ประชาธิปไตย: อุดมการณ์การเมืองแบบหนึ่ง

ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy; มาจาก กรีกโบราณ: δημοκρατία, อักษรโรมัน: dēmokratía, dēmos 'ประชาชน' กับ kratos 'กฎระเบียบ') เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่งซึ่งพลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเลือกผู้ปกครองซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมาย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนด้วยตนเองหรือผ่านผู้แทนที่เลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ การตัดสินว่าผู้ใดเป็นพลเมืองบ้างและการแบ่งปันอำนาจในหมู่พลเมืองเป็นอย่างไรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงในอัตราไม่เท่ากัน นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ความคิดที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมและการพูด การไม่แบ่งแยกและความเสมอภาค สิทธิพลเมือง ความยินยอม สิทธิในการมีชีวิตและสิทธิฝ่ายข้างน้อย นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ของตนและแบ่งอำนาจจากกลุ่มคนมาเป็นชุดกฎเกณฑ์แทน

ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในแอฟริกาใต้ ค.ศ. 1994 ในทศวรรษ 1990 การยกเลิกการถือผิวเพื่อสนับสนุนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ชาวแอฟริกาใต้หลายสิบล้านคนรวมถึงแมนเดลา สามารถลงคะแนนเสียงได้เป็นครั้งแรก

ประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ประเภทแรกเริ่มปรากฏขึ้นในนครรัฐกรีกโบราณบางแห่งช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครรัฐเอเธนส์ เรียก ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิพิจารณากลั่นกรองและวินิจฉัยกฎหมาย ประเภทที่สองเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยสาธารณะออกเสียงในการเลือกตั้งและเลือกผู้แทนตนไปทำหน้าที่ในรัฐสภา เช่น ระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี สำหรับประชาธิปไตยเสรีนิยมซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่พบกันแพร่หลายนั้น การใช้อำนาจของฝ่ายข้างมากจะอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน แต่รัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายข้างมาก กับทั้งคุ้มครองสิทธิของฝ่ายข้างน้อย ซึ่งพลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิบางประการ เช่น เสรีภาพในการชุมนุมและการพูด การวินิจฉัยสั่งการส่วนใหญ่ใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่บางอย่างใช้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษหรืออาจถึงขั้นเสียงเอกฉันท์ เพื่อให้ประเด็นที่ละเอียดอ่อนมีความชอบธรรมมากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ประชาธิปไตยทางอ้อม แต่กระบวนการบางอย่างยังเป็นประชาธิปไตยทางตรง เช่น การลงประชามติ การเลือกคณะลูกขุนในศาล การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นต้น

ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรีซโบราณ แต่วิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยปรากฏในสังคมอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งเมโสโปเตเมีย ฟินีเซีย และอินเดีย วัฒนธรรมอื่นหลังกรีซได้มีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของประชาธิปไตย เช่น โรมโบราณ ยุโรป และอเมริกาเหนือและใต้ ประชาธิปไตยแบบโบราณซึ่งพลเมืองชายมากน้อยต่างกันมีสิทธิทางการเมืองนั้นค่อย ๆ หมดไปในช่วงปลายสมัยโบราณ มโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเกิดขึ้นส่วนใหญ่จากแนวคิดและสถาบันซึ่งได้มีการพัฒนาระหว่างยุคกลางของทวีปยุโรปและยุคภูมิธรรมในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส จนมาถึงช่วงหลังสงครามเย็น ประชาธิปไตยถูกเรียกว่า "ระบอบการปกครองสุดท้าย" และแพร่หลายอย่างมากไปทั่วโลก

ประชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับบุคคลคนเดียว เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับคณะบุคคลจำนวนน้อย เช่น คณาธิปไตย กระนั้น ระบอบที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยเหล่านี้ยังสืบทอดมาแต่ปรัชญากรีก และปัจจุบันยิ่งดูเคลือบคลุมมากขึ้น เพราะรัฐบาลร่วมสมัยต่างมีส่วนที่เป็นประชาธิปไตย คณาธิปไตยและราชาธิปไตยผสมกัน

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า democracy ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า "ดีมอคระเทีย" (กรีก: ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์  δημοκρατία , dēmokratía) ซึ่งหมายถึง "การปกครองโดยประชาชน" (popular government) อันเป็นคำประสมระหว่างคำว่า "ดีมอส" (กรีก: δῆμος, demos) หมายถึง ประชาชน และ "คราทอส" (กรีก: κράτος, kratos) หมายถึง การปกครอง หรือ พละกำลัง

ส่วนในภาษาไทย คำว่า ประชาธิปไตย ประกอบด้วยคำว่า "ประชา" ซึ่งหมายถึง "ปวงชน" และ "อธิปไตย" ซึ่งหมายถึง "ความเป็นใหญ่" เมื่อรวมกันจึงหมายถึง "ความเป็นใหญ่ของปวงชน" ส่วนพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่" แต่ในห้วงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกใช้ในความหมายว่า สาธารณรัฐ: 11–2 

ลักษณะ

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
สถานะทางนิตินัยของประชาธิปไตยในโลกในปี 2022 ประเทศสีเขียวอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศสีแดงไม่ได้อ้าง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, บรูไน, อัฟกานิสถาน, และวาติกัน ที่ไม่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย

ไม่มีคำนิยามประชาธิปไตยที่ทุกคนเห็นตรงกันหมด การศึกษาในภาษาอังกฤษครั้งหนึ่งพบว่ามีคำอธิบายประชาธิปไตยอย่างน้อย 2,234 คำอธิบาย แต่มีระบุว่าจะต้องมีลักษณะสำคัญ คือ ความเสมอภาคทางกฎหมาย เสรีภาพทางการเมืองและนิติธรรม ตัวอย่างเช่น ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน คะแนนเสียงทุกเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน จะต้องไม่วางข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผลซึ่งห้ามบุคคลสมัครรับเลือกตั้ง และอิสรภาพของพลเมืองได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ทฤษฎีหนึ่งมองว่าประชาธิปไตยประกอบด้วยหลักการพื้นฐานสามประการ ได้แก่ การควบคุมจากล่างขึ้นบน (อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของอำนาจระดับล่างสุด) ความเสมอภาคทางการเมือง และบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งสะท้อนหลักการสองข้อแรก แลร์รี ไดมอนด์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน มองว่ามีสี่องค์ประกอบ ได้แก่ ระบบการเมืองที่เลือกและเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งที่มีอิสระและเป็นธรรม, การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของราษฎร, การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม

คำว่า "ประชาธิปไตย" บางทีใช้เป็นคำย่อของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบที่รวมความคิด เช่น พหุนิยมทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย สิทธิในการร้องทุกข์ต่อข้าราชการการเมือง กระบวนการทางกฎหมาย เสรีภาพพลเมือง สิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมนอกเหนือจากภาครัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากโรเจอร์ สครูตันให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยจะมอบเสรีภาพส่วนบุคคลและการเมืองไม่ได้หากปราศจากสถาบันประชาสังคม

ระบอบประชาธิปไตยมีวิธีวินิจฉัยสั่งการหลายวิธี แต่วิธีหลักได้แก่ การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่จะต้องมีการชดเชยหรือคุ้มครองทางกฎหมายต่อปัจเจกหรือกลุ่ม ฝ่ายข้างน้อย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ "ทรราชเสียงข้างมาก" หลายประเทศมีการแยกใช้อำนาจต่างกัน เช่น ในสหราชอาณาจักรใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์ซึ่งมีรัฐสภาเป็นใหญ่ (parliamentary sovereignty) และฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ในสหรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการมีอำนาจเท่ากัน ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ในบางประเทศถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการพูด เสรีภาพสื่อ และประชาธิปไตยอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เขาออกเสียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการเสนอว่าลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถมส่วนร่วมอย่างอิสระและเต็มที่ในสังคม โดยเน้นย้ำเรื่องแนวคิดสัญญาประชาคมและเจตจำนงร่วมของพลเมือง จึงอาจกล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นคติรวมหมู่ทางการเมืองแบบหนึ่งเพราะนิยามว่าเป็นระบอบการปกครองที่พลเมืองที่มีสิทธิทุกคนมีเสียงเท่ากันในการออกกฎหมาย

สำหรับคำว่า สาธารณรัฐ (republic) นั้น แม้มักสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในเรื่องหลักการปกครองด้วยความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง แต่สาธารณรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะสาธารณรัฐนิยมไม่ได้เจาะจงว่าปกครองประชาชนอย่างไร คำว่า "สาธารณรัฐ" แต่เดิมนั้นครอบคลุมทั้งประชาธิปไตยและอภิชนาธิปไตย ในความหมายสมัยใหม่ สาธารณรัฐเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การวัด

หลายองค์การพิมพ์เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพตามบทนิยามต่าง ๆ และอาศัยข้อมูลต่างประเภทกัน ประกอบด้วย

  • เสรีภาพในโลก (Freedom in the World) ซึ่งจัดพิมพ์ทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 1972 โดยองค์การฟรีดอมเฮาส์ในสหรัฐ โดยให้คะแนนจากสิทธิการเมืองและเสรีภาพพลเมืองที่มาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งเป็นมีเสรีภาพ มีเสรีภาพบางส่วน และไม่มีเสรีภาพ
  • ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก (Worldwide Press Freedom Index) จัดพิมพ์ทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 2002 (ยกเว้น ค.ศ. 2011) โดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในประเทศฝรั่งเศส โดยมีการประเมินประเทศต่าง ๆ แบ่งออกเป็นกลุ่มสถานการณ์ดี สถานการณ์น่าพอใจ มีปัญหาเริ่มสังเกตได้ สถานการณ์ลำบาก และสถานการณ์ร้ายแรงมาก
  • ดัชนีเสรีภาพในโลก (Index of Freedom in the World) เป็นดัชนีวัดเสรีภาพพลเมืองคลาสสิก ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเฟรเซอร์ในแคนาดา สถาบันไลเบราเลสในเยอรมนี และสถาบันคาโตในสหรัฐ
  • โครงการข้อมูลสิทธิมนุษยชน CIRI (CIRI Human Rights Data Project) วัดสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรีและสิทธิแรงงานหลายด้าน จัดทำโดยมหาวิทยาลัยคอนเน็กติกัต ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1994
  • ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) จัดพิมพ์เผยแพร่โดยอีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิตในสหราชอาณาจักร ซึ่งจำแนกประเทศออกเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง ระบอบผสมหรือระบอบอำนาจนิยม ดัชนีใช้ตัวชี้วัด 60 ตัวใน 5 กลุ่ม
  • ชุดข้อมูลโพลิตี (Polity data series) ในสหรัฐ เป็นชุดข้อมูลที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการวิจัยทางรัฐศาสตร์ ในชุดข้อมูลมีสานิเทศรายปีเข้ารหัสเกี่ยวกับลักษณะอำนาจหน้าที่ของระบอบและการเปลี่ยนผ่านสำหรับรัฐเอกราชทุกรัฐที่มีประชากรรวมมากกว่า 500,000 คน และครอบคลุมเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1800–2006 ข้อสรุปของ โพลิตี เกี่ยวกับระดับประชาธิปไตยของรัฐอาศัยการประเมินการเลือกตั้งของรัฐนั้น ๆ เพื่อการแข่งขัน การเปิดกว้างและระดับการมีส่วนร่วม งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานเฉพาะกิจความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (Political Instability Task Force) ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) แต่ทัศนะในรายงานเป็นทัศนะของผู้เขียน ไม่ใช่ของรัฐบาลสหรัฐ
  • แม็กซ์เรนจ์ (MaxRange) ชุดข้อมูลนิยามระดับประชาธิปไตยและโครงสร้างเชิงสถาบัน ซึ่งวัดความรับผิดชอบทางการเมือง แม็กซ์เรนจ์นิยามค่าแก่ทุกรัฐและทุกเดือนตั้งแต่ ค.ศ. 1789 และปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยฮาล์มสตา ประเทศสวีเดน

