ความจำชัดแจ้ง

ความจำชัดแจ้ง (อังกฤษ: Explicit memory) หรือบางครั้งเรียกว่า ความจำเชิงประกาศ (อังกฤษ: Declarative memory) เป็นประเภทหนึ่งของความจำระยะยาวสองอย่างในมนุษย์ ความจำชัดแจ้งหมายถึงความจำที่สามารถระลึกได้ใต้อำนาจจิตใจเช่นความจริงและความรู้ต่าง ๆ ดังนั้น การระลึกถึงประสบการณ์ในอดีตหรือข้อมูลอื่น ๆ โดยตั้งใจและประกอบด้วยความรู้สึกตัวว่ากำลังระลึกถึงความจำ จึงเป็นการระลึกถึงความจำชัดแจ้ง: 1458  มนุษย์มีการจำได้แบบชัดแจ้งตลอดทั้งวัน เช่นจำเวลานัดได้ หรือจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปีได้

ความจำชัดแจ้ง
ประเภทและกิจหน้าที่ของความจำในวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ

ส่วนความจำที่คู่กันก็คือ "ความจำโดยปริยาย" (implicit memory) หรือ "ความจำเชิงไม่ประกาศ" (non-declarative memory) หรือ "ความจำเชิงกระบวนวิธี" (procedural memory): 1446  ซึ่งหมายถึงความจำที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจเช่นทักษะต่าง ๆ (ตัวอย่างเช่น ทักษะในการขี่จักรยาน) การเข้าถึงความจำโดยปริยายไม่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว ไม่ใช่เป็นการระลึกได้ด้วยความตั้งใจ ให้เทียบกับการระลึกถึงความจำชัดแจ้งซึ่งเป็นการระลึกได้พร้อมด้วยความรู้สึกตัว ตัวอย่างเช่น การระลึกถึงการหัดขับรถชั่วโมงหนึ่งได้เป็นตัวอย่างของการจำได้แบบชัดแจ้ง ส่วนทักษะการขับรถที่พัฒนาขึ้นเพราะการหัดขับรถนั้นเป็นตัวอย่างของการจำได้โดยปริยาย

ส่วนความจำชัดแจ้งยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทอีก คือ

ประเภท

มีความจำชัดแจ้งสองประเภทคือ ความจำอาศัยความหมาย และ ความจำอาศัยเหตุการณ์

"ความจำอาศัยความหมาย" (Semantic memories) เป็นความจำที่บันทึกความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงทั่ว ๆ ไปที่เป็นอิสระจากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นความจำชัดแจ้งอย่างอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่ความจำอาศัยเหตุการณ์ ตัวอย่างรวมทั้ง ประเภทอาหาร, เมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ, เขตภูมิภาค, ความรู้ต่าง ๆ ทางภาษาเช่นคำศัพท์ที่รู้, ความรู้เกี่ยวกับเวลาและบุคคลในประวัติศาสตร์, ความสามารถในการจำเพื่อนและคนคุ้นเคยต่าง ๆ ได้ และบทเรียนในโรงเรียนเช่นคำศัพท์เฉพาะทางต่าง ๆ การอ่าน การเขียน และวิชาคณิต

"ความจำอาศัยเหตุการณ์" (Episodic memories) เป็นความจำที่บันทึกข้อมูลที่ได้สังเกตไว้เชื่อมต่อกับเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ในชีวิต ตัวอย่างของความจำชนิดนี้รวมทั้ง การเข้าห้องเรียนห้องหนึ่ง ๆ เป็นครั้งแรก, การเก็บกระเป๋าเดินทางไว้บนชั้นเหนือศีรษะเมื่อกำลังขึ้นเครื่องบินไปยังอีกที่หนึ่งในช่วงเวลาของวันหนึ่ง ๆ, การถูกไล่ออกจากงาน, หรือว่าการไล่ลูกน้องออกจากงาน การระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์สามารถพิจารณาได้ว่า เป็นการมีชีวิต (ทางใจ) ผ่านเหตุการณ์ในอดีตนั้นอีกครั้งหนึ่ง เชื่อกันว่า ความจำอาศัยเหตุการณ์เป็นระบบพื้นฐานที่สนับสนุนความจำอาศัยความหมาย การระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลนั้น อาจะเป็นการระลึกได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลนั้นโดยตรง หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บุคคลนั้น พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ เป็นการระลึกถึงประสบการณ์ชีวิตโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความจำอาศัยเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการระลึกถึงอดีต แต่ไม่มีผลโดยตรงต่อการจินตนาการถึงอนาคต เป็นคุณสมบัติที่เชื่อกันว่าเป็นของเฉพาะมนุษย์ เป็นไปตามการเติบโตตามวัย ดังนั้นจึงไม่มีในเด็กทารกและเด็กเล็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ความจำอาศัยเหตุการณ์อาจจะเกิดการขัดข้องถ้ามีประสบการณ์ชีวิตที่ทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง

ในปัจจุบัน ยังไม่มีใครค้นพบระบบประสาทที่เป็นพื้นฐานของความจำอาศัยเหตุการณ์และความจำอาศัยความหมาย แต่ว่า นักวิทยาศาสตร์ทัลวิงและทอมสันได้เสนอว่า ความจำอาศัยเหตุการณ์นั้นอาศัยซีกสมองด้านขวา และความจำอาศัยความหมายอาศัยซีกสมองด้านซ้าย

ประวัติของชาวตะวันตก

งานศึกษาของชาวตะวันตกเกี่ยวกับเรื่องความจำมนุษย์มีมานานกว่า 2,000 ปี งานชิ้นแรก ๆ ที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจำพบในบทความสำคัญของอะริสโตเติลคือ On the Soul ที่เขาเปรียบเทียบใจมนุษย์กับแผ่นกระดานที่ขาวสะอาด เขาตั้งทฤษฎีว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาปราศจากความรู้อะไร ๆ แต่ละคน ๆ จึงต่างกันโดยประสบการณ์ชีวิตของตน แต่ไม่มีการศึกษาที่ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่นักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อว่าเฮอร์แมน เอ็บบิงเฮาส์ ผู้ได้เริ่มใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นคนแรกในการศึกษาเรื่องความจำ แม้ว่าสิ่งที่เขาค้นพบบางอย่างก็ยังเป็นเรื่องที่ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ (เช่นเรื่อง Learning curve [เส้นโค้งการเรียนรู้]) แต่ว่า ผลงานที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่องานวิจัยความจำก็คือว่า ความจำนั้นศึกษาได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1972 เอ็นเด็ล ทัลวิง เสนอความต่างกันระหว่างความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) และความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) ข้อเสนอนี้เกิดการยอมรับอย่างรวดเร็วและเดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในปี ค.ศ. 1985 แดเนียล สแค็คเตอร์ ได้เสนอความแตกต่างในระดับที่ทั่วไปยิ่งขึ้นระหว่างความจำชัดแจ้ง (หรือความจำเชิงประกาศ) และความจำโดยปริยาย (หรือความจำเชิงกระบวนวิธี)

