เยกาเจรีนามหาราชินี

จักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2 หรือ ซึ่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า เยกาเจรีนามหาราชินี หรือพระนามเดิมคือ โซฟี เอากุสเทอ ฟรีเดอรีเคอ แห่งอัลฮัลท์-แซบสท์ (เยอรมัน: Sophie Auguste Friederike von Anhalt- Zerbst; 2 พฤษภาคม ค.ศ.

1729 – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1796) ทรงเป็นเจ้าหญิงชาวเยอรมันโดยกำเนิด และต่อมาได้อภิเษกเข้าสู่ราชวงศ์รัสเซีย ต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติรัสเซียต่อจากพระสวามี พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินีนาถมีชื่อเสียงและครองราชย์ยาวนานที่สุดของรัสเซีย ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากการรัฐประหารและการปลงพระชนม์จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 พระราชสวามีของพระองค์เอง (ไม่นานหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเจ็ดปี) จนกระทั่งเสด็จสวรรคต การปกครองของพระองค์เป็นการอธิบายถึงการเป็น พระประมุขผู้ทรงภูมิธรรม (enlightened despot) ทั้งยังทรงฟื้นฟูจักรวรรดิรัสเซียให้แข็งแกร่งและมีอาณาเขตกว้างกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนรัสเซียกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจที่สำคัญมากที่สุดชาติหนึ่งในยุโรปในยุคนั้น

เยกาเจรีนามหาราชินี
เยกาเจรีนามหาราชินี
พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย
อาแล็กซ็องดร์ โรสบิน ป. ประมาณ 1780
จักรพรรดินีนาถแห่งรัสเซียทั้งปวง
ครองราชย์9 กรกฎาคม 1762 – 17 พฤศจิกายน 1796
ราชาภิเษก12 กันยายน 1762
ก่อนหน้าจักรพรรดิปิออตร์ที่ 3
ถัดไปจักรพรรดิปัฟเวลที่ 1
จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ดำรงพระยศ5 มกราคม – 9 กรกฎาคม 1762
พระราชสมภพเจ้าหญิงโซฟีแห่งอันฮัสท์-แซบสท์
2 พฤษภาคม [ตามปฎิทินเก่า: 27 เมษายน] ค.ศ. 1729
ชเตททิน, พอเมอเรเนีย, ปรัสเซีย, จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
(ปัจจุบันชแชชิน, ประเทศโปแลนด์)
สวรรคต17 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 6 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1796 (67 พรรษา)
พระราชวังฤดูหนาว, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก, จักรวรรดิรัสเซีย
ฝังพระศพมหาวิหารปีเตอร์และพอล, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
  • เยอรมัน: โซฟี ฟรีเดอรีเคอ เอากุสเทอ
  • รัสเซีย: เยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา โรมานอฟา
  • อังกฤษ: แคทเทอรีน อเล็กเซเยฟนา โรมานอวา
ราชวงศ์
พระราชบิดาคริสทีเออ เอากุสท์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์
พระราชมารดาโยฮันนา เอลีซาเบ็ทแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททร็อพ
ศาสนา
  • รัสเซียออร์ทอดอกซ์ (1744–1796)
  • ก่อนหน้า ลูเทอแรน (1729–1744)
ลายพระอภิไธยเยกาเจรีนามหาราชินี

ในการเข้าถึงขุมอำนาจและปกครองจักรวรรดิของพระองค์ พระนางเยกาเจรีนา มักจะทรงพึ่งพาอำนาจจากเหล่าขุนนางที่ทรงโปรดปราน และผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเช่นกริกอรี ออโลฟ และกริกอรี โปเตมคิน หรือเหล่านายพลผู้มีอำนาจบารมีสูงเช่น ปิออตร์ รูเมียนเซฟ และอะเลคซันดร์ ซูโวรอฟ หรือแม้แต่พลเรือเอกเช่น ฟิโอดอร์ อูชาคอฟ พระนางปกครองรัสเซียในช่วงเวลาที่จักรวรรดิได้ทำการแผ่ขยายอาณาเขตของตนโดยทั้งการศึกสงครามและการทูต ทางทิศใต้, อาณาจักรข่านแห่งไครเมียร์ถูกบดขยี้และตามมาด้วยชัยชนะเหนือจักรวรรดิออตโตมันในสงครามรัสเซีย-ตุรกี ต่อมารัสเซียได้ทำการเข้ายึดครองดินแดนอันว่างเปล่าแห่งโนโวรอสซิยาตลอดจนชายฝั่งทะเลดำและทะเลอะซอฟ ทางทิศตะวันตก, เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียซึ่งถูกปกครองโดยอดีตคนรักของพระนาง พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี ในที่สุดก็ถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยรัสเซียได้ส่วนแบ่งของดินแดนมากที่สุด ทางทิศตะวันออก, รัสเซียเริ่มเข้ายึดครองอะแลสกาในรูปแบบของอาณานิคมจนนำไปสู่การก่อตั้งอเมริกาของรัสเซีย

พระองค์ทรงทำการปฏิรูประบบราชการภายในของเขตกูเบอร์นิยา รวมไปถึงมีรับสั่งให้สถาปนาเมืองและหมู่บ้านขึ้นมากมาย และในฐานะที่ทรงเป็นผู้นิยมชมชอบพระราชกรณียกิจของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช พระองค์จึงได้ดำเนินพระราโชบายตามแนวทางของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชโดยการปฏิรูปรัสเซียให้เข้าสู่ความทันสมัยตามแบบฉบับชาติยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตามการเข้ารับราชการในกองทัพและระบบเศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องพึ่งพาระบบทาสอยู่ต่อไป ในขณะที่ความต้องการใช้แรงงานของประเทศและของเหล่าผู้ครอบครองที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้แรงงานทาสดำเนินไปถึงขั้นกดขี่แรงงานทาส และระบบทาสดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในเหตุผลประการสำคัญของการก่อกบฏหลายต่อหลายครั้ง ดังเช่นกบฏปูกาเชฟที่มีกองทหารม้าและชาวนาจำนวนมากมายเข้าร่วมการกบฏ

ตลอดระยะเวลาในการครองราชย์หรือ สมัยเยกาเจรีนา ถูกพิจารณาว่าเป็นยุคทองของจักรวรรดิรัสเซียและของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัสเซีย แถลงการณ์ว่าด้วยเสรีภาพของขุนนางซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันในรัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ก็ได้รับการยินยอมในช่วงรัชสมัยของพระนางเยกาเจรีนา โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ให้อิสรภาพแก่บรรดาขุนนางไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพหรือการรับราชการสนองคุณประเทศ ให้อิสรภาพในการครอบครองที่อยู่อาศัย เช่น แมนชันรูปแบบคลาสสิก โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นที่นิยมและได้รับการสนับสนุนโดยพระนางเจ้าเยกาเจรีนาอย่างมาก ก่อให้เกิดตึกรามบ้านช่องอันหรูหราขึ้นจำนวนมาก ซึ่งตลอดช่วงการครองราชย์ของพระองค์ได้ทรงทำให้โฉมหน้าของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงกล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระนางคือยุคเรืองปัญญาของรัสเซียก็ว่าได้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพวาดพระนางเยกาเจรีนาไม่นานหลังเสด็จถึงรัสเซีย โดยหลุยส์ การาวาก

พระบิดาของพระนางแคทเธอรีนมีพระนามว่า คริสทีอัน เอากุสท์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองอันฮัลท์ แต่รับราชการในปรัสเซียเพียงแค่ผู้ว่าราชการแห่งชเตทติน (ปัจจุบัน: ชเกซช์ชิน, สาธารณรัฐโปแลนด์) ประสูติในพระนาม โซฟี เอากุสเทอ ฟรีเดอรีเคอ มีพระนามเล่นว่า ไฟจ์เคิน ที่เมืองชเตทติน มณฑลพอเมอราเนีย พระญาติองค์ใหญ่สองพระองค์แรกของเจ้าหญิงโซฟีได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน: พระเจ้ากุสตาฟที่ 3และพระเจ้าคาร์ลที่ 13 สอดคล้องกับช่วงเวลาเดียวที่ราชวงศ์ของพระนางก้าวขึ้นเป็นราชวงศ์ปกครองเยอรมนี พระนางทรงได้รับการศึกษาส่วนมากจากข้าราชสำนักหญิงชาวฝรั่งเศสและจากอาจารย์ผู้สอนพิเศษ พระชนม์ชีพในวัยเยาว์ไม่ทรงประสบกับเหตุการณ์สำคัญใดดังเช่นที่ครั้งหนึ่งทรงเคยเขียนถึงผู้เขียนข่าวส่วนพระองค์นามว่าบารอนกริมม์ ว่า "เราไม่เห็นสิ่งใดอันเป็นที่น่าสนใจเลย" ซึ่งแม้ว่าพระนางจะประสูติในฐานะเจ้าหญิง แต่ราชตระกูลของพระนางกลับมีทรัพย์สินและบริวารน้อย และการที่พระนางก้าวขึ้นสู่อำนาจต่างๆ ก็ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดากับเหล่าสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้มั่งคั่ง

การสมรสขึ้นเป็นชายาของพระญาติลำดับที่สองอย่าง เจ้าชายเพเทอร์ ดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ผู้ซึ่งต่อมาขึ้นเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิ เป็นผลมาจากการจัดการด้านการทูตที่ซึ่ง ฌ็อง อาร์ม็อง เดอ เลสตอคก์, แห่งรัสเซีย พระมาตุจฉาของเจ้าชายเพเทอร์ และพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้อง เลสตอคก์และพระเจ้าฟรีดริชมีประสงค์ร่วมกันในการเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างปรัสเซียและรัสเซีย และขัดขวางอิทธิพลของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออสเตรียและการบ่อนทำลายมุขมนตรีคนสนิทของจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตา ในงานทรงพระอักษรของเจ้าหญิงโซฟีอ้างว่าการพบกันครั้งแรกของพระนางและเจ้าชายเพเทอร์เกิดขึ้นเมื่อพระนางมีพระชันษาสิบพรรษา ระหว่างทรงพบปะกัน พระนางกล่าวว่าปีเตอร์เป็นที่น่ารังเกียจและน่าชิงชัง ทรงไม่โปรดผิวพรรณอันซีดเผือกและความชื่นชอบในเครื่องดื่มมึนเมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ของปีเตอร์

