ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

รองศาสตราจารย์​ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เกิด 24 พฤษภาคม พ.ศ.

2509) ชื่อเล่น ทริป เป็นวิศวกร นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 หลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2565 ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติในการแถลงข่าวการใช้งานแทรฟฟีฟองดูว์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17
เริ่มดำรงตำแหน่ง
22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
(1 ปี 324 วัน)
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
เศรษฐา ทวีสิน
รองผู้ว่าการ
ก่อนหน้าอัศวิน ขวัญเมือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
(1 ปี 207 วัน)
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีช่วย
ก่อนหน้าจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
ถัดไปประจิน จั่นตอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
18 มกราคม พ.ศ. 2555 – 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555
(0 ปี 282 วัน)
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ
ชัจจ์ กุลดิลก
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีว่าการจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
ก่อนหน้ากิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์
ถัดไปพฤณท์ สุวรรณทัต
ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 (57 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอิสระ
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
เพื่อไทย (2555–2562)
คู่สมรสปรมินทร์ทิยา สิทธิพันธุ์ (หย่า)
บุตร1 คน
บุพการี
  • พล.ต.อ. เสน่ห์ สิทธิพันธ์ (บิดา)
  • จิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (มารดา)
ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
มหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์
อาชีพอาจารย์
วิศวกร
นักธุรกิจ
นักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ42.85 ล้านบาท (พ.ศ. 2565)
ลายมือชื่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์
เว็บไซต์chadchart.com

ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาเป็นที่รู้จักจากข้อเสนอสร้างทางรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบวงเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป ชัชชาติยังมีภาพลักษณ์เป็นอินเทอร์เน็ตมีมในฐานะ รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากภาพหิ้วถุงอาหารในปี พ.ศ. 2556 และทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะบนสื่อสังคม ที่มีการนำภาพไปทำเป็นอินเทอร์เน็ตมีมในรูปแบบต่าง ๆ ต่อมาเขาลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ในฐานะนักการเมืองอิสระ และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยต่อมาเขาได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในฐานะผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย แต่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงหนึ่งเดือนก่อนที่ศูนย์จะถูกยุบไป

ประวัติ

ชัชชาติเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เป็นบุตรของพลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ถึงแก่กรรมแล้ว) กับจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (สกุลเดิม กุลละวณิชย์)(ถึงแก่กรรมแล้ว) มีพี่ร่วมบิดามารดาสองคน ดังนี้

  1. รศ.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ เฟอร์รี่ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพี่สาว
  2. รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นพี่ชายฝาแฝด

ครอบครัว

ชัชชาติสมรสกับปรมินทร์ทิยา (นามเดิม ปิยดา อัศวฤทธิภูมิ) พนักงานการบินไทย แต่หย่ากันแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2560

เขามีบุตรหนึ่งคน คือ แสนปิติ หรือแสนดี บุตรของชัชชาติเป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อ พ.ศ. 2545 ชัชชาติเล่าว่า ตนวิ่งเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตรทุกวัน เพราะต้องการมีสุขภาพแข็งแรงเพื่ออยู่ดูแลบุตรที่หูหนวกให้ได้นานที่สุด และใช้ความทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้บุตรสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้

โดยในปัจจุบันเเสนดีหลังจบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

การศึกษา

ชัชชาติสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรมโยธา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ในปี พ.ศ. 2529 เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมโครงสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้างจากมหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ภายหลังจบการศึกษาได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้เขายังสำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังสำเร็จการอบรมหลักสูตรอีกจำนวนหนึ่ง เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง (มหานคร รุ่นที่ 4) วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท. รุ่นที่ 22) เป็นต้น

งานก่อนเข้าสู่การเมือง

ชัชชาติเคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้าง กับบริษัทสกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริลที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สินระหว่าง พ.ศ. 2548–2555 นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และในปี พ.ศ. 2551– 2555 เป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ชัชชาติในฐานะนักวิชาการ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร

นักการเมืองพรรคเพื่อไทย

จนกระทั่ง พ.ศ. 2555 เขาได้รับการทาบทามทางโทรศัพท์ จากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แม้ทางมารดาจะไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ตกลงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 จากการที่เขาเข้ามารับงานทางการเมืองเป็นครั้งแรก ทำให้ในช่วงแรกในตำแหน่งรัฐมนตรี เขากลายเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุด และจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา เขาก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555

ระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี เช่น การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง, การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง, การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด, ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
ชัชชาติขณะปราศรัยพบปะผู้สนับสนุนในเขตบางรักเมื่อพฤษภาคม 2565

ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 ชัชชาติเคยถูก กปปส. กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง และในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขาเป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมกับบรรดาแกนนำและตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ เพื่อหาทางออกประเทศ ที่จัดขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ชัชชาติกล่าวว่า หลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศรัฐประหาร เขาถูกคลุมหัว มัดมือ และถูกนำตัวไปค่ายทหารที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ถูกคุมในสถานที่เดียวกัน ชัชชาติได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหารในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในเดือนสิงหาคม–ธันวาคม พ.ศ. 2557 เขาเป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 เป็นกรรมการ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ และในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเขาเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่ชัชชาติชี้แจงว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน และยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ชัชชาติได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทข้างต้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในปีถัดมา โดยเขาเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้วางตัวชัชชาติเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคด้วย

ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
ป้ายหาเสียงของชัชชาติชิ้นหนึ่งในเขตบางบอน โดยชัชชาติเองระบุว่าสามารถนำมาตัดเป็นกระเป๋าได้เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ชัชชาติประกาศว่าเขาตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมในงานเปิดตัว เช่น ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ดวงฤทธิ์ บุนนาค และพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นต้น บีบีซีไทยระบุว่าเขาได้รับการอนุมัติจากแกนนำพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร ให้ลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค โดยทักษิณกล่าวในภายหลังว่าเขาเลือกวิถีทางการเมืองของตนเอง "เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา" แต่ก็มีแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เขาเปิดตัวลงสมัครอย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อการรณรงค์หาเสียงว่า "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" ในการหาเสียง เขาเน้นด้านทรัพยากรมนุษย์ ระบบเส้นเลือดฝอย สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายสำคัญ เช่น การสร้างเครือข่ายแผนที่จุดเสี่ยงอาชญากรรม พัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งศิลปะและการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้เขายังมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาอยู่โดยยึดซิลิคอนแวลลีย์เป็นแบบอย่าง พร้อมกับชูแนวทางเป็นผู้นำแห่งความหวังที่ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

เขาเป็นผู้สมัครหมายเลข 8 ในการรับเลือกตั้ง และหาเสียงโดยใช้แนวทาง "หาเสียงแบบรักเมือง" เช่น ใช้ยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมดในการหาเสียง ลดขนาดและปริมาณของป้ายหาเสียง จัดพิมพ์เอกสารแนะนำตัวในรูปแบบหนังสือพิมพ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ และนำวัสดุที่ใช้ทำป้ายหาเสียงกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ต่อในทีมงาน เป็นต้น เขาเป็นผู้สมัครคนแรกในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวที่ให้ทีมงานลดขนาดและจำนวนป้ายหาเสียงหลังได้รับเสียงวิจารณ์จากสาธารณะ รวมทั้งมีการออกแบบให้ป้ายหาเสียงสามารถเปลี่ยนเป็นกระเป๋าและชุดกันเปื้อนได้ เขาได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครกว่า 10,000 คน ซึ่งมาจากทั้ง 50 เขต และอาสาสมัครดังกล่าวได้ร่วมเสนอนโยบายการหาเสียงด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้มีชื่อเสียงร่วมลงพื้นที่ด้วย เช่น พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และปวีณา หงสกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ชัชชาติเลือกที่จะไม่ตั้งเวทีปราศรัยใหญ่แบบเดียวกับผู้สมัครบางส่วน แต่ใช้วิธีแสดงวิสัยทัศน์ตามย่านเศรษฐกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ได้แก่ สยาม, สีลม, ไชนาทาวน์–เยาวราช และย่านบางลำพู–ข้าวสาร แทน โดยเขาใช้ลังไม้หนึ่งใบตั้งเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เลือกช่วงวันศุกร์เย็นซึ่งมีการจราจรติดขัด รวมถึงใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลักในการเคลื่อนย้ายจากจุดต่อจุด

