กบฏบวรเดช

กบฏบวรเดช เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ.

2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

กบฏบวรเดช
กบฏบวรเดช
บน: สถานีรถไฟดอนเมืองและกรมอากาศยาน
กลางขวา: ทหารรัฐบาลตั้งแนวยิงปืนใหญ่บนถนนประดิพัทธ์
ล่างขวา: รถไฟขนอาวุธหนักของฝ่ายรัฐบาล
ซ้าย: ช่องเขาขาด จุดที่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิต
วันที่11-24 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (90 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล รัฐบาลชนะอย่างเด็ดขาด
คู่สงคราม
กบฏบวรเดช รัฐบาลคณะราษฎร

คณะกู้บ้านกู้เมือง

  • กองทัพสีน้ำเงิน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กบฏบวรเดช พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
พันโท หลวงพิบูลสงคราม
พันตรี หลวงอำนวยสงคราม 
พันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล
พันโท พระประจนปัจจนึก
พันโท หลวงกาจสงคราม
พันตรี หลวงวีระโยธา
พันตรี หลวงพรหมโยธี
พันตรี หลวงชำนาญยุทธศาสตร์
นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย
พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม 
พลตรี พระยาเสนาสงคราม
พลตรี พระยาจินดาจักรรัตน์
พลตรี พระยาทรงอักษร
พันเอก พระยาเทพสงคราม
พันเอก พระยาฤทธิรงค์รณเฉท
พันเอก พระยาศรีสรศักดิ์
พันเอก พระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์
พันเอก พระยาสรพันธ์เสนี
พันโท พระปัจจนึกพินาศ
พันโท หลวงพลหาญสงคราม
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองพันทหารราบ 3 กอง
กองพันทหารปืนใหญ่ 1 กอง







กองพันทหารราบที่ 15
กองพันทหารราบที่ 16
กองพันทหารม้าที่ 4
กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3
กองพันทหารราบที่ 14
กองพันทหารราบที่ 18

ความสูญเสีย
เสียชีวิต 17 นาย ประหารชีวิต 6 นาย
จำคุกตลอดชีวิต 244 นาย

อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" นั้น ชื่อจริงคือ "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช

เบื้องหลัง

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พลเอก หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร (ฐานันดรในขณะนั้น) เป็นเจ้านายผู้กล่าวโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หก หม่อมเจ้าบวรเดชมีความชิงชังต่อการปกครองและอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยวางแผนยึดอำนาจจากพระมงกุฎเกล้า แล้วจะทูลเชิญเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้านายผู้มากบารมีและมีความเด็ดขาดขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ไม่รับตำแหน่งกษัตริย์ เจ้าฟ้าประชาธิปกจึงได้เสวยราชสมบัติ

พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นนายทหารผู้มีอุปนิสัยแข็งกร้าว และรู้กันดีว่าทรงมีแนวคิดแบบทหารนิยม จึงเป็นที่เกรงใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าซึ่งเคยเป็นนายทหารรุ่นน้องอย่างมาก พระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลที่เจ็ด ถึงกระนั้นก็ยังมีความขัดแย้งกับระบอบการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดชต้องการขึ้นเงินเดือนทหารแต่แพ้มติในที่ประชุมสภาเสนาบดี พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมเพื่อประท้วง

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชพยายามยุแยงอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยึดอำนาจการปกครอง ทรงเรียกพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนาและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาถามความเห็นเรื่องระบอบการปกครอง ทั้งคู่ต่างลงความเห็นว่าระบอบปัจจุบันไม่เหมาะแก่ยุคสมัย ควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย แต่ทั้งคู่มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องของวิธีการที่จะใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กบฏบวรเดช 
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ผู้นำการกบฏ

ในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตก็ยังทรงเข้าพระทัยผิดในตอนแรกคิดว่าพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้าก่อการ นอกจากนี้ในวันดังกล่าว พระองค์เจ้าบวรเดชยังเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวบุคคลสำคัญ ทรงตรัสอวยพรต่อพระยาพหลฯแล้วจึงเสด็จกลับโดยมิได้ถูกควบคุมตัว

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ พันเอกพระยาพหลฯเสนอชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชในที่ประชุมคณะราษฎรเพื่อเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคัดค้านด้วยเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชมีอุปนิสัยเป็นเผด็จการและยังเป็นเจ้า ที่ประชุมจึงปัดตก หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอชื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าบวรเดชจึงผิดใจกับพระยาพหลฯ และเกลียดชังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ทางด้านพระยาศรีสิทธิสงครามก็ถูกเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิสงครามปฏิเสธเพราะไม่พอใจที่คณะราษฎรใช้วิธีการรุนแรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชไม่พอใจที่พระยาศรีสิทธิฯทำตัวเหินห่างกับคณะราษฎร จึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯไปอยู่กระทรวงธรรมการ นัยว่าเป็นการลงโทษทางอ้อม

