ไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบ (อังกฤษ: appendicitis) คือภาวะที่มีการอักเสบของไส้ติ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แต่ก็มีผู้ป่วยราว 40% ที่ไม่มีอาการตามแบบฉบับดังกล่าว ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงคือการแตกของไส้ติ่งที่อักเสบ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง และติดเชื้อในกระแสเลือดได้

ไส้ติ่งอักเสบ
ชื่ออื่นEpityphlitis
ไส้ติ่งอักเสบ
ภาพไส้ติ่งที่อักเสบและบวม ผ่าตามยาว
สาขาวิชาศัลยกรรมทั่วไป
อาการปวดท้องด้านขวาล่าง, อาเจียน, เบื่ออาหาร
ภาวะแทรกซ้อนเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการ, การถ่ายภาพทางการแพทย์, การตรวจเลือด
โรคอื่นที่คล้ายกันต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ, ถุงน้ำดีอักเสบ, ฝีในกล้ามเนื้อโซแอส, ท่อเลือดแดงส่วนท้องโป่งพอง
การรักษาการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก, ยาปฏิชีวนะ
ความชุก11.6 ล้านคน (2015)
การเสียชีวิต50,100 (2015)
ไส้ติ่งอักเสบ
ตำแหน่งของไส้ติ่งในระบบทางเดินอาหาร

สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบคือการอุดตันส่วนกลวงภายในไส้ติ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากอุจจาระที่มีแคลเซียมจับเป็นก้อนแข็ง สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการอุดตันเช่น เนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่บวมขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส นิ่วถุงน้ำดี ปรสิต หรือเนื้องอก การอุดตันนี้จะเพิ่มแรงดันภายในของไส้ติ่ง ทำให้มีเลือดไหลเวียนมายังเนื้อเยื่อไส้ติ่งน้อยลง แบคทีเรียที่มีอยู่แล้วจึงเพิ่มจำนวนทำให้เกิดการอักเสบ จากผลของการอักเสบ การขาดเลือด และการบวมตึงเหล่านี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ และทำให้เกิดเนื้อเยื่อตายตามมา หากไม่ได้รับการรักษา ไส้ติ่งที่อักเสบอาจแตกได้ ทำให้แบคทีเรียผ่านออกมาสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอีก

การวินิจฉัยส่วนใหญ่จำเป็นต้องอาศัยอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย หากอาการไม่ชัดเจนอาจจำเป็นต้องติดตามอาการ ใช้ภาพถ่ายรังสี หรือใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัย วิธีถ่ายภาพทางการแพทย์ที่นิยมใช้ในการวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบคือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้ความแม่นยำสูงกว่า อย่างไรก็ดี การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนิยมใช้เป็นการตรวจภาพทางการแพทย์วิธีแรกในเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงของการรับรังสีเหมือนในการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

วิธีการรักษาโดยมาตรฐานคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก อาจทำโดยการผ่าเปิดช่องท้องหรือการผ่าตัดส่องกล้องก็ได้ การรักษาด้วยการผ่าตัดจะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับการเกิดไส้ติ่งแตกลงได้ การให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ต้องผ่าตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาไส้ติ่งอักเสบที่ยังไม่แตกซึ่งให้ผลเทียบเท่ากับการผ่าตัดได้ในบางกรณี โรคนี้เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลันที่พบบ่อยและสำคัญมากที่สุดโรคหนึ่ง ข้อมูลปี ค.ศ. 2015 พบว่ามีผู้ป่วยไส้ติ่งราว 11.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50,100 คน ในสหรัฐพบว่าไส้ติ่งอักเสบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ละปีจะมีชาวสหรัฐประมาณ 300,000 คนป่วยจากไส้ติ่งอักเสบและต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก Reginald Fitz เป็นแพทย์คนแรกที่ได้บรรยายถึงโรคนี้เอาไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1886