หลังจากนั้น เพราะเหตุแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้างภาพประสาท (neuroimaging) จึงได้มีการค้นพบมากมายที่สัมพันธ์เขตในสมองต่าง ๆ กับความจำชัดแจ้ง ถึงอย่างนั้น แม้ว่าจะได้มีความก้าวหน้ามากมายในสาขาจิตวิทยาประชาน (Cognitive psychology) อย่างนี้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องสืบหาอีกมากเกี่ยวกับกลไกที่เป็นมูลฐานของความจำชัดแจ้ง คือ ยังไม่ชัดเจนว่าความจำชัดแจ้งนั้นสื่อโดยระบบความจำ (ทางประสาท) อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หรือว่าควรที่จะจัดประเภทเป็นเพียง "แบบหนึ่งของความรู้" และก็ยังไม่รู้เลยว่า ความจำชัดแจ้งนั้นทำไมจึงเกิดการวิวัฒนาการขึ้นหรือว่า มีการวิวัฒนาการที่เป็นไปอย่างไร

ประสาทจิตวิทยา

โครงสร้างทางประสาทที่มีบทบาท

โครงสร้างทางประสาทหลายอย่างรับการเสนอว่ามีบทบาทเกี่ยวกับความจำชัดแจ้ง ที่โดยมากอยู่ในสมองกลีบขมับหรือโครงสร้างที่สัมพันธ์กันในระดับสูง เช่นอะมิกดะลา, ฮิปโปแคมปัส, rhinal cortex ในสมองกลีบขมับ และ prefrontal cortex นอกจากนั้นแล้ว นิวเคลียสต่าง ๆ ในทาลามัสก็มีส่วนร่วมด้วย เพราะว่ามีการเชื่อมต่อกันอย่างมากมายระหว่าง prefrontal cortex กับคอร์เทกซ์สมองกลีบขมับผ่านทาลามัส เขตต่าง ๆ ที่เป็นวงจรระบบความจำชัดแจ้งรับข้อมูลจากคอร์เทกซ์ใหม่และจากระบบต่าง ๆ ในก้านสมองรวมทั้งระบบที่ใช้สารสื่อประสาท acetylcholine, เซโรโทนิน, และ noradrenaline

หน้าที่ของสมองปกติ

ฮิปโปแคมปัส

ความจำชัดแจ้ง 
ฮิปโปแคมปัสมีสีแดง

แม้ว่า จะมีนักจิตวิทยาจำนวนมากที่เชื่อว่า สมองทุกส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความจำ แต่ว่า บริเวณสมองที่ชื่อว่า ฮิปโปแคมปัสและโครงสร้างอื่นที่อยู่รอบ ๆ ดูเหมือนจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะต่อความจำชัดแจ้ง ความสามารถที่จะทรงไว้หรือระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์ต้องอาศัยฮิปโปแคมปัสเป็นอย่างยิ่ง เปรียบเทียบกับการสร้างความจำชัดแจ้งใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยทั้งฮิปโปแคมปัสและทั้งรอยนูนรอบฮิปโปแคมปัส (Parahippocampal gyrus) งานวิจัยอื่น ๆ พบว่า รอยนูนรอบฮิปโปแคมปัสมีความสัมพันธ์กับความจำแบบรู้จำ (Recognition Memory) ที่ดีกว่า

ในปี ค.ศ. 2001 ไอเค็นบอมและคณะได้เสนอแบบจำลอง 3 ระยะ (Three Stage Model) และเสนอว่า ฮิปโปแคมปัสมีหน้าที่ 3 อย่างต่อความจำอาศัยเหตุการณ์ คือ

  1. สื่อการบันทึกความจำอาศัยเหตุการณ์
  2. ระบุลักษณะที่สามัญระหว่างความจำต่าง ๆ
  3. สัมพันธ์เหตุการณ์ที่เหมือนกันเป็นปริภูมิความจำ (memory space) ซึ่งสามารถใช้ในการกำหนดนัยทั่วไปคือใช้ในการอนุมาน ที่มีการสัมพันธ์เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นฐาน

เพื่อที่จะเป็นหลักฐานสนับสนุนแบบจำลองนี้ มีการทดลองที่ใช้ Piaget’s Transitive Inference Task ที่แสดงว่า มีการใช้ฮิปโปแคมปัสเป็นปริภูมิความจำ

เมื่อเรากำลังประสบเหตุการณ์หนึ่งเป็นครั้งแรก ก็จะมีการสร้างตัวเชื่อมต่อ (link) ขึ้นในฮิปโปแคมปัสเพื่อที่จะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้ในอนาคต และจะมีการสร้างตัวเชื่อมต่อต่าง ๆ กันเพื่อองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพบใครใหม่ จะมีการสร้างตัวเชื่อมต่อสำหรับคนนั้น และก็จะมีการสร้างตัวเชื่อมต่ออื่น ๆ ที่เชื่อมกับตัวเชื่อมต่อของคนนั้นเพื่อที่จะสามารถจำได้ว่า คนนั้นใส่เสื้อสีอะไร ว่าภูมิอากาศเป็นอย่างไรเมื่อพบคนนั้น ฯลฯ เหตุการณ์เฉพาะอย่าง ๆ จะจำและระลึกได้ง่ายขึ้นถ้าเราระลึกถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ (ซึ่งเพิ่มกำลังการเชื่อมต่อของตัวเชื่อมต่อในปริภูมิความจำ) ดังนั้น ก็จะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้เร็วยิ่งขึ้น

เซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสจะเกิดการทำงานอย่างเฉพาะเจาะจงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น เซลล์บางส่วนมีความเฉพาะเจาะจงกับข้อมูลพื้นที่ สิ่งเร้าบางประเภท (เช่นกลิ่นเป็นต้น) หรือพฤติกรรมบางอย่าง ดังที่ได้ปรากฏในงานทดลองที่ใช้ Radial Maze Task (เขาวงกตเป็นรูปวงกลม) ดังนั้น ฮิปโปแคมปัสจึงเป็นเขตสมองที่ทำให้เราสามารถรู้จำเหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อม หรืออะไรอย่างอื่นบางอย่าง ว่าแตกต่างหรือเหมือนกับสิ่งที่เคยประสบอื่น ๆ อย่างไรก็ดี แบบจำลอง 3 ขั้นตอนยังไม่ได้รวมโครงสร้างในคอร์เทกซ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความจำ

กายวิภาคของฮิปโปแคมปัสเหมือนกันโดยมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวกับความจำชัดแจ้งก็เหมือน ๆ กันด้วย การจัดระเบียบและวิถีประสาทของฮิปโปแคมปัสคล้ายคลึงกันมากในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสปีชีส์อื่น ๆ ในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ การผ่าฮิปโปแคมปัสตัดขวาง (cross-section) จะแสดง dentate gyrus และชั้นต่าง ๆ ที่หนาแน่นไปด้วยเซลล์ของ CA fields (คือเขต Cornu ammonis area 1-4) การเชื่อมต่อกันของเขตต่าง ๆ เหล่านี้ก็เหมือนกันในสปีชีส์ต่าง ๆ อีกด้วย