เมื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาได้เป็นประธานกรรมการราษฎร ก็เกิดความขัดแย้งกับส่วนใหญ่ของคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ซึ่งจะทำให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ชาวนามีบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ พระยามโนปกรณฯมองว่าคณะราษฎรคิดก้าวหน้าเกินไป และโจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณฯประกาศยุบสภา ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์และใช้เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจนต้องไปอยู่ต่างประเทศ คณะราษฎรสายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงหมดอำนาจ ฝ่ายเจ้าเริ่มมีเรืองอำนาจและยุยงให้พระยามโนปกรณฯแยกตัวจากคณะราษฎร

มีเหตุให้พระยาพหลฯโกรธพระยาทรงสุรเดชถึงขั้นจะใช้มีดทำกับข้าวไล่ฟัน พระยาทรงสุรเดชหลบออกมาหาพระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธบอกว่า "ไอ่พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว" ทั้งสามยื่นใบลาออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมดเมื่อ 10 มิถุนายน 2476 อ้างว่าสุขภาพไม่อำนวย ส่งผลให้พระยาพหลฯต้องลาออกจากผู้บัญชาการทหารบกด้วยเพื่อรักษามารยาท ตำแหน่งทหารที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรจึงว่างลงทั้งหมด กลุ่มเจ้าจึงเตรียมส่งคนฝ่ายตนขึ้นแทน ในวันที่ 18 มิถุนายน มีพระบรมราชานุญาตให้สี่เสือออกจากตำแหน่งโดยจะมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน พลตรีพระยาพิชัยสงครามจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามจะได้เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก พันโทหลวงพิบูลสงครามจะได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

กบฏบวรเดช 
พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม รองแม่ทัพกบฏ

มีรายงานลับมาถึงหลวงพิบูลสงครามว่า พระยาศรีสิทธิสงครามเตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด ประกอบมีบันทึกว่านายจิตตะเสน ปัญจะ สมาชิกคณะราษฎร ได้รับแจ้งจากมิตรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานอาลักษณ์ความว่า เขาได้รับคำสั่งให้เขียนร่างพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิตและถอดบรรดาศักดิ์สมาชิกคณะราษฎรจำนวนหกสิบคนฐานเป็นขบถต่อราชวงศ์จักรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2476 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการปฏิวัติ กลุ่มบุคคลที่จะถูกประหารชีวิตคือกลุ่มบุคคลที่ในหลวงเคยให้ลงลายเซ็นขออขมาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ 7 และ 9 ธันวาคม 2475 ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานเอาผิด ชื่อในห้าลำดับแรกคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาศรีสิทธิสงคราม, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ, หลวงพิบูลสงคราม

ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาโดยใช้การที่พระยามโนปกรณนิติธาดาปิดสภามาเป็นข้ออ้างต่อสาธารณชน พันโทประยูรถามว่าทำไมทำเช่นนี้ หลวงพิบูลสงครามตอบพันโทประยูรว่า "ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด" ประยูรระบุว่าหลังจากนั้นพระยาศรีสิทธิฯ "หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก..."

เหตุแห่งกบฏ

รัฐบาลคณะราษฎรไม่ได้ไว้วางใจในตัวพระองค์เจ้าบวรเดชผู้มีอิทธิพลในสายทหารบกมากเท่าไหร่ รัฐบาลชอบส่งสายไปแย้มพรายให้พระองค์วางตัวอยู่เฉยๆ แล้วจะทรงได้ดิบได้ดีเองในภายหลัง พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทราบดีว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะไม่เป็นที่ไว้วางใจ ความไม่พอใจเหล่านี้ทับถมอยู่ในใจของพระองค์เจ้าบวรเดชเรื่อยมา

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ เมื่อตั้งกรรมการสอบสวนซึ่งประกอบด้วยชาวต่างชาติแล้วพบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลฯ พระองค์เจ้าบวรเดชและพวกเจ้ารับไม่ได้ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะกลับมาเป็นรัฐมนตรี มองว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะดำเนินนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนต่อเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่า จึงกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลเอาคอมมิวนิสต์มาเป็นรัฐมนตรี พันโทหลวงพิบูลสงครามและนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยจึงส่งจดหมายมาปรามพระองค์ความว่า:

บัดนี้ปรากฏข่าวตามทางสืบสวนว่าท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี

เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชทรงได้รับจดหมายเช่นนี้ พระองค์ทรงตรัสกับนายทหารที่บ้านว่า "ฉันก็ตั้งใจจะเป็นพลเมืองที่สงบ แต่เขาไม่ให้สงบ" หนังสือทำนองคล้ายกันนี้ยังถูกส่งถึงบุคคลอื่นๆอีกหลายคน อาทิ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์, พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ, พันโทประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่าการก่อการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง การถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง เป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

