เปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา

พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) (13 พฤศจิกายน พ.ศ.

2438 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2524) เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาในเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี และเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

คุณพระ

พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล)

เปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา
เกิดเปรื่อง สุจริตกุล
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438
บ้านปากคลองด่าน จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต9 มีนาคม พ.ศ. 2524 (85 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2464–2468)
บิดามารดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี
ญาติสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (น้องสาว)
ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร (น้องสาว)

เปรื่องเคยถวายตัวเข้ารับใช้ในสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนางพระกำนัลของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามลำดับ กระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสกับเปรื่อง ถือเป็นหญิงสามัญชนคนแรกที่ได้เข้าพิธีดังกล่าว ทั้งยังเป็นหญิงคนแรกที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระ" มีราชทินนาม "สุจริตสุดา" อยู่ในตำแหน่งพระสนมเอก

พระสุจริตสุดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2524 รวมอายุ 85 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2526

ประวัติ

ประวัติตอนต้น

พระสุจริตสุดามีชื่อเดิมว่า เปรื่อง สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 ณ บ้านปากคลองด่าน ประตูน้ำภาษีเจริญ เป็นธิดาคนโตจากบุตรจำนวน 12 คนของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (สกุลเดิม เตชะกำพุช) มีน้องสาวที่เป็นที่รู้จักคือประไพ ที่ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมนเฑียร

บุรพชนฝั่งบิดาเป็นราชินิกุลเชื้อสายจีน โดยปู่คือพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) เป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (นามเดิม เปี่ยม สุจริตกุล) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนบุรพชนฝ่ายมารดาคือขุนพัฒน์ (แต้หอย) ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้าสยามช่วงปี พ.ศ. 2407 ต้นสกุลเตชะกำพุช

เปรื่องเป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวที่ต้องดูแลน้อง ๆ โดยเฉพาะประไพ น้องสาวคนเล็ก ซึ่งโปรดการขี่ม้าเล่นด้วยกันเสมอ ต่อมาเมื่อครั้งที่เธอจะโกนจุก ได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อให้ท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) ผู้เป็นอาแต่งตัวให้ตามประเพณี แล้วสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็โปรดให้เข้าถวายตัวหลังการโกนจุก และมีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วลาออกจากโรงเรียน และทูลลาออกมาพำนักที่บ้าน

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็โปรดให้เปรื่องมาเป็นนางพระกำนัลของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ก็ทรงแต่งตั้งให้เปรื่องเป็นนางพระกำนัลตามเสด็จพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณต่อไป และได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่มีการจัดตั้งกองเสือป่าหญิงขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปรื่อง สุจริตกุล รับพระราชทานยศนายกกองเสือป่าหญิงรุ่นแรกด้วย

ขณะที่เปรื่องมีอายุราว 18 ปี ได้อุปการะนิภา อภัยวงศ์ (ชื่อเดิม ประคอง พุ่มทองสุก) มาเป็นบุตรบุญธรรม โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้เลี้ยง ผู้สอนหนังสือและการขับร้องด้วยตนเอง และได้อุปการะหม่อมเจ้าสีดาดำรวง ชุมพล (ราชสกุลเดิม สวัสดิวัตน์) แต่ต่อมาได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปการะแทน

อภิเษกสมรส

เปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสุจริตสุดา ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

เมื่อเปรื่องมีอายุได้ 26 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอเปรื่องจากเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งบางคนกล่าวกันว่าในเวลานั้นเปรื่องมีคนรักอยู่แล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระราชวังพญาไท เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 และถือเป็นสุภาพสตรีสามัญชนคนแรกที่ได้เข้าพิธีดังกล่าว โดยสวมชุดเป็นเจ้าสาวแบบอังกฤษคือสวมเสื้อกระโปรงสีขาว มีผ้าโปร่งสีขาวคลุมศีรษะ ประดับดอกส้ม และถือช่อดอกไม้ ทรงคล้องพระกรกับเปรื่อง ทรงพระดำเนินลอดซุ้มประสานดาบ โดยมีเพลงไบรดัลคอรัสบรรเลงขณะดำเนินพิธี มีการพระราชทานน้ำสังข์เป็นทางการด้วยพระกรุณาของสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระสุจริตสุดา ตำแหน่งพระสนมเอก พร้อมทั้งพระราชทานตราจุลจอมเกล้าให้สมกับศักดิ์พระสนมเอก เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "คุณพระ" หากเมื่อใดตั้งครรภ์จะสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า แต่อย่างไรก็ตามพระสุจริตสุดามิได้มีครรภ์สมดั่งพระราชประสงค์