ผลงานทดลองทำโดยดาวาชี มิตเช็ล และวากเนอร์ (ค.ศ. 2003) และงานวิจัยที่ตามมาอื่น ๆ (ดาวาชี ค.ศ. 2006) แสดงว่า การทำงานในฮิปโปแคมปัสขณะที่มีการเข้ารหัสความจำมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น

Prefrontal cortex

คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal cortex ตัวย่อ PFC) ด้านข้างเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการระลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของประสบการณ์ แต่ไม่จำเป็นในการสร้างความจำ นอกจากนั้นแล้ว PFC ยังมีบทบาทเกี่ยวกับความจำอาศัยความหมายโดยเฉพาะด้านซ้าย โดยมีงานทดลองหนึ่งในปี ค.ศ. 2004 พบว่า ถ้าเป็นการระลึกถึงความรู้เกี่ยวกับตน จะเป็นการทำงานในระดับที่ต่ำกว่าเปรียบเทียบกับเมื่อระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์ในอดีต แม้ว่า นักวิชาการยังไม่มีมติร่วมกันว่า กระบวนการทำงานของความจำอาศัยความหมายเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นที่ไหนใน PFC

โดยใช้การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (PET) และสิ่งเร้าที่เป็นคำศัพท์ เอ็นเด็ล ทัลวิงพบว่า การระลึกถึงความจำเป็นกระบวนการอัตโนมัติ ในปี ค.ศ. 1994 มีงานวิจัยที่แสดงว่า PFC ในซีกสมองทั้งสองมีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน คือ เมื่อเข้ารหัสความจำ Dorsolateral PFC ซีกซ้ายจะทำงาน และเมื่อระลึกถึงความจำ Dorsolateral PFC ข้างขวาก็จะทำงาน

งานวิจัยต่าง ๆ ยังแสดงอีกด้วยว่า PFC มีบทบาทอย่างสำคัญเกี่ยวกับ autonoetic consciousness ซึ่งเป็นความสามารถของมนุษย์ในการคิดถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับตัวเราในอดีต ในอนาคต หรือในเหตุการณ์สมมติ และในการวิเคราะห์ความคิดของตนเอง จึงเป็นเหตุของความสามารถในการระลึกถึงประสบการณ์ในอดีต และในการ "เที่ยวไปในอดีตหรืออนาคตในใจ" ซึ่งเป็นลักษณะของความจำอาศัยเหตุการณ์

ความจำชัดแจ้ง 
อะมิกดะลามีสีแดง

อะมิกดะลา

เชื่อกันว่า อะมิกดะลามีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้ารหัสและการระลึกถึงความจำที่ประกอบไปด้วยอารมณ์ หลักฐานของความเข้าใจนี้โดยมากมาจากงานวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า flashbulb memory (ซึ่งเป็นความจำที่มีรายละเอียดสูง ชัดเจนกว่าปกติ ของขณะ ๆ หนึ่ง หรือของเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราได้ยินข่าวที่น่าแปลกใจและก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก) มีตัวอย่าง (โดยเฉพาะของชาวอเมริกัน) ที่ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ปรากฏเป็นรายละเอียดในระดับสูงและสามารถจำได้นานกว่าความจำปกติทั่วไป (เช่น เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือเหตุการณ์ฆ่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจอห์น เอฟ เคเนดี) ความทรงจำเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการทำงานในระดับสูงขึ้นของอะมิกดะลา งานวิจัยในปี ค.ศ. 2005 ในคนไข้ที่มีความเสียหายในอะมิกดะลาบอกเป็นนัยว่า อะมิกดะลามีบทบาทในความจำเกี่ยวกับความรู้แบบทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่เกี่ยวกับรายละเอียดโดยเฉพาะ

โครงสร้างอื่น ๆ ที่มีบทบาท

เขตต่าง ๆ ใน Diencephalon จะเกิดการทำงานเมื่อมีการระลึกถึงความจำที่ย้อนไกลไปในอดีต และเขตต่าง ๆ คือ สมองกลีบท้ายทอย สมองกลีบขมับส่วนล่าง และ Fusiform gyrus ล้วนแต่มีบทบาทในการสร้างความจำ

งานวิจัยโดยรอยโรค

การศึกษาโดยใช้รอยโรคเป็นเรื่องปกติในงานวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชาน รอยโรคอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากความบาดเจ็บและโรค หรืออาจจะเกิดขึ้นโดยศัลยกรรมทำโดยนักวิจัย ในเรื่องของความจำชัดแจ้ง ฮิปโปแคมปัสและอะมิกดะลาเป็นโครงสร้างที่มักจะใช้เทคนิคนี้ในการศึกษา

งานศึกษารอยโรคในฮิปโปแคมปัส

ความจำชัดแจ้ง 
สระวงกตมอร์ริส (Morris water maze)

งานหาทางในสระของมอร์ริส (Morris water navigation task) เป็นวิธีการศึกษาการเรียนรู้พื้นที่ของหนู ในงานนี้ หนูเรียนรู้ที่จะหนีออกจากสระโดยว่ายน้ำไปยังแท่นที่จมอยู่ใต้น้ำเพียงเล็กน้อย ตัวช่วยในการสังเกตจะอยู่รอบ ๆ สระ (เป็นเก้าอี้หรือหน้าต่าง) เพื่อช่วยหนูในการหาแท่นในการทดสอบครั้งต่อ ๆ ไป การใช้เหตุการณ์เฉพาะแต่ละอย่าง ตัวช่วยทางตา และสถานที่ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นรูปแบบของความจำชัดแจ้ง

มีการทดลองกับหนู 2 กลุ่ม กลุ่มควบคุมไม่มีรอยโรค และกลุ่มทดลองมีรอยโรคในฮิปโปแคมปัส ในการทดสอบที่มอร์ริสและคณะได้คิดขึ้น จะมีการปล่อยหนูลงในสระที่ตำแหน่งเดียวกันตลอดการทดลอง 12 ครั้ง การทดลองแต่ละครั้งจะมีการบันทึกทั้งเวลาทั้งทางว่ายน้ำของหนู แม้ว่า หนูที่มีรอยโรคจะสามารถเรียนรู้ที่จะหาแท่นใต้น้ำ แต่ว่าถ้าถูกปล่อยในจุดต่าง ๆ กัน หนูที่มีรอยโรคปกติจะไม่สามารถหาแท่นเจอได้ แต่ว่า หนูกลุ่มควบคุมจะสามารถหาแท่นโดยใช้ตัวช่วยต่าง ๆ ที่เรียนรู้ในการทดลองครั้งก่อน ๆ ได้ ผลนี้แสดงว่า ฮิปโปแคมปัสมีบทบาทในความจำชัดแจ้ง คือโดยแบบจำลอง 3 ระยะของไอเค็นบอม ฮิปโปแคมปัสมีการสร้างความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปริภูมิความจำที่สามารถใช้เพื่ออนุมานหาคำตอบได้ แต่เพราะหนูที่มีรอยโรคขาดโครงสร้างนี้ จึงไม่สามารถทำการอนุมานเหมือนกับหนูในกลุ่มควบคุมได้

