ศรีปราชญ์: กวี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ศรีปราชญ์ เป็นบุคคลซึ่งเอกสารพม่าและมอญที่เขียนจากคำบอกเล่าระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชและถูกเจ้าเมืองประหาร ก่อนตายแช่งเจ้าเมืองให้ตายด้วยดาบเดียวกัน และภายหลังก็เป็นไปตามนั้น เรื่องราวของเขาได้รับการดัดแปลงและขยายความอย่างมากในเวลาต่อมา โดยระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี มีความสามารถทางร้อยกรอง และไปเสียชีวิตที่นครศรีธรรมราชเหมือนในเอกสารเดิม เขายังได้รับการนำเสนอว่า เป็นกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย

ศรีปราชญ์
อาชีพนักประพันธ์
ภาษาภาษาไทย
ช่วงเวลากรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ผลงานที่สำคัญยังเป็นที่ถกเถียง
ข้อความบนสมุดไทยดำ: กำศวรศรีปราชร้าง แรมสมร / เสาะแต่ปางนคร ลํ่แล้ว / ไป่ภบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบนา / จวบแต่ต้นปลายแค้ลว หนึ่งน้อยยืมถวาย ๚ะ๛
สำเนา กำสรวลศรีปราชญ์ สมุดไทยดำต้นรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เขาไม่มีตัวตนจริง เพราะปราศจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เขายังน่าจะเป็นเพียงตัวละครเอกในเรื่องเล่าขานของชาวบ้าน ทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยทั้งศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะรับมาจากนิทานอินโดนีเซียหรือเปอร์เซีย ศรีปราชญ์เป็นตัวแทนความซื่อตรง ศรีธนญชัยเป็นตัวแทนความคดโกง

อนึ่ง เดิมเชื่อว่า เขาเป็นผู้ประพันธ์ร้อยกรองเรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์ นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ แต่ปัจจุบันมีข้อเสนอว่า เป็นพระนิพนธ์ของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เรื่องราว

เอกสารพม่ามอญ

เรื่องราวของศรีปราชญ์ปรากฏในเอกสารพม่าซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากหอพระสมุดแห่งมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงเชื่อว่า เขียนขึ้นจากการสอบปากคำชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงให้แปลออกเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า เอกสารนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลที่พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงชุบเลี้ยงไว้ เพราะเขารอบรู้ทางศาสนาและโหราศาสตร์ ทั้งยังเก่งทางโคลงกลอน เขาแต่งร้อยกรองถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเป็นที่พอพระทัยเสมอ แต่เขาแอบแต่งเพลงยาวหาสนมนางหนึ่งของพระองค์ เมื่อทรงจับได้ ก็มิได้ฆ่า เพราะเสียดายความสามารถ ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน แต่ศรีปราชญ์เป็นคนเจ้าชู้ ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งเพลงยาวหาภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้ฆ่า คนทั้งหลายห้ามไว้เจ้าเมืองก็ไม่ฟัง ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด" ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์ ทรงให้เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว ก็มีท้องตราออกไปให้ประหารเจ้าเมืองด้วยดาบเดียวกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์

เอกสารอีกฉบับที่ปรากฏเรื่องศรีปราชญ์ คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า มีที่มาเดียวกับ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นภาษามอญ และรัชกาลที่ 4 ทรงให้แปลออกเป็นภาษาไทย เอกสารนี้ระบุว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดมหาดเล็กคนหนึ่งเพราะมีฝีมือทางร้อยกรอง จึงประทานนามให้ว่า ศรีปราชญ์ แต่ศรีปราชญ์แต่งโคลงหานางใน จึงทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งโคลงหาอนุภรรยาของเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้เอาไปฆ่า ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "เรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด" แล้วเขียนโคลงแช่งลงพื้นดินไว้ให้ประจักษ์ ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงให้เรียกตัวเขากลับ แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารเสียแล้ว ก็มีรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นประหารเจ้าเมืองตามไป

การขยายความ

ศรีปราชญ์: เรื่องราว, ผลงาน, ในวัฒนธรรมประชานิยม 
หน้าปก ตำนานศรีปราชญ์ (พ.ศ. 2462) ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการดัดแปลงและขยายความเป็นอันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในงานเขียนของพระยาตรัง กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และงานเขียนของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 6

เรื่องราวที่ดัดแปลงนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อเดิมว่า ศรี เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี เกิดราว พ.ศ. 2196 ประมาณ 3 ปีก่อนสมเด็จพระนารายณ์ทรงขึ้นครองราชย์ วันหนึ่งในราว พ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงค้างไว้ 2 บาทว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ (บางฉบับว่า ลอบย้ำ)