การเตรียมการของทัพกบฏ

คณะผู้ก่อการเริ่มหาพรรคพวกทั้งในหมู่ทหารนอกและในประจำการ การประชุมของคณะผู้ก่อการครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 โดยมีพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม พันโทหลวงพลหาญสงคราม และร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ที่ร้านอาหารบนถนนราชวงศ์ การประชุมครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่บ้านหลวงพลหาญสงคราม เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนทหารหัวเมือง การประชุมครั้งที่สามเกิดขึ้นในต้นเดือนตุลาคมที่บ้านพันเอกพระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์ในโคราช ที่ประชุมตกลงให้ใช้ชื่อแผนว่า "แผนล้อมกวาง" และตกลงใช้โคราชเป็นกองบัญชาการใหญ่ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีอาวุธและกำลังพลมากกว่าหัวเมืองอื่น

ในช่วงวางแผนการ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และพระองค์เจ้าบวรเดช ลงไปเข้าเฝ้าในหลวงที่วังไกลกังวล พระองค์เจ้าบวรเดชอาสาเป็นผู้นำ "กองทัพสีน้ำเงิน" และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะเปลี่ยนแปลงใหม่ ในหลวงคัดค้านหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชโกรธในหลวงและกลับมาพูดกับนายทหารคนอื่นว่า "ถ้าท่านไม่เล่นกับเราเราก็หาคนใหม่!" อย่างไรก็ตาม ต่อมามีเช็คของพระคลังข้างที่สั่งจ่ายให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นจำนวนสองแสนบาทสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ จากนั้น หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ราชเลขานุการก็เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพสีน้ำเงิน นอกจากนี้ พระองค์เจ้าบวรเดชยังได้เงินจากมหามกุฏราชวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากพระยาเสนาสงคราม แม่ทัพกบฏในนครสวรรค์ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

การเตรียมการของรัฐบาล

ภายหลังการปฏิวัติ พันเอกพระยาทรงสุรเดช มันสมองของคณะราษฎร มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดการต่อต้านด้วยกำลังจากฝ่ายตรงข้ามในไม่ช้าก็เร็ว จึงสั่งการให้กองทัพหัวเมืองทั้งหมดส่งอาวุธส่วนใหญ่เข้ามาที่กรุงเทพ โดยอ้างว่าจะส่งอาวุธที่ใหม่กว่าไปให้ ทำให้ทหารหัวเมืองอยู่ในสภาพขาดแคลนอาวุธ

ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึงสองวัน เมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมมณฑลทหารราชบุรี มีนักบินชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามและได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล แล้วแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าก็เดาออกทันทีว่าเป็นสาสน์ที่ส่งมาเพื่อเชิญชวนให้ก่อการกบฏ จึงรีบเดินทางกลับจังหวัดพระนครในวันรุ่งขึ้นเพื่อดำเนินการต่อต้านทันที

แผนลอบสังหารที่วังปารุสก์

นอกจากการใช้กำลังทหารเข้าล้มล้างอำนาจของรัฐบาลแล้ว ยังมีบันทึกซึ่งอ้างว่าฝ่ายกบฏยังวางแผนเข้าสังหารบุคคลสำคัญของคณะราษฎรซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวันอีกด้วย เพื่อให้รัฐบาลเกิดภาวะสุญญาก่อนที่คณะกู้บ้านเมืองจะยกทัพลงมาถึงกรุงเทพ แผนสังหารผู้นำรัฐบาลในกรุงเทพถูกกล่าวถึงโดยนายพโยม โรจนวิภาต ซึ่งอ้างตนเป็นสายลับฝ่ายราชสำนักในพระนคร ได้ทราบว่ามีผู้ก่อการอีกกลุ่มหนึ่งในพระนครที่มีเจตนาจะล้มล้างรัฐบาลมีแผนการนอกเหนือไปจากการยกกำลังเข้ามาของทหารฝ่ายหัวเมือง โดยนายพันตรีทหารม้าคนหนึ่งซึ่งมีบรรดาศักดิ์ขุน ได้ว่าจ้างยอดมือปืนจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพเพื่อมากำจัดหลวงพิบูลสงคราม โดยวางแผนให้มือปืนลอบเข้าไปเข้าดักรอบริเวณหน้าห้องนอนในวังปารุสก์ เมื่อเสียงสัญญาณของกองทัพหัวเมืองที่ยกมาถึงกรุงเทพดังขึ้น พันโทหลวงพิบูลสงครามจะพรวดพราดออกมาจากห้องนอนและถูกกำจัดทิ้ง ในการนี้ นายพันตรีได้ว่าจ้างมือปืนอีกชุดเพื่อดักรอเก็บมือปืนชุดแรกเพื่อปิดปาก อย่างไรก็ตาม พวกเขารอจนเช้าก็ไม่มีวี่แววของคณะกู้บ้านเมือง จึงยกเลิกแผนการไป จนทราบภายหลังว่า คณะกู้บ้านเมืองเลื่อนแผนการออกไปหนึ่งวัน โดยจะเดินทางถึงกรุงเทพในวันที่ 12 ตุลาคม