เนื่องจากประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับสถาบันหลากหลายซึ่งวัดได้ไม่ง่ายด้วย จึงมีข้อจำกัดอยู่มากในการวัดค่าและวัดเชิงเศรษฐมิติซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของประชาธิปไตยหรือความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์อื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและการศึกษา เป็นต้น เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในการได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ข้อมูบในประเทศเดียวกันมีความแตกต่างกันในแง่มุมต่าง ๆ ของประชาธิปไตย นักวิชาการส่วนใหญ่ศึกษาความแตกต่างระหว่างประเทศต่าง ๆ แต่ความแปรปรวนระหว่างสถาบันประชาธิปไตยประเทศต่าง ๆ มีขนาดใหญ่มากซึ่งขัดขวางการเปรียบเทียบอย่างมีความหมายโดยใช้วิธีการทางสถิติ เนื่องจากตรงแบบประชาธิปไตยวัดรวมกันเป็นตัวแปรมหภาคโดยใช้การสังเกตครั้งเดียวสำหรับ 1 ประเทศต่อปี การศึกษาประชาธิปไตยเผชิญกับข้อจำกัดทางเศรษฐมิติ จึงทำให้การเปรียบเทียบระหว่างประเทศอาจไม่เป็นประโยชน์หรือมีความเคร่งครัดทางระเบียบวิธี ด้าน Dieter Fuchs และ Edeltraud Roller เสนอแนะว่า ในการวัดคุณภาพของประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากใช้การวัดวัตถุวิสัยแล้วจะต้องใช้ "การวัดเชิงอัตวิสัยโดยอาศัยทัศนคติของพลเมือง" ด้วย ในทำนองเดียวกัน Quinton Mayne และ Brigitte Geißel ยังให้เหตุผลสนับสนุนว่าคุณภาพของประชาธิปไตยไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของสถาบันการเมืองอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความคิดโน้มเอียงและการผูกมัดของพลเมืองด้วย

ประวัติศาสตร์

ยุคโบราณ

ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน (ก) นักการเมืองชาวเอเธนส์ เพริคลีส กล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัยต่อสมัชชาเอเธนส์ (ข) การประชุมของวุฒิสภาโรมัน ซึ่งกิแกโรกำลังกล่าวปราศรัย ประชาธิปไตยในกรีกโบราณเปิดให้พลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองก็จริง แต่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยในนครทุกคนจะเป็นพลเมือง และประชาธิปไตยแบบโรมัน ยังให้คนรวยหรือชนชั้นสูงมีอำนาจเหนือกว่าคนจนหรือชนชั้นล่าง

ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยาระบุว่าพบระบอบก่อนประชาธิปไตย (proto-democracy) ในหมู่คนเก็บของป่าล่าสัตว์ ซึ่งใช้เสียงเอกฉันท์และบ่อยครั้งไม่มีการกำหนดตัวหัวหน้า ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบชนเผ่าหรือประชาธิปไตยดึกดำบรรพ์ (primitive democracy) ระบบนี้มักมีสภาผู้อาวุโสหรือระบบที่มีผู้นำแต่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อาวุโสหรือระบอบอื่นที่มีการร่วมมือกัน ตั้งแต่ครั้งอดีต ประชาธิปไตยและสาธารณรัฐเป็นระบอบที่พบน้อย นักทฤษฎีสาธารณรัฐนิยมเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับขนาดเล็ก คือ ยิ่งรัฐมีขนาดใหญ่โตขึ้นมากเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่รัฐนั้นจะกลายเป็นระบบใช้อำนาจเด็ดขาด แต่รัฐขนาดเล็กก็เสี่ยงต่อการถูกพิชิตโดยรัฐอื่น

คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาในกรีซโบราณ ปราชญ์เพลโตเปรียบเทียบประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตย และเศรษฐยาธิปไตย ชาวนครเอเธนส์สถาปนาระบอบที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยแห่งแรกของโลกเมื่อ 508–507 ปีก่อน ค.ศ. โดยมีไคลสธีนีสเป็นผู้นำ ต่อมาเขาได้ชื่อว่า "บิดาแห่งประชาธิปไตยแบบเอเธนส์" แม้ถือว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการและศาล และสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยพลเมืองทุกคน พลเมืองทุกคนมีสิทธิอภิปรายและลงมติในสภาซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ ทว่า ความเป็นพลเมืองเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะชาย ไม่รวมผู้หญิง ทาส และคนต่างด้าว (กรีก: μετοίκος, metoikos) มีเพียงเหล่าแม่ทัพและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จึงเป็นประชาธิปไตยทางตรงอย่างที่สุด ในความหมายที่พลเมืองเป็นผู้วินิจฉัย และมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองทุกระดับ ตั้งแต่สมัชชา สภา 500 และศาล พลเมืองจำนวนมากยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง แม้ว่ารัฐธรรมนูญเอเธนส์ไม่ได้คุ้มครองสิทธิของพลเมืองในความหมายสมัยใหม่ แต่ชาวเอเธนส์มีเสรีภาพอาศัยอยู่ในนครโดยไม่ขึ้นกับอำนาจภายนอกและไม่ขึ้นกับการปกครองของบุคคลอื่น

การออกเสียงนับคะแนน (range voting) ปรากฏในนครรัฐสปาร์ตาตั้งแต่ 700 ปีก่อน ค.ศ. โดยมีสมัชชา Apella ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้ง ที่สมาชิกเป็นพลเมืองชายทุกคนที่มีอายุเกิน 30 ปี โดยมีการออกเสียงนับคะแนนและตะโกน ซึ่งจะตัดสินจากความดัง สปาร์ตาใช้ระบบนี้เพราะมีความเรียบง่าย และป้องกันการออกเสียงแบบมีอคติ การซื้อเสียงหรือการโกงซึ่งพบได้ดาษดื่นในการเลือกตั้งประชาธิปไตยสมัยแรก ๆ

อ้างว่าเกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือประเทศซีเรีย) ซึ่งชาวฟินิเซียก่อตั้งขึ้นเมื่อสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก ซึ่งที่นั่น ประชาชนถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน ฝ่ายเวสาลี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มักถูกมองว่าเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของระบบสาธารณรัฐในโลก รูปแบบประชาธิปไตยยังปรากฏในระบบชนเผ่าต่าง ๆ เช่น สหพันธ์ไอระควอย (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม เฉพาะสมาชิกเผ่าเพศชายสามารถเป็นผู้นำได้ มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจกล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งใช้ความคิดเห็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งแต่ละกลุ่มมักประกอบด้วย 20-50 คน ไม่ค่อยมีหัวหน้าเท่าใดนักและการตัดสินใจต่าง ๆ อาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย เดิมชุมชนหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งแรงจำนวนน้อย แม้อาจมีคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของชุมชน ทุกคนถูกคาดหวังให้แบ่งปันหน้าที่ในชุมชน และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของชุมชน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง

แม้สาธารณรัฐโรมันมีส่วนส่งเสริมประชาธิปไตยในหลายด้าน แต่คนโรมันเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเป็นพลเมืองที่มีเสียงในการเลือกตั้งผู้แทน เสียงของผู้ทรงอำนาจมีน้ำหนักมากกว่าผ่านระบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา มาจากตระกูลมั่งมีและชนชั้นสูงเท่านั้น รูปแบบการปกครองของโรมันเป็นแรงบันดาลใจแก่นักคิดการเมืองหลายคนในช่วงหลายศตวรรษ และประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนสมัยใหม่มีความคล้ายคลึงกับแบบของโรมันมากกว่าแบบของกรีก คือ เป็นรัฐที่ประชาชนและผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด และมีผู้นำจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง

ยุคกลาง

แม้ว่าในทวีปยุโรปส่วนใหญ่ในยุคกลางอยู่ภายใต้การปกครองของนักบวชหรือเจ้าขุนมูลนาย แต่ยังมีระบบการเลือกตั้งหรือสมัชชาอยู่หลายระบบ แม้ว่าบ่อยครั้งประชาชนที่มีส่วนร่วมได้จะคิดเป็นส่วนน้อยเช่นเดียวกับยุคโบราณ ในสแกนดิเนเวีย มีสภาที่เรียกว่า ธิง (thing) ซึ่งประกอบด้วยเสรีชน และมีเจ้าพนักงานกฎหมาย (lawspeaker) เป็นหัวหน้า ธิงเป็นสภาปรึกษาหารือซึ่งทำหน้าที่ระงับปัญหาการเมือง และปรากฏรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งอัลธิง (Althing) ในไอซ์แลนด์ และเลอธิง (Løgting) ในหมู่เกาะแฟโร เวเช (veche) ในยุโรปตะวันออก เป็นสภาคล้ายกับธิงแบบสแกนดิเนเวีย ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระสันตะปาปามาจากการประชุมเลือกของคณะพระคาร์ดินัลตั้งแต่ ค.ศ. 1059

รัฐสภาที่มีบันทึกครั้งแรกในทวีปยุโรป ได้แก่ คอร์เตสเลออน ค.ศ. 1198 ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดเก็บภาษีอากร การต่างประเทศและนิติบัญญัติ แม้ว่าสภาพของบทบาทดังกล่าวยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ สาธารณรัฐรากูซา ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1358 ให้พลเมืองอภิชนชายเท่านั้นมีผู้แทนและสิทธิออกเสียงลงคะแนน นครรัฐและหน่วยการเมืองอิตาลีหลายแห่งมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1115 มีซินญอเรีย (Signoria, รัฐบาล) ซึ่งสมาชิกมาจากการจับสลาก ในอาณาจักรเสรีชนฟรีเซีย (Friese Freedom) สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10–15 ซึ่งเป็นสังคมที่มิใช่เจ้าขุนมูลนายที่โดดเด่นสังคมหนึ่ง สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในปัญหาท้องถิ่นและข้าราชการของเคาน์ตีขึ้นอยู่กับขนาดที่ดิน ในจักรวรรดิมาลีแบ่งออกเป็นเผ่าปกครองต่าง ๆ ซึ่งมีผู้แทนในสมัชชาใหญ่ แต่อาจมองว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวคล้ายคลึงกับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าสาธารณรัฐ

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
มหากฎบัตรของอังกฤษ, ค.ศ. 1215

ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษมีรากฐานการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จากมหากฎบัตร (ค.ศ. 1215) ซึ่งระบุชัดเจนคุ้มครองสิทธิบางประการของผู้ใต้บังคับพระมหากษัตริย์ และโดยนัยยังสนับสนุนสิทธิที่กลายมาเป็นหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลแบบอังกฤษ ซึ่งพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลต่อการถูกจำคุกอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิยื่นอุทธรณ์ รัฐสภาซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งครั้งแรก คือ รัฐสภาของเดอ มงฟอร์ต ใน ค.ศ. 1265 การให้สิทธิการร้องทุกข์นับเป็นหลักฐานแรก ๆ ที่รัฐสภาใช้เป็นเวทีสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนสามัญ แต่ยังเกิดปัญหากับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า "เขตเลือกตั้งเน่า" (rotten boroughs) โดยอำนาจเรียกประชุมสภานั้นยังขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์

การศึกษาเชื่อมโยงการถือกำเนิดของสถาบันรัฐสภาในทวีปยุโรปในยุคกลางกับการรวมกันเป็นกลุ่มของเมืองและการเกิดชนชั้นใหม่ ๆ เช่น ช่างศิลป์ ตลอดจนการมีอภิชนชนชั้นขุนนางและศาสนา นักวิชาการยังเชื่อมโยงการถือกำเนิดของการปกครองแบบมีผู้แทนกับการแตกแยกทางการเมืองโดยสัมพัทธ์ของทวีปยุโรป นักรัฐศาสตร์ เดวิด สตาซาเวจ (David Stasavage) เชื่อมโยงการแตกเป็นส่วนของทวีปยุโรป และการกลายเป็นประชาธิปไตยกับเหตุการณ์การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันที่ถูกกลุ่มชนเผ่าเยอรมันกลุ่มเล็ก ๆ รุกราน จนนำไปสู่การตั้งหน่วยการเมืองขนาดเล็กซึ่งผู้ปกครองมีอำนาจค่อนข้างน้อยและจำต้องอาศัยความยินยอมของผู้ถูกปกครองเพื่อปัดป้องภัยคุกคามจากภายนอก

ในโปแลนด์ ประชาธิปไตยขุนนางมีลักษณะที่กิจกรรมของชนชั้นขุนนางกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการเพิ่มอำนาจของพวกตนเมื่อเทียบกับคนมั่งมี คนมั่งมียังครอบงำตำแหน่งสำคัญสงสุดในรัฐ (ทั้งทางโลกและศาสนา) และอยู่ในสภากษัตริย์ซึ่งกลายเป็นวุฒิสภาในเวลาต่อมา ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นขุนนางกลางมีผลกระทบต่อการสถาปนาสถาบันของแผ่นดิน เซย์มิค (sejmik, สมัชชาท้องถิ่น) ซึ่งต่อมาได้รับสิทธิเพิ่มขึน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 เซย์มิคได้รับอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสถาบันอำนาจท้องถิ่นที่มีความสำคัญสูงสุด ใน ค.ศ. 1454 พระมหากษัตริย์พระราชอำนาจอำนาจเก็บภาษีและสั่งระดมพลแก่เซย์มิค และพระราชทานคำสัตย์ว่าจะไม่ออกกฎหมายใหม่ถ้าปราศจากความยินยอมของสภา

สมัยใหม่

สมัยใหม่ตอนต้น

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
จอห์น ล็อกเป็นผู้ขยายความทฤษฎีสัญญาประชาคมของทอมัส ฮอบส์ และพัฒนามโนทัศน์สิทธิธรรมชาติ สิทธิในทรัพย์สินเอกชน และหลักความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง ความคิดของเขาเป็นรากฐานอุดมการณ์ของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมปัจจุบัน

ในประเทศอังกฤษคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการรื้อฟื้นความสนใจในมหากฎบัตร รัฐสภาอังกฤษผ่านคำร้องขอสิทธิฟ้องร้องรัฐ (Petition of Right) ใน ค.ศ. 1628 ซึ่งสถาปนาเสรีภาพบางประการแก่คนในบังคับ สงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1642–1651) สู้รบกันระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์และฝ่ายรัฐสภาที่เป็นคณาธิปไตย ในช่วงนี้เองที่ความคิดพรรคการเมืองก่อตัวขึ้นจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ถกเถียงกันเรื่องสิทธิการมีผู้แทนทางการเมืองใน ค.ศ. 1647 ในเวลาต่อมา ยุครัฐในอารักขา (ค.ศ. 1653–59) และการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ (ค.ศ. 1660) ฟื้นฟูการปกครองแบบที่เป็นอัตตาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่ารัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลใน ค.ศ. 1679 ซึ่งเสริมสร้างขนบธรรมเนียมที่ห้ามการกักขังบุคคลโดยไม่มีสาเหตุหรือหลักฐานเพียงพอ หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 มีการตราบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689 ซึ่งประมวลสิทธิและเสรีภาพ และยังมีผลใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน บัญญัติฯ มีข้อกำหนดให้จัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ กฎเสรีภาพในการพูดในรัฐสภา และจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อประกันว่าสมบูรณาญาสิทธิของพระมหากษัตริย์จะไม่ครอบงำดุจชาติส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปเวลานั้น นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ดักลาส นอร์ธ (Douglass North) และแบร์รี ไวน์แกสต์ (Barry Weingast) ระบุลักษณะของสถาบันที่ตั้งขึ้นในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ว่าประสบความสำเร็จในการจำกัดอำนาจของรัฐบาลและประกันการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน

เหตุที่กล่าวมาข้างต้นล้วนกระตุ้นการเติบโตของปรัชญาการเมืองในหมู่เกาะบริติช ทอมัส ฮอบส์เป็นักปรัชญาคนแรกที่สาธยายทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่างละเอียด เขาเขียนในหนังสือ เลวีอาธาน (Leviathan, ค.ศ. 1651) โดยวางทฤษฎีว่าปัจเจกบุคคลที่อาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติใช้ชีวิตแบบ "โดดเดี่ยว ข้นแค้น รุงรัง ป่าเถื่อนและสั้น" และก่อสงครามกับผู้อื่นไม่หยุดหย่อน เพื่อป้องกันการเกิดสภาพธรรมชาติแบบอนาธิปไตย ฮอบส์จึงให้เหตุผลว่าบุคคลควรยกสิทธิของพวกตนให้แก่รัฐบาลที่เข้มแข็งและเป็นเผด็จการ ต่อมา นักปรัชญาและแพทย์ จอห์น ล็อก ตีความทฤษฎีสัญญาประชาคมอีกอย่างหนึ่ง โดยเขียนใน สองศาสตรนิพนธ์การปกครอง (Two Treatises of Government, ค.ศ. 1689) โดยมองว่าปัจเจกบุคคลทุกคนมีสิทธิที่ไม่อาจโอนให้กันได้ในชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน ล็อกระบุว่าปัจเจกบุคคลมารวมกันตั้งรัฐโดยสมัครใจเพื่อจุดประสงค์ในการพิทักษ์สิทธิของพวกตน ล็อกมองว่าสิทธิในทรัพย์สินมีความสำคัญเป็นพิเศษ และถือเป็นความมุ่งหมายแรกของรัฐบาลทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ล็อกยืนยันว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมต่อเมื่อได้รับความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง และพลเมืองย่อมมีสิทธิปฏิวัติต่อรัฐบาลที่ละเมิดผลประโยชน์ของพลเมืองหรือกลายเป็นทรราช งานของล็อกถือว่าเป็นเอกสารก่อตั้งความคิดเสรีนิยมและมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อผู้นำการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส กรอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นรูปแบบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในโลก

ในทวีปอเมริกาเหนือ การปกครองแบบมีผู้แทนเริ่มต้นในเจมส์ทาวน์ อาณานิคมเวอร์จิเนีย ด้วยการเลือกตั้งสภาพลเมืองใน ค.ศ. 1619 พวกพิวริตันชาวอังกฤษที่เข้าเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1620 เป็นต้นไป ตั้งอาณานิคมในนิวอิงแลนด์ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าสมัชชาท้องถิ่นเหล่านี้มีอำนาจที่ได้รับโอนบ้างก็ตาม แต่อำนาจสูงสุดยังเป็นของพระมหากษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษ พวกพิวริตัน แบปติสต์และเควกเกอร์ซึ่งตั้งอาณานิคมเหล่านี้ใช้องค์การประชาธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินของชุมชนในกิจการทางโลกด้วย

คริสต์ศตวรรษที่ 18–19

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
รูปนูนต่ำผู้เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติเคท เชพเพิร์ต ไครซ์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ประชาธิปไตยก่อนหน้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ให้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปแก่พลเมืองทุกคน โดยมีการแบ่งแยกด้วยเพศ สีผิว รายได้ จนต่อมาเริ่มขยายสิทธิเลือกตั้ง ขยายความเป็นพลเมือง และเลิกทาสในคริสต์ศตวรรษที่ 19–20

รัฐสภาบริเตนใหญ่ชุดแรกตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1707 หลังการรวมราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระมหากษัตริย์บริเตนใหญ่ถูกจำกัดพระราชอำนาจจนเหลือเพียงประมุขในพระนามมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐสภายังคงมาจากการเลือกตั้งของชายที่ถือครองทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรใน ค.ศ. 1780 ระหว่างยุคเสรีภาพในสวีเดน (ค.ศ. 1718–1772) มีการขยายสิทธิพลเมืองและอำนาจเปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์มาเป็นรัฐสภา เกษตรกรผู้เสียภาษีมีผู้แทนในรัฐสภาแม้จะยังมีอิทธิพลน้อย แต่สามัญชนที่ไม่มีทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

การสถาปนาสาธารณรัฐคอร์ซิกาช่วงสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1755 เป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่รับรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ชายหญิงอายุเกิน 25 ปีสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นฉบับแรกที่อาศัยหลักการของยุคภูมิธรรม สำหรับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของหญิงนั้นยังไม่มีในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ของโลกจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20

ในยุคอาณานิคมอเมริกาก่อน ค.ศ. 1776 และบางช่วงหลังจากนั้น บ่อยครั้งให้ชายเฉพาะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่สามารถออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนชาวแอฟริกันที่ถูกจับเป็นทาส คนผิวดำที่เป็นไทและหญิงส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ แตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ เริ่มจากรัฐนิวคอนเน็กติกัต ซึ่งต่อมาเรียก เวอร์มอนต์ หลังประกาศเอกราชจากบริเตนใหญ่ใน ค.ศ. 1777 ก็ใช้รัฐธรรมนูญที่ให้พลเมืองและสิทธิเลือกตั้งแก่ชายทั้งที่มีและไม่มีทรัพย์สิน และเลิกทาสด้วย การปฏิวัติอเมริกานำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐใน ค.ศ. 1787 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ยังมีผลใช้บังคับที่มีอายุมากที่สุดในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดการปกครองแบบมีผู้แทนและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพลเมืองแก่ประชากรบางส่วน แต่มิได้เลิกทาสหรือขยายสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐ แต่ปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐแทน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของประเทศใน ค.ศ. 1789 มีประชากรร้อยละ 6 ที่มีสิทธิเลือกตั้ง รัฐบัญญัติการแปลงสัญชาติ ค.ศ. 1790 จำกัดความเป็นพลเมืองแก่คนผิวขาวเท่านั้น รัฐบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1791 จำกัดอำนาจของรัฐบาลเพื่อคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล แต่มีผลกระทบน้อยต่อคำวินิจฉัยของศาลแม้หลังให้สัตยาบันแล้ว 130 ปี