การทดสอบโดยใช้ Odor-odor Recognition Task ที่คิดขึ้นโดยบันซีย์และไอเค็นบอมมีการพบกันระหว่างหนูสองตัว (เรียกว่า "ตัวทดลอง" [subject] และ "ตัวแสดง" [demonstrator]) หนูตัวแสดงหลังจากที่ได้กินอาหารชนิดหนึ่งจะมาพบกับหนูตัวทดลอง ซึ่งก็จะดมกลิ่นอาหารจากลมหายใจของหนูตัวแสดง หลังจากนั้น นักวิจัยก็จะให้หนูตัวทดลองตัดสินใจระหว่างอาหารสองประเภท ประเภทแรกเป็นอาหารที่หนูตัวแสดงได้กิน และประเภทที่สองเป็นอาหารชนิดใหม่ นักวิจัยพบว่า เมื่อไม่มีช่วงเวลาที่คั่นระหว่าง ทั้งหนูกลุ่มควบคุมและหนูที่มีรอยโรคเลือกอาหารที่หนูตัวแสดงได้กิน แต่หลังจาก 24 ช.ม. หนูที่มีรอยโรคในฮิปโปแคมปัสจะเลือกอาหารทั้งสองประเภทเป็นครึ่งต่อครึ่ง ในขณะที่หนูกลุ่มควบคุมจะเลือกอาหารที่หนูตัวแสดงได้กิน ซึ่งอธิบายได้โดยความที่หนูที่มีรอยโรคในฮิปโปแคมปัสไม่สามารถสร้างความจำอาศัยเหตุการณ์ใหม่ สิ่งที่เห็นในงานทดลองนี้ก็สามารถเห็นได้ในมนุษย์ผู้มีภาวะเสียความจำ (amnesia) ด้วย ซึ่งบ่งความเป็นนัยทั่วไปของบทบาทที่ฮิปโปแคมปัสมีในการสร้างความจำอาศัยเหตุการณ์

นายเฮ็นรี่ โมไลสัน ซึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตรู้จักกันว่า "คนไข้ H.M." ได้รับการตัดสมองกลีบขมับด้านใน (คือ medial temporal lobe รวมทั้งฮิปโปแคมปัส) บางส่วนจากซีกสมองทั้งสองข้าง ซึ่งมีผลเป็นการสูญเสียความสามารถในการสร้างความจำใหม่ ๆ ความจำชัดแจ้งระยะยาวของเขามีความเสียหายอย่างสำคัญ เมื่อโครงสร้างต่าง ๆ จากสมองกลีบขมับด้านในถูกตัดออก รวมทั้งความสามารถในการสร้างความจำอาศัยความหมายและความรู้เชิงความหมาย (semantic knowledge) ใหม่ ๆ

ความแตกต่างกันระหว่างการสร้างความจำชัดแจ้งและการเรียนรู้ประเภทอื่น ๆ ในโมไลสัน ครั้งแรกสุดเห็นจากการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว (motor learning) ความจำชัดแจ้งของโมไลสันไม่ทำงาน ดังที่เห็นเมื่อเขารับการทดสอบทางการรู้จำ (recognition) ที่ต้องใช้ความจำชัดแจ้ง แต่ว่า คะแนนทักษะการเคลื่อนไหวของเขาดีขึ้นในการทดสอบครั้งต่อ ๆ ไป แม้ว่าจะยังต่ำกว่าบุคคลในกลุ่มควบคุม

ผลคล้าย ๆ กันกับการทดลองนี้ก็เห็นด้วยในการทดสอบหน้าที่พื้นฐานทางความจำอื่น ๆ เช่นการสร้างความจำ (remembering) การระลึกถึงความจำ (recall) และการรู้จำ (recognizing) ดังนั้น การมีรอยโรคจึงไม่ควรเป็นเหตุให้สรุปว่าเกิดความเสียหายแบบสิ้นเชิง เพราะว่าในกรณีของนายโมไลสัน ไม่ได้มีการสูญเสียความจำและการรู้จำทั้งหมด และถึงแม้ว่าความจำชัดแจ้งของนายโมไลสันจะเสียหายอย่างรุนแรง เขาก็ยังมีความรู้สึกว่าตน (sense of self) และยังมีความทรงจำที่มีมาก่อนการเกิดรอยโรคที่ยังหลงเหลืออยู่


คนไข้ R.B. เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ให้หลักฐานสนับสนุนบทบาทของฮิปโปแคมปัสในความจำชัดแจ้ง หลังจากประสบกับการขาดเลือดเฉพาะที่ในสมองในระหว่างการผ่าตัดหัวใจแบบบายพาส คนไข้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde) อย่างรุนแรง ระดับเชาวน์ปัญญาและภาวะทางประชานอื่น ๆ ไม่มีความเสียหาย แต่ว่า มีความบกพร่องเกี่ยวกับความจำชัดแจ้ง (แม้ว่าจะไม่เท่ากับในกรณีของนายโมไลสัน) เมื่อเสียชีวิตแล้ว การชันสูตรศพพบว่า คนไข้มีรอยโรคในซีกสมองทั้งสองข้างที่เขต CA1 ตลอดฮิปโปแคมปัส

งานวิจัยรอยโรคในอะมิกดะลา

อะดอลฟ์ คาฮิลล์ และชูลทำงานวิจัยที่แสดงว่า ความตื่นตัวทางอารมณ์สื่อการเข้ารหัสข้อมูลของความจำชัดแจ้งระยะยาว พวกเขาได้เลือกผู้รับการทดลอง 2 คน ที่มีความเสียหายต่ออะมิกดะลาในซีกสมองทั้งสองข้าง บุคคลในกลุ่มควบคุม 6 คน และบุคคลอีก 6 คนที่มีความเสียหาย (อื่น) ในสมอง แล้วแสดงชุดแผ่นภาพเลื่อน 12 ชิ้นที่ประกอบด้วยการเล่าอธิบาย แผ่นภาพต่าง ๆ ทำให้เกิดอารมณ์ในระดับต่าง ๆ กัน แผ่นที่ 1-4 และแผ่นที่ 9-12 ไม่ทำให้เกิดอารมณ์ ส่วนแผ่นที่ 5-8 แสดงภาพที่ทำให้เกิดอารมณ์ ส่วนแผ่นที่ 7 มีภาพและคำบรรยายที่ทำให้เกิดอารมณ์มากที่สุด (เป็นภาพของขาทั้งสองที่ต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม เป็นของผู้ได้รับอุบัติเหตุรถยนต์)