ไส้ติ่ง

ไส้ติ่งเป็นส่วนขยายของลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มีรูปร่างเรียวหยาวคล้ายหนอน ทำให้มีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า vermiform appendix (ติ่งรูปหนอน) ความยาวโดยเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร (มีขนาดได้ตั้งแต่ 2-20 เซนติเมตร) เจริญขึ้นในเดือนที่ห้าของการตั้งครรภ์ และมีเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid follicle) ทั่วชั้นเยื่อเมือก เนื้อเยื่อน้ำเหลืองเหล่านี้จะมีจำนวนมากขึ้นและขยายขนาดเมื่อมีอายุ 8-20 ปี

สาเหตุ

จากหลักฐานในปัจจุบันเชื่อกันว่าโรคไส้ติ่งอักเสบเป็นผลที่เกิดจากการมีการอุดตันของไส้ติ่ง เมื่อเกิดมีการอุดตันเกิดขึ้นแล้ว ส่วนที่อุดตันนี้จะมีการคั่งของมูกมาอัดแน่นและบวมขึ้น มีความดันภายในส่วนที่อุดตันนี้และตัวผนังไส้ติ่งเองสูงขึ้น เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดขนาดเล็ก ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง น้อยครั้งที่จะมีไส้ติ่งที่เป็นถึงขั้นนี้แล้วกลับหายเป็นปกติได้เอง เมื่ออาการดำเนินต่อไปไส้ติ่งจะขาดเลือดและตายเฉพาะส่วนไป ต่อมาแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วในลำไส้จะผ่านผนังไส้ติ่งที่ตายแล้วนี้ออกมา เกิดหนองขึ้นรอบ ๆ ไส้ติ่ง จนสุดท้ายแล้วไส้ติ่งที่อักเสบมากนี้จะแตกออกทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษและเสียชีวิตได้

ในบรรดาสาเหตุต่าง ๆ ของการอุดตันของไส้ติ่ง เช่น การมีวัตถุแปลกปลอม การมีบาดแผล พยาธิ สาเหตุที่ได้รับความสนใจมากสาเหตุหนึ่งคือการมีนิ่วอุจจาระไปอุดตัน พบว่ามีความชุกของการพบนิ่วอุจจาระในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา และการมีนิ่วอุจจาระอุดตันในไส้ติ่งมักพบว่ามีความสัมพันธ์กับไส้ติ่งอักเสบรุนแรง นอกจากนี้ภาวะท้องผูกก็อาจมีส่วนด้วย ดังที่พบว่าผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมีจำนวนครั้งการถ่ายอุจจาระต่อสัปดาห์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมปกติอย่างมีนัยสำคัญ การเกิดมีนิ่วอุจจาระในไส้ติ่งสัมพันธ์กับการที่มีที่เก็บอุจจาระคั่งในลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้นและการมีช่วงเวลาในการบีบไล่อุจจาระนาน จากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าในกลุ่มประชากรที่ไม่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ไม่พบผู้ป่วยโรคกระเปาะลำไส้หรือติ่งเนื้อเลย และพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยมาก นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรงมักเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบนำมาก่อนด้วย มีหลายการศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีกากใยต่ำมีส่วนในการทำให้เกิดโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งตรงกันกับข้อมูลที่ว่าการกินอาหารที่มีกากใยต่ำทำให้มีช่วงเวลาในการบีบไล่อุจจาระนานขึ้น

อาการ

อาการของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองชนิด คือชนิดตรงไปตรงมาและชนิดไม่ตรงไปตรงมา ประวัติของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันชนิดตรงไปตรงมานั้นจะเริ่มจากมีอาการปวดบริเวณรอบสะดือก่อนที่จะย้ายไปปวดบริเวณหน้าท้องด้านล่างขวา ลักษณะนี้เกิดจากการที่อาการปวดในช่วงแรกเกิดจากเส้นประสาทอวัยวะภายในที่รับความรู้สึกจากไส้ติ่งนั้นแบ่งแยกตำแหน่งความเจ็บปวดได้ไม่ชัดเจนเท่าอาการปวดในช่วงหลังที่เกิดจากอักเสบลุกลามไปยังเยื่อบุช่องท้องซึ่งมีเส้นประสาทโซมาติกที่สามารถระบุตำแหน่งอาการปวดได้ชัดเจนกว่า อาการปวดท้องมักมีร่วมกับอาการเบื่ออาหารและมีไข้ อย่างไรก็ดีไข้ไม่ใช่อาการที่จำเป็นต้องมีเสมอไป อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน รู้สึกง่วงซึม และรู้สึกไม่สบาย ด้วยอาการแบบตรงไปตรงมานี้ การวินิจฉัยสามารถทำได้ง่าย ผู้ป่วยมักได้รับการผ่าตัดรวดเร็วและผลออกมาไม่รุนแรง

