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค จะต้องมีอาการอย่างน้อย 6 เดือน มีความวิตกกังวลเกินเหตุ และมีปัญหาในการดำเนินชีวิต แต่ก็มีปัญหาทางจิตเวชและทางแพทย์อื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้าย ๆ กันรวมทั้งอาการไฮเปอร์ไทรอยด์, โรคหัวใจ, การเสพกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา, และการขาดยา (withdrawal) บางประเภท ถ้าไม่รักษา โรคมักจะไม่หาย การรักษารวมทั้งการเปลี่ยนสไตล์ชีวิต จิตบำบัด และการทานยา จิตบำบัดมักจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) ยาเช่นยาแก้ซึมเศร้าหรือเบต้า บล็อกเกอร์ อาจช่วยให้อาการดีขึ้น คนประมาณ 12% มีโรคทุก ๆ ปี โดยเกิดในหญิงมากกว่าชาย 2 เท่า และทั่วไปเริ่มก่อนอายุ 25 ปี ประเภทโรคที่สามัญที่สุดคือโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเกิดในคน 12% และโรคกลัวการเข้าสังคม (SAD) ซึ่งเกิดในคน 10% ในช่วงหนึ่งในชีวิต โดยเกิดกับบุคคลอายุ 15-35 ปีมากที่สุด และเกิดขึ้นน้อยหลังถึงอายุ 55 ปี อัตราการเกิดดูจะสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป

โรควิตกกังวล
(Anxiety disorder)
โรควิตกกังวล
ภาพวาด เสียงกรีดร้อง โดยเอ็ดวัด มุงก์ จิตรกรชาวนอร์เวย์
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F40-F42
ICD-9300
DiseasesDB787
eMedicinemed/152
MeSHD001008
โรควิตกกังวล
สีหน้าของบุคคลที่มีความวิตกกังวลเรื้อรัง

ประเภท

โรควิตกกังวลไปทั่ว

โรควิตกกังวลไปทั่ว (Generalized anxiety disorder, GAD) เป็นโรคที่สามัญ เรื้อรัง กำหนดโดยความวิตกกังวลที่ดำรงอยู่นานโดยไม่ได้เพ่งไปที่เรื่องหรือสถานการณ์ใดโดยเฉพาะ คนไข้กลัวและกังวลอย่างไม่เฉพาะเจาะจงและเป็นห่วงเรื่องชีวิตประจำวันมากเกินไป ตามหนังสือจิตวิทยาเล่มหนึ่ง GAD "กำหนดโดยความกังวลมากเกินไปที่เรื้อรังตามด้วยอาการ 3 อย่างหรือมากกว่านั้นดังต่อไปนี้ คือ อยู่ไม่สุข ล้า ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด กล้ามเนื้อเกร็ง และมีปัญหาการนอน"

GAD เป็นโรควิตกกังวลที่สามัญที่สุดต่อคนมีอายุ แต่ว่า ความวิตกกังวลอาจเป็นอาการทางการแพทย์หรือปัญหาการใช้สารเสพติด และผู้รักษาพยาบาลต้องรู้ในเรื่องนี้ GAD จะวินิจฉัยก็ต่อเมื่อบุคคลกังวลมากเกินไปเรื่องปัญหาชีวิตประจำวันเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น

บุคคลอาจพบว่ามีปัญหาตัดสินใจและจำสิ่งที่วางแผนไว้ไม่ได้เนื่องจากไม่มีสมาธิหรือรู้สึกกังวลอย่างหมกมุ่น คนไข้อาจจะดูเครียด เหงื่อออกเพิ่มขึ้นที่มือ เท้า และรักแร้ และอาจร้องไห้ง่าย ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค แพทย์จะกันความวิตกกังวลเหตุยาหรือเหตุทางแพทย์อื่น ๆ ออกก่อน

ในเด็ก GAD อาจสัมพันธ์กับอาการปวดหัว อยู่ไม่สุข ปวดท้อง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งปกติแล้วจะเริ่มที่อายุประมาณ 8-9 ขวบ

โรคกลัว

กลุ่มย่อยของโรควิตกกังวลที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจำพวกความผิดปกติจากความกลัว (phobic disorders) ซึ่งรวมกรณีที่ความกลัวและความวิตกกังวลทั้งหมดจุดชนวนโดยสิ่งเร้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ประชากรประมาณ 5%-12% ทั่วโลกมีโรคกลัว คนไข้ปกติจะกังวลถึงผลน่ากลัวที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ตนกลัว ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่สัตว์ สถานที่ ของเหลวจากร่างกาย หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง และจะเข้าใจว่า ตนกลัวมากโดยไม่สมกับอันตรายที่อาจมีจริง ๆ แต่ก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ดี

โรคตื่นตระหนก

สำหรับโรคตื่นตระหนก คนไข้จะกลัวแบบรุนแรงแต่ชั่วคราว บ่อยครั้งพร้อมกับอาการสั่น สับสน เวียนหัว คลื่นไส้ และ/หรือหายใจไม่ออก การเกิดของ panic attack (การจู่โจมของความตื่นตระหนก) เช่นนี้ ดังที่ให้นิยามโดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ว่าเป็นความกลัวหรือความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและถึงจุดสูงสุดภายใน 10 นาที แต่สามารถดำรงอยู่ได้หลาย ชม. การจู่โจมสามารถจุดชนวนโดยความเครียด ความกลัว หรือแม้แต่การออกกำลังกาย เหตุโดยเฉพาะบางครั้งก็ไม่ชัดเจน

นอกจากจะเกิดการจู่โจมของความตื่นตระหนกที่ไม่คาดฝันและเกิดซ้ำ ๆ เกณฑ์วินิจฉัยยังบังคับว่าต้องมีผลเรื้อรังอีกด้วย คือ เป็นความกังวลถึงผลที่อาจตามมาของการจู่โจม ความกลัวอยู่ว่าจะเกิดอีก และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างสำคัญเกี่ยวกับการเกิดการจู่โจม โดยเช่นนี้ คนไข้โรคตื่นตระหนกจะมีอาการแม้นอกเหนือไปจากคราวที่มีการจู่โจม บ่อยครั้ง คนไข้จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงการเต้นหัวใจที่เป็นปกติ แต่คิดว่า หัวใจของตนผิดปกติ หรือว่า ตนกำลังถูกจู่โจมด้วยความตื่นตระหนก ในบางกรณี ความสำนึกที่สูงขึ้น (hypervigilance) เกี่ยวกับการทำงานของร่างกายจะเกิดขึ้นในระหว่างมีการจู่โจม ที่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพที่สำนึกถึงทุกอย่างอาจทำให้คิดว่าเป็นความเจ็บป่วยที่อาจทำให้ถึงชีวิต (คือมีอาการไฮโปคอนดริเอซิสแบบรุนแรง)