เหตุการณ์กบฏ

กบฏบวรเดช 
แผนที่แสดงกองกำลังทหารทั้งสองฝ่าย สีแดงคือกองกำลังกบฏ

11 ตุลาคม "กบฏยึดทุ่งดอนเมือง"

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งประกอบด้วยทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุบลราชธานี (กองพันทหารราบที่ 18)

พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนำกำลัง 2 กองพันทหารช่างจากสระบุรีเป็นทัพหน้าลงมายึดทุ่งดอนเมือง โดยมีกองทหารม้าของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญตามลงมาสมทบ และเข้ายึดกรมอากาศยานที่ดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ พระยาศรีสิทธิสงครามส่งกองหน้ามายึดสถานีรถไฟหลักสี่ และส่งนาวาเอกพระยาแสงสิทธิการถือหนังสือถึงพระยาพหลฯความว่า "คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกภายในหนึ่งชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้กำลังบังคับและจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว"

คณะรัฐบาลประชุมกันที่วังปารุสก์แล้วก็ลงความเห็นว่าเหตุผลของฝ่ายกบฏฟังไม่ขึ้น และสมควรปราบปราม เวลาค่ำ นายกรัฐมนตรีออกประกาศไปยังทั่วประเทศว่า พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน พยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยขอเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม "ในพระนครเหตุการณ์เรียบร้อย อย่าฟังคำสั่งผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากข้าพเจ้า พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ"

12 ตุลาคม "กรุงเทพตอบโต้"

เมื่อรัฐบาลทราบว่าทุ่งดอนเมืองโดนทหารกบฏยึดเป็นที่แน่ชัดแล้ว จึงประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกพระนคร ในวันเดียวกัน รัฐบาลประกาศแก้กฎอัยการศึกขยายพื้นที่บังคับใช้เป็นทั่วมณฑลพระนครกับมณฑลอยุธยา พันเอกพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธที่จะเป็นผู้บังคับกองผสม พันโทหลวงพิบูลสงครามจึงรับเป็นผู้บังคับกองผสมปราบกบฏ ในวันเดียวกัน เมื่อชาวพระนครทราบข่าวว่าการกบฏจากทหารหัวเมือง พลเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบใหม่ได้ออกมาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทหารกองหนุนจำนวนมากเข้ามารายงานตัว ทั้งที่ยังไม่มีหมายเรียกระดมพลทหารกองหนุน

พันโทหลวงพิบูลสงครามนำกองผสมซึ่งประกอบด้วย 3 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนไปประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ขนาดลำกล้อง 75 มม. ระยะยิงไกล 6 กิโลเมตร ตั้งเรียงแถวหน้ากระดานบนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารกบฏในเวลาราว 14 นาฬิกา ยิงได้ 40 นัดพบว่ากระสุนลงทุ่งน้ำหมดจึงหยุดยิง กองทหารกบฏของหลวงโหมรอนราญจึงเดินลุยน้ำเคลื่อนลงมายึดสถานีรถไฟบางเขนไว้ได้

13 ตุลาคม "กบฏอ่อนกำลัง"

ฝ่ายรัฐบาลส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นตัวแทนมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสียและจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏกลับจับกุมหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไปขังไว้ที่อยุธยา ในเวลา 12 นาฬิกา ฝ่ายกบฏส่งนาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์, นาวาอากาศโทพระยาเทเวศวรอำนวยฤทธิ์ และเรือเอกเสนาะ รักธรรม เป็นคนกลางถือหนังสือของพระองค์เจ้าบวรเดชมาเจรจากับรัฐบาล โดยยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ:

    1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
    2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
    3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
    4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
    5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
    6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

ฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอมตามคำขาดดังกล่าว ทำให้การสู้รบดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน ที่แนวรบของทหารกบฏที่บางเขนเกิดความขัดสน กำลังพลของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญไม่ได้รับเสบียงและกระสุนมาหนึ่งวันเต็ม ขณะนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก สองข้างทางรถไฟถูกน้ำท่วมหมด ทำให้การส่งกำลังบำรุงมาแนวรบของฝ่ายกบฏต้องอาศัยเรือพายเท่านั้น หลวงโหมรอนราญจึงเดินเท้าตามทางรถไฟย้อนขึ้นไปยังกองบัญชาการดอนเมืองเพื่อขอกำลังบำรุง