แล้วทรงให้พระโหราธิบดีกลับไปแต่งต่ออีก 2 บาทให้เต็มบท พระโหราธิบดีคิดไม่ออก ศรีจึงแต่งต่อว่า

ผิวชนแต่จะกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

พระโหราธิบดีนำขึ้นถวาย สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยมาก จึงโปรดให้ศรีเข้าเป็นมหาดเล็ก พระโหราธิบดีรู้ว่า ลูกชายเป็นคนอุกอาจ จึงทูลขอพระราชทานโทษไว้ว่า วันใดลูกชายทำผิดถึงตาย ขออย่าได้ทรงประหาร เป็นแต่เนรเทศก็พอ สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดให้ตามนั้น

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าแก้ว ฝูงลิงร่วมประเวณีอยู่บนต้นไม้ ตรัสถามศรีว่า ลิงทำอะไรกัน ศรีทูลด้วยโวหารว่า "นั้นคือเสียงมักกโฏ...มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าธรรมดา" บางฉบับก็ว่า ลิงในป่าแก้วถ่ายมูลรดศีรษะขุนนางผู้ใหญ่ ทุกคนหัวเราะจนสมเด็จพระนารายณ์ตื่นบรรทม ทรงถามว่า เกิดอะไรขึ้น ศรีทูลด้วยโวหารว่า "พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยาเดโช" สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่า ศรีมีสติปัญญา จึงพระราชทานนามให้โดยตรัสว่า "ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้"

ต่อมา พระแสนหลวง เจ้านครเชียงใหม่ เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา ได้พบศรีปราชญ์ และประลองปัญญาโต้ตอบกันเป็นโคลงดังนี้

พระแสนหลวง: ศรีเอยพระเจ้าฮื่อ ปางใด
ศรีปราชญ์: ฮื่อเมื่อเสด็จไป ป่าแก้ว
พระแสนหลวง: รังสีบ่สดใส สักหยาด
ศรีปราชญ์: ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ

เรื่องราวที่ได้รับการขยายความนี้มีอีกหลายแห่งที่กล่าวถึงความสามารถของศรีปราชญ์ในการเจรจาเป็นร้อยกรอง เช่น ระบุว่า ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานแหวน เดินผ่านประตูวัง และนายประตูทัก จึงโต้ตอบกันดังนี้

นายประตู: แหวนนี้ท่านได้แต่ ใดมา
ศรีปราชญ์: เจ้าพิภพโลกา ท่านให้
นายประตู: ทำชอบสิ่งใดนา วานบอก
ศรีปราชญ์: เราแต่งโคลงถวายไท้ ท่านให้รางวัล

ต่อมา ศรีปราชญ์ล่วงเกินนางในคนหนึ่ง โดยนางแต่งโคลงต่อว่าเขาว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน

และเขาแต่งตอบว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นดินเดียว

เรื่องราวดังกล่าวระบุว่า นางในคนนั้น คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) สนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ โดยเชื่อมโยงกับ กำสรวลศรีปราชญ์ ที่เชื่อว่า เขาแต่งให้หญิงนาม ศรีจุฬาลักษณ์ การล่วงละเมิดนางในเป็นความผิดถึงตาย แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน ตามที่ทรงรับปากไว้กับบิดาของเขา เขาถูกเนรเทศไปในเดือนยี่

ที่นครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ถูกกล่าวหาว่า มีสัมพันธ์กับอนุภรรยาของเจ้าเมือง และถูกประหารชีวิตใน พ.ศ. 2226 ก่อนตายเขาเขียนโคลงสาปแช่งไว้บนพื้นดินว่า

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง

บางแหล่งระบุ 2 บาทแรกของโคลงดังกล่าวไว้แตกต่างออกไปดังนี้

ธรณีภพนี้เพ่ง ทิพญาณ หนึ่งรา
เราก็ลูกอาจารย์ หนึ่งบ้าง

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงรำลึกถึงเขา จึงรับสั่งให้เรียกตัวเขากลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว จึงรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารเขานั้นประหารเจ้าเมืองตายตกตามกันสมดังคำสาปแช่งของเขา

มีผู้เชื่อว่า ที่ประหารศรีปราชญ์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ" และสระล้างดาบที่ใช้ประหารนั้น ปัจจุบันคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช

การนำเสนอ

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการผลิตซ้ำในฐานะกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย ทั้งยังปรากฏในแบบเรียน จนเหมือนเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

มุมมองทางประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เรื่องราวของศรีปราชญ์เป็น "จินตนาการ" มากกว่าเป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการบันทึกที่น่าเชื่อถือได้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เอกสารพม่ามอญข้างต้นมีหลายส่วนที่เลอะเทอะคลาดเคลื่อน รับสั่งว่า "วิเคราะห์ดูเนื้อเรื่องตอนพงศาวดารเข้าใจว่า คงจะเป็นคำให้การตามที่พวกไทยจำได้คนละเล็กละน้อยช่วยกันปะติดปะต่อ ไม่ได้มีหนังสือพงศาวดารไทยติดไปด้วย อีกประการหนึ่ง จะเป็นด้วยพวกไทยที่ถูกพม่าถามประสงค์จะรักษาเกียรติมิให้พม่าข้าศึกรู้เรื่องอันใดจึงจะเป็นเหตุให้หมิ่นประมาทชาติไทย ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเรื่องราวในพระราชพงศาวดารแม้ที่จำได้ให้แก่พม่าทุกอย่างไป เรื่องพงศาวดารตามคำให้การนี้จึงเคลื่อนคลาดนัก"

เช่นเดียวกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นหนังสือคำให้การของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาหลายคนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเมื่อคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310 แล้วให้การเป็นภาษาไทย แต่แปลเป็นภาษามอญและพม่า แล้วถ่ายกลับมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เรื่องราวต่าง ๆ จึงเลอะเลือน 'ใส่สีใส่ไข่' จนสับสนไปหมด"

สุจิตต์ยังเห็นว่า เรื่องของศรีปราชญ์เป็นเพียงนิทานเล่าขานทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยศรีปราชญ์เป็นตัวแทนของความกล้าหาญ ซื่อตรง แข็งกร้าว และรักความเป็นธรรม ส่วนศรีธนญชัยเป็นตัวแทนของความกะล่อน ปลิ้นปล้อน เจ้าเล่ห์ ขี้โกง และเอารัดเอาเปรียบ สุจิตต์เสนอว่า เรื่องทั้งของศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะได้รับมาจากวัฒนธรรมอินโดนีเซียหรือเปอร์เซียไว้เล่าสู่กันฟังคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวันตามระบอบจารีตประเพณี

ผลงาน

กำสรวลศรีปราชญ์

เดิมเชื่อว่า ศรีปราชญ์เป็นเจ้าของบทประพันธ์เรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์ เพราะเริ่มด้วยโคลงบทนี้

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว หนึ่งน้อยยืมถวาย

แต่ลักษณะทางภาษาที่เก่าแก่ รูปแบบคำประพันธ์ ตลอดจนเนื้อหาที่บรรยาย เช่น เส้นทางล่องเรือ ศิลปกรรม สถานที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้ที่กล่าวถึงในคำประพันธ์ ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันเห็นว่า กำสรวลศรีปราชญ์ ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ใช่ตอนปลายอันเป็นยุคของศรีปราชญ์ และไม่ใช่ผลงานของศรีปราชญ์ที่ไม่น่ามีตัวตนจริง

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีแล้วเสนอเมื่อ พ.ศ. 2502 ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นผลงานของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงประพันธ์ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สตรีสูงศักดิ์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ในคราวที่ต้องจากกัน เพราะท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปพิษณุโลก เมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2006 ส่วนพระบรมราชาต้องทรงรั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่อาจติดตามขึ้นไปด้วย[Note 1]

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ยังเสนอให้เรียก กำสรวลศรีปราชญ์ ว่า กำสรวลสมุทร เพราะน่าจะเป็นชื่อที่ถูกต้องกว่า ทั้งนี้ กำสรวลสมุทร เป็นชื่อที่อ้างถึงในตำรา จินดามณี

อื่น ๆ

ยังมีผลงานอื่น ๆ ที่เชื่อกันว่า เป็นฝีมือของศรีปราชญ์ เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ และ นิราศลำน้ำน้อย แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นงานของเขาจริงหรือไม่ สืบเนื่องจากทฤษฎีที่ว่า เขาไม่น่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

ในวัฒนธรรมประชานิยม

เรื่องของศรีปราชญ์จัดทำเป็นภาพยนตร์ชื่อ ศรีปราชญ์ เมื่อ พ.ศ. 2500 ผู้กำกับ คือ ประทีป โกมลภิส นักแสดงนำ คือ ปัญจะ สุทธรินทร์ และดรุณี สุขสาคร

ศรีปราชญ์ยังเป็นตัวละครในนวนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส ของรอมแพง พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2552 โดยเป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี และเป็นพี่ชายของขุนศรีวิสารวาจา ตัวเอกฝ่ายชายของเรื่อง ในการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2561 ผู้รับบทศรีปราชญ์ คือ ณฐณพ ชื่นหิรัญ

เชิงอรรถ

  1. ^ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า "ศักราช 825 มะแมศก (พ.ศ. 2006) สมเด็จพระบรมใตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพีดณูโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จบรมราชา"