ผลการเลือกตั้ง ชัชชาติได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนที่มาเป็นอันดับ 1 คือ 1,386,215 คะแนน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมากกว่าคะแนนรวมของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เหลือทั้งหมด วิศรุต สินพงศพร จากเวิร์คพอยท์ทูเดย์ วิเคราะห์สาเหตุที่คะแนนเสียงของชัชชาติถล่มทลายในการเลือกตั้งมีเหตุผลหลายประการ รวมถึงการที่ลงสมัครในนามอิสระ, ผลงานในสมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ถูกสกัดกั้นไว้, วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน, จำนวนผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กที่มากกว่าผู้สมัครคนอื่น และการเตรียมตัวยาวนานสองปีครึ่งก่อนการเลือกตั้ง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
ชัชชาติท่ามกลางผู้สื่อข่าวที่บางกอกนฤมิตไพรด์ ปี พ.ศ. 2565

วันแรกหลังการเลือกตั้ง มีภาพชัชชาติลงพื้นที่ตรวจคลองลาดพร้าวพร้อมกับวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชุดที่ 13 จากพรรคก้าวไกลอีกจำนวนหนึ่ง แต่ชัชชาติปฏิเสธการดึงวิโรจน์เข้าร่วมทีม พร้อมบอกว่าวิโรจน์สามารถ "ไปได้อีกไกล" ในวันที่ 24 พฤษภาคม เขาให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกับคณะรัฐมนตรี แต่ให้ความเห็นว่าควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562

ในการเลือกตั้ง ชัชชาติถูกร้องเรียนในเรื่องการนำป้ายเลือกตั้งมาทำกระเป๋าผ้า และการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้งในอีก 9 วันต่อมา

ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ชัชชาติได้เข้ารับหนังสือรับรองการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจึงเดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และลงนามรับมอบงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดตัวคณะผู้บริหารชุดใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักกิจกรรมเพื่อสังคม วันเดียวกันเขาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรุงเทพมหานครเหลืองบประมาณเพียง 94 ล้านบาท โดยเขาระบุว่าสามารถทำงานได้ด้วยงบประมาณไม่มาก

วันที่ 4 มิถุนายน ชัชชาติไปเยี่ยมสำนักระบายน้ำ และได้รับแจ้งว่างบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ที่เหลืออยู่ของกรุงเทพมหานครสามารถลอกคลองได้เพียง 2 จากทั้งหมด 1,980 แห่ง เขาชี้แจงในวันต่อมาว่าตัวเลขข้างต้นเป็นคลองใหญ่ที่รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ ส่วนคลองย่อยนั้นรับผิดชอบโดยสำนักงานเขตซึ่งมีการขุดลอกไปมากแล้ว เมื่อรวมกับคลองใหญ่ก็คงมีมากกว่าที่ได้รับรายงาน นอกจากนี้ ชัชชาติยังยอมรับว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ถามกลางการออกอากาศสดในวันดังกล่าว

ชัชชาติเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเขาเข้าร่วมงานแถลงข่าวงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งเป็นงานพาเรดของกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงได้เข้าร่วมขบวนดังกล่าวในวันจัดงาน และยังกล่าวสนับสนุนให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครแต่งกายตามเพศวิถีอีกด้วย

