ชาวไทยในประเทศพม่า

ชาวไทยในพม่า พม่าเรียก ฉ่า หรือเป็นไทยมุสลิมจะเรียก ฉ่าปะซู คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับไทยสยามในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศพม่า แต่เป็นคนละกลุ่มกับชาวโยดายา โดยมากอาศัยอยู่บริเวณเขตตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีประวัติการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมายาวนาน ก่อนที่ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในปัจจุบัน พวกเขายังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ ทั้งภาษา, ศาสนา, การใช้สกุลเงินไทย และการใช้นามสกุลอย่างคนไทย

ไทยในพม่า
ประชากรทั้งหมด
ไม่ทราบ
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ชาวไทยในประเทศพม่า พม่าไม่ทราบ
          เขตตะนาวศรี41,258 คน (พ.ศ. 2530)
          รัฐกะเหรี่ยงราว 20,000 คน (พ.ศ. 2557)
          ท่าขี้เหล็กราว 1,000 คน (พ.ศ. 2563)
          ย่างกุ้งราว 400–450 คน (พ.ศ. 2555)
          เล่าไก่293 คน (พ.ศ. 2566)
ชาวไทยในประเทศพม่า ไทย28,000 คน
ภาษา
ไทย (ถิ่นใต้ · ถิ่นเหนือ · ถิ่นอีสาน) · พม่า · มลายูไทรบุรี
ศาสนา
ศาสนาพุทธ ส่วนน้อยอิสลาม
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยใต้ · ไทยวน · พม่าเชื้อสายจีน · พม่าเชื้อสายมลายู

ระยะหลังชาวไทยพลัดถิ่นจากประเทศพม่าจำนวนมากอพยพไปประเทศไทยในสถานะคนต่างด้าวไร้สัญชาติ อาศัยอยู่บริเวณสี่จังหวัดติดชายแดนได้แก่ จังหวัดตาก, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง บางส่วนกระจายตัวไปยังจังหวัดพังงา โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาถูกกดขี่จากประเทศต้นทาง และพยายามขอสัญชาติไทย

นอกจากชาวไทยพื้นเมืองแล้ว ยังมีบุคคลสัญชาติไทยที่เข้าไปพำนักหรือไปประกอบอาชีพในประเทศพม่า มีจำนวน 1,307 คน เมื่อ พ.ศ. 2560 และมีจำนวน 868 คน ใน พ.ศ. 2564

ประวัติ

เขตตะนาวศรี

ชาวไทยในประเทศพม่า 
การโจมตีของชาวสยามที่ทวาย ในเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวสยามได้ก่อตั้งเมืองตะนาวศรี และบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอิทธิพลของกษัตริย์สยามมาช้านาน จากเอกสาร สำเภากษัตริย์สุไลมาน ระบุว่าทั้งเมืองมะริดและตะนาวศรีเป็นหัวเมืองสำคัญของอยุธยา และ พ.ศ. 2228 "ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองเป็นชาวสยามประมาณ 5-6 พันครัว" ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มะริดยังเป็นของสยาม "ที่นั่นเต็มไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งพม่า สยาม จีน อินเดีย มลายู และยุโรป" หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีความพยายามจากกษัตริย์สยามในการตีเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้คืนจากพม่าหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตะนาวศรีถูกทำลายด้วยการยึดครองของพม่า แล้วตามด้วยการปกครองของสหราชอาณาจักรอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้เมืองท่าในแถบตะนาวศรีที่เคยมั่งคั่งจึงเสื่อมลง เพราะ "ถูกเทือกเขาตัดขาดจากพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของจีนและสยาม" ที่สุดจึงกลายเป็นดินแดนชายขอบอันล้าหลังของพม่า และกลายเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อย

ในยุคอาณานิคม สหราชอาณาจักรได้ทำการสำรวจจำนวนประชากร เซอร์เจมส์ สกอตต์ระบุว่า มีชาวสยามอยู่ในเขตตะนาวศรี 19,631 คน อาศัยในเมืองทวาย, แอมเฮิสต์ และมะริด ส่วน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามในเมืองมะริด 9,000 คน โดยมีชาวสยามกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังในตำบลบกเปี้ยน มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 53 ตำบลตะนาวศรี มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 40 และตำบลมะลิวัลย์มีชาวสยาม, มลายู และจีนทั้งตำบล ชาวพม่าหาไม่พบ ขณะที่เมืองทวาย มีประชากรเพียง 200 คนเท่านั้นที่ระบุตัวตนว่าเป็นชาวสยาม ทั้ง ๆ ที่มีร่องรอยของชาวสยามอาศัยมายาวนาน ดังปรากฏหลักฐานตามศาสนสถานต่าง ๆ ภายในตัวเมือง