โรคกลัวที่โล่ง

อาการกลัวที่โล่ง (Agoraphobia) เป็นความวิตกกังวลเรื่องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่การหลบออกเป็นเรื่องยากหรือน่าอาย หรือว่าอาจไม่มีใครช่วยได้ อาการกลัวที่โล่งสัมพันธ์กับโรคตื่นตระหนก และบ่อยครั้งจะเริ่มด้วยความกลัวว่าจะมีการจู่โจมโดยการตื่นตระหนก (panic attack) ลักษณะที่สามัญก็คือต้องเห็นประตูหรือทางหนีอื่น ๆ ตลอดเวลา

นอกจากความกลัวแล้ว คำว่า agoraphobia บ่อยครั้งใช้หมายถึงพฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่คนไข้บ่อยครั้งมี ยกตัวอย่างเช่น หลังจากความตื่นตระหนกในขณะขับรถ บุคคลที่มี agoraphobia อาจกังวลเรื่องขับรถแล้วก็จะหลีกเลี่ยงการขับรถ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงเช่นนี้บ่อยครั้งมีผลเสียหายและเสริมความกลัวที่มีอยู่แล้ว

โรคกลัวการเข้าสังคม

โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder, SAD) เป็นความกลัวและการหลีกเลี่ยงอย่างรุนแรง ซึ่งการถูกมองในแง่ลบโดยสาธารณชน ความอับอายต่อหน้าคนอื่น การถูกทำให้ขายหน้า และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความกลัวอาจเป็นเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมบางอย่าง (เช่น การพูดต่อหน้าสาธารณะ) หรือที่สามัญกว่าก็คือ การต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในสถานการณ์โดยมากหรือทั้งหมด ความกังวลอาจปรากฏเป็นอาการทางกายโดยเฉพาะ ๆ รวมทั้งหน้าแดง เหงื่อออก และพูดไม่ออก

เหมือนกับโรคกลัวอื่น ๆ คนไข้โรคนี้จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตนกังวล แต่ในกรณีนี้ นี่ค่อนข้างจะสร้างปัญหามาก และมีกรณีรุนแรงที่คนไข้ไม่ยอมพบกับใครเลย

ส่วน Social physique anxiety (SPA) เป็นแบบย่อยของโรคกลัวสังคม โดยคนไข้จะกังวลว่าคนอื่นพิจารณารูปร่างของตนว่าเป็นอย่างไร SPA เป็นเรื่องสามัญสำหรับวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศหญิง

ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ

ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) เป็นโรควิตกกังวลที่เป็นผลของประสบการณ์สะเทือนใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น การสู้รบ ภัยธรรมชาติ การถูกข่มขืน การถูกจับเป็นตัวประกัน ทารุณกรรมในวัยเด็ก การถูกเพื่อนข่มเหง และแม้แต่อุบัติเหตุที่รุนแรง นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากการเครียดรุนแรงเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ยกตัวอย่างเช่น มีทหารที่สามารถอดทนต่อการสู้รบเป็นครั้ง ๆ แต่ไม่สามารถรับมือกับการสู้รบอย่างต่อเนื่อง อาการสามัญรวมทั้งระวังมากเกินไป (hypervigilance) การเห็นภาพย้อนหลัง (flashback) พฤติกรรมหลีกเลี่ยง ความวิตกกังวล ความโกรธ และความซึมเศร้า

มีวิธีการรักษาพื้นฐานหลายอย่างสำหรับคนไข้ PTSD รวมทั้งการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) จิตบำบัด และความสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน ๆ งานวิจัยในเรื่อง PTSD เริ่มต้นที่ทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม และผู้เคราะห์ร้ายจากภัยต่าง ๆ รวมทั้งภัยธรรมชาติ งานศึกษาพบว่า ระดับความรุนแรงที่ประสบในภัยพิบัติเป็นตัวพยากรณ์ PTSD ที่ดีที่สุด

โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก

โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (Separation anxiety disorder, SepAD) เป็นความวิตกกังวลที่เกินควรและไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการจากบุคคลหรือสถานที่ ความวิตกกังวลเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในพัฒนาการของทารกหรือเด็ก และดังนั้น เมื่อความรู้สึกนี้เกิดเกินควรหรือไม่สมควรเท่านั้นจึงจะจัดว่าเป็นโรค

โรคเกิดนี้เกิดกับผู้ใหญ่ประมาณ 7% และเด็ก 4% แต่ว่ากรณีเด็กมักจะรุนแรงกว่า ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่การจากกันอย่างสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก

การรักษาเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันปัญหา ซึ่งอาจรวมการฝึกพ่อแม่และครอบครัวว่าควรจะรับมือกับมันอย่างไร เพราะว่า บ่อยครั้ง พ่อแม่จะเสริมความวิตกกังวลของเด็กเพราะไม่รู้ว่าควรจะช่วยเด็กอย่างไร นอกจากการฝึกเด็กและครอบครัวแล้ว ยาบางอย่าง เช่น SSRI สามารถใช้บำบัดความวิตกกังวลเช่นนี้

ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์

ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ (Situational anxiety) มีเหตุจากการเกิดสถานการณ์ใหม่หรือเปลี่ยนไป หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่ทำให้บุคคลนั้นไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามัญมาก บ่อยครั้ง บุคคลจะประสบกับความตื่นตระหนก (panic attack) หรือความวิตกกังวลอย่างรุนแรงในสถานการณ์โดยเฉพาะ ๆ และสถานการณ์เช่นนั้นอาจไม่ทำให้คนอื่นกังวลโดยประการทั้งปวง

ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจไม่ชอบที่ชุมชนหรือที่แคบ ๆ ดังนั้น การรอคิวในแถวแน่นยาว เช่นที่ธนาคารหรือที่ร้านค้า อาจจะทำให้กังวลอย่างรุนแรง หรือเกิดความตื่นตระหนก (panic attack) คนอื่นอาจจะกังวลเมื่อชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ เช่น การเข้ามหาวิทยาลัย การแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น

โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ไม่ได้จัดเป็นโรควิตกกังวลในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) แต่จัดใน ICD-10 และ DSM-4 รุ่นก่อนก็จัดว่าเป็นโรควิตกกังวลเหมือนกัน เป็นภาวะที่บุคคลมีความย้ำคิด (คือความคิดหรือจินตภาพที่ทำให้กังวล คงยืน และไม่ต้องการ) และ/หรือพฤติกรรมย้ำทำ (รู้สึกให้ต้องทำอะไรหรือทำพิธีกรรมที่เฉพาะเจาะจงซ้ำ ๆ) ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือโรคอื่น ๆ เป็นภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์หรือมีปัญหาทางสังคม พิธีกรรมเป็นกฎเฉพาะตนที่ต้องทำเพื่อแก้ความวิตกกังวล

OCD มีผลต่อผู้ใหญ่ประมาณ 1-2% (โดยหญิงเป็นมากกว่าชาย) และต่อเด็กและวัยรุ่นเกือบ 3% คนไข้จะรู้ว่าอาการเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุผล และพยายามสู้กับทั้งความคิดและพฤติกรรม อาการสามารถสัมพันธ์กับเหตุการณ์ภายนอกที่ตนกลัว (เช่น ไฟไหม้บ้านเพราะลืมปิดเตา) หรือกังวลว่า จะทำอะไรที่ไม่สมควร ไม่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงมี OCD แต่อาจมีปัจจัยทางพฤติกรรม ทางการรู้คิด ทางพันธุกรรม และทางประสาทชีววิทยา ที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งประวัติครอบครัว ความเป็นโสด (ซึ่งอาจเป็นผลของโรค) การอยู่ในสถานะทางสังคมเศรษฐกิจที่สูง หรือไม่มีงานที่ให้ค่าตอบแทนทำ OCD เป็นโรคเรื้อรัง ประมาณ 20% ของคนไข้จะเอาชนะมันได้ และอีก 50% จะมีอาการอย่างน้อยลดลงโดยใช้เวลา

เหตุ

ยา

ความวิตกกังวลและความซึมเศร้าอาจมีเหตุมาจากการดื่มสุรา ซึ่งในกรณีโดยมากจะดีขึ้นเมื่องดเป็นระยะเวลานาน แม้แต่การดื่มสุราแบบพอสมควรแต่ต่อเนื่องก็อาจเพิ่มระดับความวิตกกังวลในบางคน การติดสารต่าง ๆ รวมทั้งกาเฟอีน เอทานอล (คือแอลกอฮอล์) และเบ็นโซไดอาเซพีน อาจเป็นเหตุหรือทำอาการวิตกกังวลและความตื่นตระหนกให้แย่ลง ความวิตกกังวลเกิดขึ้นอย่างสามัญในช่วงอดเหล้าและสามารถคงยืนนานถึง 2 ปี (เป็น post-acute withdrawal syndrome) โดยเกิดขึ้นใน 1/4 ของคนที่เลิกเหล้า

ในงานศึกษาปี 2531-2533 โรคในผู้ป่วยครึ่งหนึ่งที่หาหมอสุขภาพจิตที่คลินิกจิตเวชใน รพ. ประเทศอังกฤษ สำหรับปัญหาต่าง ๆ รวมทั้ง โรควิตกกังวล เช่น โรคตื่นตระหนก หรือโรคกลัวการเข้าสังคม พบว่าเป็นผลของการติดเหล้าหรือยา benzodiazepine คนไข้เหล่านี้จะกังวลเพิ่มขึ้นในช่วงอดสาร แล้วตามด้วยการหยุดความวิตกกังวล

มีหลักฐานว่าการได้รับตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) ในที่ทำงานอาจสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล การทาสี การใช้น้ำมันขัดเงา และการปูพรม เป็นงานที่อาจได้รับตัวทำละลายอินทรีย์อย่างสำคัญ

การใช้กาเฟอีน อาจจะเป็นเหตุหรือทำให้โรควิตกกังวลแย่ลง รวมทั้งโรคตื่นตระหนก คนที่มีโรควิตกกังวลอาจจะไวต่อกาเฟอีนมาก ใน DSM-5 โรควิตกกังวลเหตุกาเฟอีน (Caffeine-induced anxiety disorder) เป็นประเภทย่อยของโรควิตกกังวลเหตุจากสารหรือยา แต่ก็ยังเป็นประเภทย่อยของโรควิตกกังวล ไม่ใช่ประเภทย่อยของโรคที่เกี่ยวกับสารหรือสารเสพติด แม้ว่าอาการจะมาจากสารที่ใช้

การใช้กัญชาก็สัมพันธ์กับโรควิตกกังวลด้วย แต่ว่า ความสัมพันธ์เป็นเช่นไรยังต้องศึกษาให้ชัดเจน

อาการทางแพทย์อื่น ๆ

บางครั้ง โรควิตกกังวลอาจเป็นผลข้างเคียงของโรคระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นเหตุให้ระบบประสาททำงานเกิน โรคเช่น เนื้องอกแบบฟีโอโครโมไซโตมา หรืออาการไฮเปอร์ไทรอยด์

ความเครียด

โรควิตกกังวลอาจเกิดตอบสนองต่อความเครียดในชีวิต เช่น ความกังวลเรื่องการเงิน หรือความเจ็บป่วยเรื้อรัง ความวิตกกังวลสามัญในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยต้นเพราะความเครียดในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาพพจน์ในระหว่างเพื่อนฝูง และรูปร่างหน้าตา ความวิตกกังวลยังสามัญในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และโดยนัยตรงกันข้าม บางครั้งหมอก็วินิจฉัยอาการทางกายที่คล้าย ๆ กันในผู้สูงอายุ (เช่น หัวใจเต้นเร็ว) ผิดว่าเป็นโรควิตกกังวล