วันที่ 20 มิถุนายน เขาลงพื้นที่ติดตามการลอกท่อของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 530 กิโลเมตร ระยะเวลา 3 เดือน และยังมีแผนลอกท่อของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2565 อีก 2,800 กิโลเมตร เขายังเปิดเผยว่าได้ปรึกษากับ ศบค. เรื่องการขอยกเลิกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งในกรุงเทพมหานคร แต่ในเวลานั้น ศบค. ยังไม่อนุมัติ โดยอ้างว่าสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ยังมีต่ำ วันที่ 24 มิถุนายน เขาลงนามคำสั่งอนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้ 7 พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เขาจัดกิจกรรมหนังกลางแปลง โดยระบุว่าเป็นการส่งเสริมศิลปะและเศรษฐกิจรากหญ้า

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ วิจารณ์การรับมืออุทกภัยในกรุงเทพมหานครของชัชชาติว่ายังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เชื่อมั่นการทำงาน และยังไม่มีแผนรองรับแบบผู้บริหาร ขณะที่นักวิชาการมองว่าจะโทษผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะวิธีการรับมืออุทกภัยก็ใช้แบบเดียวกันมาตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2554 คือ "สู้กันดาบหน้า" ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ระหว่างที่ชัชชาติไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมย่านอุดมสุข เขาระบุว่าการก่อสร้างและซ่อมแซมอุโมงค์ระบายน้ำในบริเวณดังกล่าวใช้เวลานาน แต่จะทยอยเปิดใช้งานในส่วนที่ก่อสร้างเสร็จก่อน

ภาพลักษณ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
ขณะชัชชาติเดินเท้าเปล่าไปตักบาตรที่กลายเป็นอินเทอร์เน็ตมีม มีผู้อ้างว่า วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถ่ายภาพนี้

ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ชัชชาติมีภาพลักษณ์เป็นรัฐมนตรีติดดิน เช่น ซ้อนจักรยานยนต์รับจ้าง โหนรถเมล์ นั่งรถสองแถว โดยสารรถไฟ ออกตรวจราชการในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจปัญหาด้วยตนเอง หลายครั้งที่เขาไปตรวจงานตามองค์กรของรัฐโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ยังยึดแนวทางเช่นเดิม

สำหรับในโลกออนไลน์ ความนิยมได้เริ่มขึ้นมาจากรูปภาพหนึ่งที่ชัชชาติเข้าไปทำบุญใส่บาตรภายในวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีลักษณะสวมเสื้อแขนกุด หิ้วถุงอาหาร และเดินด้วยเท้าเปล่า หลังจากภาพนี้ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มีผู้คนตัดต่อภาพล้อเลียน รวมถึงเลียนแบบท่าทางในรูปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และได้รับการกล่าวขนานนามว่าเป็น "บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" จนกระทั่งมีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับชัชชาติโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อชัชชาติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีเกมบนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับตัวเขาเองด้วยเช่นกัน สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยยังเกาะกระแสดังกล่าว โดยโพสต์ภาพยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตฯ พันผ้าพันแผลที่มือหลังชนมือกับชัชชาติอีกด้วย

ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เขามีภาพลักษณ์ประนีประนอม ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่าอาจแก้ไขปัญหาบางอย่างของกรุงเทพมหานครไม่ได้ ในการปราศรัยคืนวันเลือกตั้ง เขากล่าวตอนหนึ่งว่า "เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะ เกลียด กลัวซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ คนเรานั้นเห็นต่างกันได้ ขออย่าสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน นี่คือบทเรียนสำคัญ" เขายังกล่าวถึงข้าราชการกรุงเทพมหานครให้เร่งทำความเข้าใจนโยบายของตน ทำให้มีข่าวว่าข้าราชการกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ในงานระลึกการถูกลักพาตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในเพื่อนของวันเฉลิมระบุว่าภาพถ่ายที่เป็นมีมอินเทอร์เน็ตของชัชชาตินั้น วันเฉลิมเป็นคนถ่าย ต่อมามีภาพเขาปรากฏตัวที่ตลาด(นัด)ราษฎร ในย่านทองหล่อ ซึ่งกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมงานด้วย ชัชชาติแนะนำให้พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ชุมนุมของกลุ่มราษฎร "ใจเย็น ๆ" และเรียนให้จบ พร้อมกับอุดหนุนสินค้าในงานอีกจำนวนหนึ่ง

ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาถูกโจมตีเรื่องการถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณต่อเนื่องขณะทำงาน และถูกกล่าวหาว่า "สร้างภาพ" แต่เขายืนยันว่าทำไปเพื่อให้เห็นการทำงานจริง หากไม่ชอบก็ไม่ต้องดู ผู้สนับสนุนเขายังถูกตั้งคำถามว่าสนับสนุนชัชชาติทั้งที่ไม่มีผลงานหรือไม่

ทรัพย์สิน

ใน พ.ศ. 2558 ชัชชาติยื่นบัญชีทรัพย์สินจำนวน 72.30 ล้านบาทต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าของที่ดินในเขตพระโขนง จำนวนสองแปลง ซึ่งจิตต์จรุง มารดาของเขา โอนกรรมสิทธิ์ให้ก่อนหน้านั้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ลำดับสาแหรก

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถัดไป
อัศวิน ขวัญเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน)
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อยู่ในตำแหน่ง
จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ครม. 60)
(27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557)
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง

Tags:

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประวัติชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ครอบครัวชัชชาติ สิทธิพันธุ์ การศึกษาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ งานก่อนเข้าสู่การเมืองชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักการเมืองพรรคเพื่อไทยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภาพลักษณ์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทรัพย์สินชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลำดับสาแหรกชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อ้างอิงชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แหล่งข้อมูลอื่นชัชชาติ สิทธิพันธุ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60ชัยชนะอย่างถล่มทลายนักการเมืองนักธุรกิจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยวิศวกร

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

ทางพิเศษฉลองรัชภาษาในประเทศไทยตารางธาตุพระโคตมพุทธเจ้าปอบโฟร์อีฟสมาคมกีฬาโรมาสฤษดิ์ ธนะรัชต์พระศรีอริยเมตไตรยมาตาลดาอาทิตยา ตรีบุดารักษ์ปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม รอดสวาสดิ์ราศีเมษปรีดี พนมยงค์จุดทิศหลักรายชื่อท่าอากาศยานในประเทศไทยมณฑลยูนนานวันพีซจังหวัดราชบุรีต้นตะวัน ตันติเวชกุลคลองทวีวัฒนาช่อง 3 เอชดีพัก อู-จินเอฟ-16 ไฟทิงฟอลคอนกรรชัย กำเนิดพลอยรัฐปาเลสไตน์หญิงรักร่วมเพศพัชราภา ไชยเชื้อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทักษิณ ชินวัตรเลเซราฟิมจังหวัดนครปฐมไทใหญ่กิ่งดาว ดารณีนิชคุณ ขจรบริรักษ์จังหวัดสระแก้วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกาะกูดสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงรายชื่อยุทโธปกรณ์ในกองทัพบกไทยองศาเซลเซียสจังหวัดตากการบินไทยสงครามรัสเซีย–ยูเครนพิมประภา ตั้งประภาพรถนนสีลมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประเทศซาอุดีอาระเบียรายชื่อละครโทรทัศน์ทางช่องวัน 31สังข์ทอง สีใสสเตรนเจอร์ ธิงส์วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารนาฬิกาหกชั่วโมงท้องสนามหลวงทองคำสำรองรายชื่อตัวละครในมายฮีโร่ อคาเดเมียสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024มาสค์ไรเดอร์ซีรีส์ทศศีลอัจฉริยะหมอ 2 แผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ประเทศไทย)วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารบุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2567จระเข้น้ำจืดสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรายพระนามพระพุทธเจ้า1กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐธนวรรธน์ วรรธนะภูติเอกซ์เอกซ์เอกซ์เทนเทสซิยอนอีเอฟแอลแชมเปียนชิปสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์อี จู-บินพระพรหมวชิรโมลี (ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ)ถนนหทัยราษฎร์สิรคุปต์ เมทะนี🡆 More