กลุ่มที่ได้รับความบาดเจ็บในสมองทั้งสองข้าง ไม่ได้จำแผ่นที่ทำให้เกิดอารมณ์มากที่สุด (แผ่นที่ 7) ได้ดีกว่าแผ่นอื่น ๆ ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือจำแผ่นที่ 7 ได้ดีที่สุด จำได้ละเอียดมากที่สุด เมื่อเทียบกับแผ่นอื่น ๆ ที่เหลือ ผลงานนี้แสดงว่า อะมิกดะลาเป็นส่วนที่จำเป็นในการเข้ารหัสความรู้ชัดแจ้งที่ประกอบด้วยสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอารมณ์ แต่ไม่จำเป็นในการเข้ารหัสความรู้ของสิ่งเร้าที่ไม่ก่อให้เกิดอารมณ์แต่เป็นกลาง ๆ

องค์ต่าง ๆ ที่มีผลต่อความจำชัดแจ้ง

การเข้ารหัสและการค้นคืน

การเข้ารหัสความจำชัดแจ้งนั้นอาศัยการประมวลผลที่ขับโดยความคิด (conceptually driven) ที่เป็นไปจากบนลงล่าง (top-down) เป็นกระบวนการที่บุคคลนั้นทำการจัดระเบียบข้อมูลเพื่อการบันทึก คือ บุคคลนั้นต้องใส่ใจในข้อมูลนั้น และต้องสัมพันธ์ข้อมูลนั้นกับความรู้ที่เกี่ยวข้องกันที่ได้ตั้งมั่นเป็นอย่างดีแล้วในระบบความจำ นอกจากนั้นแล้ว แรงจูงใจที่มีกำลังก็จะช่วยการเข้ารหัสข้อมูลนั้นให้มีกำลังเพิ่มขึ้นอีกด้วย: 1447 

เพราะฉะนั้น วิธีการประมวลข้อมูลเพื่อเข้ารหัสจะมีผลต่อการระลึกถึงข้อมูลนั้นในภายหลังเป็นอย่างสูง เช่น มีปรากฏการณ์ประมวลผลอย่างลึกซึ้ง (depth-of-processing effect) อันเป็นการระลึกถึงข้อมูลนั้นในภายหลังได้ดีขึ้น ถ้าบุคคลนั้นได้พิจารณาถึงความหมายและรูปแบบของข้อมูลนั้น ๆ จะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เพื่อจะสร้างความจำแบบชัดแจ้ง เราต้อง "ทำ" อะไรบางอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์นั้น ๆ เช่น คิดถึง กล่าวถึง เขียนบันทึก ศึกษา ฯลฯ ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งจำได้ดีเท่านั้น การทดสอบข้อมูลในขณะที่กำลังเรียนอยู่จะช่วยการเข้ารหัสความจำชัดแจ้งนั้นให้ดีขึ้น คือ ถ้านักเรียนอ่านหนังสือแล้วทดสอบตนเองภายหลังทันที ความจำโดยความหมาย (semantic memory) ในสิ่งที่อ่านจะดีขึ้น วิธี "ศึกษา-ตรวจสอบ" นี้ทำการเข้ารหัสข้อมูลนั้นให้ดีขึ้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Testing Effect

ส่วนในการระลึกถึงความจำ เพราะว่าบุคคลนั้นมีบทบาทในการเข้ารหัสข้อมูลชัดแจ้ง สิ่งที่ใช้ช่วยในการเข้ารหัสความจำ (cues) ก็สามารถนำมาใช้ในการระลึกถึงความจำนั้นได้ด้วย เช่น เมื่อเราพูดถึงประสบการณ์นั้น ๆ คำที่เราพูดจะช่วยเมื่อพยายามที่จะระลึกถึงประสบการณ์นั้น ๆ ในภายหลัง สถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีเมื่อจำข้อมูลนั้น ๆ สามารถมีผลต่อการระลึกถึงข้อมูลนั้นภายหลัง ถ้าเรามีสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน มีตัวช่วยต่าง ๆ ที่เหมือนกัน กับเมื่อเราจำข้อมูลนั้น ๆ มีโอกาสสูงขึ้นที่เราจะระลึกถึงข้อมูลนั้นได้ นี้เรียกว่า ความจำเพาะในการเข้ารหัส (encoding specificity) ซึ่งก็มีผลด้วยต่อความจำชัดแจ้ง

งานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้รับการทดลองระลึกถึงข้อมูลโดยใช้ตัวช่วย (cued recall task) พบว่า ผู้รับการทดลองที่มีความจำใช้งาน (working memory) ที่ดีกว่า ทำการทดสอบได้ดีกว่าผู้รับการทดลองที่มีความจำใช้งานที่แย่กว่า เมื่อสถาณการณ์ต่าง ๆ เหมือนกัน (ระหว่างตอนที่จำและตอนที่ระลึกถึง) แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การระลึกถึงข้อมูลของบุคคลทั้งสองกลุ่มก็แย่ลง แต่ว่า ผู้ที่มีความจำใช้งานที่ดีกว่ามีผลตกลงมามากกว่า นี้เชื่อกันว่า เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เหมือนกันทำให้เกิดการทำงานในสมองในเขต left inferior frontal gyrus และฮิปโปแคมปัส

ความเครียด

ความเครียดมีผลต่อการสร้างความจำชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง ลูพีนและคณะได้ทำงานวิจัยที่แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการจำชุดคำศัพท์ ระยะที่สองเป็นการเข้าสู่สถานการณ์ที่ทำให้เครียด (ให้พูดต่อหน้าสาธารณชน) หรือที่ไม่ทำให้เครียด (ให้ทำงานต้องอาศัยความใส่ใจ) และระยะที่สาม เป็นการให้ผู้ร่วมการทดลองระลึกถึงคำที่ศึกษาในระยะที่ 1 ความจำชัดแจ้งเรียกว่ามีการสร้างขึ้นในระยะที่ 1 ถ้าผู้ร่วมการทดลองจำคำเหล่านั้นได้ ผลงานวิจัยมีข้อมูลที่บอกว่า สมรรถภาพของความจำชัดแจ้งลดลงในผู้ร่วมการทดลองที่ต้องผ่านสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดหลังจากศึกษาคำเหล่านั้น ซึ่งแสดงว่า ความเครียดของสถานการณ์สามารถทำสมรรถภาพในการสร้างความรู้ชัดแจ้งให้เสียหาย ในผู้ที่ผ่านสถานการณ์ที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเครียด ผู้ร่วมการทดลองสามารถจำคำที่ศึกษาในระยะ 1 ได้ดีกว่า

ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder ตัวย่อ PTSD) เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากมีประสบการณ์ที่มีผลเสียระยะยาวที่ทำให้เกิดความกลัว หรือความสยองขวัญ หรือความรู้สึกว่าตนทำอะไรไม่ได้ ที่เกิดความบาดเจ็บทางกาย หรือมีโอกาสที่จะเกิดความบาดเจ็บ หรือเกิดความตายในตนเองหรือผู้อื่น ความเครียดเรื้อรังในโรค PTSD มีส่วนในการลดปริมาตรของฮิปโปแคมปัสและทำให้เกิดความบกพร่องในความจำชัดแจ้ง

องค์ประกอบทางประสาทเคมีสำหรับความเครียดในสมอง

ในสมอง สาร Glucocorticoids (GC's) เป็นตัวควบคุมฮิปโปแคมปัสและคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าในการแปลผลความจำ Cortisol เป็น GC ที่สามัญที่สุดในร่างกายมนุษย์ และ hydrocortisone (สารอนุพันธ์ ของ Cortisol) มีฤทธิ์ลดระดับการทำงานของสมองในเขตต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วในระหว่างการระลึกถึงความจำชัดแจ้ง เนื่องจาก cortisol จะเพิ่มระดับขึ้นในเวลาเกิดความเครียด ดังนั้น ความเครียดระยะยาวจะทำความเสียหายให้กับความจำชัดแจ้ง ในปี ค.ศ. 2007 ดามัวโซและคณะได้ตรวจสอบผลของ glucocorticoid ต่อสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) และคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ในชายอายุน้อย ผลงานวิจัยแสดงว่า GC ที่ให้กับผู้ร่วมการทดลอง 1 ช.ม. ก่อนการระลึกถึงความจำมีผลเป็นการขัดขวางการระลึกถึงคำศัพท์ แต่ถ้าให้ก่อนหรือหลังการเรียนคำศัพท์จะไม่มีผล

แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่า GC มีผลต่อความจำได้อย่างไร แต่การที่ฮิปโปแคปปัสและคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้ามีหน่วยรับความรู้สึกของ Glucocorticoid ทำให้เรารู้ได้ว่า โครงสร้างต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเป้าหมายของฮอร์โมนที่หมุนเวียนอยู่ในเลือด ถึงอย่างนั้น ก็รู้กันแล้วว่า cortisone ทำหน้าที่ทางความจำให้เสียหายโดยลดระดับโลหิตที่ไหลเข้าไปใน parahippocampal gyrus ซีกขวา ในคอร์เทกซ์สายตา และในซีรีเบลลัม

ให้สังเกตว่า งานวิจัยนี้ทำการทดลองแต่ในชายเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่า สเตอรอยด์ทางเพศตามธรรมชาติอาจมีผลที่ทำให้เกิดการตอบสนองต่าง ๆ กันต่อการให้ cortisol นอกจากนั้นแล้ว ผู้ชายและผู้หญิงตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอารมณ์แตกต่างกัน และนี้อาจจะมีผลต่อระดับของ cortisol อีกอย่างหนึ่ง งานวิจัยนี้เป็นงาน fMRI งานแรกที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับ GC ดังนั้น ควรที่จะมีงานวิจัยอื่น ๆ อีกเพื่อสนับสนุนหลักฐานของงานวิจัยนี้

การบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะและความจำชัดแจ้ง

แม้ว่า จะเป็นที่ยอมรับกันว่าสมองมนุษย์จะมีสภาพพลาสติก (คือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์) ก็ยังมีหลักฐานที่แสดงว่าการบาดเจ็บในกะโหลกศีรษะ (traumatic brain injury ตัวย่อ TBI) ในเด็กเล็กสามารถมีผลลบต่อความจำชัดแจ้ง นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบทั้งเด็กทารกและเด็กท้ายวัยเด็ก งานวิจัยพบว่า เด็กที่มี TBI อย่างรุนแรงช่วงท้ายวัยเด็กประสบความเสียหายเกี่ยวกับความจำชัดแจ้ง ในขณะที่ไม่มีผลต่อการเกิดขึ้นของความจำโดยปริยาย และพบว่า เด็กที่มี TBI อย่างรุนแรงช่วงต้นวัยเด็กมีโอกาสสูงขึ้นที่จะมีความเสียหายทั้งในความจำชัดแจ้งและความจำโดยปริยาย แต่แม้ว่า เด็กที่มี TBI อย่างรุนแรงอาจเสี่ยงที่จะมีความจำชัดแจ้งเสียหาย แต่โอกาสที่จะมีความจำชัดแจ้งเสียหายในผู้ใหญ่ที่มี TBI ขั้นรุนแรงนั้นสูงกว่า

การสูญเสียความจำและความจำชัดแจ้ง

มีงานวิจัยปัจจุบันที่ทำเพื่อที่จะแสดงว่า คนไข้ที่มีประสาทเสื่อมขั้นรุนแรงยังสามารถปรับภาวะได้แบบคลาสสิก (classically conditioned) และสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้แม้ว่าจะไม่สามารถระลึกว่าตนเองได้ทำการเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น: 1445  การค้นพบนี้อาจจะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาความบาดเจ็บในสมองและภาวะเสื่อมในสมองอย่างอื่น ๆ ในอนาคต

โรคอัลไซเมอร์มีผลอย่างลึกซึ้งต่อความจำชัดแจ้ง ความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางประชานเป็นอาการเบื้องต้นอย่างหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ คนไข้ที่มีปัญหาด้านความจำบ่อยครั้งจะได้รับการฝึกทางประชาน (cognitive training) เมื่อใช้ fMRI เพื่อตรวจดูการทำงานของสมองหลังการฝึก นักวิจัยพบการทำงานในระดับที่สูงขึ้นในระบบประสาทต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความจำชัดแจ้ง

คนไข้โรคอัลไซเมอร์มีปัญหาในการเรียนรู้การทำงานใหม่ ๆ แต่ว่า ถ้าแสดงงานนั้นให้คนไข้บ่อย ๆ คนไข้ก็จะสามารถเรียนรู้และทรงจำความรู้บางอย่างของงานนั้นได้ ผลอย่างนี้เห็นได้ชัดเจนถ้าข้อมูลที่เรียนเป็นสิ่งที่คุ้นเคย อย่างไรก็ดี คนไข้อัลไซเมอร์ต้องรับการแนะนำในขณะเรียนรู้งานและเพื่อไม่ให้ทำผิดพลาด (คือใช้การเรียนรู้แบบ Errorless learning)

นอกจากนั้นแล้ว โรคอัลไซเมอร์ยังมีผลต่อความทรงจำทางพื้นที่แบบชัดแจ้งอีกด้วย ซึ่งก็หมายความว่า คนไข้จะมีปัญหาในเรื่องความจำว่า วางของไว้ที่ไหนในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