ต่อมาอุบายทางการทูตล้มเหลว ส่วนมากเป็นผลมาจากการเข้าแทรกแซงโดยพระมารดาของเจ้าหญิงโซฟีนามว่า โยฮันนา เอลีซาเบทแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ บัญชีทางประวัติศาสตร์มากมายฉายภาพนางว่าเป็นสตรีที่เยือกเย็นและปากร้ายผู้รักการติฉินนินทาและเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในราชสำนัก ความกระหายในชื่อเสียงเกียรติภูมิของโยฮันนาถูกรวบรวมไว้ในโอกาสในการขึ้นเป็นจักรพรรดินีรัสเซียของเจ้าหญิงโซฟีผู้เป็นธิดา แต่นางเป็นผู้ทำให้พระนางเยลีซาเวตาฉุนเฉียวจนในที่สุดกีดกันนางออกจากจักรวรรดิรัสเซีย ฐานที่นางเป็นสายสืบให้แก่พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ด้านพระนางเจ้าเอลิซาเบททรงรู้จักมักคุ้นกับราชตระกูลของโซฟีเป็นอย่างดี: พระนางเคยหมั้นหมายให้เสกสมรสกับอนุชาของโยฮันนานามว่า คาร์ล เอากุสท์ แกรนด์ดยุกแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซนัค (คาร์ล เอากุสท์ ฟ็อน ฮ็อลชไตน์) ผู้ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงจากฝีดาษในปี ค.ศ. 1727 ก่อนการเสกสมรสจะเกิดขึ้น กระนั้นพระนางเจ้าเยลีซาเวตาก็ยังทรงโปรดปรานเจ้าหญิงโซฟีเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่เจ้าหญิงเสด็จมาถึงรัสเซียโดยปราศจากความประจบสอพลอและความกระหายเกียรติภูมิ ไม่เพียงแต่กับพระจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตา แต่รวมถึงกับพระสวามีของตนและประชาชนชาวรัสเซียอีกด้วย เจ้าหญิงทรงเข้ารับการศึกษาภาษารัสเซียด้วยความกระตือรือร้นอย่างมาก ถึงขนาดที่ทรงลุกจากพระบรรทมในยามวิกาลแล้วเสด็จดำเนินรอบห้องบรรทมด้วยพระบาทเปล่าเปลือยขณะทรงทบทวนบทเรียนที่ทรงได้รับไปมา (แม้จะทรงเชี่ยวชาญในภาษารัสเซียแล้ว แต่ก็ยังทรงฝึกฝนสำเนียงของพระนางเองด้วย) จนนำไปสู่พระอาการประชวรจากโรคปอดบวมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1744 ในบันทึกความทรงจำส่วนพระองค์กล่าวว่าทรงเตรียมพระทัยไว้แต่หนก่อนจะถึงรัสเซียแล้วว่าจะทรงทำทุกอย่างที่จำเป็น และทรงยอมรับที่จะเชื่อในสิ่งใดก็ตามที่ทรงต้องเชื่อ เพื่อที่จะขึ้นสวมมงกุฏแห่งราชวงศ์รัสเซียได้อย่างสมพระเกียรติ

พระบิดาของเจ้าหญิงทรงศรัทธาในนิกายลูเทอแรนของเยอรมัน จึงทรงต่อต้านการเปลี่ยนไปเข้ารีตอีสเติร์นออร์ทอดอกซ์ของธิดา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้เป็นพระบิดา แต่ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1744 ทางโบสถ์ออรทอดอกซ์รัสเซียก็ได้รับเอาเจ้าหญิงโซเฟียเข้ารีตด้วยพระนามใหม่ว่า เยกาเจรีนา และชื่อที่ตั้งตามบิดาใหม่ว่า "อะเลคเซยีฟนา" (รัสเซีย: Алексеевна; ธิดาผู้ประสูติแด่อะเลคเซย์) วันถัดมาพระราชพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการก็เกิดขึ้น ในที่สุดแผนการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์อันยาวนานก็เกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1745 ณ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในช่วงที่เจ้าหญิงโซฟีมีพระชนมายุครบสิบหกพรรษา ด้านพระบิดามิได้เสด็จมายังรัสเซียเพื่อร่วมพระราชพิธี เจ้าบ่าวผู้ซึ่งในขณะนั้นมีนามว่าเจ้าชายเพเทอร์แห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนีใกล้กับพรมแดนเดนมาร์ก) ในปี ค.ศ. 1739

ในตอนที่พระนางระลึกถึงตนเองในความทรงจำ ทันทีที่เสด็จถึงรัสเซียพระนางประชวรด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบซึ่งเกือบจะทำให้พระนางสิ้นพระชนม์ ทรงดำริว่าการรอดพระชนม์ครั้งนี้ทรงเป็นหนี้บุญคุณของการถ่ายพระโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ในหนึ่งวันทรงทำการถ่ายพระโลหิตถึงสี่ครั้งด้วยกัน พระมารดาของพระนางผู้ซึ่งต่อต้านวิธีการรักษาเช่นนี้กลายเป็นผู้ที่พระจักรพรรดินีนาถไม่โปรดปราน ในช่วงที่พระอาการประชวรของเจ้าหญิงทรุดหนักจนดูน่าสิ้นหวัง พระมารดาก็ทรงประสงค์จะให้เจ้าหญิงเข้าสารภาพบาปกับพระในนิกายลูเทอแรน หากแต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงทรงตื่นขึ้นจากพระอาการหมดสติและดำริว่า "เราไม่ต้องการพระลูเทอแรนใด, เราต้องการพระบิดาออร์ทอดอกซ์ของเรา" และเหตุการณ์นี้ก็ได้ยกระดับพระสถานะของเจ้าหญิงในพระราชหฤทัยของจักรพรรดินีนาถ

คู่เสกสมรสใหม่เข้าพำนักในพระราชวัง ณ พระราชวังอารานีเยนบาม ซึ่งกลายเป็นรโหฐานสำหรับ "เยาวราชนิกุล" ทั้งสองสืบเนื่องต่อมาหลายปี

เคาท์อันเดร ซูวาลอฟ มหาดเล็กส่วนพระองค์ของพระนางเยกาเจรีนา ผู้ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับเจมส์ บอสเวลล์ พนักงานจดบันทึกส่วนพระองค์เป็นอย่างดี และบอสเวลล์รายงานว่าซูวาลอฟเป็นผู้ให้ข้อมูลลับเกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนัก มีข่าวลือหลุดออกมาเช่นว่าเจ้าชายปีเตอร์ทรงได้รับการปรนนิบัติจากโสเภณีชั้นสูงนางหนึ่ง (เยลีซาเวตา วอรอนสวา) ในขณะที่เจ้าหญิงเยกาเจรีนามีพระสัมพันธ์แนบชิดกับเซียร์เกย์ ซัลตีคอฟ, กรีกอรี กรีกอร์เยวิช ออร์ลอฟ (ค.ศ. 1734 – 1783), สตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี, อะเลคซันดร์ วาซิลกิคอฟ และอื่นๆ เจ้าหญิงมีพระสหายใหม่เป็นเจ้าหญิงเยกาเจรีนา โรมานอฟนา วารอนสวา-ดัชโกวา ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของเยลิซาเวตา วอรอนสวา เยกาเจรีนาได้นำพาเจ้าหญิงเข้าสู่กลุ่มอำนาจทางการเมืองซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าชายปีเตอร์หลากหลายกลุ่ม พระจริยวัตรของปีเตอร์ที่หุนหันพลันแล่นชวนให้รู้สึกเหลืออดเหลือทนสำหรับผู้ที่พำนักอยู่ในพระราชวัง ปีเตอร์ทรงประกาศว่าจะฝึกซ้อมเหล่าข้าราชบริพารชายในช่วงเช้า ก่อนที่จะทรงประสงค์ให้เข้าร่วมการเต้นรำร้องเพลงในห้องส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงเยกาเจรีนาในยามวิกาล ต่อมาเจ้าหญิงเยกาเจรีนาทรงให้ประสูติกาลแก่พระธิดาองค์ที่สองนามว่าอันนา แต่พระธิดาองค์น้อยกลับมีพระชนม์ชีพต่อมาได้เพียงสี่เดือนก็สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1759 สืบเนื่องจากข่าวลือของเจ้าหญิงกับบุรุษมากมาย เจ้าชายปีเตอร์ถูกชักนำให้ทรงเชื่อว่าพระองค์มิใช่พระบิดาที่แท้จริงของอันนา และได้ทรงประกาศไว้ว่าจะมิทรงรับอันนาว่าเป็นเชื้อพระโลหิตของพระองค์ เจ้าหญิงทรงกล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของปีเตอร์อย่างโกรธกริ้วว่า "จงไปสู่ขุมมารนรกเถิด!" ด้วยเหตุนี้พระนางจึงทรงใช้เวลาส่วนมากประทับอยู่แต่ในห้องส่วนพระองค์เพื่อหลีกหนีจากท่าทางขูดลอกของเจ้าชายปีเตอร์และกลยุทธย์ด้านพิชัยสงครามอันย่ำแย่