เมื่อเข้าไปในกองบัญชาการก็พบว่า "นายทหารเป็นจำนวนมากนั่งเสพสุราและกินอาหารกัน บางคนก็เล่นบิลเลียด" พันเอกพระยาเทพสงครามเห็นหลวงโหมรอนราญก็เข้ามากอดทักทายว่า "มีคนบอกว่ากองทหารม้าสระบุรีของน้องเป็นอันตรายหมด นี่มายังไงกัน?" หลวงโหมรอนราญจึงตัดพ้อว่า "ทำไมไปฟังข่าวเหลวไหล ช่างไม่คิดถึงพวกกระผมบ้างเลย เหนื่อยมาตั้งแต่เมื่อวานแสนสาหัส วันนี้ยังไม่ได้กินอาหารตลอดทั้งวัน กลับมาแช่งว่าตายหมด"

14 ตุลาคม "รัฐบาลรุกไล่"

14 ตุลาคม ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังรุกคืบเข้ามาปะทะทหารฝ่ายกบฏที่ยึดสถานีรถไฟบางเขน โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียพันตรีหลวงอำนวยสงคราม ผู้บังคับกองพันที่มีความสำคัญมากไป หลวงพิบูลสงครามจึงรีบแก้สถานการณ์ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำทันที โดยสั่งการให้ไปนำรถสายพานติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศ QF 2-pounder จากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับมาแล้วจำนวน 2 คันมาเข้าสู่สนามรบจริงทันที

อำนาจการยิงของปืนกลต่อต้านอากาศยานขนาด 40 มม. อัตรายิง 115 นัดต่อนาที เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนทำให้รังปืนกลของฝ่ายกบฏเกิดรูขนาดใหญ่ รวมทั้งปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงต่อเนื่อง ทหารกบฏทั้งหมดไม่เคยเจออาวุธทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นวิ่งหนีเอาตัวรอดกลับไปยังหลักสี่ ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถเข้ายืดพื้นที่ทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม

ขบวนรถไฟฝ่ายกบฏของพันตรีหลวงพลเดชวิสัย กองพันทหารราบที่ 17 อุบลราชธานี เดินทางมาถึงดอนเมืองในช่วงค่ำ ได้ข่าวว่าสถานการณ์ฝ่ายกบฏกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงไม่ยอมจอดขบวนรถไฟที่สถานีดอนเมือง ให้ขบวนรถไฟขับเลยสถานีดอนเมืองไปประมาณสามกิโลเมตรแล้วใส่เกียร์ถอยหลังกลับไปที่เมืองโคราช ระหว่างทางได้แวะรื้อทางรถไฟแถวปากช่องออกเพื่อทำคุณไถ่โทษ

15–24 ตุลาคม "กบฏแตกพ่าย"

15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายปฏิวัติจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏที่สถานีหลักสี่ นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏขาดกำลังเสริมมาสมทบ เพราะทหารเพชรบุรีที่ร่วมก่อการถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ ทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลกก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรีและหน่วยทหารปราจีนบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชเห็นว่าสู้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แล้วจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับไปตั้งรับโคราช และมอบหมายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นผู้บัญชาการรบหน่วยระวังหลัง ค่อยๆถอยร่อนจากหลักสี่มาดอนเมือง

16 ตุลาคม เวลาตีสาม ทหารกบฏเริ่มถอนกำลังออกจากดอนเมือง ส่วนหน้าทัพกบฏเดินทางถึงสถานีปากช่อง (กม.180) ในเวลาบ่ายโมง ก็ไปต่อไม่ได้เนื่องจากทางรถไฟขาดต้องใช้เวลาซ่อมแซม กองพันทหารราบที่ 4 ฝ่ายรัฐบาลเข้าควบคุมพื้นที่ดอนเมืองในเวลาบ่ายสอง นาวาตรีหลวงศุภชลาศัยคุมเรือสุริยมณฑลไปยึดเมืองอยุธยาไว้ได้ ส่วนทหารกบฏทางเพชรบุรีก็ถอยร่นกลับเข้าเมืองเพชรบุรียึดเป็นที่มั่นเอาไว้