กรรมพันธุ์

GAD มักจะเกิดในครอบครัว เด็กที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าถึง 6 เท่า

แม้ว่าความกังวลจะเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันมักจะในแง่ลบโดยเป็นส่วนของโรควิตกกังวล คนที่มีโรคนี้มีระบบที่อ่อนไหวมาก ดังนั้น ระบบจึงมักจะตอบสนองมากเกินไปต่อสิ่งเร้าที่ไม่อันตราย บางครั้ง โรคจะเกิดในบุคคลที่มีเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก โดยเริ่มแสดงความวิตกกังวลที่สูงขึ้นเมื่อเด็กดูจะมีอนาคตที่ลำบาก ในกรณีเช่นนี้ โรคเกิดขึ้นเป็นตัวพยากรณ์ว่า สิ่งแวดล้อมของบุคคลจะคงความเป็นอันตรายต่อไป

ความคงอยู่ของความวิตกกังวล

ในระดับที่ต่ำ ความวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องไม่ดี และจริง ๆ แล้ว การตอบสนองทางฮอร์โมนต่อความวิตกกังวลมีวิวัฒนาการเพื่ออำนวยประโยชน์ คือช่วยให้มนุษย์ตอบสนองต่ออันตราย นักวิจัยในสาขาการแพทย์เชิงวิวัฒนาการเชื่อว่า การปรับตัวเช่นนี้ช่วยให้มนุษย์รู้ว่าอาจมีอันตราย แล้วปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด

มีหลักฐานว่า คนที่กังวลน้อยกว่ามีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนที่กังวลในระดับเฉลี่ย เพราะว่า การไร้ความกลัวสามารถนำไปสู่ความบาดเจ็บหรือความตาย นอกจากนั้นแล้ว คนไข้ที่มีทั้งโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าปรากฏกว่า มีอัตราการตายที่ต่ำกว่าคนที่มีเพียงโรคซึมเศร้าอย่างเดียว

อาการโรควิตกกังวลที่มีหน้าที่สำคัญรวมทั้ง ความตื่นตัวสูง การเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติการที่ดีกว่า และโอกาสน้อยลงที่จะไม่เห็นภัย ในป่า บุคคลที่อ่อนแอ เช่นคนที่บาดเจ็บหรือมีครรภ์ มีขีดเริ่มเปลี่ยนต่อความวิตกกังวลที่ต่ำกว่า ทำให้ตื่นตัวสูงกว่า ซึ่งแสดงถึงประวัติทางวิวัฒนาการอันยาวนานเกี่ยวกับการตอบสนองโดยความวิตกกังวล

ความไม่เหมือนสภาพทางวิวัฒนาการ

มีทฤษฎีว่า อัตราความวิตกกังวลที่สูงเป็นผลจากสภาพทางสังคมที่ต่างจากยุคหินเก่า ยกตัวอย่างเช่น ในยุคหิน มนุษย์ถูกเนื้อต้องตัวกันมากกว่า และมารดาจะอุ้มทารกมากกว่า ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นกลยุทธ์ในการลดความวิตกกังวล นอกจากนั้นแล้ว ปัจจุบันมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้ามากกว่า เทียบกับปฏิสัมพันธ์กับญาติสนิทในอดีต

นักวิจัยเสนอว่า การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงวัยพัฒนา เป็นเหตุให้มีอัตราความวิตกกังวลสูง กรณีคนไข้จำนวนมากในปัจจุบันน่าจะเกิดเพราะความไม่สอดคล้องกันของสังคมปัจจุบันกับสภาพทางวิวัฒนาการ (Mismatch theory) โดยมีคำโดยเฉพาะเรียกว่า ความไม่สอดคล้องที่ทำให้เกิดโรคจิต (psychopathogical mismatch)

ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ความไม่สอดคล้องจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) ที่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่ผิดเพี้ยนไปจากสถานะทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าการตอบสนองโดยความวิตกกังวลอาจจะเป็นวิวัฒนาการเพื่อช่วยในสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิต แต่สำหรับบุคคลที่อ่อนไหวง่ายในสังคมชนตะวันตก การได้ยินข่าวร้ายอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง

มุมมองทางวิวัฒนาการอาจช่วยเสริมวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรควิตกกังวล เพียงแค่เข้าใจว่า ความวิตกกังวลบางอย่างมีประโยชน์อาจช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกที่สัมพันธ์กับโรคชนิดอ่อน นักวิจัยบางท่านเชื่อว่า โดยทฤษฎีแล้ว จะสามารถบรรเทาความวิตกกังวลของคนไข้ได้โดยลดความรู้สึกว่าอ่อนแอแล้วเปลี่ยนการประเมินเหตุการณ์ใหม่

กลไก

ทางชีวภาพ

ระดับที่ลดลงของกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (กาบา) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทกลาง มีส่วนร่วมให้เกิดความวิตกกังวล ยาแก้วิตกกังวล (anxiolytic) บางอย่างออกฤทธิ์โดยควบคุมตัวรับกาบา (GABA receptor) SSRI เป็นยาที่ปกติใช้รักษาโรคซึมเศร้ามากที่สุด แต่บ่อยครั้งก็พิจารณาว่าเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกสำหรับโรควิตกกังวล

อะมิกดะลา

เขตสมองคืออะมิกดะลาเป็นศูนย์การประมวลความกลัวและความวิตกกังวล และงานศึกษาปี 2552 แสดงว่า มันอาจทำงานได้ไม่ดีในโรควิตกกังวล ข้อมูลประสาทสัมผัสเข้าสู่อะมิกดะลาผ่านนิวเคลียส basolateral complex (ซึ่งประกอบด้วย lateral, basal, และ accessory basal nuclei) โดยมีหน้าที่ประมวลความทรงจำเกี่ยวกับความกลัวสัมพันธ์กับประสาทสัมผัส และสื่อความอันตรายของข้อมูลไปยังระบบที่ประมวลความจำและประสาทสัมผัสอื่น ๆ ในสมอง เช่น medial prefrontal cortex และคอร์เทกซ์ประสาทสัมผัส (sensory cortices) ต่าง ๆ