ในเวลาต่อมาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) มีความประสงค์ที่จะถวายตัวฉวี บุนนาค ธิดามหาอำมาตย์ตรี พระยาประภากรวงษ์ (ว่อง บุนนาค) ซึ่งเป็นหญิงนักเรียนนอกจากสกุลบุนนาคเป็นฝ่ายในเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ เพราะตระกูลบุนนาคส่งสตรีเข้าเป็นบาทบริจาริกามาตลอดทุกรัชกาล แต่พระสุจริตสุดากราบบังคมทูลว่าจะถวายน้อง ๆ ของตนเองแทน ด้วยเหตุนี้พระสุจริตสุดาจึงให้ประไพ ซึ่งเป็นน้องสาวไปถวายการรับใช้บ่อย ๆ ครั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาประไพ สุจริตกุลเป็นพระอินทรานี และต่อมาได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณขึ้นเป็นพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ และอาศัยร่วมกันในพระราชวังพญาไท ส่วนตัวพระสุจริตสุดาอาศัยที่พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ หากมีพระราชพิธี พระนางเธอ ลักษมีลาวัณจะเป็นผู้นำและประทับคู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระสุจริตสุดาและพระอินทรานีเดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ แต่ภายหลังพระนางเธอ ลักษมีลาวัณทรงแยกไปอยู่ในพระตำหนักในพระราชวังดุสิต ส่วนพระอินทรานีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายเพราะตั้งพระหน่อ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาเป็นตำแหน่งสุดท้าย พระสุจริตสุดาโดยเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ต่าง ๆ พร้อมกับพระราชสวามี และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาเสมอ และพระสุจริตสุดาเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่อยู่ในพระราชวังพญาไทคอยปรนนิบัติพัดวีพระราชสวามีตลอดรัชกาล มีบางครั้งที่พระสุจริตสุดาไม่ขึ้นเฝ้าเพราะสุขภาพไม่อำนวย แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิทรงกริ้ว หากแต่ทรงเมตตาและไว้วางพระราชหฤทัยมาตลอด

พระสุจริตสุดาสนใจเรื่องดนตรีโดยเฉพาะการขับร้องซึ่งมีความชำนาญเป็นเลิศ คอยถวายงานจัดเครื่องดนตรี เครื่องสายผสมบรรเลงทุกเวลาค่ำ เคยเป็นต้นเสียงร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เมื่อ พ.ศ. 2464 คราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนตอนนางลอย และพระองค์ทรงพากย์ด้วยพระองค์เอง ด้วยความที่ท่านชื่นชอบดนตรีไทยเป็นชีวิตจิตใจ ช่วงเวลาดังกล่าวพระสุจริตสุดาได้รับอุปการะเด็กอายุ 10-15 ปี เพื่อมาเป็นนักดนตรี ได้แก่ นิภา อภัยวงศ์, ทองดี สุจริตกุล และสุมิตรา สุจริตกุล (สกุลเดิม สิงหลกะ) ไว้คอยเล่นดนตรีแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังสิ้นการเสวยพระกระยาหาร ณ พระราชวังพญาไทเป็นประจำ

หลังการสวรรคตของพระสวามี

หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุจริตสุดาได้พำนักอยู่ภายในวังสวนสุนันทา แล้วจึงย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านพระสุจริตสุดา ถนนพระราม 5 หลังโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยอันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทาน ทั้งรับส่วนแบ่งพระราชมฤดกของพระสวามีอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามพระสุจริตสุดายังคงสนใจเรื่องเกี่ยวกับดนตรี ได้จัดตั้งวงเครื่องสายผสมเปียโนหญิงวงแรกของคณะนารีศรีสุมิตร เป็นวงดนตรีเครี่องคู่ ประกอบด้วยจะเข้, ซออู้, ซอด้วง, ฉิ่ง, โทน, รำมะนา และเปียโน โดยมีสุมิตรา สุจริตกุล เป็นผู้เล่นเปียโนและควบคุมวงดนตรี พระสุจริตสุดาสนใจในการเล่นเปียโนเป็นพิเศษ วงดนตรีคณะนี้ได้นำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาขับร้อง เช่น เพลงตับในเรื่องวิวาหพระสมุท คือเพลงโยนดาบ, จีนหน้าเรือ, ปี่แก้ว, ตะนาวแปลง เป็นต้น และยังได้แต่งคำร้องเพลง สุดาสวรรค์ โดยมีสุมิตรา สุจริตกุล เป็นผู้แต่งทำนอง

ด้านการกุศลได้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงพยาบาลต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้าง ตึกสุจริตสุดา ในโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น