ใน ค.ศ. 1789 ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติรับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมือง และสภากงว็องซียงแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งของชายทุกคนใน ค.ศ. 1792 แม้จะมีอายุสั้น ๆ รัฐธรรมนูญโปแลนด์-ลิทัวเนีย 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1791 มุ่งใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ริเริ่มความเสมอภาคทางการเมืองระหว่างชาวเมืองและชนชั้นขุนนาง และให้เกษตรกรอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาล ซึ่งลดการละเมิดในระบบข้าติดที่ดิน (serfdom) และถึงแม้จะใช้บังคับได้เพียง 19 เดือนก่อนถูกยกเลิก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เองทำให้ชาวโปแลนด์มีความหวังในการฟื้นฟูเอกราชของชาติในอีกศตวรรษให้หลัง

อย่างไรก็ดี ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีประชาธิปไตยทั้งในทางทฤษฎี ปฏิบัติหรือแม้แต่คำว่า "ประชาธิปไตย" เองอยู่น้อยในโลกแอตแลนติกเหนือ ในช่วงนี้ ทาสยังเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายพื้นที่ของโลก มีการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายคนผิวดำจากสหรัฐไปที่อื่นเพื่อให้มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น ในคริสต์ทศวรรษ 1820 ผู้สนับสนุนการเลิกทาสตั้งนิคมไลบีเรีย ต่อมาสหราชอาณาจักรออกพระราชบัญญัติการค้าทาส ค.ศ. 1807 ซึ่งห้ามการค้าทาสทั้งในจักรวรรดิบริติชและประเทศอื่นที่บริเตนเจรจาด้วย ใน ค.ศ. 1833 สหราชอาณาจักรผ่านพระราชบัญญัติเลิกทาส

สิทธิออกเสียงเลือกตั้งค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในสหรัฐเป็นลำดับ เริ่มจากในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1828 ที่ยกเลิกข้อกำหนดห้ามชายผิวขาวที่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สินเลือกตั้งในรัฐส่วนใหญ่ ในยุคบูรณะหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา มีการผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 13 (ค.ศ. 1865) เลิกทาส; ครั้งที่ 14 (ค.ศ. 1869) ให้คนผิวดำเป็นพลเมือง; และครั้งที่ 15 (ค.ศ. 1870) ซึ่งให้ชายผิวดำมีสิทธิเลือกตั้งในนาม ส่วนทางด้านสหราชอาณาจักร สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีการขยายขึ้นผ่านการปฏิรูปหลายครั้งเริ่มตั้งแต่พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 และดำเนินต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้ สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของชายมีอยู่ในฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1848 และในปีเดียวกัน เกิดการปฏิวัติหลายครั้งทั่วยุโรปเมื่อผู้ปกครองเผชิญกับข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญเสรีนิยมและการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นของประชาชน

ใน ค.ศ. 1893 อาณานิคมปกครองตนเองนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สองในโลกที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่ยังมีผลอยู่ในปัจจุบันแก่หญิง

คริสต์ศตวรรษที่ 20–21

(ก) แผนภูมิแสดงจำนวนประเทศที่มีคะแนนตามมาตราโพลิตี 4 เกิน 8 คะแนน ซึ่งเป็นมาตราใช้วัดประชาธิปไตยที่ใช้กันแพร่หลายอย่างหนึ่ง สังเกตการเพิ่มจำนวนของประเทศประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ข) คอราซอน อากีโนสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นับเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในทวีปเอเชีย (ค) การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ ค.ศ. 2021 โดยผู้สนับสนุนดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวอย่างของการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดประชานิยม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาเป็น "คลื่นประชาธิปไตย" หลายระลอก ซึ่งเป็นผลจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา ขณะเดียวกันใช่ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วจะกลับมาเป็นเผด็จการไม่ได้ เพราะมีคลื่น "การถดถอยของประชาธิปไตย" เกิดขึ้นสลับกันด้วย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในคริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930, คริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 และในสมัยปัจจุบัน คือ คริสต์ทศวรรษ 2010

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติใน ค.ศ. 1918 และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมันล่มสลาย ทำให้เกิดรัฐชาติใหม่จำนวนมากในทวีปยุโรปซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในนาม จนสุดท้ายมีประเทศประชาธิปไตย 29 ประเทศในโลก อย่างไรก็ดี จุดพลิกผันเริ่มต้นใน ค.ศ. 1922 เมื่อเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ เถลิงอำนาจในประเทศอิตาลี ต่อมากระแสเผด็จการคอมมิวนิสต์ (เริ่มต้นจากสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1917 ในอดีตจักรวรรดิรัสเซีย) ฟาสซิสต์และแสนยนิยมซึ่งเน้นการขยายอำนาจปฏิเสธประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ แม้ว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยเจริญขึ้นโดยมีการขยายสิทธิเลือกตั้งของสตรี แต่ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ. 1929 ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงัก ความยากลำบากทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนขาดส่วนร่วมทางการเมือง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้หลายประเทศยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชียหันไปหาการปกครองแบบผู้นำที่เด็ดขาดหรือเป็นเผด็จการ เช่น พรรคนาซีเถลิงอำนาจในสาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งขาดเสถียรภาพทางการเมืองจากการปะทะกันบนท้องถนนระหว่างกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงต่าง ๆ และได้รับผลกระทบจากค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจำนวนมหาศาล, สเปนและโปรตุเกส, รัฐเผด็จการยังเจริญขึ้นในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน ประเทศบราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น นิวฟันแลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ยอมสละประชาธิปไตยโดยสมัครใจ ใน ค.ศ. 1942 มีประเทศประชาธิปไตยเพียง 12 ประเทศในโลก

การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้คลื่นประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง ประชาธิปไตยสถาปนาอย่างมั่นคงในยุโรปตะวันตก (แม้ว่าสเปนและโปรตุเกสยังเป็นฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหาร) หลังเกิดคลื่นการปลดปล่อยอาณานิคม อิสราเอลเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศแรกในตะวันออกกลาง และอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน ประเทศที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิบริติชมักใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศยุโรปตะวันออกจะตกเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต และปกครองในรูปแบบรัฐคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ และคิวบา เป็นต้น

แม้ว่าคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สองจะค่อนข้างช้า แต่คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สามเริ่มตั้งแต่การปฏิวัติคาร์เนชันในโปรตุเกสใน ค.ศ. 1974 และการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของสเปนในเวลาไล่เลี่ยกัน และเป็นช่วงเวลาที่เพิ่มจำนวนประเทศประชาธิปไตยมากและเร็วที่สุด ประเทศที่กลายเป็นประชาธิปไตยตามมา ได้แก่ ละตินอเมริกาในคริสต์ทศวรรษ 1980 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไต้หวันระหว่าง ค.ศ. 1986 ถึง 1988 ยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และแอฟริกาใต้สะฮาราเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ในละตินอเมริกา คลื่นลูกที่สามทำให้ 20 ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตย ความพยายามเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยยังเกิดขึ้นต่อมา เช่น การปฏิวัติอินโดนีเซีย ค.ศ. 1998, การปฏิวัติรถดันดินในยูโกสลาเวีย, การปฏิวัติดอกกุหลาบในประเทศจอร์เจีย, การปฏิวัติส้มในประเทศยูเครน, การปฏิวัติซีดาร์ในประเทศเลบานอน, การปฏิวัติทิวลิปในประเทศคีร์กีซสถาน, และการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศตูนิเซีย

ความแพร่หลายของประชาธิปไตยเสรีนิยมทำให้ฟรานซิส ฟุกุยามะเขียนเรียงความใน ค.ศ. 1992 ระบุว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมและเศรษฐกิจแบบตลาดจะเป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 2007 สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 15 กันยายนเป็นวันประชาธิปไตยสากล ในปีเดียวกัน ฟรีดอมเฮาส์ให้ข้อมูลว่าทั่วโลกมีประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งจำนวน 123 ประเทศ จากข้อมูลของ เวิลด์ฟอรัมออนดีมอคระซี ระบุว่าใน ค.ศ. 2013 โลกมีประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง 120 จาก 192 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นประชากรร้อยละ 58.2 ของโลก ขณะเดียวกันประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและยึดหลักนิติธรรมมีอยู่ 85 ประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรโลก ประเทศประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังกำหนดอายุเลือกตั้งขั้นต่ำที่ 18 ปี แม้ว่ามีความพยายามลดอายุดังกล่าวในหลายประเทศ เช่น หลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ลดอายุขั้นต่ำเหลือ 16 ปี

ข้อมูลจากแม็กซ์เรนจ์ระบุว่าแม้จำนวนรัฐประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นหลัง ค.ศ. 2006 แต่สัดส่วนของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่อ่อนแอก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย นับเป็นปัจจัยสาเหตุสำคัญที่สุดเบื้องหลังประชาธิปไตยที่เปราะบาง ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์ใน ค.ศ. 2016 พบว่า มีประเทศที่สิทธิการเมืองและเสรีภาพพลเมืองลดลงมากกว่าประเทศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกติดต่อกันทุกปีนับแต่ ค.ศ. 2005 เมื่อกลุ่มการเมืองประชานิยมและชาตินิยมเถลิงอำนาจในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ประเทศโปแลนด์ถึงฟิลิปปินส์ ปรากฏการณ์อาหรับสปริงในช่วงแรกกลับลงเอยด้วยการกำเนิดอิสลามหัวรุนแรง (Islamic extremism) ลัทธิอำนาจนิยมและสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็น อาหรับวินเทอร์ นักวิชาการระบุว่าสาเหตุของการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีเหตุปัจจัยจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์การเงิน ค.ศ. 2007–2008 การนิยมตัวบุคคลที่เด็ดขาด การรับมือต่อการระบาดทั่วของโควิด-19 การแทรกแซงสื่อและภาคประชาสังคมของรัฐบาล การแตกแยกทางการเมืองและการรณรงค์ข่าวปลอมจากต่างประเทศ คตินิยมเชื้อชาติและการต่อต้านคนเข้าเมือง อำนาจของฝ่ายบริหารที่มากเกิน อำนาจของฝ่ายค้านที่ลดลง และการยอมรับรูปแบบการปกครองและเศรษฐกิจของจีน ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก กลุ่มอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมและทัศนคติทางเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายเป็นตัวชี้วัดที่เข้มที่สุดในการสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการ

รูปแบบ

ประเภทพื้นฐาน

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
ระบอบการปกครองของรัฐต่าง ๆ ในโลก1
     สาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีแบบสมบูรณ์2      สาธารณรัฐระบบกึ่งประธานาธิบดี2
     สาธารณรัฐระบบรัฐสภาที่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติ      สาธารณรัฐระบบรัฐสภา2
     ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรัฐสภา      ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีหัวหน้ารัฐบาล แต่พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจบริหาร และ/หรือ นิติบัญญัติอย่างสำคัญ
     สมบูรณาญาสิทธิราชย์      รัฐพรรคการเมืองเดียว
     ระบอบปัจจุบันยังไม่มีนิยามไว้ในรัฐธรรมนูญ (เช่น เป็นรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน)      ประเทศที่ไม่เข้ากับระบบใด ๆ ข้างต้น
1ข้อมูลตามบทความรายชื่อประเทศตามระบอบการปกครองของวิกิพีเดีย ดูแหล่งอ้างอิงได้ในหน้าดังกล่าว 2แผนที่ดังกล่าวนำเสนอเฉพาะระบอบการปกครองโดยนิตินัย ไม่ใช่ระดับประชาธิปไตยโดยพฤตินัย