ช่วงเวลาก่อนที่พระนางจะขึ้นเสวยราชบัลลังก์รัสเซีย พระนางมีดำริไว้ว่า "ความสุขและความทุกข์ล้วนแล้วแต่สถิตย์อยู่ในหทัยของพวกเราทุกผู้ทุกคน: หากเจ้ารู้สึกเป็นทุกข์ จงละตัวเจ้าไว้เหนือความทุกข์นั้น และทำตนราวกับว่าความสุขของเจ้ามิได้ขึ้นอยู่กับเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง"

รัชสมัยจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 และการรัฐประหาร

เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 3 ขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงหกเดือนก็ทรงถูกรัฐประหาร เสด็จสวรรคต ณ วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1762

ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตาในวันที่ 5 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 25 ธันวาคม ค.ศ. 1761] ค.ศ. 1762 แกรนด์ดยุคปีเตอร์แห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ก็ขึ้นเสวยราชบัลลังก์รัสเซียเป็นจักรพรรดิปิออตร์ที่ 3 และเยกาเจรีนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์แปรพระราชฐานไปพำนัก ณ พระราชวังฤดูหนาว, กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก

พระจริยวัตรและพระราโชบายของจักรพรรดิองค์ใหม่ถูกมองว่าแปลกพิลึก เช่น ความนิยมเทิดทูนต่อพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ซึ่งผิดแปลกไปจากที่พระนางเยกาเจรีนาทรงได้รับการปลูกฝังมา นอกจากนี้จักรพรรดิยังทรงทำการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างดัชชีแห่งฮ็อลชไตน์ของพระองค์กับเดนมาร์กในเรื่องการแย่งดินแดนดัชชีแห่งชเลสวิช

มีทฤษฎีกล่าวว่าในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1762 พระนางเยกาเจรีนาต้องทรงลุกจากพระบรรทมกะทันหันและทรงได้รับข่าวว่าหนึ่งในผู้สบคบคิดการกบฏของพระนางถูกจับโดยพระราชสวามีผู้เหินห่าง และทรงได้รับคำชี้แนะว่าแผนการกบฏจำเป็นต้องดำเนินการโดยทันที พระนางเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระราชวังที่ประทับไปยังกรมทหารอิสมาอีลอฟสกี ที่ซึ่งทรงกล่าวต่อคณะนายทหารให้ช่วยปกป้องพระนางจากจักรพรรดิผู้เป็นพระราชสวามี จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกองทหารไปยังค่ายซีเมนอฟสกีที่ซึ่งคณะนักบวชรอคอยพระนางอยู่แล้ว คณะนักบวชได้ทำพิธีสถาปนาเยกาเจรีนาขึ้นเป็นผู้ครองราชบัลลังก์รัสเซียแต่เพียงผู้เดียว พระนางบัญชาให้เข้าจับกุมตัวจักรพรรดิปีเตอร์มาลงพระนามาภิไธยในเอกสารการสละราชสมบัติเพื่อไม่ให้มีข้อกังขาเรื่องสิทธิ์อันชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของพระนาง ไม่นานหลังจากถูกจับกุม อดีตจักรพรรดิถูกประหารชีวิตด้วยการรัดคอโดยราชองครักษ์ส่วนพระองค์ มีการคาดการณ์ว่าการประหารนี้เป็นพระราชโองการของพระนางเยกาเจรีนา ซึ่งยังไม่มีหลักฐานได้ใช้อ้างอิงทฤษฎีนี้ได้อย่างสมบูรณ์

รัสเซียและปรัสเซียเข้าประหัตประหารกันในสงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756 – 1763) จนกระทั่งจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงยืนกรานที่จะสนับสนุนพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ทอดพระเนตรการเข้ายึดกรุงเบอร์ลินของกองทัพรัสเซียในปี ค.ศ. 1760 แต่บัดนี้ทรงชี้แนะว่ารัสเซียและปรัสเซียควรมีการปักปันพื้นที่ของโปแลนด์ร่วมกัน ทำให้แรงสนับสนุนพระองค์จากเหล่าขุนนางลดลงไปมาก

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพวาดแกรนด์ดัชเชสเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา ขณะทรงม้า

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1762 เป็นเวลาเพียงหกเดือนที่จักรพรรดิปีเตอร์ทรงก่อความผิดพลาดทางการเมืองไว้แล้วเสด็จหลีกหนีจากข้าราชบริพารและพระญาติจากฮ็อลชไตน์ไปยังพระราชวังอารานีเยนบาม พระมเหสีเยกาเจรีนาเองก็ทรงละไว้เบื้องหลัง ณ กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในวันที่ 8 และ 9 กรกฎาคม ราชองครักษ์แห่งราชสำนักรัสเซียก่อนการกบฏ ขับจักรพรรดิออกจากราชบัลลังก์ และราชาภิเษกแกรนด์ดัชเชสพระมเหสีขึ้นเป็นจักรพรรดินีนาถ การรัฐประหารปราศจากการหลั่งเลือดครั้งนี้จึงสำเร็จลุล่วง

วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1762 เพียงแปดวันหลังจากการรัฐประหารและหกเดือนหลังจากขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 เสด็จสวรรคต ณ พระราชวังร็อบชา ด้วยน้ำมือของอะเลคเซย์ ออร์ลอฟ (น้องชายของกริกอรี ออร์ลอฟ นายทหารคนโปรดของพระจักรพรรดินีนาถและผู้ร่วมก่อการรัฐประหาร) นักประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐานถึงการมีส่วนร่วมในการปลงพระชนม์ครั้งนี้ของพระนางเจ้าเยกาเจรีนา นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีผู้อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์อื่นด้วยนั่นคือ อดีตจักรพรรดิอีวานที่ 6 (ค.ศ. 1740 – 1764) ซึ่งถูกจองจำอยู่ ณ คุกชลึสเซลเบิร์กกลางทะเลสาบลาโดกาตั้งแต่มีพระชนมายุ 6 พรรษา และเจ้าหญิงทาราคานอวา (ค.ศ. 1753 – 1775) อีวานที่ 6 ถูกปลงพระชนม์ระหว่างความพยายามในการปลดปล่อยพระองค์โดยฝ่ายกบฏต่อต้านพระนางเจ้าเยกาเจรีนาซึ่งต่อมาประสบความล้มเหลว เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าองค์พระจักรพรรดินีนาถทรงมีรับสั่งอย่างเข้มงวดให้ปลงพระชนม์พระบรมวงศ์องค์ใดก็ตามที่ตกเป็นเฉลยฝ่ายต่อต้านพระนาง ดังนั้นความบริสุทธิ์ของพระนางจากการปลงพระชนม์อีวานที่ 6 นี้จึงยังเป็นที่กังขา (อีวานที่ 6 ทรงเคยถูกมองว่าวิกลจริตเพราะถูกคุมขังอย่างโดดเดียวเป็นเวลาหลายปี หลายฝ่ายจึงเกรงว่าอาจไม่เหมาะที่จะขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง แม้จะสามารถให้ขึ้นเป็นเพียงแค่ประมุขโดยไร้ซึ่งพระราชอำนาจก็ตาม)

แม้ว่าพระนางเยกาเจรีนาจะมิได้สืบเชื้อพระโลหิตจากจักรพรรดิรัสเซียองค์ก่อนพระองค์ใดเลย และสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชสวามีในฐานะพระจักรพรรดินีนาถ โดยรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับจักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 1 มาแล้ว ซึ่งพระองค์ประสูติเป็นสตรีจากชนชั้นแรงงานในดินแดนฝั่งทะเลบอลติกตะวันออกของสวีเดน แล้วได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชผู้เป็นพระสวามีในปี ค.ศ. 1725

นักประวัติศาสตร์พากันถกเถียงถึงพระราชฐานะทางเทคนิคของพระนางเจ้าเยกาเจรีนาว่าทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนหรือผู้ช่วงชิงพระราชอำนาจ ในช่วง ค.ศ. 1770 - 1779 กลุ่มขุนนางผู้สนิทชิดเชื้อกับพระราชโอรสของพระนาง แกรนด์ดยุคพอล (นิกิตา ปายิน และคณะของเขา) เคยพิจารณาที่จะก่อรัฐประหารล้มราชบัลลังก์พระนางเยกาเจรีนาแล้วราชาภิเษกแกรนด์ดยุคพอลขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ ซึ่งวาดฝันให้จักรพรรดิองค์ใหม่อยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง และพระนางเจ้าเยกาเจรีนาครองราชสมบัติจวบจนพระองค์เสด็จสวรรคต

ครองราชย์

เยกาเจรีนามหาราชินี 
พระปรมาธิไภยย่อ

การต่างประเทศ

ระหว่างที่ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตรัสเซียออกไปทางทิศใต้และตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยการยึดรวมเอาโนโวรอสซิยา (รัสเซียใหม่), ไครเมีย, คอเคซัสตอนเหนือ, ยูเครนฝั่งตะวันออก, เบลารุส, ลิทัวเนีย และคูร์แลนด์ โดยที่ดินแดนเหล่านี้ส่วนมากเคยเป็นดินแดนของสองชาติหลักๆ คือ จักรวรรดิออตโตมัน และเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ที่ต่างก็กล่าวว่าพระนางได้ผนวกดินแดนเข้าสู่จักรวรรดิของพระนางกว่า 520,000 ตารางกิโลเมตร

รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของพระนางนามว่า นิกิตา อีวาโนวิช ปายิน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1779 – 1781) เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินพระราชหฤทัยในราชการของพระนางเจ้าแคทเธอรีนตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว รัฐบุรุษผู้ฉลาดหลักแหลมผู้นี้ทุ่มเทแรงกายและทรัพย์สินหลายล้านรูเบิลไปกับการก่อตั้ง ข้อตกลงเหนือ (Northern Accord) ระหว่างรัสเซีย, ปรัสเซีย, โปแลนด์ และสวีเดน เพื่อเป็นการตอบโต้อิทธิพลจากสัมพันธภาพระหว่างราชวงศ์บูร์บงฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออสเตรีย ต่อมาเมื่อความพยายามครั้งนี้ของเขาประสบความล้มเหลว พระนางเจ้าเยกาเจรีนาก็ลดบทบาทและความสนพระราชหฤทัยในตัวของปายินลง ซึ่งพระนางแทนที่เขาด้วยอีวาน ออสเตียร์มัน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1781 – 1797)