อาการที่ไม่ตรงไปตรงมานั้นอาจเริ่มจากมีอาการปวดเริ่มที่หน้าท้องด้านล่างขวาตั้งแต่ต้น ท้องเสีย และมีการดำเนินโรคที่ยาวนานค่อยเป็นค่อยไปกว่า หากไส้ติ่งที่อักเสบสัมผัสกับกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หากไส้ติ่งที่อักเสบอยู่ด้านหลังลำไส้เล็กตอนปลายอาจมีอาการคลื่นไส้รุนแรงได้ บางรายอาจรู้สึกปวดเบ่ง

โรคไส้ติ่งอักเสบเรื้อรังต่างจากโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน อาการอาจแตกต่างได้มากในผู้ป่วยแต่ละคน ดังมีคำกล่าวว่า "ไม่มีลักษณะเฉพาะหรือการตรวจทั่วไปใด ๆ ที่จะใช้วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบเรื้อรังเป็นซ้ำได้ จะต้องวินิจฉัยโดยการคัดออกเท่านั้น..."

อาการแสดง

ผลจากการมีไส้ติ่งอักเสบจะทำให้ผนังช่องท้องอ่อนไหวต่อการสัมผัสเบา ๆ มากขึ้น มีอาการกดเจ็บที่ท้อง หรือหากมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องมากอาจมีอาการกดปล่อยแล้วเจ็บ (rebound tenderness) ในกรณีที่ไส้ติ่งของผู้ป่วยอยู่ตำแหน่งหลังลำไส้ใหญ่อาจทำให้ไม่มีอาการเจ็บจากการตรวจทางหน้าท้องได้เพราะลำไส้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยอากาศจะกันไม่ให้แรงกดไปสัมผัสโดนไส้ติ่งที่อักเสบ ในกรณีเดียวกัน ถ้าไส้ติ่งอยู่ต่ำลงมาภายในอุ้งเชิงกรานก็จะตรวจไม่พบอาการเจ็บหน้าท้องหรือหน้าท้องแข็งเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้การตรวจทางทวารหนักจะตรวจพบอาการเจ็บใน rectovesical pouch ได้ การกระทำใด ๆ ที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอ จะทำให้มีอาการเจ็บที่ตำแหน่ง McBurney's point และเป็นวิธีตรวจหาตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบที่เจ็บน้อยที่สุด ถ้าตรวจหน้าท้องแล้วพบว่าหน้าท้องแข็งอย่างมากโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจเกร็งหน้าท้องแล้วเป็นไปได้มากว่าจะมีภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบแล้ว ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน

Rovsing's sign

การกดตรวจลึกบริเวณ iliac fossa ทางด้านซ้ายอาจทำให้มีอาการเจ็บบริเวณ iliac fossa ทางด้านขวา นี่เป็นลักษณะของ Rovsing's sign หรือ Rovsing's symptom ใช้วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันได้

Psoas sign

บางครั้งไส้ติ่งที่อักเสบอาจมีตำแหน่งอยู่บนกล้ามเนื้อ psoas จะทำให้ผู้ป่วยนอนงอสะโพกขวาเพื่อคลายความเจ็บปวดมาก

Obturator sign

ถ้าไส้ติ่งที่อักเสบอยู่ติดกับกล้ามเนื้อ obturator internus จะตรวจพบการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยงอและหมุนข้อสะโพกเข้าด้านใน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่บริเวณท้องน้อย