พบว่า มีการทำงานในฮิปโปแคมปัสทั้งในความจำอาศัยความหมายและความจำอาศัยเหตุการณ์ ผลของอัลไซเมอร์เห็นได้ในความจำอาศัยเหตุการณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการสื่อความ งานวิจัยหนึ่งถามคนไข้ให้บอกชื่อของวัตถุต่าง ๆ ในเหตุการณ์ช่วงต่าง ๆ ในอดีต ผลงานวิจัยแสดงว่า ความสามารถการบอกชื่อวัตถุขึ้นอยู่กับความบ่อยครั้งในการใช้วัตถุนั้นและเมื่อไรที่ได้วัตถุนั้นมา

ผลเช่นนี้ต่อความจำอาศัยความหมายมีผลต่อเพลงและเสียงเพลงอีกด้วย คือ คนไข้มีปัญหาในการแยกแยะเพลงต่าง ๆ กันที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และคนไข้ก็มีปัญหาในการจินตนาการถึงเหตุการณ์ในอนาคตอีกด้วย

การทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคงในขณะหลับ

เชื่อกันว่า การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง (consolidation) โดยเฉพาะก็คือ มีคุณสมบัติพิเศษของการนอนหลับที่เพิ่มระดับการทำความจำให้มั่นคง (memory consolidation) เช่นมีการปลุกฤทธิ์ (reactivation) ของความจำที่เพิ่งได้เรียนรู้ใหม่ในขณะหลับ ยกตัวอย่างเช่น มีการเสนอว่า กลไกหลักของการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคงขณะหลับ ก็คือการปลุกฤทธิ์ของโครงสร้างทางประสาทที่เป็นตัวแทนความจำในฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีผลเป็นการย้ายข้อมูลความจำไปยังเครือข่ายประสาทต่าง ๆ ในคอร์เทกซ์ใหม่ เป็นที่ที่มีการเกิดตัวแทนความจำแบบระยะยาว

งานวิจัยในหนูที่ใช้การเรียนรู้ทางในเขาวงกตพบว่า ในขณะนอนหลับ กลุ่มต่าง ๆ ของเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสที่ใช้ในการเข้ารหัสข้อมูลทางพื้นที่เกิดการปลุกฤทธิ์ไปตามลำดับเหมือนกับที่มีในระหว่างประสบการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างภาพสมองโดยการถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (positron emission tomography) แสดงว่ามีการปลุกฤทธิ์ของฮิปโปแคมปัสในระยะ slow-wave sleep (ตัวย่อ SWS แปลว่า การหลับช่วงคลื่นสั้น) หลังจากมีการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ โดยรวม ๆ กันแล้ว งานวิจัยเหล่านี้แสดงว่า ความจำที่เกิดเพราะการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีการปลุกฤทธิ์ขณะหลับ และกระบวนการนี้มีผลเป็นการทำรอยความจำ (memory trace) ให้มั่นคง นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยยังได้ระบุถึงช่วงระยะการหลับสามประเภทอีกด้วย คือ SWS, sleep spindle, และ REM ว่าเป็นช่วงที่มีการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง

การหลับช่วงคลื่นสั้น (Slow-Wave Sleep ตัวย่อ SWS) บ่อยครั้งหมายถึงการหลับลึก มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง และมีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนความคิดนี้ งานวิจัยหนึ่งพบว่า การหลับในช่วง 3.5 ช.ม. แรก เพิ่มประสิทธิภาพในการระลึกถึงความจำได้ดีที่สุด เพราะว่า 2-3 ช.ม. แรกมากไปด้วย SWS ส่วน ช.ม. การหลับต่อ ๆ มา ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพของความจำเกินกว่า ช.ม. ต้น ๆ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงบอกเป็นนัยว่า การนอนหลับอย่างเต็มที่อาจจะไม่สำคัญต่อประสิทธิภาพสูงสุดของความจำชัดแจ้ง (แต่มีผลต่อความจำเชิงกระบวนวิธี)

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่ได้ SWS ในกึ่งแรกของการนอน (ซึ่งมีเป็นเวลายาวกว่าถึง 5 เท่าในกึ่งแรก) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ มีการรระลึกถึงข้อมูลได้ดีกว่า แต่ว่า ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นไม่พบในผู้ได้ SWS ในช่วงที่สอง เพราะว่า มี SWS เป็นเวลาน้อยกว่า

หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของ SWS ในการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง ก็คือหลักฐานที่ว่า บุคคลที่มีความผิดปกติในการนอนหลับเช่นการนอนไม่หลับ มีทั้งระดับที่ลดลงของ SWS และทั้งระดับที่ลดลงของการทำให้ความจำชัดแจ้งให้มั่นคงในขณะที่นอนหลับ

อีกงานวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ. 2007 พบว่า ผู้ใหญ่วัยกลางคนเมื่อเทียบกับคนที่อายุน้อยกว่า มีประสิทธิภาพในการระลึกถึงความจำที่แย่กว่า ผลงานนี้ดูเหมือนจะระบุว่า SWS มีความสัมพันธ์กับการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง และ SWS ก็ปรากฏว่ามีการลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัดเจนตามวัยในผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี งานปริทัศน์งานวิจัยต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 2012 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง SWS กับการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคงนั้นยังไม่ชัดเจน คือไม่พบอย่างสม่ำเสมอในงานวิจัยทุกงาน และเสนอว่าต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของอายุต่อความจำเพิ่มขึ้นอีก: 4 

นักวิจัยบางพวกเสนอว่า sleep spindle ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้นในระยะที่สองของการนอนหลับ มีบทบาทในการเพิ่มการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง ส่วนผู้ที่มีความเห็นขัดแยังชี้ว่า การทำงานในช่วง sleep spindle มีสหสัมพันธ์กับทั้งระดับเชาวน์ปัญญา (หรือสมรรถภาพของประชาน) และความจำ เป็นความเห็นขัดแย้งกับสิ่งที่สคาบัสและกรูเบอร์ชี้ว่า การทำงานในช่วง sleep spindle สัมพันธ์แต่กับประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของความจำที่มีการเรียนรู้ใหม่ แต่ไม่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพที่ดีขึ้นโดยรวม ๆ ซึ่งเป็นความเห็นที่สนับสนุนสมมติฐานว่า การนอนช่วง sleep spindle ช่วยทำรอยความจำใหม่ให้มั่นคง แต่ไม่ได้ช่วยประสิทธิภาพของความจำโดยทั่ว ๆ ไป โดยสรุปแล้ว ความสัมพันธ์กันระหว่างการนอนหลับช่วง sleep spindle และการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคงยังไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจกันดี[ต้องการอ้างอิง]