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • ธนากิต (2545). วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: ปิรามิด. ISBN 974-298-102-7.
  • ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2542. ISBN 9744192151.
  • ปิยะนัย เกตุทอง (2561-03-12). "นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชี้ชัด ศรีปราชญ์ มหากวีเอกผู้โด่งดัง ไม่มีตัวตนจริง". tnews.co.th. กรุงเทพฯ: Tnews.co.th. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา. 2553. ISBN 978-616-7146-08-9.
  • "พลิกปูม 'ศรีปราชญ์' กวีเอกของขุนหลวงนารายณ์ พี่ชายของ 'คุณพี่หมื่น'". khaosod.co.th. กรุงเทพฯ: ข่าวสด. 2561-04-04. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07.
  • "ศรีปราชญ์ (2500)". library.mju.ac.th. กรุงเทพฯ: กลุ่มภารกิจเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07. [ลิงก์เสีย]
  • สัมพันธ์ ก้องสมุทร (2527). วีรบุรุษ–วีรสตรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. ISBN 974-275-883-2.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (2540). ท้าวศรีสุดาจันทร์ 'แม่หยั่วเมือง' ใครว่าหล่อนชั่ว?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 974-7311-70-4.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (2561-03-12). "ศรีปราชญ์ไม่มีจริง แต่เป็นนิทานคู่กับศรีธนญชัย". matichon.co.th. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2561-04-07.
  • สำนวน แสงเพ็ง (2546). บันทึกกรุงศรีอยุธยาในสายตาฝรั่ง. กรุงเทพฯ: แม็ค. ISBN 974-9610-77-6.

อ่านเพิ่ม

  • คมทวน คันธนู (2530). วิเคราะห์วรรณกรรม วิจารณ์วรรณกร: วิเคราะห์กำสรวล (ศรีปราชญ์)ฯ : ศึกษา 200 ปีสุนทรภู่จากผลงาน. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.
  • ล้อม เพ็งแก้ว (2549). สุจิตต์ วงษ์เทศ (บ.ก.). กำสรวลสมุทร หรือกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 978-974-323-608-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

ศรีปราชญ์ เรื่องราวศรีปราชญ์ ผลงานศรีปราชญ์ ในวัฒนธรรมประชานิยมศรีปราชญ์ เชิงอรรถศรีปราชญ์ อ้างอิงศรีปราชญ์ บรรณานุกรมศรีปราชญ์ อ่านเพิ่มศรีปราชญ์ แหล่งข้อมูลอื่นศรีปราชญ์กรุงศรีอยุธยานครศรีธรรมราชพระโหราธิบดีสมเด็จพระนารายณ์สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคหนุมานเขตต์ ฐานทัพสถานีกลางบางซื่อสมเด็จพระเพทราชากาก้าปอบสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันจ้าว ลู่ซือเมษายนประเทศสวิตเซอร์แลนด์พระโคตมพุทธเจ้าต่อศักดิ์ สุขวิมลรายชื่อสถานีรถไฟ สายใต้แพทองธาร ชินวัตรสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์เซี่ยงไฮ้สฤษดิ์ ธนะรัชต์หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญนกกะรางหัวขวานณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์บิลลี ไอลิชสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชกรภัทร์ เกิดพันธุ์ดีแลน หวังประเทศมาเลเซียสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลแคพิบารากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467มาริโอ้ เมาเร่อชวน หลีกภัยจังหวัดปัตตานีอง ซ็อง-อูบีบีซี เวิลด์นิวส์บางรักซอย 9สมาคมกีฬาโรมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)ทวิตเตอร์สินีนาฏ โพธิเวสประวัติศาสตร์ไทยราศีเมษรัฐกะเหรี่ยงทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ทรานส์ฟอร์เมอร์ส (ภาพยนตร์ชุด)จังหวัดกำแพงเพชรชาลิดา วิจิตรวงศ์ทองจังหวัดตรังลักษณ์ ราชสีห์โชติกา วงศ์วิลาศเครยอนชินจังดราก้อนบอลจักรพรรดิเฉียนหลงคณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ถนนสีลมสมชาย วงศ์สวัสดิ์นักเตะแข้งสายฟ้าสุภาพร มะลิซ้อนอาเลฆันโดร การ์นาโชกาลาทาซาไรสปอร์คูลือบือ (ฟุตบอล)จุลจักร จักรพงษ์ภาวะโลกร้อนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยอัษฎาวุธ เหลืองสุนทรปานปรีย์ พหิทธานุกรสโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโนเอกซ์เอ็นเอกซ์เอกซ์ประเทศอินโดนีเซียสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีสิรคุปต์ เมทะนีพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเบียร์สิงห์🡆 More