บทความของเอ. เคอร์ (A. Kerr) ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางเข้าไปเขตตะนาวศรีของพม่า เมื่อ พ.ศ. 2475 ในบันทึกของเขาระบุว่าพบบ้านกะเหรี่ยงบ้างแถบไหล่เขา แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็พบแต่บ้านคนไทยที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้กระจายอยู่ตลอดเส้นทาง และรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในบันทึกของเคอร์ก็ล้วนแต่เป็นชื่อภาษาไทย หนังสือ คนไทยในพม่า (พ.ศ. 2503) ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุว่ามีชาวไทยจากภาคใต้และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในตะนาวศรีเป็นจำนวนมาก ชาวไทยจำนวนนี้บางคนถือสัญชาติพม่า และนิยมแต่งกายอย่างพม่า

หลังพม่าได้รับเอกราชเป็นต้นมาชาวไทยที่อาศัยในแถบตะนาวศรีอยู่อย่างสุขสงบมาตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 พม่าได้ตั้งกระทรวงพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเชื้อชาติแห่งชาติขึ้น ซึ่งดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานละการโยกย้ายประชาชนจากพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นไปยังพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงชุมชนไทยด้วย หลังจากนั้นพม่าจึงเริ่มนโยบายกลืนคนไทย ได้แก่ การตั้งโรงเรียนพม่า การนำชาวพม่ามาแทรกซึมในชุมชนไทย และการนำพระสงฆ์พม่าเข้ามาประจำในวัดไทย นอกจากนี้ยังมีการใช้แรงงานคนไทยไปเป็นลูกหาบให้กองทัพพม่าไปสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยช่วง พ.ศ. 2531-2534

ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีราว 3 ใน 4 ยอมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองในไทย แบ่งเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มชาวไทยที่อพยพจากตะนาวศรี (Tanintharyi) – สิงขร (Theinkun) จะอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์, อำเภอบางสะพาน, อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มที่สองคือชาวไทยที่อพยพจากลังเคี๊ยะ (Lenya) อาศัยอยู่ในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กลุ่มที่สามคือชาวไทยที่อพยพจากบกเปี้ยน (Bokpyin) อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองระนอง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และกลุ่มที่สี่คือชาวไทยที่อพยพจากมะลิวัลย์ (Maliwan) – เกาะสอง (Kawthaung) – ตลาดสุหรี (Karathuri) อาศัยอยู่อำเภอกระบุรี, อำเภอเมืองระนอง และอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง มีการประมาณการถึงผู้อพยพเชื้อสายไทยจากพม่า หลบหนีเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 28,000 คน

รัฐกะเหรี่ยง

ตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยส้าน, บ้านแม่แปป, บ้านปางกาน, บ้านหนองห้า, บ้านแม่กาใน, บ้านผาซอง, บ้านปะล้ำปะตี๋ และบ้านไฮ่ เมืองเมียวดี (Myawaddy) รัฐกะเหรี่ยง รวมทั้งหมด 7 หมู่บ้าน มีประชากรราว 20,000 คน ชาวไทยกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ไต เป็นชาวไทยวนที่อพยพมาจากอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บ้างก็มาจากจังหวัดลำพูน, เชียงใหม่หรือน่านก็มี โดยเข้าทำงานเป็นคนงานตัดไม้ของบริษัทอังกฤษราวร้อยปีก่อน บ้างก็ว่าหนีการเสียภาษีจากรัฐบาลสยาม จึงเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันพวกเขายังใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ และนับถือศาสนาพุทธ รวมทั้งมีการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยอย่างดี ชาวไทยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอพยพกลับประเทศไทยราว 30 ปีก่อน อาศัยอยู่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยไม่มีสัญชาติไทย

นอกจากเมืองเมียวดี ยังมีชาวไทยตั้งถิ่นฐานในเมืองพะย่าโต้นซู (Payathonzu) จำนวนหนึ่ง

รัฐมอญ

ใน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามตั้งนิคมขนาดน้อยในเมืองแอมเฮิสต์ ส่วนเมืองสะเทิมซึ่งเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐมอญ มีชาวสยามตั้งถิ่นฐาน 10,000 คน ปัจจุบันยังมีชุมชนไทยในเมืองไจคามี

วัฒนธรรม

ภาษา

ชาวไทยในประเทศพม่า 
ร้านอาหารไทยในเนปยีดอว์

มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมในประเทศพม่า เชื่อว่าอาจจะมาจากเมืองทวาย มิกกี ฮาร์ต นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าสันนิษฐานว่าจารึกนี้น่าจะถูกทำขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ก่อนยุคอาณาจักรสุโขทัย คริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและภาษาทางการของมะริดและตะนาวศรี ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนไทยเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดเล็กในนั้น แต่ประชากรส่วนใหญ่ล้วนเป็นพม่าหรือมอญ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอนน์ แฮซเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hasseltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในเมืองแอมเฮิสต์ โดยได้ศึกษาภาษาไทยจากคนไทยในแอมเฮิสต์ เธอเป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทย

ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีเกือบทั้งหมดยังคงใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทย ยกเว้นที่บ้านท่าตะเยี๊ยะที่พูดภาษาไทยถิ่นอีสานและชาวไทยมุสลิมบางส่วนพูดภาษามลายูไทรบุรี ส่วนชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยวนในภาคเหนือของไทย ชาวไทยทั้งสองกลุ่มมีการเล่าเรียนภาษาไทยมาตรฐาน โดยชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะมีการสอนภาษาไทยแก่บุตรหลานช่วงปิดเทอมโดยพระสงฆ์ บ้างก็เข้าเรียนในโรงเรียนไทยในจังหวัดตาก เดิมชาวไทยกลุ่มนี้จะใช้อักษรธรรมล้านนาและพม่าในการเขียน แต่ในปัจจุบันมีการเขียนด้วยอักษรไทยมากขึ้น ขณะที่ชาวไทยในเขตตะนาวศรีเล่าเรียนภาษาไทยจากพระสงฆ์ในวัด สามารถพบการติดตั้งป้ายภาษาไทยอย่างโดดเด่นตามศาสนสถาน รวมทั้งนิยมสิ่งพิมพ์ภาษาไทย และสื่อโทรทัศน์ภาษาไทย ด้วยมีจินตนาการร่วมกับรัฐไทยมากกว่าพม่า

ส่วนภาษาพม่าเพิ่งมีการสอนตามโรงเรียนช่วงปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา เพราะในอดีตเด็กไทยไม่เข้าใจภาษาพม่าเลย การเรียนรู้ภาษาพม่าของชาวไทยถือเป็นการเอาตัวรอด เพราะลดการคุกคามจากทหารพม่าได้มาก ปัจจุบันชาวไทยในตะนาวศรีที่เป็นลูกครึ่งพม่าไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้และนิยมให้ลูกหลานใช้ภาษาพม่าในชีวิตประจำวัน ขณะที่คนไทยสูงอายุบางส่วนยังพบกับอุปสรรคทางภาษาเพราะมีหลายคนพูดพม่าได้น้อยหรือไม่ได้เลย แต่จากการที่ไม่มีโรงเรียนไทย กอปรกับวัดไทยมีพระเชื้อสายไทยจำพรรษาน้อยและมีพระพม่ามาจำพรรษาแทน ทำให้ขาดผู้สอนภาษาไทยแก่บุตรหลานไทยในตะนาวศรี หลายคนพูดภาษาไทยได้แต่อ่านหนังสือไม่ออก

ศาสนา

ในปี พ.ศ. 2530 ชาวไทยในเขตตะนาวศรี 41,258 คน ประกอบด้วยพุทธศาสนิกชน 22,978 คน และอิสลามิกชน 18,280 คน โดยชาวไทยพุทธตั้งถิ่นฐานในตำบลสิงขร, ตำบลบกเปี้ยน และตำบลมะลิวัลย์ ส่วนชาวไทยมุสลิมตั้งถิ่นฐานแถบเกาะสองจนถึงตลาดสุหรี

พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเขตตะนาวศรีจะทำการบวชอย่างไทยคือโกนคิ้วและห่มจีวรสีออกเหลือง ศาสนาพุทธถูกยึดโยงกับความเป็นไทย ชาวไทยในพม่าจะจัดเวรทำและนำอาหารไปถวายพระทุกวัน ผู้คนนิยมเข้าวัดฟังธรรมเนืองแน่นทุกวันพระ แต่ยังคงความเชื่อออกไปทางเวทมนตร์คาถา เชื่อในสิ่งลี้ลับ เช่น ภูติผี วิญญาณ เจ้าป่า เจ้าเขา โชคลาง และการบนบาน พุทธศิลป์แบบไทยส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตะนาวศรี ดังปรากฏในพุทธศิลป์ของพระประธานภายในวัดตะนาวศรีใหญ่ ซึ่งมีพระเกศาและพระพักตร์มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ริ้วจีวรได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา แต่มีพระกรรณยาวอย่างศิลปะพม่า จนเรียกว่าเป็นศิลปะตะนาวศรี และวัดตอจาง เคยมีเจ้าอาวาสเป็นชาวสยาม ชาวไทยและพม่าที่นับถือศาสนาพุทธไม่ค่อยมีข้อขัดแย้งหรือเกิดการกดขี่ทางวัฒนธรรมกัน และมองคนมุสลิมเป็นชนชั้นสอง