เขตสำคัญอีกเขต ก็คือ central nucleus ของอะมิกดะลาที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งควบคุมการตอบสนองโดยความกลัวของสัตว์แต่ละสปีชีส์ ๆ ผ่านการเชื่อมต่อทางก้านสมอง ไฮโปทาลามัส และสมองน้อย ในคนไข้ การทำงานร่วมกันระหว่างเขตต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะน้อยกว่า และยังพบเนื้อขาวมากกว่าใน central nucleus อีกด้วย

ความแตกต่างอีกอย่างก็คือเขตอะมิกดะลาจะทำงานร่วมกับเขต insular cortex และ cingulate cortex น้อยกว่า ซึ่งเป็นเขตที่ควบคุมความชัดเจน/ความเด่นทั่วไป (general salience) ของสิ่งเร้า และจะทำงานร่วมกับ parietal cortex และ prefrontal cortex มากกว่า ซึ่งเป็นเขตที่ควบคุม Executive functions การทำงานแบบหลังแสดงว่า เป็นกลยุทธ์ที่ใช้แทนการประมวลความวิตกกังวลที่ผิดปกติของอะมิกดะลา นักวิจัยของงานได้ให้ข้อสังเกตว่า "การทำงานคู่กันของอะมิกดะลากับ parietal cortex และ prefrontal cortex ในคนไข้ GAD อาจ...สะท้อนการใช้ระบบควบคุมการรู้คิดอย่างเป็นนิสัยเพื่อคุมความกังวลที่เกินไป" ซึ่งเข้ากับทฤษฎีการรู้คิดที่เสนอให้ลดระดับอารมณ์ด้วยความคิดสำหรับคนไข้โรคนี้

งานศึกษาทางคลินิกและกับสัตว์แสดงว่า โรควิตกกังวลมีสหสัมพันธ์กับความลำบากในการทรงร่างกาย โดยกลไกที่อาจทำงานผิดพลาดก็คือเขต parabrachial area ซึ่งเป็นโครงสร้างทางสมองที่หน้าที่อย่างหนึ่งก็คือประสานข้อมูลจากอะมิกดะลากับข้อมูลเกี่ยวกับความสมดุลของร่างกาย

การประมวลความวิตกกังวลในเขต basolateral ของอะมิกดะลามีหลักฐานว่า ทำให้เดนไดรต์ของนิวรอนในอะมิกดะลาเกิดการแบ่งสาขา (dendritic arborization) ส่วน SK2 potassium channel อำนวยการยับยั้งศักยะงานและลดการแบ่งสาขา และถ้า SK2 มีการแสดงออกเกินปกติ ระดับความวิตกกังวลในสัตว์ทดลองสามารถลดได้พร้อมกับลดระดับการหลั่งฮอร์โมน corticosterone ที่เกิดจากความเครียดโดยทั่วไป

การป้องกัน

มีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการป้องกันโรควิตกกังวล มีหลักฐานเบื้องต้นที่สนับสนุนการใช้การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) และการบำบัดที่อาศัยสติ โดยปี 2556 ยังไม่มีวิธีการใดที่ได้ผลในการป้องกัน GAD ในผู้ใหญ่

การวินิจฉัย

โรควิตกกังวลมักเป็นภาวะที่เรื้อรังรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรืออาจเกิดแบบฉับพลันหลังมีเหตุการณ์กระตุ้น มักจะแย่ลงเมื่อเครียด และบ่อยครั้งเกิดพร้อมกับอาการทางสรีรภาพอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และความดันโลหิตสูง ซึ่งในบางกรณีทำให้ล้าหรือหมดแรง

ในภาษาอังกฤษทั่วไป คำว่า "anxiety" และ "fear" มักใช้แทนกันได้ แต่ในการแพทย์ ทั้งสองมีความหมายต่างกัน คือ ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยไม่สามารถระบุสาเหตุได้หรือรู้สึกว่าควบคุมและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทียบกับ ความกลัว (fear) ซึ่งเป็นการตอบสนองทางสรีรภาพและทางอารมณ์ต่อภัยภายนอกที่ระบุได้ ส่วนคำว่า โรควิตกกังวล (anxiety disorder) รวมทั้งความกลัว (เช่นโรคกลัวต่าง ๆ) และความวิตกกังวลเข้าด้วย แบบวัดมาตรฐานทางคลินิก เช่น Taylor Manifest Anxiety Scale หรือ Zung Self-Rating Anxiety Scale สามารถใช้ตรวจจับอาการวิตกกังวล แล้วแนะว่าแพทย์ควรจะประเมินวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นหรือไม่

โรควิตกกังวลมักเกิดกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเกิดกับคนไข้โรควิตกกังวลถึง 60% อาการของโรควิตกกังวลที่คาบเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าพอสมควร และสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันที่สามารถจุดชนวนอาการของโรคทั้งสอง อาจช่วยอธิบายการเกิดร่วมกันของโรคในระดับสูง

งานศึกษาแสดงว่า คนที่มีประวัติโรควิตกกังวลในครอบครัว โดยเฉพาะบางชนิด เสี่ยงต่อโรคสูงกว่า

ความผิดปกทางเพศ (Sexual dysfunction) บ่อยครั้งเกิดพร้อมกับโรควิตกกังวล แต่ว่ายากที่จะกำหนดว่าความวิตกกังวลเป็นเหตุ หรือว่าทั้งสองเกิดจากเหตุเดียวกัน ลักษณะปรากฏมากที่สุดของบุคคลที่มีโรควิตกกังวลก็คือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การหลั่งน้ำอสุจิเร็วไป (premature ejaculation) และอวัยวะไม่แข็ง (erectile dysfunction) ในชาย และความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในหญิง ความผิดปกติทางเพศสามัญเป็นพิเศษในบรรดาคนไข้โรคตื่นตระหนก คือคนที่กลัวว่าอาจเกิดอาการตื่นตระหนกในช่วงที่มีอารมณ์ทางเพศ และคนไข้ PTSD

การรักษา

ทางเลือกในการรักษารวมทั้งการเปลี่ยนสไตล์ชีวิต จิตบำบัด และยา ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจิตบำบัดหรือยามีผลดีกว่า ดังนั้น ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าต้องการอะไร และโดยมากจะเลือกจิตบำบัดก่อน