พระนางเจ้าทรงเห็นชอบสนธิสัญญาการค้ากับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในปี ค.ศ. 1766 แต่ทรงล้มเลิกการเป็นพันธมิตรทางการทหารต่อกัน แม้ว่าจะทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรของอังกฤษ แต่ก็ทรงระมัดระวังอำนาจทางการเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้นของอังกฤษจากชัยชนะในสงครามเจ็ดปี ซึ่งสั่นคลอนดุลยภาพแห่งอำนาจของชาติในทวีปยุโรป

สงครามรัสเซีย-ตุรกี

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพวาดขณะทรงม้าในฉลองพระองค์เครื่องแบบกรมทหารเปรโอบราเซนสกี

ใขณะที่จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชทรงทำสงครามได้รับดินแดนเพียงบางส่วนทางตอนใต้ที่ติดกับทะเลดำในการบุกอาซอฟ พระนางเยกาเจรีนาทรงประสบผลสำเร็จในการยึดครองดินแดนทางตอนใต้ ทำให้รัสเซียยกสถานะของตนเป็นชาติมหาอำนาจหลักในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้จากการทำสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่หนึ่งกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นการพ่ายแพ้มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตุรกี เช่นใน สมรภูมิเชสมา (5 – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1770) และ สมรภูมิคากูล (21 กรกฎาคม ค.ศ. 1770)

ชัยชนะของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสามารถเปิดชายแดนเข้าไปยังทะเลดำและสามารถไปยึดเอาบริเวณที่ปัจจุบันเป็นตอนใต้ของยูเครนได้ ซึ่ง ณ ที่นั้นเองที่รัสเซียตั้งเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า โอเดสซา, นีโคลาเยฟ, เยกาเจรีโนสลาฟ (แปลตรงว่า "เกียรติยศแห่งเยกาเจรีนา" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ดนีโปรเปตรอฟสค์) และเคอร์สัน ต่อมาสนธิสัญญาคูชุคไคนาร์จีถูกลงนามในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1774 ทำให้รัสเซียได้ดินแดนจากออตโตมันเพิ่มเติม สนธิสัญญายังอนุญาตให้รัสเซียสามารถเดินเรือทั้งพลเรือและทหารในทะเลอะซอฟได้ และยังตั้งให้รัสเซียเป็นผู้ปกป้องชาวคริสต์อีสเติร์นออร์ทอด็อกซ์ในจักรวรรดิออตโตมัน การทำสนธิสัญญาในครั้งนี้ยังรวมเอาไครเมียมาเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซียอีกด้วย

พระนางเยกาเจรีนาผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียในปี ค.ศ. 1783 เป็นเวลาเก้าปีหลังจากที่อาณาจักรข่านไครเมียได้รับเอกราชบางส่วนจากออตโตมัน ซึ่งเป็นผลมากจากการที่รัสเซียสามารถทำสงครามเอาชนะพวกเติร์กในสงครามรัสเซีย-ตุรกีได้ พระราชวังหลวงของข่านตกเป็นของชาวรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1786 พระนางเยกาเจรีนาได้ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมชัยชนะขึ้นในไครเมียซึ่งกระตุ้นให้เกิดสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สองตามมา

จักรวรรดิออตโตมันเริ่มสงครามกับรัสเซียอีกครั้งในสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สอง (ค.ศ. 1787 - 1792) และจบลงด้วยสนธิสัญญาจาสซี (ค.ศ. 1792) ซึ่งให้สิทธิ์โดยธรรมแก่รัสเซียในการปกครองไครเมียและภูมิภาคเยดิซาน ทำให้แม่น้ำนีสเตอร์กลายเป็นพรมแดนระหว่างสองจักรวรรดิ

ความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตก

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพการ์ตูนล้อเลียนในปี ค.ศ. 1781 วาดโดยชาวอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างพระนางเยกาเจรีนา (ด้านขวาของภาพ, ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรียและฝรั่งเศส) กับตุรกี

พระนางเยกาเจรีนาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประมุขผู้ทรงภูมิธรรมมาอย่างยาวนาน พระองค์ทรงนำรัสเซียเข้าสู่บทบาทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจจะหรือได้นำไปสู่การทำสงครามแล้ว และบทบาทนี้เองที่อังกฤษได้ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระองค์ทรงวางจนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในสงครามสืบราชบัลลังก์บาวาเรีย (ค.ศ. 1778 - 1779) ระหว่างรัฐเยอรมันปรัสเซียกับออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1780 พระองค์ทรงสถาปนาสันนิบาตกองกำลังไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (League of Armed Neutrality) เพื่อใช้เป็นกองกำลังให้ความคุ้มครองเรือสินค้าที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจากราชนาวีอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกัน

ช่วงปี ค.ศ. 1788 - 1790 รัสเซียทำสงครามรัสเซีย-สวีเดน สงครามครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่พระญาติของพระนางเยกาเจรีนา พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน ผู้ที่ทรงคาดการณ์ว่าจะสามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้โดยง่าย ยังทรงเกี่ยวข้องอยู่กับการทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันและหวังว่าจะทรงสามารถบุกโจมตีกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กได้โดยตรง แต่กองทัพเรือรัสเซียในน่านน้ำทะเลบอลติกก็สามารถเอาชนะกองทัพเรือสวีเดนได้ในสมรภูมิฮอกแลนด์ ค.ศ. 1788 กองทัพสวีเดนจึงประสบความล้มเหลวในการบุก เดนมาร์กประกาศสงครามต่อสวีเดนในปีเดียวกัน (สงครามเธียเตอร์) ภายหลังได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพเรอรัสเซีย ณ สมรภูมิสเวนสกุนด์ในปี ค.ศ. 1790 คู่สงครามได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาเวเรเล (14 สิงหาคม ค.ศ. 1790) ซึ่งคืนดินแดนที่สามารถยึดมาได้ทั้งหมดแก่เจ้าของเดิมและเป็นเครื่องยืนยันสนธิสัญญาเตอร์คู สันติภาพเกิดขึ้นเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1792

การปักปันโปแลนด์

เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2 โดยโยฮัน บัปติสต์ ฟอน ลัมปิ ผู้อาวุโส

ในปี ค.ศ. 1764 พระนางทรงเลือกสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี อดีตคนรักของพระองค์ ขึ้นครองราชบัลลังก์โปแลนด์ แม้ว่าแนวคิดการปักปันโปแลนด์นี้จะถูกริเริ่มโดยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย แต่พระนางเยกาเจรีนาก็ทรงรับบทบาทหลักในการแบ่งส่วนดินแดนนี้ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1790 ในปี ค.ศ. 1768 พระองค์ทรงเฉลิมพระอิสริยยศเป็นองค์อธิปัตย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดกบฏสหพันธ์บาร์ (Bar Confederation; ค.ศ. 1768 - 1772) ซึ่งเป็นความเกลียดชังและการลุกฮือต่อต้านรัสเซียในโปแลนด์ ต่อมาทรงปราบปรามและบดขยี้กลุ่มกบฏแล้วทรงบีบบังคับให้โปแลนด์-ลิทัวเนียกลับมาใช้ระบอบเครือจักรภพ (Rzeczpospolita) ซึ่งทำให้รัฐบาลโปแลนด์ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยจักรวรรดิรัสเซียผ่านทางคณะมนตรีถาวรภายใต้การกำกับดูแลของเอกอัครราชทูตและราชทูตส่วนพระองค์

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 พระองค์ทรงปฏิเสธแนวคิดและหลักการมากมายจากยุคเรืองปัญญาซึ่งครั้งหนึ่งทรงโปรดปราน ทรงเกรงว่ารัฐธรรมนูญแห่งโปแลนด์ (ค.ศ. 1792) อาจจะนำไปสู่การฟื้นคืนอำนาจของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย นอกจากนี้ยังทรงเกรงอีกว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นนี้จะกลายมาเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงของระบอบกษัตริย์ในทวีปยุโรป พระองค์จึงทรงเข้าแทรกแซงโปแลนด์โดยให้การสนับสนุนกลุ่มชาวโปแลนด์ที่ต่อต้านการปฏิรูปที่เรียกว่า สมาพันธ์ทาร์กอวิซา (Targowica Confederation) ต่อมารัสเซียได้ปราบปรามกลุ่มผู้ภักดีต่อโปแลนด์-ลิทัวเนียในเหตุการณ์การลุกฮือโคสซิอุสซ์โค ค.ศ. 1794 ทำให้รัสเซียสามารถเข้าปักปันโปแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์ และแบ่งแยกดินแดนของเครือจักรภพร่วมกับปรัสเซียและออสเตรียในปี ค.ศ. 1795

ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

ในภาคตะวันออกไกล รัสเซียกระตือรือร้นอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องขนสัตว์บนคาบสมุทรคัมชัตคาและบนเกาะคูริล กระตุ้นให้รัสเซียมีความสนใจในการค้าในทางใต้กับญี่ปุ่นเพื่อสรรหาวัตถุดิบและอาหาร ในปี ค.ศ. 1783 พายุได้พัดเรือของกัปตันไดโคคุยะ โคดะยู ล่มในทะเลจนเขาลอยมาขึ้นฝั่งบนเกาะอะลูเชียนซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นดินแดนของรัสเซีย ทางการท้องถิ่นของรัสเซียช่วยไดโคคุยะและคณะของเขาไว้ รัฐบาลรัสเซียจึงตัดสินใจใช้เขาเป็นราชทูตติดต่อทำการค้ากับญี่ปุ่น ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1791 พระนางเยกาเจรีนาพระราชทานโอกาสให้ไดโคคุยะเข้าเฝ้า ณ พระราชวังทีซาร์สกี ซีโล (Tsarskoye Selo) ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 รัฐบาลรัสเซียส่งคณะทูตไปเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นภายใต้การนำของอดัม แลกซ์แมน รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะให้การตอนรับคณะทูตแต่การเจรจาประสบความล้มเหลว