มีหลักฐานบ้างที่สนับสนุนความคิดว่า การหลับระยะ REM ช่วยทำความจำชัดแจ้งที่ประกอบด้วยอารมณ์สูงให้มั่นคง ยกตัวอย่างเช่น วากเน่อร์และคณะเปรียบเทียบระดับความทรงจำของข้อความที่ทำให้เกิดอารมณ์และข้อความที่เป็นกลาง ๆ ในการนอนหลับสองแบบ คือการนอนหลับที่ระยะต้น ๆ ที่มากไปด้วย SWS และการนอนหลับที่ระยะหลัง ๆ ที่มากไปด้วย REM งานวิจัยนี้พบว่า การนอนหลับระยะหลัง ๆ ที่มากไปด้วย REM เท่านั้น ที่ช่วยความจำเกี่ยวกับบทความที่ทำให้เกิดอารมณ์ และโดยนัยเดียวกัน ฮู สไตโลส์-แอลเล็น และคณะ ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับรูปที่ทำให้เกิดอารมณ์และรูปที่เป็นกลาง ๆ แล้วสรุปว่า การนอนหลับแบบ REM ช่วยการทำความจำชัดแจ้งที่ประกอบด้วยอารมณ์ให้มั่นคง

แต่ทัศนคตินี้ว่า มีการทำงานของระบบประสาทบางอย่างระหว่างการนอนหลับที่ทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคง ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทั่วไปกับนักวิจัยทุกพวก ยกตัวอย่างเช่น เอ็ลเล็นโบเก็นและคณะเสนอว่า การนอนหลับสามารถป้องกันการรบกวนแบบสัมพันธ์ (associative interference) ต่อความจำชัดแจ้ง คือการเรียนรู้รายการสัมพันธ์คำไม่เกิดการรบกวนจากการเรียนรายการอีกรายการหนึ่งก่อนการทดสอบ ถ้ามีการนอนหลับหลังจากการเรียนรายการแรก นอกจากนั้นแล้ว วิกซ์เท็ดเชื่อว่า บทบาทเดียวของการนอนหลับต่อกระบวนการทำความจำชัดแจ้งให้มั่นคงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการสร้างสภาวะที่เลิศเพื่อกระบวนการนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตื่นอยู่ เรามักจะมีเรื่องในใจมากมายที่รบกวนการทำความจำให้มั่นคง แต่ว่า เมื่อนอนหลับ การรบกวนนั้นมีน้อยที่สุด ดังนั้นความจำจึงเกิดการทำให้มั่นคงได้โดยไม่มีการรบกวนแบบสัมพันธ์ อย่างไรก็ดี ยังต้องมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นอีกเพื่อที่จะตัดสินให้เด็ดขาดว่า การนอนหลับเพียงแค่สร้างสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อการทำความจำให้มั่นคง หรือว่า มีกระบวนการอะไรบางอย่างเกิดการทำงานเพื่อทำความจำให้มั่นคง

ในสื่อ

มักจะมีบทของคนไข้ภาวะเสียความจำ (amnesia) แสดงในโทรทัศน์และภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่น

ภาพยนตร์ ภาพหลอนซ่อนรอยมรณะ (ค.ศ. 2000) ได้รับแรงจูงใจจากเค้สของนายเฮ็นรี่ โมไลสัน (รู้จักกันมาก่อนเสียชีวิตว่า คนไข้ H.M.) กาย เพียร์ซเล่นบทเป็นอดีตผู้ตรวจสอบเคลมประกัน (ลีโอนาร์ด) ผู้เกิดภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde amnesia) อย่างรุนแรงที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ แต่ไม่เหมือนผู้เสียความจำโดยมาก ลีโอนาร์ดจำเรื่องราวของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบาดเจ็บได้ แต่ไม่สามารถสร้างความจำใหม่ ๆ การสูญเสียความสามารถในการสร้างความจำใหม่ ๆ แสดงว่า ความบาดเจ็บที่ศีรษะกระทบสมองกลีบขมับด้านใน มีผลเป็นความไม่สามารถในการสร้างความจำชัดแจ้งใหม่ ๆ

ภาพยนตร์ นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต มีปลาปะการังชื่อดอรี่ที่ไม่สามารถสร้างความจำชัดแจ้งใหม่ ๆ ซึ่งขัดขวางเธอไม่ให้เรียนรู้หรือทรงไว้ซึ่งข้อมูลใหม่ ๆ เช่นชื่อและข้อแนะนำต่าง ๆ การเกิดขึ้นของความพิการของดอรี่ไม่ได้พูดถึงในหนัง แต่การสูญเสียความจำของเธอแสดงความยากลำบากของคนไข้ภาวะเสียความจำที่แม่นยำตรงกับความจริง

เชิงอรรถและอ้างอิง

Tags:

ความจำชัดแจ้ง ประเภทความจำชัดแจ้ง ประวัติของชาวตะวันตกความจำชัดแจ้ง ประสาทจิตวิทยาความจำชัดแจ้ง องค์ต่าง ๆ ที่มีผลต่อความจำชัดแจ้ง การสูญเสียความจำและความจำชัดแจ้ง การทำให้มั่นคงในขณะหลับความจำชัดแจ้ง ในสื่อความจำชัดแจ้ง เชิงอรรถและอ้างอิงความจำชัดแจ้งภาษาอังกฤษ

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

ภาษาญี่ปุ่นปราชญา เรืองโรจน์สหรัถ สังคปรีชาจักรทิพย์ ชัยจินดาสโมสรฟุตบอลแอสตันวิลลาไทยลีกคัพราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีนประเทศฟิลิปปินส์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชลานีญาพระเจ้าบุเรงนองกาก้าจังหวัดกาญจนบุรีราชินีแห่งน้ำตาภาคตะวันตก (ประเทศไทย)เมียวดีไพรวัลย์ วรรณบุตรเซเรียอาศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนาจังหวัดมหาสารคามคณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์โหราศาสตร์ไทยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ภาคภูมิ ร่มไทรทองไคลี เจนเนอร์ยงวรี อนิลบลสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดพ.ศ. 2564ชลน่าน ศรีแก้วจังหวัดภูเก็ตรถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยารายชื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินพรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์เกาะกูดสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลบาท (สกุลเงิน)รีโว่ คัพ 2565–66ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุลจังหวัดหนองคายไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซินสุทิน คลังแสงแฮร์รี่ พอตเตอร์จังหวัดขอนแก่นข้ามเวลามาเซฟเมนกวนอิมวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์บีบีซี เวิลด์นิวส์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์การ์โล อันเชลอตตีหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลรายชื่อช่องที่มียอดติดตามสูงสุดในยูทูบสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารภูธฤทธิ์ พรหมบันดาลอาแอ็ส มอนาโกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประเทศเนเธอร์แลนด์สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาทวี ไกรคุปต์ไฮบ์คอร์ปอเรชันเธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงินเมืองโบราณเดอะพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์พงษ์สิทธิ์ คำภีร์คิม จี-ว็อน (นักแสดง)รายชื่ออักษรย่อของโรงเรียนในประเทศไทย/สรายพระนามและชื่อผู้บัญชาการทหารบกไทยลูซิเฟอร์ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทองกรมสรรพากรรายพระนามและชื่อภรรยาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวศาสนาฮินดูธัชทร ทรัพย์อนันต์เขตพื้นที่การศึกษาซีเนดีน ซีดานคิม ซู-ฮย็อนลีกเอิง🡆 More