การรักษา

ไส้ติ่งอักเสบ 
การผ่าตัดเอาไส้ติ่งอักเสบออก

ไส้ติ่งอักเสบรักษาโดยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก (อังกฤษ: Appendectomy) ในช่วงแรกผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมการผ่าตัดโดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำในขณะที่งดน้ำและงดอาหาร อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น cefuroxime, metronidazole) ทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการแพร่กระจายของการติดเชื้อในช่องท้อง รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดด้วย ถ้าผู้ป่วยท้องว่างอาจใช้การผ่าตัดโดยการวางยาสลบ หรือไม่เช่นนั้นอาจใช้การทำให้ชาโดยฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง

การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง ส่วนในประเทศไทยยังนิยมใช้การผ่าตัดโดยการเปิดช่องท้องบริเวณ McBurney's point ตรงตำแหน่งที่เป็นไส้ติ่ง วิธีการกรีดแผลที่เป็นที่นิยมที่สุดคือการผ่าโดยใช้แนว gridion (แนวเฉียง) หรือแนวนอน มีรายงานการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกในผู้ป่วยสตรีโดยการใช้กล้องส่องตรวจผ่านทางช่องคลอดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551

พยากรณ์โรค

ผลการรักษาไส้ติ่งอักเสบไม่ว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตามส่วนใหญ่ได้ผลดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นานหลังการผ่าตัด และหลังจากนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

พยากรณ์โรคโดยทั่วไปดีมาก อัตราการตายโดยรวมน้อยกว่า 1% มาก ภาวะเป็นโรคส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าไส้ติ่งนั้นอักเสบเฉียบพลันมากหรือไม่ หรือมีการแตกของไส้ติ่งที่อักเสบหรือไม่ ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อของแผลผ่าตัด พบในผู้ป่วยไส้ติ่งแตกประมาณ 1-5%

ปัญหาในการวินิจฉัย

การให้การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบในผู้ป่วยที่มาอาการชนิดตรงไปตรงมานั้นอาจทำได้ง่าย แพทย์อาจสามารถมั่นใจในการวินิจฉัยได้มากโดยอาศัยข้อมูลจากประวัติและการตรวจร่างกายก็เพียงพอ โดยอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นการเสริมความสมบูรณ์ของการวินิจฉัยเท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแบบไม่ตรงไปตรงมา เป็นไปได้ยากมากที่จะให้การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบในระยะแรก ๆ ของอาการเจ็บป่วย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงปวดท้องทั่ว ๆ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ซึ่งเป็นอาการที่พบซ้อนกับโรคอื่น ๆ เช่นกระเพาะอักเสบหรือลำไส้อักเสบ เวลาที่ผ่านไปมากขึ้นจะทำให้อาการของผู้ป่วยแสดงออกเด่นชัดมากขึ้น จึงทำให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น ดังนั้นจึงมีกรณีผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง ไปพบแพทย์ในระยะแรกด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน และได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ให้ยา+กลับบ้าน และ/หรือ นัดติดตามการรักษา) ซึ่งต่อมากลับมีอาการไม่ดีขึ้น และไปตรวจอีกครั้งพบว่ามีอาการเป็นไส้ติ่งอักเสบชัดเจน กรณีนี้เช่นนี้พบได้เป็นจำนวนมาก

ประวัติศาสตร์

รายงานการค้นพบโรคไส้ติ่งอักเสบที่ไม่มีข้อสงสัยครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นโดย Lorenz Heirster ศาสตราจารย์ทางศัลยศาสตร์ใน Altdorf, Franconia ในปี พ.ศ. 2254 ขณะผ่าตรวจศพ ส่วนการผ่าตัดไส้ติ่งครั้งแรกทำโดย Claudius Amyand ศัลยแพทย์กองทัพอังกฤษ โดย Amyan ทำการผ่าตัดไส้ติ่งในปี พ.ศ. 2278 โดยไม่ใช้ยาสลบเพื่อนำเอาไส้ติ่งที่แตกแล้วออกมา ต่อมา Reginald H. Fitz ซึ่งเป็นนักกายวิภาคพยาธิวิทยาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้อธิบายโรคไส้ติ่งอักเสบไว้ในปี พ.ศ. 2429 หลังจากศึกษากรณีการอักเสบและแตกของไส้ติ่งกว่า 257 กรณี และได้แนะนำให้รักษาโรคนี้โดยการผ่าตัดในระยะแรก ๆ ซึ่งคำแนะนำของเขายังเป็นจริงแม้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เนื่องจาก Fitz ไม่ใช่ศัลยแพทย์ คำแนะนำของเขาจึงถูกเพิกเฉยอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ H. Hancock ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดไส้ติ่งเป็นครั้งแรกในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ต่อมาหลายปีหลังจากนี้ C. McBurney ชาวอเมริกาได้ตีพิมพ์รายงานชุดหนึ่งเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน McBurney ผู้นี้เองที่เป็นเจ้าของชื่อของ McBurney point, McBurney incision และ McBurney's sign

ในปัจจุบันการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกไม่ว่าจะด้วยวิธีผ่าเปิดช่องท้องหรือการผ่าแบบส่องกล้องยังคงเป็นวิธีหลักในการรักษาไส้ติ่งอักเสบธรรมดา

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก

Tags:

ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งไส้ติ่งอักเสบ สาเหตุไส้ติ่งอักเสบ อาการไส้ติ่งอักเสบ อาการแสดงไส้ติ่งอักเสบ การรักษาไส้ติ่งอักเสบ พยากรณ์โรคไส้ติ่งอักเสบ ประวัติศาสตร์ไส้ติ่งอักเสบ อ้างอิงไส้ติ่งอักเสบ แหล่งข้อมูลอื่นไส้ติ่งอักเสบการอักเสบการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องคลื่นไส้ติดเชื้อในกระแสเลือดปวดท้องภาษาอังกฤษอาเจียนเบื่ออาหารไส้ติ่ง

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

พรรคประชาธิปัตย์โรงเรียนวัดสุทธิวรารามมหาวิทยาลัยมหิดลรายชื่ออักษรย่อของโรงเรียนในประเทศไทย/สสุภาภัสสร์ ผลเจริญรัตน์เกิดชาตินี้พี่ต้องเทพโรงเรียนชลกันยานุกูลข่าวช่อง 7HDดวงจันทร์หมากรุกไทยทวีปเอเชียรายชื่อรัฐวิสาหกิจไทยรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์บุพเพสันนิวาสจังหวัดลพบุรีX-เม็น (ภาพยนตร์ชุด)ฟุตบอลทีมชาติสเปนจังหวัดตรังเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคศรีรัศมิ์ สุวะดีพรรคก้าวไกลธนาคารไทยพาณิชย์ฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินาธนวรรธน์ วรรธนะภูติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีไตรลักษณ์พาทิศ พิสิฐกุลฟุตบอลทีมชาติไทยพิศณุ นิลกลัดจังหวัดสุพรรณบุรีโรงเรียนชลราษฎรอำรุงจังหวัดกาฬสินธุ์ศาสนาการ์ลัส ปุดจ์ดาโมนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์อินนาลิลลาฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูนหลวงปู่ทวดดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลกประเทศมัลดีฟส์เอเลียส ดอเลาะรายชื่อเครื่องบินของการบินไทยสุรสีห์ ผาธรรมฮันเตอร์ x ฮันเตอร์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กอล์ฟ-ไมค์คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์โอดะ โนบูนางะมาสค์ไรเดอร์ซีรีส์ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุลประเทศเช็กเกียธนภพ ลีรัตนขจรธงชาติไทยกรรชัย กำเนิดพลอยจุดทิศหลักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สโมสรฟุตบอลโอเดนเซณปภา ตันตระกูลเขตพื้นที่การศึกษาคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเดือนอาเลฆันโดร การ์นาโชฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่นรายชื่อธนาคารในประเทศไทยลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุลพรีเมียร์ลีกรายชื่อโรงเรียนในจังหวัดระยองพัฒน์ชัย ภักดีสู่สุขสโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์นริลญา กุลมงคลเพชรจังหวัดภูเก็ตปริญ สุภารัตน์สุธิตา ชนะชัยสุวรรณรายชื่อสถานีรถไฟ สายใต้กูเกิล แผนที่ประเทศแคนาดาเอสบีโอเบทรายชื่อประเทศเรียงตามจำนวนประชากรประเทศจีนเกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว🡆 More