การธนาคารและการเงิน

ในปี ค.ศ. 1768 ธนาคารแอสไซเนชัน (Assignation Bank) ได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์ธนบัตรรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก ธนาคารเปิดทำการที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและมอสโกในปี ค.ศ. 1768 หลังจากนั้นจึงขยายไปตามเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิ การพิมพ์ธนบัตรนี้ถูกจัดทำขึ้นจากค่าใช้จ่ายในราคาเดียวกับธนบัตรโดยถูกชำระในรูปของเงินตราที่ทำมาจากทองแดง การเกิดขึ้นของธนบัตรรูเบิลในลักษณะนี้มีความจำเป็นอย่างมากต่อรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหาร ซึ่งนำมาสู่การคลาดแคลนโลหะเงินในท้องพระคลังหลวง เพราะการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เงินตราในรูปของโลหะเงินและโลหะทองคำเกือบทั้งหมด ธนบัตรรูเบิลจึงถูกใช้งานอย่างทัดเทียมกับรูเบิลที่เป็นโลหะเงิน นอกจากนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องสำหรับเงินทั้งสองรูปแบบอีกด้วย ธนบัตรรูเบิลประเภทนี้ถูกใช้งานไปจนถึงปี ค.ศ. 1849

ศิลปะและวัฒนธรรม

พระนางเยกาเจรีนามีพระเกียรติยศอย่างมากจากการทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วงการศิลปะ, วรรณกรรม และการศึกษา พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจ ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของพระราชวังฤดูหนาว, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เป็นอาคารจัดแสดง ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการสะสมผลงานศิลปะส่วนพระองค์ แล้วด้วยการยุยงส่งเสริมของก้นกุฏิคนคนสนิท พระนางได้พระราชนิพนธ์ตำราเรียนพระราชทานให้ใช้สำหรับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน ซึ่งพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดของนักปรัชญานามว่า จอห์น ล็อก เป็นหลัก และยังทรงสถาปนาสถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) อันโด่งดังในปี ค.ศ. 1764 ขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เหล่าธิดาของขุนนางอีกด้วย

พระนางพระราชนิพนธ์บันเทิงคดี, นวนิยาย และบันทึกความจำไว้มากมาย ในขณะเดียวกันก็ทรงปลูกฝังแนวคิดของวอลแตร์, ดีเดอโร และดาล็องแบร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นนักประพันธ์สารานุกรม (Encyclopédist) ชาวฝรั่งเศสผู้ปะติดปะต่อพระเกียรติยศของพระนางในเวลาต่อมา ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในยุคสมัยนั้น เช่น อาร์เธอร์ ยัง และ ฌักส์ เน็กแกร์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชาวต่างประเทศในสมาคมเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Society) ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากพระราชดำริของพระนางในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ค.ศ. 1765 และพระนางยังได้ทรงเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์อย่าง เลออนฮาร์ด ออยเลอร์, ปีเตอร์ ซีมอน พาลลัส จากเบอร์ลิน และ อันเดอร์ส โจวัน เลกเซลล์ จากสวีเดน มาสู่เมืองหลวงของรัสเซีย

พระนางยังทรงมีความสนิทสนมกับวอลแตร์ ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 15 ปี นับตั้งแต่ที่พระนางแคทเธอรีนเสด็จขึ้นครองราชย์ไปจนถึงการถึงแก่อสัญกรรมของวอลแตร์ในปี ค.ศ. 1778 วอลแตร์สรรเสริญพระนางว่าทรงเป็น "ดวงดาราแห่งทิศอุดร" และ "พระนางเซมิรามิสแห่งรัสเซีย" (เป็นการอ้างถึงพระนางเซมิรามิส กษัตรีย์แห่งบาบิโลเนียในตำนาน ซึ่งวอลแตร์ได้ตีพิมพ์เรื่องราวโศกนาฏกรรมของพระนางในปี ค.ศ. 1768) และแม้ว่าวอลแตร์จะมิเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระนางเยกาเจรีนาแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อทรงทราบข่าวการถึงแก่กรรมของเขา พระนางเยกาเจรีนาก็ทรงรู้สึกอาลัยอย่างขมขื่น ทรงได้รับชุดหนังสือสะสมของวอลแตร์มาจากทายาทของเขา แล้วมีพระราชประสงค์ให้เก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ในหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย

เป็นเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1762 พระนางเยกาเจรีนาทรงทราบข่าวการคุกคามของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะให้มีการหยุดตีพิมพ์ "อองซีโกลเปดี" อันโด่งดังด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหานอกศาสนา พระนางจึงมีพระราชประสงค์ให้ดีเดอโรมาพำนักและประพันธ์งานของเขาในรัสเซีย ภายใต้การปกป้องของพระนาง

สี่ปีถัดมาในปี ค.ศ. 1766 พระนางทรงพยายามที่จะก่อตั้งสภานิติบัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดแห่งยุคเรืองปัญญาที่ทรงศึกษามาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ทรงเรียกที่ประชุม ณ กรุงมอสโก โดยองค์รวมว่า "คณะกรรมาธิการใหญ่" ซึ่งเปรียบเสมือนกับรัฐสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ประกอบไปด้วยสมาชิก 652 คนจากทุกชนชั้น (ข้าราชการ, ขุนนาง, กระฎุมพี และชาวนา) และจากนานาประเทศ คณะกรรมาธิการใหญ่นี้มีหน้าที่พิจารณาถึงสิ่งที่จักรวรรดิรัสเซียต้องการและสิ่งที่สนองความต้องการนั้น พระจักรพรรดินีนาถทรงตระเตรียม "ข้อแนะนำสำหรับแนวทางแห่งที่ประชุม" (นาคาซ) ซึ่งช่วงชิง (ทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมา) เอานักปรัชญาจากยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะมงแต็สกีเยอ และซีจักรพรรดิ เบ็คคาเรีย

เนื่องด้วยหลักการทางประชาธิปไตยทำให้ที่ปรึกษาผู้สุขุมและมีประสบการณ์กว่าของพระองค์เกรงกลัว พระนางเลี่ยงที่จะประกาศบังคับใช้แนวคิดต่างๆ ในทันที และภายหลังที่เหนี่ยวรั้งญัตติการประชุมมากกว่า 200 ครั้ง คณะกรรมาธิการใหญ่ก็ยุบสลายลงไปโดยปริยาย มิได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกเหนือไปจากการเป็นรัฐบาลที่เพ้อฝันแต่ในทฤษฎีต่างๆ

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพการเปิดทำการของศิลป์สมาคมแห่งรัสเซีย โดย วาเลรี จาคอบี

แม้กระนั้นก็ตาม พระนางทรงเริ่มออกราชบัญญัติลงในนาคาซของพระองค์เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในปี ค.ศ. 1775 ทรงออกธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนจังหวัดแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ธรรมนูญนี้เป็นความพยายามที่จะปกครองรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเพิ่มจำนวนประชากรและแบ่งแยกจักรวรรดิออกเป็นจังหวัดและเขตต่างๆ ในช่วงท้ายของการครองราชย์ จักรวรรดิรัสเซียมีจังหวัดต่างๆ 50 จังหวัด และเขตต่างๆ เกือบ 500 เขต ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของจำนวนข้าราชการของประเทศ และใช้จ่ายงบประมาณมากกว่ารัฐบาลท้องถื่นแบบก่อนหน้าถึง 6 เท่า ในปี ค.ศ. 1785 ทรงหารือกับขุนนางเกี่ยวกับการพระราชทานกฏบัตรแก่ขุนนางเพื่อเพิ่มอำนาจและอิทธิพลของเจ้าของที่ดิน ซึ่งขุนนางในแต่และเขตจะทำการเลือกหัวหน้าคณะขุนนางในนามของจักรพรรดินีนาถ รับผิดชอบเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเป็นกังวลโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในปีเดียวกันนั้น พระนางทรงออกกฏบัตรแห่งเมือง ซึ่งเป็นการจำแนกประชาชนออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อจำกัดอำนาจของขุนนางและเพิ่มพูนชนชั้นกลาง นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1781, ยังทรงออกราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือสินค้าและราชบัญญัติว่าดวยการค้าเกลือ, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการตำรวจ ค.ศ. 1782 และธรรมนูญว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ค.ศ. 1786 ในปี ค.ศ. 1777 พระนางทรงอธิบายกับวอลแตร์ว่านวัตกรรมทางกฎหมายของพระนางภายในจักรวรรดิรัสเซียอันล้าหลังนั้นดำเนินไปแบบ "ทีละเล็กทีละน้อย"

ระหว่างรัชสมัยของพระองค์ ชาวรัสเซียศึกษาและรับเอาอิทธิพลยุคคลาสสิกและอิทธิพลยุโรปซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย กา-วริลา เดร์ชาวิน, เดนิส ฟอนวิซิน และอิปปอลิต บอกดานอวิช ได้วางรากฐานให้แก่เหล่านักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะสำหรับ อเลคซันดร์ พุชกิน ต่อมาพระนางเยกาเจรีนาได้ทรงกลายเป็นผู้อุปถัมภ์องค์สำคัญของวงการอุปรากรรัสเซีย