ประชาธิปไตยมีอยู่หลายรูปแบบทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ประชาธิปไตยรูปแบบต่าง ๆ มีการให้ประชาชนมีผู้แทนทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองในระดับที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี ถ้าประชาธิปไตยในประเทศใดไม่มีโครงสร้างเพื่อยับยั้งรัฐบาลมิให้กีดกันประชาชนจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือป้องกันมิให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดในอำนาจทั้งสามของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงการแยกใช้อำนาจเพื่อให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์แล้ว ฝ่ายนั้นก็จะสะสมอำนาจมากเกินไปจนทำลายประชาธิปไตยได้ในที่สุด

ควรทราบว่าการจำแนกประชาธิปไตยออกเป็นประเภทต่าง ๆ นั้นมิได้หมายความว่าหนึ่งประเทศจะต้องใช้ระบบเดียว ดังที่จะพบว่าในระบบการปกครองของประเทศหนึ่งอาจจับลักษณะของหลาย ๆ แนวคิดมาอยู่ร่วมกันก็ได้

ประชาธิปไตยทางตรง

ประชาธิปไตยทางตรงในสมัยใหม่
(ก) ลันด์สเกอไมน์เดอ (สมัชชารัฐ) ในรัฐเการุส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. 2009 ซึ่งสภาดังกล่าวเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดทางการเมือง; (ข) การรวบรวมคำร้องทุกข์เพื่อให้มีการเลือกตั้งถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ใน ค.ศ. 1910

ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบบการเมืองที่พลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการวินิจฉัยสั่งการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางหรือผู้แทน ระบบจับสลากเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นลักษณะเฉพาะของประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ ประชาธิปไตยทางตรงให้ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจดังต่อไปนี้

  1. เปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ
  2. เสนอการริเริ่มออกกฎหมาย การลงประชามติ และข้อเสนอแนะกฎหมาย
  3. มอบคำสั่งที่มีผลผูกพันต่อข้าราชการที่ได้รับเลือกตั้ง เช่น เพิกถอนบุคคลจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือริเริ่มฟ้องคดีฐานฝ่าฝืนคำให้สัญญาระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

แม้ในประเทศที่ใช้ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนสมัยใหม่ ยังมีการคงรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงอยู่บ้าง เช่น การลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายของพลเมืองและการเลือกตั้งถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง (recall election) ซึ่งเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงแบบหนึ่ง แต่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทางตรงบางส่วนสนับสนุนสมัชชาท้องถิ่นที่มีการอภิปรายกันแบบซึ่งหน้า ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบบการปกครองที่มีอยู่ในบางรัฐของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คือ รัฐอัพเพินท์เซลล์อินเนอร์โรเดินและรัฐกลารุส, เทศบาลปกครองตนเองซาปาติสตากบฏในประเทศเม็กซิโก ชุมชนที่ถือฝ่าย CIPO-RFM ในประเทศเม็กซิโก สภานคร FEJUVE ในประเทศโบลิเวีย และรัฐโรยาวาของเคิร์ด

ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
ผลการเลือกตั้งทั่วไปในสหพันธรัฐเยอรมนี ค.ศ. 2017 ภาพแสดงจำนวนที่นั่งที่ชนะตามเขตเลือกตั้ง และที่นั่งที่ชนะแบบบัญชีรายชื่อของพรรค พรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญในประเทศประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนส่วนใหญ่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมือง และรูปแบบการเลือกตั้งก็มีผลต่อการได้รับเลือกตั้งของกลุ่มอุดมการณ์และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ จึงทำให้มีการฉวยโอกาสด้วยการออกแบบการเลือกตั้งเพื่อให้ฝ่ายตนได้รับประโยชน์ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ

ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจะจัดให้มีการเลือกตั้งข้าราชการการเมืองเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนที่เลือกเข้าไป ถ้าประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยด้วย ประเทศนั้นจะเรียก สาธารณรัฐประชาธิปไตย กลไกที่ใช้กันมากที่สุดได้แก่การเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงที่เหนือกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ใช้ระบบมีผู้แทน หลังการเลือกตั้ง แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติมีความสำคัญต่อรัฐประชาธิปไตยซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐนั้น ๆ

ผู้แทนอาจได้รับเลือกตั้งหรือเป็นผู้แทนการทูตโดยเขตใดเขตหนึ่ง (หรือเขตการเลือกตั้งหนึ่ง ๆ) หรือเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดผ่านระบบสัดส่วน และบางประเทศใช้ระบบการเลือกตั้ง ลักษณะของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนคือแม้ผู้แทนได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนเพื่อทำหน้าที่ในผลประโยชน์ของประชาชน การวินิจฉัยสั่งการส่วนใหญ่ใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ยกเว้นบางเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะใช้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษหรือมติเอกฉันท์ เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ผู้แทนประชาชนดังกล่าวจะไปประชุมกันในสภานิติบัญญัติ อำนาจของผู้แทนประชาชนถูกจำกัดหรือรักษาสมดุลกับฝ่ายอื่นโดยรัฐธรรมนูญ เช่น บางประเทศใช้ระบบสองสภาโดยมีสภาสูงที่สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย ประชาธิปไตยแบบนี้ยังทำให้พรรคการเมืองเป็นศูนย์กลางของกระบวนการทางการเมือง หากระบบเลือกตั้งกำหนดหรือส่งเสริมให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกเสียงให้กับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง

ในการแยกใช้อำนาจ นิยมถือหลักความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ซึ่งฝ่ายตุลาการค่อนข้างมีอิสระจากอีกสองอำนาจของรัฐบาล แต่ยังคงมีอำนาจตรวจสอบอำนาจอื่นได้อยู่ ผ่านการพิจารณาทบทวนโดยศาล

ระบบรัฐสภา

ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนรูปหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง หรือสามารถถูกถอดถอนได้โดยผู้แทนราษฎร ภายใต้ระบบดังกล่าว การปกครองจะเป็นการมอบหมายกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และอยู่ภายใต้การทบทวน ตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างต่อเนื่องของรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ระบบรัฐสภามีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีเมื่อใดก็ได้หากสภานิติบัญญัติคาดว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เป็นไปตามคาดหมาย ผ่านมติไม่ไว้วางใจซึ่งสภานิติบัญญัติจะตัดสินว่าจะถอดถอนนายกรัฐมนตรีผู้นั้นหรือไม่หากฝ่ายข้างมากสนับสนุนให้ปลดผู้นั้น ในบางประเทศ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อใดก็ได้ และนายกรัฐมนตรีจะจัดการเลือกตั้งเมื่อผู้นั้นทราบว่าตนได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณะพอที่จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกสมัย ส่วนในบางประเทศ แทบไม่มีการจัดการเลือกตั้งพิเศษ และมักตั้งรัฐบาลฝ่ายข้างน้อยแทนซึ่งดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการเลือกตั้งตามปกติครั้งถัดไป ลักษณะของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างหนึ่ง คือ การมีฝ่ายค้าน โดยพรรคการเมือง (หรือกลุ่มการเมือง) ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับสองจะคัดค้านพรรครัฐบาล (หรือรัฐบาลผสม)

ระบบประธานาธิบดี

ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีเป็นระบบที่ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหาร ประธานาธิบดีมีวาระที่กำหนดไว้ตายตัว การเลือกตั้งตรงแบบมีวันที่ที่กำหนดไว้และแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้โดยง่าย ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรี

สภานิติบัญญัติไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดีได้โดยง่าย แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถถอดถอนสมาชิกสภานิติบัญญัติได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน ระบบนี้เป็นมาตรการสำหรับการแยกใช้อำนาจ แต่ผลทำให้ประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติอาจมาจากพรรคการเมืองคนละพรรคกัน และทำให้ฝ่ายหนึ่งขัดขวางอีกฝ่ายหนึ่งได้และแทรกแซงการดำเนินการอย่างเป็นระเบียบของรัฐ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ระบบประธานาธิบดีนี้ไม่แพร่หลายนักนอกจากในทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับระบบกึ่งประธานาธิบดีเป็นระบบที่มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองตำแหน่งมีอำนาจต่างกันขึ้นอยู่กับประเทศ นายกรัฐมนตรีบางประเทศรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีอย่างเดียว บางประเทศรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติอย่างเดียว แต่บางประเทศต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติ

แบบผสมหรือกึ่งทางตรง

ประชาธิปไตยสมัยใหม่บางประเทศซึ่งใช้ระบบมีผู้แทนโดยสภาพเป็นส่วนใหญ่ยังอาศัยการปฏิบัติทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ประชาธิปไตยแบบดังกล่าวมีคำเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบผสม (hybrid democracy) ประชาธิปไตยกึ่งทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และบางรัฐของสหรัฐ ซึ่งใช้การลงประชามติและการริเริ่มเสนอกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับสมาพันธรัฐสวิสในระดับสหพันธรัฐ พลเมืองสามารถเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือขอจัดการลงประชามติในกฎหมายใด ๆ ที่รัฐสภาผ่าน ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 2005 พลเมืองสวิสลงมติ 31 ครั้ง และตอบปัญหา 103 ปัญหา รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐก็ถือเป็นรัฐที่ใช้วิธีลงประชามติอย่างกว้างขวาง แม้เป็นรัฐที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 20 ล้านคน ในเขตนิวอิงแลนด์ของสหรัฐ การประชุมเมืองมักใช้เพื่อจัดการการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้ระบอบการปกครองแบบผสมซึ่งใช้ประชาธิปไตยทางตรงในระดับท้องถิ่นแต่ใช้ระบบผู้แทนในระดับรัฐ การประชุมเมืองส่วนใหญ่ในรัฐเวอร์มอนต์จัดการประชุมเป็นประจำทุกปีเพื่อเลือกตั้งข้าราชการเมือง งบประมาณ และเปิดโอกาสให้พูดและรับฟังปัญหาการเมือง

รูปแบบ

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ประเทศสแกนดิเนเวีย ไทย ญี่ปุ่นและภูฏานเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทบาทเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในรัฐก่อนหน้าสหราชอาณาจักร ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญค่อย ๆ กำเนิดและดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องนับแต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 และการผ่านบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689

ประเทศเหล่านี้มีสภาสูงซึ่งมักมีวาระตลอดชีพหรือสมาชิกภาพสืบทอดทางสายโลหิตพบมากในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งแบบที่มีอำนาจจำกัด (เช่น สภาขุนนางของสหราชอาณาจักร) และแบบที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจมาก (เช่น สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลีย)