17 ตุลาคม เวลาเช้ามืด กบฏคนสำคัญในโคราชตัวปล่อยตัวพันตำรวจเอกพระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจโคราชและพวกจากที่คุมขัง บอกให้รีบหนีไปก่อนที่ทัพกบฏจะมาถึงเมือง ผู้บังคับการตำรวจโคราชใช้โอกาสนี้นำกำลังเข้ายึดเมืองจากพวกกบฏทันทีอย่างง่ายดาย ต่อมาเวลาสิบนาฬิกา ชาวโคราชต่างตื่นตกใจเมื่อมีขบวนรถไฟบรรทุกทหารของพันตรีหลวงพลเดชวิสัยเคลื่อนเข้ามา พันตรีหลวงพลเดชวิสัยมอบตัวต่อพระขจัดทารุณกรรม อ้างว่าถูกหลอกให้ร่วมก่อการกบฏ ขณะนี้พวกกบฏกำลังถอยร่นมายังโคราช เมื่อผู้การตำรวจโคราชได้หารือกับหลวงพลเดชวิสัยแล้ว เห็นว่ากำลังที่มีอยู่คงจะต้านทานทัพกบฏไม่ไหว ควรถอนกำลังออกจากโคราชไปรวมกับกำลังใหญ่ฝ่ายรัฐบาลที่เมืองอุบล ส่วนทางด้านกรุงเทพ รัฐบาลส่งกองพันทหารราบที่ 6 ขึ้นมาสมทบกองพันทหารราบที่ 4 ที่ดอนเมือง และเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างทัพกบฏต่อไป ขณะเดียวกัน หน่วยข่าวกรองของจังหวัดขอนแก่นได้รับทราบข่าวจากแถลงการณ์รัฐบาลว่าฝ่ายกบฏแตกพ่ายไปทางโคราช ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นจึงทำลายทางรถไฟเพื่อขัดขวางการลำเลียงทหารมาสู่ขอนแก่น

18 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีชุมทางภาชี (กม.90) ในเวลาบ่ายสี่โมง พระองค์เจ้าบวรเดชถอยไปอยู่สระบุรี กองกำลังรักษาเมืองโคราชของพระขจัดทารุณกรรมและหลวงพลเดชวิสัยต้านทานกบฏไม่ไหวจริงตามคาด จึงถอนกำลังออกไปยังเมืองอุบล พระองค์เจ้าบวรเดชแค้นที่พันตรีหลวงพลเดชวิสัยทรยศ จึงให้พลตรีพระเสนาสงครามคุมกำลัง 400 นายไปยึดเมืองบุรีรัมย์เพื่อใช้ตีเมืองอุบลต่อไป

19 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสระบุรีไว้ได้ แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันสถานีแก่งคอย (กม.125) ขบวนรถไฟของพระองค์เจ้าบวรเดชเดินทางถึงเมืองโคราช พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งการหน่วยระวังหลังเร่งถอดรางรถไฟบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ซึ่งเป็นช่วงทางโค้งและแคบใกล้กับสถานีหินลับ ให้ทหารตั้งรังปืนกลบนหน้าผาเป็นระยะ

20 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีแก่งคอย (กม.125) ทหารรัฐบาลจากจังหวัดอุดรธานีเจ็ดสิบนายเดินทางมาถึงขอนแก่นและเคลื่อนกำลังพลไปรักษาสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำชี เพื่อไม่ให้ทหารกบฏเดินเท้าข้ามมายังเมืองขอนแก่นได้

21 ตุลาคม ทหารรัฐบาลรุกคืบได้ทีละเล็กน้อย แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันที่ปากช่อง (กม.180) ทางพระองค์เจ้าบวรเดชเมื่อทราบว่าทหารขอนแก่นกับอุดรธานีเข้ากับฝ่ายรัฐบาล จึงส่งร้อยเอกหลวงโหมรอนราญนำกำลังไปยึดเมืองขอนแก่น

22 ตุลาคม ร้อยเอกหลวงโหมรอนราญถูกเรียกตัวกลับมานครราชสีมาเพราะมีข่าวว่ากองกำลังของรัฐบาลรุกคืบเข้ามาแล้ว หลวงโหมรอนราญเสนอให้ทหารยึดอำนาจจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนในโคราช แต่พระองค์เจ้าบวรเดชดำริว่า "เวลานี้ใครๆ ก็แลเห็นว่าเราแพ้แล้วทั้งนั้น จะยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเราก็ไม่มีนายทหารมากพอจะให้ไปควบคุม โทษผิดเท่านี้ก็พอแล้ว อย่าให้มากกว่านี้เลย" พระองค์เจ้าบวรเดชเริ่มวางแผนเสด็จลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกบฏก็วางแผนเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศตามความถนัด พระยาศรีสิทธิสงครามไม่ทราบความจริงจึงปักหลักที่ผาเสด็จต่อไป ในค่ำวันนั้น กองส่วนหน้าฝ่ายรัฐบาลเริ่มเคลื่อนพลถึงหลักกิโลเมตรที่ 140

23 ตุลาคม เกิดการสู้รบบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ตลอดทั้งวัน เมื่อตกค่ำ หน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร สามารถสังหารพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม

24 ตุลาคม พันโทหลวงพิบูลสงครามเดินทางถึงแก่งคอยในช่วงสายเพื่อรับฟังรายงาน

25 ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาทรงขึ้นเครื่องบินจากนครราชสีมาหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน ทหารรัฐบาลเข้ายึดเมืองนครราชสีมาไว้ได้

พระบรมวงศ์เสด็จหนีไปชายแดน

กบฏบวรเดช 
ทหารช่างอยุธยาตกเป็นเชลยถูกควบคุมโดยทหารม้าฝ่ายรัฐบาล (สวมหมวกกะโล่) ถือปืนติดดาบปลายปืนอยู่แถวหลัง

16 ตุลาคม เครื่องบินฝ่ายกบฏบินมาทิ้งใบปลิวที่วังไกลกังวลเพื่อทูลว่าการยึดอำนาจล้มเหลว ในค่ำวันต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จประปกเกล้าฯทราบว่าทหารเพชรบุรียอมจำนนต่อรัฐบาลแล้ว และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำลังเดินทางลงมาเข้าเฝ้า ก็ทรงตื่นตระหนกรีบเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรวรุณ ซึ่งเป็นเรือยนต์ลำเล็กอย่างกะทันหันพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช, หม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ, หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล, หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร, หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์, หม่อมเจ้าเศรษฐพันธ์ จักรพันธุ์ พร้อมทหารรักษาวังอีก 6-7 นาย มุ่งหน้าจังหวัดสงขลา

เนื่องจากเรือไม่พอนั่ง หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทและเจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ต้องนำทหารรักษาวังบางส่วนขึ้นไปยึดขบวนรถไฟจากสถานีวังก์พงในช่วงบ่าย เจ้ากาวิละวงศ์เป็นพนักงานขับรถ ขบวนรถไฟพิเศษนี้ออกจากหัวหินเวลาตีหนึ่งของวันที่ 18 ตุลาคม มีผู้โดยสารประกอบด้วย: กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล, กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์พร้อมพระธิดา, กรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต์, หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์, พลโทพระยาวิชิตวุฒิไกร, พระยาอิศราธิราชเสวี และทหารรักษาวังสองกองร้อย

เมื่อนายเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้จัดการพาณิชย์ ฝ่ายการเดินรถ กรมรถไฟหลวง ทราบข่าว จึงรีบส่งโทรเลขแจ้งสถานีรายทางล่วงหน้าว่า ทหารหลวงลักขบวนรถจักรออกจากวังก์พง ให้ทำการสกัดกั้น พนักงานกรมรถไฟจึงไปถอดรางรถไฟช่วงก่อนถึงสถานีประจวบคีรีขันธ์ ขบวนรถไฟพิเศษไปต่อไม่ได้ต้องหยุดระหว่างทาง ทหารหลวงต้องช่วยกันถอดรางที่วิ่งที่ผ่านมาแล้วมาต่อเพื่อให้รถไฟเดินต่อไปได้ เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีประจวบคีรีขันธ์ก็ถูกกักรถไม่ให้เดินทางต่อจนเกือบจะยิงกัน สมุหราชองครักษ์จึงโทรเลขไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์รีบนำความเข้าแจ้งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลหยุหเสนาสั่งการอนุญาตให้รถไฟเดินได้ตลอดสายทาง

ทางด้านเรือพระที่นั่งศรวรุณน้ำมันหมดที่ชุมพร ต้องขึ้นฝั่งรอจนกระทั่งถึงเช้าวันที่ 19 ตุลาคม จึงได้พบกับได้พบกับเรือวลัยของบริษัทอิสต์เอเชียติก กัปตันเรือวลัยชาวเดนมาร์กเชิญคณะของในหลวงขึ้นเรือวลัยและพ่วงเรือพระที่นั่งศรวรุณไปยังสงขลา ตกเย็นวันเดียวกันนั้น ขบวนรถไฟก็ไปถึงสงขลา พระบรมวงศ์ส่วนหน้ารีบไปจัดแจงสถานที่ในพระตำหนักเขาน้อยเตรียมรับในหลวง เรือวลัยเดินทางมาถึงอ่าวสงขลาในเช้าวันถัดมา

ผลลัพธ์

กบฏบวรเดช 
อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

25 ตุลาคม พระบาทสมเด็จประปกเกล้าฯมีพระราชกระแสจากพระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา แนะนำให้รัฐบาลประกาศอภัยโทษให้แก่ผู้ร่วมก่อการจลาจลตลอดจนนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว แต่ถูกแต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างหลักการที่ว่าจำต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเสียก่อน

29 ตุลาคม รัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกบฏและจลาจล คำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาดไม่มีอุทธรณ์ฎีกา มีผู้ถูกจับกุมกว่าหกร้อยคน มีการส่งฟ้อง 318 คน ใช้เวลาพิจารณาความนานนับปี พบว่ามีความผิดต้องโทษ 296 คน ในจำนวนนี้ต้องโทษประหารชีวิต 6 คน จำคุกตลอดชีวิต 244 คน อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงปฏิเสธการลงพระนามให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษา จึงนำตัวไปประหารไม่ได้