หมออาจเสนอให้ใช้วิธีอื่น ร่วมกับสิ่งที่เลือก หรือว่าถ้าทางเลือกแรกไม่สามารถลดอาการได้

การเปลี่ยนสไตล์ชีวิต

การเปลี่ยนสไตล์ชีวิตรวมทั้งการออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักฐานพอสมควรว่าช่วย นอนเป็นเวลา ลดการบริโภคกาเฟอีน และหยุดสูบบุหรี่ การหยุดบุหรี่มีประโยชน์เท่ากับหรือมากกว่ายา

จิตบำบัด

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีประสิทธิผลต่อการรักษาโรควิตกกังวลและเป็นวิธีการรักษาอันดับแรก CBT ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลเท่า ๆ กันแม้ทำทางอินเทอร์เน็ต แม้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสุขภาพจิตดูจะมีอนาคตดี แต่ก็ยังเป็นอะไรที่เพิ่งลองใช้

หนังสือสอนให้ช่วยตัวเองสามารถมีส่วนในการรักษา

โปรแกรมอาศัยสติ ก็ปรากฏกว่ามีประสิทธิผลในการบริหารโรควิตกกังวล ไม่ชัดเจนว่าการนั่งสมาธิ/กรรมฐาน (meditation) มีผลต่อความวิตกกังวลหรือไม่ และ transcendental meditation ก็ไม่ปรากฏว่าแตกต่างจากกรรมฐานอื่น ๆ

ยา

ยาที่ใช้รักษาเป็นเบื้องต้นรวมทั้ง SSRI และ SNRI (Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor) สำหรับโรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD) ไม่มีหลักฐานที่ดีว่ายากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น ราคามักจะเป็นตัวกำหนดยาที่เลือก ส่วนยา Buspirone, quetiapine และ pregabalin ใช้รักษาเป็นอันดับสองสำหรับบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อ SSRI หรือ SNRI มีหลักฐานด้วยว่ายากลุ่ม benzodiazepines รวมทั้ง diazepam และคโลนะเซแพมก็มีประสิทธิผล แต่ว่า มักจะไม่ค่อยใช้เพราะมีโอกาสติด

ต้องระวังการใช้ยาในคนไข้สูงอายุ เพราะว่า มีโอกาสมีผลข้างเคียงสูงกว่าเพราะโรคอื่น ๆ การทานยาตามหมอสั่งเป็นปัญหาที่มีโอกาสมากกว่าในคนสูงอายุ เพราะว่า มีปัญหาในความเข้าใจ การมองเห็น และการจำคำสั่งของหมอได้ โดยทั่วไป ยาพิจารณาว่าไม่ช่วยในโรคกลัวโดยเฉพาะ ๆ แต่ว่า ยากลุ่ม benzodiazepine บางครั้งก็ใช้แก้คราวเกิดโรคแบบฉับพลัน

โดยปี 2550 ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาทุกอย่างก็ยังน้อยอยู่

แพทย์ทางเลือก

มีวิธีทางเลือกหลายอย่างที่ได้ใช้บำบัดโรควิตกกังวล ซึ่งรวมทั้งสมุนไพรคาวา (Piper methylsticum) ที่ประโยชน์ดูจะมากกว่าโทษ ถ้าใช้ในระยะสั้นสำหรับคนที่วิตกกังวลแบบอ่อนหรือปานกลาง บัณฑิตยสถานแพทย์ประจำครอบครัวอเมริกัน (AAFP) แนะนำให้ใช้คาวาสำหรับคนไข้ที่มีโรควิตกกังวลแบบอ่อนหรือปานกลาง ผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือใช้ยาที่ต้องผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึมในตับ แต่ต้องการรักษาแบบ "ธรรมชาติ" ผลข้างเคียงของคาวาในการทดลองทางคลินิกมีน้อยและเป็นแบบอ่อน ๆ

ส่วน Inositol (ซึ่งมีอยู่ในอาหารมากมายโดยเฉพาะผลไม้รวมทั้งแคนตาลูปและส้ม) มีผลเล็กน้อยต่อคนไข้โรคตื่นตระหนกหรือ OCD แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อใช้สมุนไพร St. John's wort (Hypericum perforatum), Valerian (Valeriana officinalis), หรือพืชสกุลกะทกรก (Passiflora)

สุคนธบำบัดมีหลักฐานเบื้องต้นว่ามีประโยชน์ในการลดความวิตกกังวลในคนไข้โรคมะเร็งถ้าทำกับการนวด แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าเป็นเพียงแค่เพิ่มผลที่ได้จากการนวดเท่านั้นหรือไม่

เด็ก

มีวิธีการรักษาหลายอย่างที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิผลในการบำบัดโรควิตกกังวลในเด็ก จิตบำบัดมักจะเลือกมากกว่าการให้ยา การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีหลักฐานในการรักษาโรคในเด็กและวัยรุ่น และเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกที่ดี ยังมีการบำบัดอื่น ๆ ที่ไม่มีรากฐานจาก CBT อีกที่มีหลักฐานพอสมควรว่ามีประสิทธิผล ซึ่งเพิ่มวิธีการรักษาสำหรับคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อ CBT

เหมือนกับผู้ใหญ่ เด็กก็สามารถรักษาได้โดยจิตบำบัด, CBT, หรือ counseling การบำบัดครอบครัว (Family therapy) เป็นวิธีการรักษาอีกอย่างที่เด็กพบกับผู้รักษาพร้อมกับผู้ปกครองและพี่น้อง แม้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะสามารถทำการบำบัดเดี่ยว ๆ ได้ แต่การบำบัดครอบครัวปกติเป็นรูปแบบการรักษาเป็นกลุ่ม

การบำบัดด้วยศิลปะ หรือด้วยการเล่น ก็ใช้ได้ด้วย การบำบัดด้วยศิลปะใช้บ่อยครั้งที่สุดเมื่อเด็กไม่พูด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์สะเทือนใจหรือเพราะพิการ การร่วมกิจกรรมงานศิลป์ช่วยให้เด็กสามารถสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งโดยวิธีอื่นอาจจะทำไม่ได้