สาธารณรัฐ

คำว่า "สาธารณรัฐ" มีหลายความหมาย แต่ในปัจจุบันมักหมายความถึงประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่ประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้ง เช่น ประธานาธิบดี ที่มีวาระจำกัด ซึ่งตรงข้ามกับพระมหากษัตริย์ที่มาจากการสืบราชสันตติวงศ์ ในหลายประเทศ สาธารณรัฐเกิดจากการล้มล้างพระมหากษัตริย์และชนชั้นอภิชน สาธารณรัฐนิยมเป็นระบบที่เน้นเรื่องเสรีภาพและปฏิเสธการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทั้งนี้ บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐแทบไม่เคยยกย่องซ้ำยังวิจารณ์ประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในสมัยนั้นมักมีความหมายจำเพาะถึงประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งมักปราศจากการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เจมส์ เมดิสันให้เหตุผลว่าสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยทางตรงแตกต่างจากสาธารณรัฐคือประชาธิปไตยทางตรงจะอ่อนแอลงเมื่อรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น และประสบปัญหารุนแรงจากผลของการแบ่งพรรคแบ่งพวก ส่วนสาธารณรัฐจะมีความเข้มแข็งขึ้นเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น และด้วยโครงสร้างของมันสามารถรับมือกับการแบ่งฝักฝ่ายได้ ฝ่ายจอห์น แอดัมส์ยืนยันว่าสิ่งที่สำคัญต่อค่านิยมอเมริกันคือรัฐบาล "ถูกผูกมัดด้วยกฎหมายตายตัว ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์เสียงในกระบวนการออก และมีสิทธิให้พิทักษ์" การถกเถียงทำนองเดียวกันยังคงมีอยู่ในประเทศที่กลายเป็นประชาธิปไตยใหม่ในหลายประเทศ

(ก) สำเนาดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญสหรัฐ หน้าแรก ประชาธิปไตยเสรีนิยมเน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งปกติมักบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก (ข) ผู้แทนสภาโซเวียตชุดแรกใน ค.ศ. 1905 ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมเน้นให้เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกรรมกรและชนชั้นล่าง และประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ประชาธิปไตยเสรีนิยม

ประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งความสามารถของผู้แทนประชาชนจากการเลือกตั้งในการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งจำกัดขอบเขตของเจตจำนงฝ่ายข้างมากที่สามารถใช้ได้ต่อสิทธิของฝ่ายข้างน้อย ในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นประชาธิปไตยรูปแบบส่วนใหญ่ในโลก

ประชาธิปไตยเสรีนิยมโดยปกติมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป คือให้พลเมืองผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ การถือครองทรัพย์สิน เพศสภาพ รายได้ สถานภาพทางสังคมหรือศาสนา อย่างไรก็ดี บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรยังจำกัดสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยวินิจฉัยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยเสรีนิยมสรุปได้แปดข้อ ดังนี้

  1. เสรีภาพในการรวมตัวและเข้าร่วมองค์การ
  2. เสรีภาพในการแสดงออก
  3. สิทธิเลือกตั้ง
  4. สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง
  5. สิทธิของผู้นำการเมืองในการหาเสียงสนับสนุน
  6. เสรีภาพในการรับสารสนเทศแหล่งอื่น
  7. การเลือกตั้งอย่างมีอิสระและเป็นธรรม
  8. สิทธิการควบคุมนโยบายรัฐบาลผ่านการออกเสียงและการแสดงออกอย่างอื่น

ประชาธิปไตยสังคมนิยม

ความคิดสังคมนิยมมีทัศนคติต่อประชาธิปไตยแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยสังคมนิยม, สังคมนิยมประชาธิปไตย และลัทธิเผด็จการของชนกรรมาชีพ (ปกติใช้ผ่านประชาธิปไตยแบบโซเวียต) ทั้งหมดส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนชั้นล่างและกรรมกร รวมทั้งประชาธิปไตยในที่ทำงาน ประชาธิปไตยสังคมนิยมเชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยระบบเศรษฐกิจยังใช้แบบผสมที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยม แต่รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม เป็นสังคมนิยมตะวันตกหรือสังคมนิยมสมัยใหม่ที่พบมากที่สุด ส่วนสังคมนิยมประชาธิปไตยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยโดยมีเศรษฐกิจแบบสังคมเป็นเจ้าของ

ส่วนในทรรศนะดั้งเดิมของลัทธิมากซ์เชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นกรรมกรทั่วโลกมีสิทธิเลือกตั้ง โดยในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ คาร์ล มากซ์และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ระบุว่าเพื่อให้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสำเร็จ จะต้องเข้าไปเป็นชนชั้นปกครองให้ได้เสียก่อน และสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างแรก ๆ มากซ์เขียนใน การวิจารณ์โครงการโกทา (Critique of the Gotha Program) ว่าจะมีสมัยการเปลี่ยนผ่านระหว่างสังคมทุนนิยมกับสังคมคอมมิวนิสต์ คือ ลัทธิเผด็จการของชนกรรมาชีพ โดยมีจุดหมายคือ สังคมแบบคอมมูนที่ไร้รัฐ

ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี

ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (illiberal democracy) เป็นระบบการปกครองที่ถึงแม้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ขาดเสรีภาพพลเมือง จึงทำให้ไม่เป็นสังคมเปิดและขาดอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง ปัจจุบันมีหลายประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือ ก้ำกึ่งระหว่างเป็นประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย ลักษณะอื่นที่พบร่วมกัน เช่น การไม่คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย มีการชักใยหรือล็อกผลการเลือกตั้ง ผู้ปกครองมักรวมศูนย์อำนาจและควบคุมสื่อเพื่อให้สนับสนุนรัฐบาล ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น รัสเซีย สิงคโปร์ ตุรกี สำหรับสหรัฐสมัยประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรีมากขึ้น

ส่วนคำว่า "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" (guided democracy) เป็นการใช้อธิบายรัฐที่มีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย แรงจูงใจและเป้าหมายของรัฐ คำนี้ใช้อธิบายประเทศอินโดนีเซียสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ค.ศ. 2019

ทฤษฎี

ทัศนะคลาสสิก: แอริสตอเติลและท็อกเกอร์วิลล์

การจำแนกระบอบการปกครองของแอสริสตอเติลในหนังสือ Politics
การปกครองโดย ดี
(เพื่อประโยชน์ส่วนรวม)
เลว
(เพื่อประโยชน์ส่วนตน)
บุคคลเดียว ราชาธิปไตย ทรราช
คณะบุคคล อภิชนาธิปไตย คณาธิปไตย
(เพื่อคนรวย)
บุคคลส่วนใหญ่ โพลีเทีย ประชาธิปไตย
(เพื่อคนจน)

แอริสตอเติลเป็นนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ผู้อธิบายและรวบรวมระบบการเมืองที่ใช้กันในยุคสมัยนั้น เขาจำแนกการปกครองออกเป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียว คณะบุคคลและบุคคลจำนวนมาก และแบ่งต่อไปเป็นการปกครองที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม โดยคำว่า "เหมาะสม" หมายถึง การกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน: 6–7  สำหรับประชาธิปไตย แอริสตอเติลมองว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวเพราะโดยสภาพเป็นการปกครองโดยคนจนที่ทำเพื่อชนชั้นตัวเอง อย่างไรก็ดี แม้แอริสตอเติลเชื่อว่าการปกครองของคนดีคนเดียวเป็นระบอบการปกครองในอุดมคติ แต่ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการกลายเป็นทรราชที่รับใช้ตนเองซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เลวที่สุด เขาจึงคิดมุมกลับและสรุปว่าการปกครองของคนส่วนใหญ่เป็นระบอบที่พอรับได้มากที่สุด (เลวน้อยที่สุด) เพราะอย่างน้อยการรับใช้ตนเองของคนส่วนใหญ่ก็ให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด: 7 

อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือ ประชาธิปไตยในอเมริกา (ค.ศ. 1835 และ 1840) เข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน เขาระบุว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกาเกิดขึ้นได้จากความเสมอภาคของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งสาธารณะ ตลอดจนการเข้าถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมีวัฒนธรรมทัศนคติแบบต่อต้านอภิชนาธิปไตย เขามองว่าประชาธิปไตยมาจากพัฒนาการในทวีปยุโรป เริ่มจากการเริ่มเปิดให้สามัญชนดำรงตำแหน่งนักบวชได้นอกเหนือจากชนชั้นสูง และการรุกล้ำพระราชอำนาจโดยนักกฎหมายและวาณิชมั่งมี: 8  อย่างไรก็ดี เขามองว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสมัยเขา ซึ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ว่าเป็นผลลัพธ์อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของประวัติศาสตร์ของการขยายความเสมอภาคในทวีปยุโรป: 8  แม้เขาทำนายว่าสหรัฐอาจกลายเป็นทรราชเสียงข้างมากที่กดขี่ในอนาคต แต่เขายังหวังให้สังคมยุโรปมีความสมภาคมากขึ้นตามตัวอย่างแบบอเมริกา หากเลี่ยงความรุนแรงและปัญหาไม่คาดคิดจากการปฏิวัติสมภาคนิยม: 8–9 

มุมมองของท็อกเกอร์วิลล์ยังคลุมเครือเกี่ยวกับประชาธิปไตย ทัศนะของเขาอาจเรียกได้ว่าเป็นทัศนะคลาสสิกต่อประชาธิปไตย โดยมุมมองหลักด้านหนึ่งคือประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับการปกครองตนเอง และอีกเสาหนึ่งคือประชาธิปไตยส่งเสริมหรือแสดงออกซึ่งประโยชน์สาธารณะไม่ว่าสาธารณะกลุ่มใดกำลังใช้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ซึ่งอาจทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อคนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนตามความคิดของแอริสตอเติลก็ได้: 9 

ทฤษฎีร่วมสมัย

ใจความสำคัญของทฤษฎีประชาธิปไตยร่วมสมัย
ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม
ประชาธิปไตยช่วยนำความพึงใจของประชาชนมารวมกันเพื่อใช้ตัดสินวิธีดำเนินการที่ดีที่สุด
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ
ประชาธิปไตยช่วยให้มีการสนทนา การปรึกษาหารือและมติเอกฉันท์
ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัต
การถืออำนาจของประชาชนสามารถบีบบังคับให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้

นักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เสนอมโนทัศน์ประชาธิปไตยสามมโนทัศน์ ประกอบด้วย ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม (aggregative democracy), ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) และประชาธิปไตยมูลวิวัต (radical democracy)

    ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม

ทฤษฎี ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม (aggregative Democracy) อ้างว่า กระบวนการประชาธิปไตยมีเป้าหมายเพื่อร้องขอความพึงใจ (preference) ของพลเมือง และรวมเข้าด้วยกันเพื่อตัดสินนโยบายสังคมที่สังคมควรรับไปปฏิบัติ ดังนั้น ผู้สนับสนุนทัศนะนี้จึงถือว่าการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยควรเน้นการออกเสียงลงคะแนนเป็นหลัก และนำนโยบายที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดไปปฏิบัติ

ในทฤษฎีประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่มยังแบ่งไดอีกเป็นหลายแบบ ในจุลนิยม ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่พลเมืองมอบสิทธิการปกครองแก่คณะผู้นำการเมืองในการเลือกตั้งเป็นคาบ ๆ แต่พลเมืองไม่มีความสามารถและไม่ควรปกครองเอง เพราะในประเด็นส่วนใหญ่และเกือบตลอดเวลา พวกเขาไม่มีทัศนะที่ชัดเจนหรือไม่มีเหตุผล โจเซฟ ชุมปีเตอร์เป็นผู้สาธยายทัศนะนี้ในหนังสือ ทุนนิยม, สังคมนิยม, และประชาธิปไตย ผู้สนับสนุนคนอื่น เช่น วิลเลียม เอช. ไรเกอร์, อดัม ปร์เซวอร์สกี, และริชาร์ด พอสเนอร์