ส่วนชาวไทยจากเขตตะนาวศรีผู้เป็นอิสลามิกชนเข้ารับการอบรมจริยธรรมจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือจากมัสยิด

ชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธเช่นกัน มีวัดประจำชุมชน ได้แก่ วัดบัวสถาน, วัดศรีบุญเรือง, วัดสว่างอารมณ์, วัดสุวรรณคีรี และวัดป่าเลไลย์ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

ประเพณี

ชาวไทยในพม่า โดยเฉพาะกลุ่มในเขตตะนาวศรีมีประเพณี 12 เดือน เป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติสืบมานาน ได้แก่ ในเดือนอ้ายเดือนยี่จะมีการบูชานางโพสพ เดือนสามมีพิธีปล่อยวัวควายลงทุ่ง เดือนสี่ไหว้ตาเจ้าที่ เดือนห้ามีประเพณีสงกรานต์ เดือนหกมีดูฤกษ์ยาม รับผีตายาย ทำบุญส่งตายาย บุญเดือนสิบ ชิงเปรต เดือนสิบเอ็ดทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสองทำบุญทอดกฐิน ทำบุญลอยแพ โดยเฉพาะประเพณีสารทเดือนสิบ ชาวพม่าในแถบนั้นได้รับเอาไปปฏิบัติด้วย แต่ต่างกับคนไทยตรงที่จะมีพิธีกรรมส่งตายายกลับภพภูมิของตน โดยจะจัดหฺมรับ (สำรับ) อุทิศแก่วิญญาณบรรพชนตั้งไว้หน้าบ้าน

ศิลปะ

ชาวไทยในตะนาวศรีมักแสดงหรือชมหนังตะลุง, มโนราห์, มวยไทย และเพลงพื้นบ้านอย่างไทยภาคใต้ มีคณะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงอาทิ หนังสร้อย แสงวิโรจน์ หนังช่วย และหนังยอด ส่วนมโนราห์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ มโนราห์อาบ เกตุแก้ว มโนราห์นุ้ย ขันศรี และมโนราห์เคี่ยม ขณะที่ชาวไทยมุสลิมก็มีกาโหยง เป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้าน

อ้างอิง

    เชิงอรรถ
    บรรณานุกรม
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. คนไทยในพม่า. พระนคร : รามินทร์, 2503. 615 หน้า.
  • มอนซาติโน, ไมเคิล เจ. ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย. นครศรีธรรมราช : ศูนย์หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560. 416 หน้า. ISBN 978-974-7557-60-2
  • รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2551. 232 หน้า. ISBN 978-974-05-6898-8

Tags:

ชาวไทยในประเทศพม่า ประวัติชาวไทยในประเทศพม่า วัฒนธรรมชาวไทยในประเทศพม่า อ้างอิงชาวไทยในประเทศพม่าบาท (สกุลเงิน)ประเทศพม่าประเทศไทยภาษาไทยศาสนาในประเทศไทยเขตตะนาวศรีไทยสยามไทยโยเดีย

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

ช่องวันสุภาพร มะลิซ้อนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2019จตุพร พรหมพันธุ์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)ประเทศอิตาลีสหภาพโซเวียตจังหวัดสมุทรปราการโรเซณฐพร เตมีรักษ์แดน บีช แบรดลีย์ลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยปลาวัวไททันวิทยา แก้วภราดัยมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2023เนวิน ชิดชอบศุกลวัฒน์ คณารศหม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันสามก๊กคริสเตียโน โรนัลโดลอนดอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชบาปเจ็ดประการนนธวรรณทัศ บรามาซเหยา หมิงติ๊กต็อกแทททูคัลเลอร์มิสยูไนเต็ดคอนติเนนท์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเศรษฐศาสตร์ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ตระกูลชินวัตรชนม์สวัสดิ์ อัศวเหมกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์รายชื่อยุทโธปกรณ์ในกองทัพบกไทยจังหวัดภูเก็ตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562ปางเสน่หาอักษรไทยแบล็กพิงก์ช้อปปี้สงกรานต์ เตชะณรงค์ขมิ้นกับปูนมิสแกรนด์ภูเก็ตจังหวัดตราดสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีธีรภัทร์ สัจจกุลวงศ์ปลาวัวอริยสัจ 430 เมษายนภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์โยโกฮามะ เอ็ฟ มารินอสวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12กระทรวงในประเทศไทยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นต่อมิสแกรนด์แพร่แอน อรดีลิซ่า (แร็ปเปอร์)รายพระนามพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลกป๊อกเด้งอินดี จอห์นสันสิตางศุ์ บัวทองฟุตบอลโลก 2022สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาสโมสรฟุตบอลคริสตัลพาเลซภัณฑิรา พิพิธยากรเกาะเสม็ดสีประจำวันในประเทศไทยจังหวัดราชบุรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร🡆 More