ส่วนในการบำบัดด้วยการเล่น ก็จะให้เด็กเล่นตามใจชอบโดยผู้รักษาจะสังเกตดูเด็ก และอาจจะขัดจังหวะเป็นบางครั้งบางคราวด้วยคำถาม คำพูด หรือคำแนะนำ นี่บ่อยครั้งมีประสิทธิผลที่สุดเมื่อครอบครัวของเด็กมีบทบาทสำคัญในการรักษา

ในเด็กและวัยรุ่น ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ยาแก้ซึมเศร้าเช่น SSRI, SNRI, และ tricyclic antidepressant อาจมีประสิทธิผล

พยากรณ์โรค

พยากรณ์โรคจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงและวิธีการรักษาของแต่ละบุคคล

แต่ถ้าเด็กไม่รักษา ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเรียนไม่ดีที่โรงเรียน การหลีกเลี่ยงกิจกรรมสังคมที่สำคัญ และการใช้สารเสพติด เด็กโรควิตกกังวลมักจะมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า, โรคเกี่ยวกับการรับประทาน (eating disorder), โรคซนสมาธิสั้น ทั้งแบบซน และแบบไม่ใส่ใจ

วิทยาการระบาด

ทั่วโลกโดยปี 2553 มีคนประมาณ 273 ล้าน (4.5%) ที่มีโรควิตกกังวล เป็นโรคที่สามัญในหญิง (5.2%) มากกว่าในชาย (2.8%) ในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย อัตราการมีโรควิตกกังวลตลอดชีวิตอยู่ระหว่าง 9-16% และอัตราต่อปีที่ 4-7% แต่ในสหรัฐอเมริกา ความชุกชั่วชีวิต (lifetime prevalence) อยู่ที่ 29% และผู้ใหญ่ประมาณ 11-18% เป็นโรคทุกปี ความต่างขึ้นอยู่กับมุมมองอาการวิตกกังวลที่ต่างกันของวัฒนธรรมต่าง ๆ และสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นพฤติกรรมปกติ โดยทั่วไปแล้ว โรควิตกกังวลเป็นอาการทางจิตเวชที่ชุกที่สุดในสหรัฐ ยกเว้น การเสพสารเสพติด (substance use disorder)

เด็ก

เหมือนกับผู้ใหญ่ เด็กก็สามารถมีโรควิตกกังวล เด็กทั้งหมดประมาณ 10-20% จะมีโรควิตกกังวลแบบเต็มตัวก่อนจะถึงอายุ 18 ปี ซึ่งทำให้โรคเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สามัญที่สุดในเด็ก ๆ

โรควิตกกังวลในเด็กบ่อยครั้งระบุได้ยากเทียบกับในผู้ใหญ่ เพราะยากที่ผู้ปกครองจะจำแนกจากความกลัวปกติของเด็ก โดยนัยเดียวกัน โรควิตกกังวลในเด็กบางครั้งวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคซนสมาธิสั้น หรือเนื่องจากเด็กมักจะตีความอารมณ์ของตนว่าเป็นอาการทางกาย (เช่น ปวดท้อง ปวดหัว เป็นต้น) โรควิตกกังวลเบื้องต้นอาจสับสนกับโรคทางกายได้

ความวิตกกังวลในเด็กมีสาเหตุมากมาย บางครั้งมีมูลฐานทางชีวภาพ หรืออาจเป็นผลของโรคอย่างอื่น เช่น โรคออทิซึม หรือกลุ่มอาการแอสเปอร์เจอร์ เด็กที่มีพรสวรรค์บ่อยครั้งเสี่ยงต่อความวิตกกังวลเกินไปมากกว่าเด็กธรรมดา กรณีอื่น ๆ ของความวิตกกังวลมาจากเด็กที่มีประสบการณ์สะเทือนใจบางอย่าง และบางครั้ง เหตุอาจไม่สามารถระบุได้

ความวิตกกังวลในเด็กมักเป็นเรื่องที่สมกับวัย เช่น กลัวไปโรงเรียน (โดยไม่เกี่ยวกับถูกเพื่อข่มเหง) หรือไม่เก่งพอที่โรงเรียน กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ กลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนที่รัก เป็นต้น ดังนั้น ลักษณะที่แยกโรควิตกกังวลจากความวิตกกังวลของเด็กที่ปกติก็คือระยะเวลาและความรุนแรงที่กลัว ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็ก ๆ มักจะกังวลเมื่อจากคนที่รัก แต่โดยทั่วไปเมื่อถึงอายุ 6 ขวบอาการก็จะหายเอง เทียบกับเด็กโรควิตกกังวลที่อาจจะเป็นต่อไปเป็นปี ๆ ซึ่งขัดขวางพัฒนาการของเด็ก และคล้าย ๆ กัน เด็กโดยมากจะกลัวความมืดและกลัวสูญเสียพ่อแม่ในช่วงหนึ่งในวัยเด็ก แต่ความกลัวนี่จะหายไปเองโดยไม่รบกวนกิจกรรมชีวิตประจำวันมาก แต่ในเด็กโรควิตกกังวล ความกลัวความมืดหรือสูญเสียคนที่รักอาจจะเพิ่มจนกลายเป็นเรื่องหมกมุ่น ที่เด็กพยายามรับมือโดยคิดทำอะไรอย่างหมกมุ่นจนเป็นปัญหากับคุณภาพชีวิต การเริ่มมีอาการซึมเศร้าร่วมกับโรควิตกกังวลอาจเป็นตัวบ่งว่าโรคกำลังรุนแรง ทำให้เสียหาย และทำให้พิการมากขึ้นทั้งในวัยก่อนโรงเรียนหรือในวัยเข้าโรงเรียน

เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่เพราะสามารถมีโรควิตกกังวลได้หลายประเภท รวมทั้ง โรควิตกกังวลไปทั่ว (GAD) - เด็กจะกังวลกับหลาย ๆ เรื่องอย่างคงยืน และความกังวลอาจปรับเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น หรืออาจมีมูลฐานเพียงแค่จินตนาการแต่ยังไม่ได้เกิดจริง ๆ การปลอบโยนมักจะไม่ค่อยได้ผล