ในทางกลับกัน ตามทฤษฎีประชาธิปไตยทางตรง ถือว่าพลเมืองควรออกเสียงลงคะแนนในข้อเสนอกฎหมายโดยตรงโดยไม่ผ่านผู้แทน ผู้สนับสนุนให้เหตุผลต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการเมืองมีคุณค่าในตัวเองได้ ทำให้พลเมืองเข้าสังคมและมีการศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถตรวจสอบอภิชนที่ทรงอำนาจได้ ข้อสำคัญที่สุด พลเมืองไม่ปกครองด้วยตนเองยกเว้นวินิจฉัยกฎหมายและนโยบายโดยตรง

แอนโทนี ดาวนส์เสนอว่าพรรคการเมืองอุดมการณ์มีความจำเป็นต้องทำหนาที่เป็นนายหน้าไกล่เกลี่ยระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐบาล รัฐบาลควรมีแนวโน้มออกกฎหมายและนโยบายให้ใกล้เคียงกับทัศนะของผู้ออกเสียงที่อยู่ตรงกลางของสเปกตรัมการเมืองเสมอ แม้ว่าบางทีผลลัพธ์จะเป็นการกระทำของคนเห็นแก่ตัวและบางทีอภิชนที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแย่งคะแนนเสียงด้วย

โรเบิร์ต เอ. ดาห์ลให้เหตุผลว่าหลักการหลักมูลของประชาธิปไตยคือ ในการวินิจฉัยร่วมกันที่มีผลผูกพัน แต่ละบุคคลในชุมชนการเมืองมีสิทธิที่ผลประโยชน์ของตนจะได้รับการพิจารณาอย่าเท่า ๆ กัน เขาใช้คำว่า โพลีอาร์คี (polyarchy; poly "มาก" + archy "การปกครอง") เรียกสังคมที่มีชุดสถาบันและวิธีดำเนินการซึ่งรับรู้ว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยเช่นนั้น ข้อแรกที่สำคัญที่สุด สถาบันเหล่านี้จะต้องมีการเลือกตั้งอย่างมีอิสระและเป็นธรรมอยู่เป็นประจำเพื่อเลือกผู้แทนซึ่งจัดการนโยบายสาธารณะของสังคม แต่วิธีดำเนินการแบบโพลีอาร์คีนี้อาจไม่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์หากมีปัญหา เช่น ความยากจน ขัดขวางการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่นเดียวกับโรนัลด์ ดวอร์คิน (Ronald Dworkin) ที่ให้เหตุผลว่า "ประชาธิปไตยเป็นอุดมติในสาระสำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงวิธีดำเนินงาน"

    ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ตั้งอยู่บนความคิดว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยการปรึกษาหารือกัน ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือถือว่าก่อนที่การวินิจฉัยในระบอบประชาธิปไตยจะมีความชอบธรรมได้จะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเสียก่อน ไม่ใช่เพียงการรวมความพึงใจที่เกิดขึ้นในขณะออกเสียงลงคะแนน การปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเป็นการปรึกษาหารือในหมู่ผู้วินิจฉัยสั่งการซึ่งปลอดจากการบิดเบือนจากอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียม เช่น อำนาจของผู้วินิจฉัยสั่งการที่ได้มาจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ ถ้าผู้วินิจฉัยสั่งการไม่สามารถมีมติเอกฉันท์หลังปรึกษาหารืออย่างแท้จริงแล้ว จะออกเสียงลงคะแนนต่อข้อเสนอนั้นโดยใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ นักวิชาการจำนวนมากถือว่าสมัชชาพลเมืองเป็นตัวอย่างเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และการวิจัยของ OECD ล่าสุดระบุว่าสมัชชาพลเมืองเป็นกลไกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเพิ่มประชาชนในการวินิจฉัยสั่งการของรัฐบาล

ลักษณะของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ
องค์ประกอบที่เสนอโดยเจมส์ ฟิชคิน องค์ประกอบที่เสนอโดยโจชัว โคเฮน

  • สารนิเทศ: ผู้มีส่วนร่วมเข้าถึงสารนิเทศที่มีความแม่นยำอย่างสมเหตุสมผลที่เกี่ยวข้อง
  • ความสมดุลของสาระสำคัญ: การให้เหตุผลของฝ่ายหนึ่งได้รับคำตอบหลังพิจารณาจากผู้มีทัศนะอีกฝ่ายหนึ่ง
  • ความหลากหลาย: ผู้เข้าร่วมการอภิปรายมีจุดยืนสำคัญในสาธารณะ
  • มโนธรรม: ผู้เข้าร่วมชั่งน้ำหนักข้อดีของการให้เหตุผลต่าง ๆ อย่างจริงใจ
  • การพิจาณาอย่างเท่ากัน: ผู้เข้าร่วมพิจารณาการให้เหตุผลต่าง ๆ โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้เสนอเหตุผลนั้น

  • มีการรวมกลุ่มอย่างอิสระต่อไปโดยคาดหมายว่าจะดำรงต่อ
  • พลเมืองวาโครงสร้างสถาบันโดยที่การปรึกษาหารือเป็นปัจจัยชี้ขาดในการตั้งสถาบันและสถาบันนั้นปล่อยให้การปรึกษาหารือดำเนินต่อไป
  • มีข้อผูกมัดต่อความเคารพหุนิยมของค่านิยมและเป้าหมายในหน่วยการเมือง
  • พลเมืองถือว่าวิธีดำเนินงานปรึกษาหรือเป็นบ่อเกิดของความชอบธรรม
  • สมาชิกแต่ละคนรับรู้และเคารพสมรรถนะปรึกษาหารือของสมาชิกอื่น
    ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัต

ประชาธิปไตยมูลวิวัต (radical democracy) เป็นประชาธิปไตยที่สนับสนุนการขยายความเสมอภาคและเสรีภาพอย่างถึงราก ประชาธิปไตยมูลวิวัตมีแนวคิดว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่แบ่งแยก ต่อเนื่องและมีผลสะท้อน ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัตสายแรกที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ทัศนะทำการ (agonistic perspective) ซึ่งสัมพันธ์กับงานของ Ernesto Laclau และ Chantal Mouffe ในหนังสือ Hegemony and Socialist Strategy: Towards a Radical Democratic Politics (ค.ศ. 1985) เสนอให้ขยายบทนิยามของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม โดยอาศัยเสรีภาพและความเสมอภาค ให้รวมถึงความแตกต่าง และโดยการสร้างประชาธิปไตยโดยยึดความแตกต่างและความขัดแย้ง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดขี่ในสังคมจะปรากฏอยู่เบื้องหน้าให้ท้าทายได้ ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัตสายที่สอง ได้แก่ แบบปรึกษาหารือโดย Jürgen Habermas โดยเขาระบุว่าเป็นประชาธิปไตยที่อาศัยมติเอกฉันท์และการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างเท่า ๆ กัน คือมีกระบวนการวิจารณ์แบบสะท้อนในการมาถึงทางออกที่ดีที่สุด สำหรับสายที่สามคือสายนักอัตตาณัติ (autonomist) เป็นแบบที่มุ่งสนใจ "ชุมชน" โดยระบุว่าความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลจะพบได้ในภาวะเป็นหนึ่งเดียว (singularity) กับกลุ่มคนจำนวนมาก และความเสมอภาคโดยรวมจะสร้างขึ้นจากกลุ่มคนที่ล้วนไม่แบ่งแยก และเสรีภาพสร้างขึ้นโดยการฟื้นฟูกลุ่มคนในอำนาจประกอบบริสุทธิ์ของชุมชน

การพัฒนาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย: ศัพทมูลวิทยา, ลักษณะ, ประวัติศาสตร์ 
ภาพการประท้วงในประเทศตูนิเซียเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2011; การปฏิวัติตูนิเซียในปีนั้นโค่นประธานาธิบดีซีน อัลอาบิดีน บิน อะลีจากตำแหน่ง หลังครองอำนาจยาวนานกว่า 20 ปี ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าการต่อต้านรัฐบาลของพลเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกลายเป็นประชาธิปไตยหลัง ค.ศ. 1972 เป็นต้นมา

นักปรัชญาและนักวิจัยหลายคนได้วางเค้าโครงปัจจัยในอดีตและทางสังคมที่มองว่าสนับสนุนวิวัฒนาการของประชาธิปไตย บางส่วนกล่าวถึงอิทธิพลของการพัฒนาเศรษฐกิจ Ronald Inglehart ให้เหตุผลว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วสมัยใหม่ชักจูงประชาชนว่าพวกตนก็สามารถพัฒนาการครองชีพของตนได้เช่นกัน นำไปสู่การเน้นค่านิยมกล้าแสดงออกมากขึ้น ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงมีสหสัมพันธ์กับประชาธิปไตย แม้จะยังมีประเด็นถกเถียงกันยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยทำให้เกิดความมั่งคั่ง หรือความมั่งคั่งทำให้เกิดประชาธิปไตย หรือทั้งสองไม่ใช่สาเหตุของกันและกันแน่

หลักฐานที่สอดคล้องกับทฤษฎีดั้งเดิมเรื่องกำเนิดประชาธิปไตยและการธำรงรักษาประชาธิปไตยนั้นหายาก ในอดีตมีการเสนอทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (modernization) ใจความว่า ประเทศที่ทันสมัยจะกลายเป็นประชาธิปไตย เช่น Lipset ตั้งข้อสังเกตใน ค.ศ. 1959 ว่า ประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเขาคิดว่า การทำให้เป็นอุตสาหกรรม การกลายเป็นเมือง ความมั่งคั่งและการศึกษาล้วนมีสหสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งเทียบสัมพันธ์กับประชาธิปไตย Larry Diamond และ Juan Linz ให้เหตุผลว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญกว่าระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจเดิม, การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งอาจเอื้อต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย, และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น เช่น การเกิดชนชั้นกลาง ซึ่งชักนำไปสู่ประชาธิปไตย: 44–6  แต่การวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าประชาธิปไตยมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นถ้าประเทศร่ำรวยขึ้น มีการศึกษาดีขึ้นหรือมีความเหลื่อมล้ำลดลง โดยพบว่าในอดีตประเทศส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีระดับการเข้าถึงการศึกษาขั้นประถมสูงอยู่ก่อนแล้ว มิหนำซ้ำระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอาจใช้การศึกษาเพื่อปลูกฝังคนในบังคับเพื่อเสริมสร้างอำนาจของพวกตนเสียด้วยซ้ำ

รัฐบาลอำนาจนิยมอาจมอบประชาธิปไตยให้เองในกรณีที่ค่าใช้จ่ายของการปราบปรามประชานสูงกว่าค่าใช้จ่าย การศึกษาใน ค.ศ. 2020 กลายเป็นประชาธิปไตยจากรัฐบาลอำนาจนิยมมีแนวโน้มทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ถ้าความเข้มแข็งของพรรคอำนาจนิยมที่อยู่ในอำนาจสูง ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในสังคม Barrington Moore Jr. ให้เหตุผลว่าการกระจายอำนาจระหว่างชนชั้นในสังคมจะเป็นตัวตัดสินว่าจะเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตย อำนาจนิยมหรือคอมมิวนิสต์ David Stasavage ระบุว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมีแนวโน้มเกิดขึ้นถ้าสังคมแตกออกเป็นกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม

การศึกษาเรื่องการแทรกแซงของต่างประเทศต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมีผลลัพธ์หลากหลาย Thomas Risse เขียนใน ค.ศ. 2009 ว่า มีความเห็นพ้องต้องกันในวรรณกรรมยุโรปตะวันออกว่าการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมีผลต่อประชาธิปไตยเกิดใหม่ Steven Levitsky และ Lucan Way ให้เหตุผลว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาติตะวันตกเพิ่มโอกาสกลายเป็นประชาธิปไตย แต่การให้เงินอุดหนุนจากต่างประเทศไม่มีผลต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย

ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์พบว่าตั้งแต่ ค.ศ. 1972 มี 67 ประเทศที่เปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย พบว่าการขัดขืนของพลเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรงมีอิทธิพลเข้มแข็งร้อยละ 70 เช่น การนัดหยุดงานประท้วง การคว่ำบาตร การดื้อแพ่งและการประท้วงหมู่

ไม่มีหลักฐานชวนให้เชื่อว่าประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันมากขัดขวางการทำให้เป็นประชาธิปไตย แม้มีงานวิจัยทฤษฎีว่ารายได้จากน้ำมันตัดความสัมพันธ์ระหว่างการเก็บภาษีอากรและความรับผิดชอบของรัฐบาลซึ่งมีความสำคัญต่อประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ทำให้นักวิจัยหันไปค้นหาปัจจัยขัดขวางในสถาบันการเมืองร่วมสมัยต่อไป นักวิชาการบางส่วนมองว่าวัฒนธรรมมีผลต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย โดยระบุว่าวัฒนธรรมตะวันตกเหมาะสมที่สุดกับประชาธิปไตย ส่วนวัฒนธรรมอิสลามมักไม่เป็นประชาธิปไตย

ข้อวิจารณ์

(ก) สมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ไม่ทราบปี ระบบการเมืองของสหรัฐมักถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์แก่อภิชนและกลุ่มผลประโยชน์พิเศษ ทำให้พลเมืองทั่วไปขาดส่วนร่วมในกระบวนการการเมือง (ข) การรายงานข่าวการเมืองของวอยซ์ออฟอเมริกา โดยการถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 2016 การเข้าถึงสารนิเทศปริมาณมากอย่างรวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้ความพยายามรับรู้ลดลง นำไปสู่การวิจารณ์ว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขาดความรู้ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ข้อวิจารณ์เรื่องจุดประสงค์

นักวิชาการให้เหตุผลว่าสังคมประชาธิปไตยจะทำให้สังคมที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน (specialized) หมดไป นโยบายของรัฐมักได้รับอิทธิพลจากความเห็นของผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ทำให้ประสิทธิภาพเสียไปได้ ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าข้อนี้เป็นข้อดีของประชาธิปไตยเพราะเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการคุ้มครองฝ่ายข้างน้อย

Bernard Manin เสนอว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนแท้จริงแล้วเป็นอภิชนาธิปไตย เช่นเดียวกับนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน-อิตาลี Robert Michels ที่พัฒนากฎเหล็กคณาธิปไตยใน ค.ศ. 1911 ซึ่งเขากล่าวว่า มาตรการที่วางไว้เพื่อป้องกันคณาธิปไตยในประวัติศาสตร์ล้วนไร้ผล และเป้าหมายของประชาธิปไตยในการกำจัดอภิชนนั้นเป็นไปไม่ได้ และประชาธิปไตยกลายมาเป็นฉากหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่อภิชนอีกด้วย นักวิจัยวิชาการบางส่วนเสนอว่าอิทธิพลของบริษัท คนมั่งมี และกลุ่มผลประโยชน์พิเศษอื่น ปล่อยให้พลเมืองมีผลกระทบต่อกระบวนการการเมืองน้อยกว่ากลุ่มอภิชน การศึกษาของ Martin Gilens และ Benjamin Page ใน ค.ศ. 2014 เสนอว่าในสหรัฐ ถ้าความพึงใจของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศขัดกับอภิชน อภิชนมักเป็นฝ่ายชนะ

ปัญหาเรื่องการให้ความสำคัญกับฝ่ายข้างมากในระบอบประชาธิปไตยเป็นข้อวิจารณ์มาช้านานนับแต่สมัยเพลโตและแอริสตอเติล และโดยเฉพาะบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐ Fierlbeck เขียนว่าชนชั้นกลางซึ่งเป็นเสียงข้างมากในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศอาจตัดสินใจเพิ่มความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม และจะยิ่งส่งผลให้ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

Kenneth Arrow นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เสนอทฤษฎีบทความเป็นไปไม่ได้ของแอร์โรว์ ซึ่งว่าด้วยความไม่สอดคล้องกันทางตรรกะของประชาธิปไตย โดยมีใจความว่าในระบบเลือกตั้งแบบเรียงลำดับใด ๆ ไม่สามารถถูกออกแบบมาให้เข้ากับเกณฑ์ "ความเป็นธรรม" สามข้อต่อไปนี้

  • ถ้าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนเลือกทางเลือก X มากกว่าทางเลือก Y ดังนั้น กลุ่มนิยม X มากกว่า Y
  • ถ้าความพึงใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนระหว่าง X และ Y แล้ว ความพึงใจของกลุ่มระหว่าง X และ Y จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
  • ไม่มี "ผู้เผด็จการ" คือ ไม่มีผู้เลือกตั้งคนเดียวที่ครองอำนาจที่จะตัดสินความพึงใจของกลุ่มได้ตลอดเวลา

มักมีการสรุปถ้อยแถลงข้างต้นไว้ดังนี้ "ไม่มีวิธีลงคะแนนใดเป็นธรรม", "วิธีเลือกตั้งแบบเรียงลำดับทุกวิธีมีที่ติ" หรือ "วิธีลงคะแนนวิธีเดียวที่ไม่มีที่ติคือเผด็จการ"

ข้อวิจารณ์เรื่องกระบวนการ

ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นประจำนั้นถูกวิจารณ์ว่าลดทอนเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์สำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจน ซึ่งสหประชาชาติก็ระบุว่าการขาดการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยในประเทศจีนทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง

วิกฤตศรัทธาประชาธิปไตยทั่วโลกเกิดจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยปานกลางมีอัตราฉ้อราษฎร์บังหลวงสูง โดยเฉพาะกระบวนการการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลได้ง่าย การศึกษาพบว่า นักการเมืองในตำแหน่งได้รับประโยชน์มากกว่าจากการโกงเลือกตั้ง เพราะจะอยู่ในตำแหน่งนานกว่านักการเมืองที่ไม่โกงเลือกตั้ง 2.5 เท่า ประเทศประชาธิปไตยรายได้ต่ำยังมีแนวโน้มต่อความรุนแรง

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมักมีการศึกษาไม่เพียงพอต่อการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของตนอย่างรอบคอบ การศึกษาพบว่าปริมาณสารนิเทศมหาศาลที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ทุกวันทำให้คนเบื่อหน่ายต่อการทำความเข้าใจปัญหาการเมืองเชิงลึก อีกทั้งการเข้าถึงสารนิเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทำให้มีการใช้ความพยายามในการรู้คิดลดลง นักการเมืองมักใช้ประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเน้นการแข่งขันในด้านประชาสัมพันธ์และยุทธวิธีหาเสียงมากกว่าอุดมการณ์ การศึกษาในสหรัฐพบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินนักการเมืองจากรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่า ในการเลือกตั้งที่ประสบปัญหาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความรู้น้อยนั้น ยังมักประสบปัญหาที่นักการเมืองคนปัจจุบันที่มีข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาด้วย มีนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์พิเศษพยายามชักจูงความเห็นสาธารณะมาช้านาน นักปรัชญากรีกโบราณ โสกราตีส เชื่อว่ามวลชนที่ขาดการศึกษามีแต่จะนำไปสู่ประชานิยม ทำให้ได้ผู้นำที่ขาดความสามารถ

งานวิจัยเชิงประจักษ์ให้ผลว่าระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมักมีความลำเอียงทำให้ชนชั้นมั่งมีมีผู้แทนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นโดยรวม การให้ผู้แทนยังมีเสรีภาพในการใช้วิจารณญาณของตนในการออกเสียงได้ จึงทำให้ระบบดังกล่าวได้รับคำวิจารณ์ โดยชี้ถึงการขัดแย้งกับกลไกการมีผู้แทนกับประชาธิปไตย รวมทั้งการผิดสัญญาเมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้ง จึงมีข้อเสนอให้ใช้อาณัติเด็ดขาด (imperative mandate) ซึ่งกำหนดให้ผู้แทนตรานโยบายตามอาณัติของผู้เลือกตั้ง และสามารถเลือกตั้งถอดถอนได้โดยสมัชชาประชาชน

เชิงอรรถ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

ประชาธิปไตย ศัพทมูลวิทยาประชาธิปไตย ลักษณะประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย รูปแบบประชาธิปไตย ทฤษฎีประชาธิปไตย การพัฒนาประชาธิปไตย ข้อวิจารณ์ประชาธิปไตย เชิงอรรถประชาธิปไตย ดูเพิ่มประชาธิปไตย อ้างอิงประชาธิปไตย หนังสืออ่านเพิ่มเติมประชาธิปไตย แหล่งข้อมูลอื่นประชาธิปไตย

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

โรงเรียนวัดสุทธิวรารามธนวรรธน์ วรรธนะภูติศุภนันท์ บุรีรัตน์สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง69 (ท่วงท่าเพศสัมพันธ์)อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัน ดารา (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2544)สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังประเทศสวีเดนอนุทิน ชาญวีรกูลตราประจำพระองค์ในประเทศไทยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีสำราญ นวลมาไดโนเสาร์คอมพิวเตอร์ชวน หลีกภัยจ้าว ลี่อิ่งเทศน์ เฮนรี ไมรอนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุลประเทศกัมพูชาเสือ ชะนี เก้งศิริลักษณ์ คองพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรายชื่อละครโทรทัศน์จักร ๆ วงศ์ ๆจังหวัดสระแก้วณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุลสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเปรม ติณสูลานนท์มหาวิทยาลัยรังสิตธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูลปฏิจจสมุปบาทพรรคประชาธิปัตย์ภาคกลาง (ประเทศไทย)สถานีกลางบางซื่อPremier LeagueกรมสรรพากรFBพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)วีระเทพ ป้อมพันธุ์ทวีปอเมริกาเหนือลำดับศักดิ์ของกฎหมายรายชื่อตัวละครในยอดนักสืบจิ๋วโคนันซิลลี่ ฟูลส์ประเทศฟิลิปปินส์โช กยู-ซ็องเมธวิน โอภาสเอี่ยมขจรกองทัพอากาศไทยมหาวิทยาลัยมหิดลสังโยชน์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยภูมิธรรม เวชยชัยช่อง 3 เอชดีรายชื่อท่าอากาศยานในประเทศไทยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามินนี่ (นักร้อง)ประเทศไทยจังหวัดกระบี่ราชกิจจานุเบกษาณัฐธิชา นามวงษ์ประเทศกรีซอาณาจักรสุโขทัยรายชื่อจังหวัดของประเทศไทยเรียงตามพื้นที่จรูญเกียรติ ปานแก้วประเทศลาวทวีปยุโรปกีลียาน อึมบาเปสงครามโลกครั้งที่สองโดราเอมอน2จักรพรรดินโปเลียนที่ 1วอลเลย์บอลจุฑาวัชร วิวัชรวงศ์🡆 More