ถึงแก่อนิจกรรม

ในปัจฉิมวัย พระสุจริตสุดาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทั้งค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย และที่พำนักในบริเวณที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร

จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 พระสุจริตสุดาได้ป่วยลงและเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2524 เวลา 22.45 น. รวมอายุได้ 85 ปี 3 เดือน 26 วัน และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2526

เกียรติยศ

ธรรมเนียมยศของ
พระสุจริตสุดา (เปรื่อง)
การเรียนคุณพระ
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับครับผม/ค่ะ

บรรดาศักดิ์

  • 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 — 26 ตุลาคม พ.ศ. 2464 : เปรื่อง สุจริตกุล
  • 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464 — 9 มีนาคม พ.ศ. 2524 : พระสุจริตสุดา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ยศทางเสือป่า

นายกองตรี พระสุจริตสุดา (เปรื่อง)
รับใช้กองเสือป่า
ประจำการพ.ศ. 2464–2468
ชั้นยศนายกองตรี
หน่วยกรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์
  • 23 มกราคม พ.ศ. 2464 นายกองตรี - สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

ตำแหน่งที่ได้รับ

  • สมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดสยาม (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2464 หลังพระสุจริตสุดาได้บริจาคเงินสมทบทุนสร้างสถานเสาวภา

สิ่งอันเนื่องจากบรรดาศักดิ์

  • เพลงสุดาสวรรค์เถา – เป็นเพลงเถาที่พระสุจริตสุดาแต่งเอง มีทำนองคล้ายเพลงมอญรำดาบ ใช้บทร้องจากเรื่อง ปล่อยแก่ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ตึกพระสุจริตสุดา – อาคารภายในโรงพยาบาลศิริราช
  • บ้านสุจริตเวศน์ – บ้านพักส่วนตัวของพระสุจริตสุดาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลำดับสาแหรก

อ้างอิง

    เชิงอรรถ
    บรรณานุกรม
  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : รุ่งวัฒนา. 2515
  • ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" ในรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
  • พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554
  • พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561
  • ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554

Tags:

เปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา ประวัติเปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา เกียรติยศเปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา สิ่งอันเนื่องจากบรรดาศักดิ์เปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา ลำดับสาแหรกเปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดา อ้างอิงเปรื่อง สุจริตกุล พระสุจริตสุดากิมไล้ สุธรรมมนตรีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

เซี่ยงไฮ้เพลงพีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพรวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารกีบ (สกุลเงิน)อนันต์รายพระนามและชื่อผู้บัญชาการทหารบกไทยเฟร์นันโด ตอร์เรสประเทศไทยรายชื่อโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่มัสเกตเทียส์ขอบตาแพะกองบัญชาการตำรวจนครบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์ประเทศอินเดียประชาธิปไตยธี่หยดประเทศเยอรมนีประเทศเวียดนามไดโนเสาร์โปเตโต้ประเทศจอร์เจียทักษอร ภักดิ์สุขเจริญระบบสุริยะเทศน์ เฮนรี ไมรอนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัสกองทัพบกไทยเมธวิน โอภาสเอี่ยมขจรข้าราชการไทยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบคดีปริศนา หมอยาตำรับโคมแดงโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยพจมาน ณ ป้อมเพชรแอนดรอยด์ (ระบบปฏิบัติการ)จังหวัดของประเทศญี่ปุ่นทวีปยุโรปอุษามณี ไวทยานนท์อินเจนูอิตีดาบพิฆาตอสูรมีนาคมมุกดา นรินทร์รักษ์สังคหวัตถุ 4สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเกมพีระมิด (ละครโทรทัศน์เกาหลีใต้)สฤษดิ์ ธนะรัชต์พรรคภูมิใจไทยเครยอนชินจังกรุงเทพมหานครเลโอนาร์โด ดา วินชีทวีปแอฟริกาสงครามเวียดนามการ์ตูนซันนี่ สุวรรณเมธานนท์อชิรญา นิติพนพัฒน์ชัย ภักดีสู่สุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ฮันเตอร์ x ฮันเตอร์เลขประจำตัวประชาชนไทยอวตาร (ภาพยนตร์)ธีรเดช เมธาวรายุทธโมนาลิซาเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทยรายพระนามและชื่ออธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทยภาษาเกาหลีวชิรวิชญ์ ชีวอารีเอ็งดรีกี เฟลีปีโรงเรียนสตรีวิทยาเหตุการณ์ 14 ตุลารายชื่อโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครX-เม็น (ภาพยนตร์ชุด)จังหวัดลพบุรีระบบลิซ่า (แร็ปเปอร์)มหาวิทยาลัยมหิดล🡆 More