รัฐบาลได้จัดให้มีรัฐพิธีให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนคราวปราบกบฏบวรเดช ในการนี้ได้ทำหนังสือขอพระราชานุญาตใช้พื้นที่สนามหลวงในการประกอบพิธี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯปฏิเสธทันที ทรงรับสั่งให้ไปใช้สถานที่อื่น แต่รัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะใช้พื้นที่สนามหลวง ทำให้พระองค์ยินยอมตามนั้น รัฐบาลจัดสร้างเมรุชั่วคราวสนามหลวง ซึ่งเดิมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอมให้ใช้พื้นที่ทุ่งพระเมรุนี้ แต่ทางคณะราษฎรยืนกรานที่จะสร้างเมรุชั่วคราวบนทุ่งพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าจึงต้องทรงยินยอม แต่ระบุถ้อยคำด้วยท่วงทำนองว่า "ทรงไม่ขัดข้อง แต่ขอให้เป็นที่เข้าใจว่า พระราชดำริในเรื่องนี้เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง" นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดพิธีศพสามัญชนบนท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านั้นจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำหรับเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

สามปีให้หลังในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพียงตามแหล่งที่ตั้งว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่”

ภายหลังการสละราชสมบัติและเข้าสู่รัชกาลใหม่ รัฐบาลได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นถูกเนรเทศไปเกาะตารุเตาในปีพ.ศ. 2482 ต่อมาได้มีการปล่อยตัวบรรดาผู้ได้รับโทษกรณีกบฏบวรเดชทั้งหมดออกจากเรือนจำพ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นผลจากการนิรโทษกรรมโดยคณะรัฐมนตรีชุดพันตรีควง อภัยวงศ์

อ้างอิง

  • นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, โรงพิมพ์วัชรินทร์, 2530
  • ม.จ. พูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (ภาคต้น), สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2543
  • โพยม โรจนวิภาต (อ.ก. รุ่งแสง), พ. ๒๗ สายลับพระปกเกล้า พระปกเกล้าฯ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒) พ.ศ. 2547

ดูเพิ่ม

Tags:

กบฏบวรเดช เบื้องหลังกบฏบวรเดช เหตุการณ์กบฏกบฏบวรเดช พระบรมวงศ์เสด็จหนีไปชายแดนกบฏบวรเดช ผลลัพธ์กบฏบวรเดช อ้างอิงกบฏบวรเดช ดูเพิ่มกบฏบวรเดชการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

ทักษิณ ชินวัตรมิเกล อาร์เตตาสุภาพบุรุษจุฑาเทพรัชนี ศิระเลิศประเทศออสเตรียกรณิศ เล้าสุบินประเสริฐธีรเดช เมธาวรายุทธเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณีสโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโนในฤดูกาล 2019–20วิลลี่ แมคอินทอชกองทัพเรือไทยวันพีซรายชื่อตอนในเป็นต่อ (ช่องวัน)พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023–24พันธ์เลิศ ใบหยกรายพระนามและชื่อผู้บัญชาการทหารบกไทยเจนี่ อัลภาชน์เสียดายกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโปเตโต้อัษฎาวุธ เหลืองสุนทรวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดระยองพิจิตตรา สิริเวชชะพันธ์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดชลบุรีสโมสรฟุตบอลคริสตัลพาเลซศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนารายชื่อประธานาธิบดีสหรัฐฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถถนนสีลมสฤษดิ์ ธนะรัชต์ธงไชย แมคอินไตย์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566จังหวัดนครพนมไดโนเสาร์คนลึกไขปริศนาลับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีการ์ลัส ปุดจ์ดาโมนประวัติศาสตร์ไทยหีศุภชัย สุวรรณอ่อนณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์โลก (ดาวเคราะห์)สุธีศักดิ์ ภักดีเทวาเกาะกูดดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครประเทศพม่าทวีปยุโรปพล ตัณฑเสถียรเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฟุตบอลโลกศรีรัศมิ์ สุวะดีวัดพระธาตุบังพวนเศรษฐา ทวีสินอรรณพ ทองบริสุทธิ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอสเธอร์ สุปรีย์ลีลาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอุณหภูมิทางรถไฟสายใต้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวการโฆษณาจังหวัดกำแพงเพชรสมศักดิ์ เทพสุทินทางพิเศษเฉลิมมหานครน้ำตากามเทพพระโคตมพุทธเจ้าอาร์เอ็มเอส ไททานิกปรีดี พนมยงค์ปรสิต (หนังสือการ์ตูน)รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3🡆 More