โรควิตกกังวลเมื่อต้องแยก (SepAD) คือเด็กที่อายุมากกว่า 6-7 ขวบแต่มีปัญหาในการจากพ่อแม่ไปอาจจะมีโรคนี้ เด็กมักจะกลัวว่าจะเสียพ่อแม่ไปในช่วงเวลาที่จากกัน และเพราะเหตุนี้ มักจะไม่ยอมไปโรงเรียน

โรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder) ไม่ควรสับสนกับความขี้อายหรือบุคลิกแบบสนใจต่อสิ่งภายใน (introversion) ความขี้อายบ่อยครั้งปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ แต่เด็กโรควิตกกังวลบ่อยครั้งอยากจะร่วมกิจกรรมทางสังคม (ไม่เหมือนกับผู้ที่มีบุคลิกแบบสนใจสิ่งภายใน) แต่ไม่กล้า เพราะกลัวว่าเพื่อนจะไม่ชอบเกินเหตุ เด็กบ่อยครั้งจะบอกตัวเองว่าทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี ซึ่งอาจจะขัดกับหลักฐานที่มี และในระยะยาว อาจจะทำให้เกิดโรคกลัวสถานการณ์ทางสังคม แต่ว่า โรคชนิดนี้มักเป็นกับเด็กที่โตกว่าหรือเด็กก่อนวัยรุ่นมากกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า โรคกลัวสังคมในเด็กอาจมีเหตุจากประสบการณ์สะเทือนใจ เช่น ไม่รู้คำตอบเมื่อครูถามในชั้นเรียน

แม้ว่าจะไม่สามัญในเด็ก โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ก็สามารถเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราระหว่าง 2-4% และก็เหมือนผู้ใหญ่ เด็กมักจะมีความคิดเชิงไสยศาสตร์เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล คือต้องทำพิธีกรรมอะไรบางอย่าง (บ่อยครั้งเกี่ยวกับการนับ จัดแจง หรือทำความสะอาด เป็นต้น) เพื่อ "ป้องกัน" เหตุการณ์ร้ายที่ตนรู้สึกว่ากำลังจะเกิดขึ้น แต่ไม่เหมือนกับเด็กปกติ ผู้สามารถเลิกกิจกรรมเชิงไสยศาสตร์เมื่อบอกให้เลิก แต่เด็กที่มี OCD จะไม่สามารถหยุดทำกิจกรรมเช่นนั้นได้ไม่ว่าจะขู่อย่างไร

แม้โรคตื่นตระหนก (panic disorder) จะสามัญในเด็กที่อายุมากกว่า แต่เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถเป็นได้ด้วย และมักจะมองผิดว่าเป็นโรคทางกายอย่างอื่น เนื่องจากมีอาการทางกายที่ชัดเจน (เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นต้น) แต่อาการเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับความกลัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความกลัวตาย และเหมือนกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตื่นตระหนก เด็กอาจพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตนรู้สึกว่า จุดชนวนความตื่นตระหนก

เชิงอรรถและอ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Tags:

โรควิตกกังวล ประเภทโรควิตกกังวล เหตุโรควิตกกังวล กลไกโรควิตกกังวล การป้องกันโรควิตกกังวล การวินิจฉัยโรควิตกกังวล การรักษาโรควิตกกังวล พยากรณ์โรคโรควิตกกังวล วิทยาการระบาดโรควิตกกังวล เด็กโรควิตกกังวล เชิงอรรถและอ้างอิงโรควิตกกังวล แหล่งข้อมูลอื่นโรควิตกกังวลกรรมพันธุ์กัญชาการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการวินิจฉัยทางการแพทย์กาเฟอีนความกลัวความผิดปกติทางจิตความผิดปกติทางบุคลิกภาพความยากจนจิตบำบัดทวีปยุโรปภาษาอังกฤษยาแก้ซึมเศร้าสหรัฐอเมริกาสิ่งแวดล้อมอาการไฮเปอร์ไทรอยด์เบต้า บล็อกเกอร์แอลกอฮอล์โรคกลัวโรคกลัวการเข้าสังคมโรคกลัวที่ชุมชนโรคซึมเศร้าโรคตื่นตระหนกโรควิตกกังวลไปทั่วโรคหัวใจ

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

การรถไฟแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงรายปิยวดี มาลีนนท์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเทศจอร์เจียวัดพระศรีรัตนศาสดารามเดมี มัวร์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจังหวัดเพชรบูรณ์เอเลียส ดอเลาะไทยลีกหอแต๋วแตก (ภาพยนตร์ชุด)ชวลิต ยงใจยุทธสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมืองพัทยาโปรแกรมเลียนแบบพระเยซูแหลม มอริสันเมตาพาทิศ พิสิฐกุลราชวงศ์จักรีชญานิศ จ่ายเจริญเจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชรมหาศึกชิงบัลลังก์ (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์)รมิดา จีรนรภัทรเรวัช กลิ่นเกษรพีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพรภาษาอังกฤษอี คัง-อินจังหวัดสุโขทัยกระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลทวีปยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเจตริน วรรธนะสินอี อารึมชวน หลีกภัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวธีรศิลป์ แดงดาถนนพระรามที่ 2สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตสำนักพระราชวังแอริน ยุกตะทัตกองอาสารักษาดินแดนอาณาจักรอยุธยาเอสเธอร์ สุปรีย์ลีลาธนวรรธน์ วรรธนะภูติศิริลักษณ์ คองอัสซะลามุอะลัยกุมรายชื่อละครโทรทัศน์ทางช่อง 7HDรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครอธิป ทองจินดาภาษาพม่ารายชื่อโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่เทย์เลอร์ สวิฟต์ฮ่องกงณรัชต์ เศวตนันทน์ประเทศเกาหลีเหนือตัวเลขโรมันกรงกรรมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัววศิน อัศวนฤนาทน้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์27 มีนาคมรายชื่อสมาชิกบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตกองบัญชาการตำรวจนครบาลสโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจริยา แอนโฟเน่โมนาลิซาโรงเรียนชลกันยานุกูลสุวัฒน์ แจ้งยอดสุขพรหมลิขิตวอลเลย์บอลจังหวัดระยองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี🡆 More