ต่อมาเมื่ออะเลคซันดร์ ราดิชเชฟ ตีพิมพ์หนังสือ การเดินทางจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์กสู่มอสโก ในปี ค.ศ. 1790 (หนึ่งปีหลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส) และกล่าวเตือนถึงการก่อจลาจลจากสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมอันน่าสังเวชของเหล่าชาวนาที่ตกเป็นข้าติดที่ดิน พระนางเยกาเจรีนาจึงทรงเนรเทศเขาไปยังไซบีเรีย

การศึกษา

เยกาเจรีนามหาราชินี 
เยกาเจรีนา วอรอนสโตวา-ดาชโกวา พระสหายคนสนิทและบุคคลสำคัญจากยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย

พระนางเยกาเจรีนาทรงรับเอาปรัชญาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกไว้แนบพระราชหฤทัย และประสงค์จะให้ในรัสเซียมีบุคคลที่มีแนวความคิดเดียวกับพระองค์รายล้อมอยู่รอบพระวรกาย ทรงเชื่อว่าจะสร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' (new kind of people) ขึ้นมาได้ด้วยการปลูกฝังเยาวชนชาวรัสเซียตามแบบการศึกษาของยุโรป ทรงเชื่ออีกว่า ด้วยการศึกษาแบบนี้จะช่วยเปลี่ยนทั้งจิตและใจของชาวรัสเซียให้ห่างไกลจากความล้าหลัง ซึ่งก็หมายถึงการพัฒนาในแต่ละปัจเจกชนทั้งทางด้านสติปัญญาและคุณธรรม, มอบทั้งความรู้และทักษะควบคู่กัน รวมไปถึงการปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ

พระนางทรงแต่งตั้ง อีวาน เบตสกอย เป็นที่ปรึกษาพระราชกิจด้านการศึกษา ทรงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาในรัสเซียและประเทศอื่นๆ ผ่านทางอิวาน และยังทรงตั้งคณะกรรมาธิการอันประกอบไปด้วย ที.เอ็น. เทปลอฟ, ที. คอน คลิงสเตดต์, เอฟ.จี. ดิลธี และนักประวัติศาสตร์ จี. มุลเลอร์ ทรงปรึกษาหารือกับนักบุกเบิกทางการศึกษาชาวอังกฤษ โดยเฉพาะสาธุคุณแดเนียล ดูมาเรสก์ และ ดร. จอห์น บราวน์ ในปี ค.ศ. 1764 พระนางทรงเชิญสาธุคุณแดเนียลมายังรัสเซียแล้วทรงแต่งตั้งเขาเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา คณะกรรมาธิการนี้ศึกษาถึงโครงการปฏิรูปที่ริเริ่มโดย ไอ.ไอ. ชูวาลอฟ ในรัชสมัยพระนางเจ้าเยลีซาเวตาและจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 จากนั้นจึงส่งร่างคำแนะนำให้จัดตั้งระบบการศึกษาทั่วไปสำหรับชาวรัสเซียนิกายออร์โธด็อกซ์วัย 5 ถึง 18 ปี ยกเว้นกลุ่มทาสที่ไม่ถูกรวมเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างคำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นผลขึ้นจริงเนื่องจากคณะกรรมาธิการนิติบัญญัติขัดขว้างไว้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1765 สาธุคุณแดเนียลเขียนจดหมายถึง ดร. จอห์น บราวน์ เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาของคณะกรรมาธิการฯ และได้รับจดหมายตอบอันยาวเหยียดกลับมา จดหมายมีใจความถึงคำแนะนำอย่างคร่าวๆ และทั่วไปมากๆ สำหรับการปฏิรูปการศึกษาและสังคมในรัสเซีย ดร. จอห์น บราวน์ โต้แย้งว่าในประเทศประชาธิปไตย การศึกษาควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ข้อกำหนด ดร. จอห์นยังเน้นย้ำเป็นอย่างมากถึงความสำคัญของ "การศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับสตรีเพศ"; สองปีถัดมา พระนางเจ้าเยกาเจรีนาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อีวาน เบตสกอยร่าง "ระเบียบวาระทั่วไปสำหรับการศึกษาของเยาวชนทั้งสองเพศ" ขึ้นมาซึ่งระเบียบวาระฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการสรรค์สร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' ซึ่งจะถูกเลี้ยงดูให้ห่างไกลจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมอันล้าหลังของรัสเซีย การจัดตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามอสโก (บ้านเด็กกำพร้ามอสโก) เป็นความพยายามแรกที่จะผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เริ่มต้นด้วยการรับเด็กผู้ยากไร้และเด็กที่เกิดจากการคบชู้ของบุพการีเข้ามาดูแลเพื่อที่จะให้การศึกษาในอย่างที่รัฐเห็นควรว่าเหมาะสม และเนื่องจากการที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านี้ไม่ได้ถูกก่อตั้งในฐานะองค์กรที่รัฐให้เงินสนับสนุน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของโอกาสและการทดลองริเริ่มด้วยทฤษฎีการศึกษาแนวใหม่ อย่างไรก็ตาม บ้านเด็กกำพร้ามอสโกกลับประสบความล้มเหลว โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากอัตราการตายของเด็กที่สูงเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่สามารถเติบใหญ่ไปเป็นกลุ่มบุคคลผู้เรืองปัญญาได้อย่างที่รัฐปรารถนาไว้

เยกาเจรีนามหาราชินี 
บ้านเด็กกำพร้ามอสโก
เยกาเจรีนามหาราชินี 
สถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) สถาบันสำหรับขุนนางสตรีแห่งแรกของรัสเซียและสถาบันอุดมศึกษาสำหรับสตรีแห่งแรกของยุโรป

ไม่นานหลังจากที่ทรงก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้ามอสโก พระนางเยกาเจรีนาสถาปนาสถาบันสโมลนีย์เพื่อให้สตรีชนชั้นสูงได้รับการศึกษาและนำไปเผยแพร่แก่สตรีชาวรัสเซียคนอื่นๆ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสตรีแห่งแรกๆ ในรัสเซีย โดยในช่วงแรกสถาบันรับเฉพาะสตรีชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ในภายหลังก็ได้เปิดรับสตรีจากชนชั้นกระฎุมพีด้วยเช่นกัน หญิงสาวที่เข้าศึกษาในสถาบันสโมลนีย์หรือที่เรียกว่า สโมลยานกี (Smolyanki) มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โง่เขลาและไม่รู้เรื่องราวภายนอกกำแพงสถาบันอยู่บ่อยครั้ง ภายในสถาบันสโมลนีย์ พวกเธอจะได้รับความรู้ขนานแท้เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส การดนตรี การเต้นรำ และความน่าเกรงขามของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสถาบันนี้เองมีกฎระเบียบและมารยาทที่ถูกยึดถืออย่างเคร่งครัด การวิ่งและการละเล่นต่างๆ ถูกห้าม นอกจากนี้ภายในตัวอาคารยังถูกรักษาให้มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำเนื่องจากเชื่อว่าอุณหภูมิที่สูงจนอุ่นเกินไปจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของร่างกาย

ระหว่างปี ค.ศ. 1768 – 1774 กระบวนการจัดตั้งระบบสถานศึกษาแห่งชาติไม่มีความคืบหน้า แต่พระนางเยกาเจรีนายังทรงพิจารณาในทฤษฎีการศึกษาและตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทรงปฏิรูปการศึกษาหลายครั้งแต่ยังคงไม่มีระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนนายร้อยทหารในปี ค.ศ. 1766 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปหลากหลายครั้ง โดยเริ่มจากการกำหนดให้เด็กเล็กที่มีอายุน้อยเข้ารับการศึกษาจนกระทั่งมีอายุรวม 21 ปี ทั้งนี้หลักสูตรทหารอาชีพที่ใช้ในโรงเรียนดังกล่าวมีเนื้อหาที่เปิดกว้างและบรรจุไว้หลากหลายวิชา อาทิเช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา จริยธรรม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงกฎหมายระหว่างประเทศ นโยบายในโรงเรียนนายร้อยทหารนี้เองที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยทหารเรือและในโรงเรียนวิศวกรรมและทหารปืนใหญ่ ภายหลังจากสงครามและความพ่ายแพ้ของปูกาชอฟ พระนางทรงวางพันธกิจในการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ใน กูเบอร์นียา (guberniya; ระบบการปกครองเทียบเท่า "จังหวัด" ในรัสเซีย โดยมีผู้ว่าราชการเป็นผู้ปกครอง) ผ่านคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม โดยมีผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากทั้งสามฐานันดรอิสระเข้าร่วมด้วย

ในปี ค.ศ. 1782 พระนางทรงจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่รวบรวมมาจากประเทศต่างๆ ระบบการศึกษาที่ถูกคิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ ฟรันซ์ เอพินุส มีความโดดเด่นอย่างมาก เขาชื่นชอบและรับเอารูปแบบการศึกษาสามขั้นของออสเตรีย อันได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็ก (trivial school) โรงเรียนขนาดกลาง (real school) และโรงเรียนขนาดใหญ่ (normal school) ในระดับหมู่บ้าน เมือง และเมืองเหลวงของจังหวัดตามลำดับ นอกจากนี้พระนางเยกาเจรีนายังทรงจัดตั้งคณะกรรมาธิการสถานศึกษาแห่งชาติภายใต้การนำของปีตอร์ ซาวาดอฟสกี เพิ่มเติมในคณะที่ปรึกษาอีกด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการนี้รับผิดชอบบริหารจัดการระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ฝึกฝนครูอาจารย์ และจัดทำแบบเรียน ดังนั้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจึงเกิดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1786 พระราชบัญญัติดังกล่าวจัดตั้งระบบสองขั้นแก่โรงเรียนประถมและโรงเรียนในเมืองหลวงของแต่ละกูเบอร์นียาที่เปิดรับนักเรียนจากทุกชนชั้นเสรี (ไม่รวมข้าแผ่นดิน [serfs]) นอกจากนี้พระราชบัญญัติยังวางกฎระเบียบในรายละเอียดเกี่ยวกับวิชาที่จะได้รับการสอนในทุกๆ ช่วงชั้นและรูปแบบในการสอนอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากแบบเรียนที่ได้รับการแปลจากคณะกรรมาธิการแล้ว ยังมีคู่มือสำหรับครูประกอบกันไว้อีกด้วย ซึ่งคู่มือนี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ รูปแบบวิธีการสอน รายวิชาที่จะต้องสอน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครู และการบริหารจัดการโรงเรียน

การตัดสินจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นรุนแรง โดยอ้างว่าพระนางเยกาเจรีนาทรงไม่สามารถจัดหาทุนเพื่อใช้สำหรับดำเนินงานด้านการศึกษาของพระองค์ได้อย่างเพียงพอ สองปีหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้น สมาชิกของคณะกรรมาธิการแห่งชาติได้ไล่ตรวจสอบสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ตรวจสอบไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทั้งรัสเซียมากนัก และแม้ว่าเหล่าขุนนางให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันทางการศึกษาเหล่านี้มากพอสมควร แต่ก็ยังคงนิยมส่งลูกหลานของตนไปร่ำเรียนในสถาบันของเอกชนที่มีเกียรติมากกว่า เช่นเดียวกับชาวเมืองท้องถิ่นที่มีท่าทีต่อต้านโรงเรียนประถมและรูปแบบการเรียนสอน ประมาณการณ์กันว่าในช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ มีเด็กราว 62,000 คนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ 549 แห่ง โดยมีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวรัสเซียทั้งหมด

การศาสนา

เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดินาถเยกาเจรีนาที่ 2 ในฉลองพระองค์ประจำชาติรัสเซีย

ความสนพระทัยอย่างมากต่อความเป็นรัสเซีย (รวมถึงศาสนจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์) ของพระนางเยกาเจรีนาอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงไม่แยแสในกิจการด้านศาสนา พระนางยึดเอาที่ดินของฝ่ายศาสนจักรมาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับการศึกสงคราม ส่งผลให้บรรดาศาสนสถานต่าง ๆ ถูกทิ้งร้าง และเป็นการบีบบังคับให้เหล่านักบวชต้องหาทางรอดด้วยการทำเกษตรกรรม บ้างก็หารายได้จุนเจือจากค่าธรรมเนียมการประกอบพิธีบัพติศมาและพิธีอื่น ๆ นอกจากนี้บรรดาขุนนางชนชั้นสูงยังไม่นิยมเข้าโบสถ์กันอีกด้วย ยิ่งทำให้บทบาทของศาสนจักรเสื่อมลงยิ่งไปกว่าเดิม พระนางยังทรงห้ามปรามมิให้ผู้ที่คัดค้านในพระราโชบายของพระองค์ได้สร้างโบสถ์ต่าง ๆ และทรงปราบปรามพวกเคร่งศาสนา หลังจากเกิดกรณีตัวอย่างของความวุ่นวายในการปฏิวัติฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม พระนางทรงสนับสนุนและส่งเสริมศาสนาคริสต์ในพระราโชบายต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์ ทรงส่งเสริมการพิทักษ์และอุปถัมภ์คริสต์ศาสนิกชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกตุรกี ทั้งนี้พระนางทรงจำกัดสิทธิ์ของชาวคริสต์โรมันคาทอลิก (ยูกาซฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1769) โดยเฉพาะกับชาวโปแลนด์ และทรงพยายามที่จะสอดแทรกและขยายขอบเขตการควบคุมของรัฐเหนือชาวโปแลนด์ในช่วงต้นของการแบ่งแยกโปแลนด์อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น รัสเซียในสมัยพระนางแคทเธอรีนยังได้เอื้อเฟื้อที่ลี้ภัยและฐานการรวมกลุ่มแก่คณะเยสุอิต หลังจากที่มีการปราบปรามอย่างหนักเกือบทั่วทั้งยุโรปในปี ค.ศ. 1773

อิสลาม

พระนางเยกาเจรีนาทรงปฏิบัติต่อศาสนาอิสลามอย่างหลากหลายแนวทางตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1773 ชาวมุสลิมถูกห้ามปรามไม่ให้มีข้าทาสชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ไว้ในครอบครอง ทั้งยังถูกกดดันให้แปรเปลี่ยนมาเข้ารีตออร์โธดอกซ์ผ่านข้อเสนอทางด้านการเงิน นอกจากนี้ยังทรงให้สัญญาแก่ชาวมุสลิมผู้เปลี่ยนศาสนาว่าจะทรงอนุญาตให้ครอบครองข้าทาสจากทุกศาสนาเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาทุกราย (ที่เป็นมุสลิม) อีกด้วย

ยูดาห์

จักรวรรดิรัสเซียมักจะมองศาสนายูดาห์เป็นเอกเทศจากทุกศาสนา ชาวยิวในรัสเซียมีกฎหมายและระบบราชการแยกต่างหาก ถึงแม้รัฐบาลรัสเซียจะรับรู้มีประชากรชาวยิวอาศัยอยู่ในจักรวรรดิ แต่พระนางแคทเธอรีนและที่ปรึกษาของพระองค์ก็ไม่มีนิยามอย่างชัดเจนต่อชาวยิว ตลอดรัชกาลของพระนางเยกาเจรีนา พระองค์ทรงมีนิยามที่หลากหลายสำหรับชาวยิว ศาสนายูดาห์เป็นศาสนาขนาดเล็กและมีผู้นับถือน้อยในรัสเซีย จนกระทั่ง ค.ศ. 1792 เมื่อพระนางเยกาเจรีนาเห็นชอบกับการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง ประชากรยิวจำนวนมากจากเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียเดิม จึงตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งถูกดูแลต่างหาก แยกจากศาสนาอื่น พระนางเยกาเจรีนาทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวยิวอาศัยอยู่ต่างหากจากประชากรออร์ทอดอกซ์ทั่วไป โดยมีข้อแม้บางประการ เช่น การเก็บภาษีพิเศษสำหรับครอบครัวชาวยิว หากครอบครัวนั้นเข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์ ครอบครัวนั้นก็ไม่ต้องจ่ายภาษีพิเศษอีกต่อไปประชากรชาวยิวจำเป็นต้องจ่ายภาษีมากกว่าชาวออร์ทอดอกซ์ โดยจะจ่ายภาษีเป็นสองเท่าของภาษีชาวออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่ชาวยิวที่เข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพพ่อค้า หรือเป็นชาวนาอิสระได้เช่นกัน

ในความพยายามที่จะนำชาวยิวเข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจรัสเซีย พระนางเยกาเจรีนาทรงประกาศ "โองการนคร ค.ศ. 1782" (Charter of the Towns of 1782) ซึ่งมีผลรวมไปถึงชาวยิวด้วยชาวรัสเซียที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ไม่ค่อยพอใจชาวยิวนัก โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องเศรษฐกิจ พระนางเยกาเจรีนาเองก็พยายามจะกีดกันชาวยิวจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบางประการ โดยการอ้างความเท่าเทียมทางการค้า ในปี ค.ศ. 1790 พระองค์ทรงห้ามชาวยิวทำอาชีพของชนชั้นกลางในกรุงมอสโก

ในปี ค.ศ. 1785 พระนางเยกาเจรีนาทรงประกาศว่าชาวยิวเป็นชาวต่างชาติ โดยทั้งนี้พระนางยังทรงรับรองสิทธิสำหรับชาวยิวในฐานะชาวต่างชาติ นี้ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกที่ศาสนายูดาย์ที่จะคงอยู่ในรัสเซียตลอดยุคเรืองปัญญาของชาวยิว (Haskalah) พระนางยังทรงออกพระราชโอการว่าด้วยการปฏิเสธว่าชาวยิวมีสิทธิเทียบเท่าชาวออร์ทอดอกซ์และชาวรัสเซีย อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีมากขึ้นสำหรับผู้มีเชื้อสายยิวด้วย ในปี ค.ศ. 1794 พระนางแคทเธอรีนทรงประกาศว่าชาวยิวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับชาวรัสเซีย

ออร์โธดอกซ์รัสเซีย

ช่วงท้ายพระชนม์ชีพและการสวรรคต

เยกาเจรีนามหาราชินี 
ภาพวาดพระนางเยกาเจรีนาในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ

แม้ว่าในระหว่างการดำรงพระชนม์ชีพและการครองราชย์ของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมากมายจนเป็นที่จดจำ แต่ช่วงท้ายของพระชนม์ชีพกับจบสิ้นลงด้วยความล้มเหลวสองประการ เริ่มต้นด้วยการเสด็จเยือนของพระเจ้ากุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟแห่งสวีเดน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1796 ผู้ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ พระนางเยกาเจรีนามีพระราชประสงค์ให้พระนัดดาของพระองค์ แกรนด์ดัชเชสอะเลคซันดรา อภิเษกกับกษัตริย์กุสตาฟและเสวยราชย์เป็นราชินีแห่งสวีเดนในภายหลัง งานเลี้ยงเต้นรำในราชสำนักจึงถูกจัดขึ้นในพระราชวังในวันที่ 11 กันยายน แต่ก่อนที่พิธีหมั้นจะถูกประกาศออกไป กษัตริย์กุสตาฟทรงรู้สึกถึงแรงกดดันที่ต้องทรงยอมรับว่าแกรนด์ดัชเชสอะเลคซันดราอาจจะไม่ทรงยอมเปลี่ยนศาสนาไปเป็นลัทธิลูเทอแรนและจากการที่พระองค์ต้องประสงค์กับหญิงสาวที่อ่อนวัยกว่า กษัตริย์กุสตาฟจึงไม่ไปปรากฏพระองค์ในงานเลี้ยงเต้นรำและเสด็จนิวัติสวีเดน พระนางเยกาเจรีนาทรงขุ่นเคืองพระทัยเป็นอย่างมากถึงกับประชวรในเวลาต่อมา แต่ไม่นานนักพระนางก็ทรงฟื้นพระวรกายพอที่จะทรงวางแผนงานเลี้ยงอีกงาน ที่ซึ่งพระนางจะประกาศให้พระนัดดาสุดรัก แกรนด์ดยุกอะเลคซันดร์ ขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทนที่แกรนด์ดยุคพอล พระราชโอรสเจ้าปัญหา แต่ก่อนที่พระนางจะได้มีพระราชเสาวนีย์ออกมาก็สวรรคตจากโรคหลอดเลือดสมองเสียก่อน เป็นเวลาเพียงแค่สองเดือนหลังจากงานเลี้ยงกษัตริย์กุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟ

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 5 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1796 พระนางเสด็จลงจากห้องพระบรรทมเช้ากว่าปกติและเสวยพระสุธารสชา (กาแฟ) ตามปกติ ไม่นานหลังจากนั้นก็ทรงพระอักษรในพระราชกรณียกิจประจำวัน และเมื่อมาเรีย เปเรกุสิกินา ข้าราชบริพารส่วนพระองค์ได้ทูลถามถึงการบรรทม ซึ่งตามรายงานพระนางก็ทรงตอบกลับไปว่าบรรทมไม่ค่อยดีมาเป็นเวลานานแล้ว

ช่วงหลังเวลา 9:00 นาฬิกาเช้าวันเดียวกัน พระนางเยกาเจรีนาเสด็จไปยังห้องฉลองพระองค์และทรงล้มลงบนพื้น และเมื่อเวลาผ่านไป ซาฮาร์ โซตอฟ ข้าราชบริพารในวังผู้ซึ่งเกิดความกังวลใจที่พระนางยังมิเสด็จออกมา จึงได้เปิดประตูเข้าไปและจ้องมองไปรอบๆ และพบกับพระนางเยกาเจรีนาที่พระวรกายอยู่ในท่านอนกางแขนกางขาบนพื้น, พระพักตร์เป็นสีม่วง, ชีพจรอ่อน, ลมหายใจแผ่วเบาและเห็นได้ชัดว่าพระนางกำลังทรงพยายามหายใจอยู่ ซาฮาร์จึงยกพระนางขึ้นและพาไปยังห้องบรรทม ประมาณ 45 นาทีต่อมา แพทย์ประจำราชสำนักชาวสก็อตนามว่า ดร.จอห์น โรเกอร์สัน มาถึงยังห้องบรรทมและตัดสินว่าพระนางทรงมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง แม้ว่าจะพยายามประคองพระอาการของจักพรรดินีนาถเอาไว้มากเท่าไหร่ก็ตาม พระอาการก็ยังคงทรุดหนักจนเข้าขั้นโคม่าและอาการก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย พระนางพระราชทานพิธีกรรมครั้งสุดท้ายก่อนจะเสด็จสวรรคตในเวลาประมาณ 21:45 นาฬิกาของวันนั้น การชันสูตรพระศพมีขึ้นในวันถัดมาและยืนยันว่าพระนางเสด็จสวรรคตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง

พระราชประสงค์ของพระนางเจ้าเยกาเจรีนาซึ่งไม่ได้ถูกลงวันที่ไว้ ถูกค้นพบในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1792 โดยราชเลขานุการส่วนพระองค์ อะเลคซันดร์ วาซิลีวิช คราโปวิตสกี ซึ่งอยู่ในของเอกสารส่วนพระองค์ โดยใจความเฉพาะเจาะจงถึงพิธีการและรูปแบบของงานถวายเพลิงพระศพดังนี้

จัดเตรียมศพของเราแต่งในชุดสีขาวและสวมมงกุฎทองบนหัว พร้อมกับสลักชื่อคริสเตียนของเราลงบนมงกุฎ ให้สาธารณชนแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลาหกเดือน อย่าให้ไว้ทุกข์นานไปกว่านี้ : ยิ่งสั้นเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี

ในท้ายที่สุดจักรพรรดินีนาถก็ถูกวางทอดพระวรกายพร้อมกับมงกุฎทองบนพระเศียรและฉลองพระองค์ในชุดไหมเงิน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน โลงพระศพที่ถูกตกแต่งอย่างหรูหราด้วยผ้าแพรสีทองก็ถูกนำไปตั้งไว้บนแท่น ณ ท้องพระโรงห้องแกรนด์แกลเลอรีเพื่อการไว้ทุกข์ ซึ่งออกแบบและตกแต่งโดย อันโตนิโอ รินาลดิ ภายหลังพระศพถูกฝังไว้ ณ โบสถ์ปีเตอร์แอนด์พอลในนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก

คำกล่าวอ้างที่ว่าสาเหตุการสวรรคตมาจากพฤติการณ์ทางเพศอันเกี่ยวข้องกับม้ายังคงเป็นปริศนาและไม่มีหลักฐานอ้างอิง

พระราชโอรส-ธิดา

พระฉายาลักษณ์ พระนาม ช่วงพระชนม์ชีพ หมายเหตุ
เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย 1 ตุลาคม ค.ศ. 1754 – 23 มีนาคม ค.ศ. 1801 โดยนิตินัยเป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แต่ถูกกล่าวอ้างโดยพระนางเยกาเจรีนาว่าเป็นบุตรจากคนรักคนหนึ่งของพระนางคือ เคานต์เซียร์เกย์ ซัลทีกอฟ
เยกาเจรีนามหาราชินี 
อันนา เปตรอฟนา แกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย 9 ธันวาคม ค.ศ. 1757 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1759 โดยนิตินัยเป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แต่สันนิฐานว่าเป็นพระราชธิดาของพระนางเยกาเจรีนากับสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี พระมหากษัตริย์แห่งโปแลนด์ในอนาคต
เยกาเจรีนามหาราชินี 
เยลิซาเวตา กริกอรีวา เทมคีนา] ค.ศ. 1775 – ค.ศ. 1854 ราชธิดาของพระนางเยกาเจรีนากับเจ้าชายกริกอรี โพเทมคีน
เยกาเจรีนามหาราชินี 
เคาน์อะเลคเซย์ กริกอรีวิช โบบรินสเกย์ 11 เมษายน ค.ศ. 1762 – 20 มิถุนายน ค.ศ. 1813 ราชโอรสของพระนางเยกาเจรีนากับเคาน์กริกอรี กริกอรีวิช โอลอฟ

สมุดภาพ

หมายเหตุ

อ้างอิง

ก่อนหน้า เยกาเจรีนามหาราชินี ถัดไป
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 3 เยกาเจรีนามหาราชินี  เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดินีนาถแห่งรัสเซีย
(9 กรกฎาคม ค.ศ. 1762 – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1796)
เยกาเจรีนามหาราชินี  จักรพรรดิปัฟเวลที่ 1
มาร์ธา สคาฟรอนสกายา
(เยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา)
เยกาเจรีนามหาราชินี  เยกาเจรีนามหาราชินี 
จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ใน จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3

(5 มกราคม ค.ศ. 1762 – 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1762)
เยกาเจรีนามหาราชินี  เจ้าหญิงโซฟี โดโรเทอาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
(มารีเยีย เฟโอโดรอฟนา)

Tags:

เยกาเจรีนามหาราชินี พระชนม์ชีพช่วงต้นเยกาเจรีนามหาราชินี รัชสมัยจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 และการรัฐประหารเยกาเจรีนามหาราชินี ครองราชย์เยกาเจรีนามหาราชินี ช่วงท้ายพระชนม์ชีพและการสวรรคตเยกาเจรีนามหาราชินี พระราชโอรส-ธิดาเยกาเจรีนามหาราชินี สมุดภาพเยกาเจรีนามหาราชินี หมายเหตุเยกาเจรีนามหาราชินี อ้างอิงเยกาเจรีนามหาราชินีจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียภาษาเยอรมันมหาอำนาจสงครามเจ็ดปีสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

เทศกาลดนตรีเอสทูโอจังหวัดสุรินทร์เบบีมอนสเตอร์เพื่อน(ไม่)สนิทจังหวัดนนทบุรีนัดกับนัดบิ๊กแอสนฤมล พงษ์สุภาพกวนอิมพีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครรายชื่อตัวละครในนักเตะแข้งสายฟ้า GOจุลศักราชเรโทรสเปกต์จังหวัดสุราษฎร์ธานีวอลเลย์บอลรายชื่อสมาชิกบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตดินสอพอง9รายชื่อตัวละครในยอดนักสืบจิ๋วโคนันทางรถไฟสายใต้เทศน์ เฮนรี ไมรอนจังหวัดกาญจนบุรีผู้หญิง 5 บาปแฮร์รี่ พอตเตอร์จังหวัดสระแก้วเผ่าเพชร เจริญสุขพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวไทยราชวงศ์จักรีสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศลภาคเหนือ (ประเทศไทย)อาณาจักรสุโขทัยโป๊กเกอร์ใหม่ เจริญปุระพรหมวิหาร 4สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจังหวัดอุดรธานีไม้มลายภาษาไทยพระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสงกรานต์ เตชะณรงค์สามก๊กจังหวัดสงขลาเซี่ยงไฮ้สามเณรลักษณวงศ์สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พิชัย ชุณหวชิรพระศรีอริยเมตไตรยวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารธนาคารกสิกรไทยเกิดชาตินี้พี่ต้องเทพเสริมศักดิ์ พงษ์พานิชจังหวัดสมุทรสงครามจิตรพล โพธิวิหคปีนักษัตรกรานิต จากา15 เมษายนพระศิวะอักษรไทยสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยูช็อนแอน อรดีสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งจังหวัดพิษณุโลกสินีนาฏ โพธิเวสบาร์เซโลนาอี จู-บินกระทรวงในประเทศไทยรัมมี่🡆 More