ประเทศตองงา

20°S 175°W / 20°S 175°W / -20; -175

ราชอาณาจักรตองงา

Puleʻanga Fakatuʻi ʻo Tonga  (ตองงา)
คำขวัญ"Ko e ʻOtua mo Tonga ko hoku tofiʻa"
"พระเจ้าและตองงาคือมรดกของข้าพเจ้า"
เพลงชาติ"Ko e fasi ʻo e tuʻi ʻo e ʻOtu Tonga"
"เพลงของกษัตริย์แห่งหมู่เกาะตองงา"
ที่ตั้งของตองงา
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
นูกูอาโลฟา
21°08′S 175°12′W / 21.133°S 175.200°W / -21.133; -175.200
ภาษาราชการ
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2018)
  • 97% ชาวตองงา
  • 0.7% ยูโรเนเชียน
  • 2.3% อื่น ๆ
ศาสนา
(ค.ศ. 2011)
เดมะนิมชาวตองงา
การปกครอง รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
สมเด็จพระราชาธิบดีตูโปอูที่ 6 แห่งตองงา
ซีอาโอซี โซวาเลนี
ฟาตาเฟฮี ฟากาฟานูอา
สภานิติบัญญัติสภานิติบัญญัติ
เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร
• ประกาศอิสรภาพ
4 มิถุนายน ค.ศ. 1970
พื้นที่
• รวม
748 ตารางกิโลเมตร (289 ตารางไมล์) (อันดับที่ 175)
4.0
ประชากร
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2016
100,651 (อันดับที่ 199)
139 ต่อตารางกิโลเมตร (360.0 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 76a)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2019 (ประมาณ)
• รวม
655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
6,496 ดอลลาร์สหรัฐ
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2019 (ประมาณ)
• รวม
493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4,888 ดอลลาร์สหรัฐ
จีนี (ค.ศ. 2015)Steady 37.6
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)เพิ่มขึ้น 0.745
สูง · อันดับที่ 91
สกุลเงินปาอางา (TOP)
เขตเวลาUTC+13
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
ไม่ใช้
ขับรถด้านซ้าย
รหัสโทรศัพท์+676
โดเมนบนสุด.to
  1. อิงจากจำนวนใน ค.ศ. 2005

ประเทศตองงา (อังกฤษและตองงา: Tonga) มีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรตองงา (อังกฤษ: Kingdom of Tonga; ตองงา: Puleʻanga Fakatuʻi ʻo Tonga ปูเลอางา ฟากาตูอีโอโตงา) เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคพอลินีเชีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับรัฐฮาวายของสหรัฐ โดยทะเลอาณาเขตทางตะวันตกติดกับประเทศฟีจี ส่วนทางตะวันออกติดกับหมู่เกาะคุก นีวเว และอเมริกันซามัว ในขณะที่ทางทิศเหนือติดกับหมู่เกาะวาลิสและฟูตูนา ประเทศซามัว และอเมริกันซามัว ชื่อประเทศในภาษาตองงาแปลว่าทิศใต้ นอกจากนี้ประเทศนี้ได้รับฉายาว่า หมู่เกาะมิตรภาพ จากกัปตันเจมส์ คุก

ประเทศตองงาเป็นประเทศขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 189 ของโลก หมู่เกาะตองงาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 169 เกาะ โดยมีเพียง 36 เกาะเท่านั้นที่มีผู้อยู่อาศัย เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะโตงาตาปู ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองคือนูกูอาโลฟา เกาะส่วนใหญ่ของตองงาเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง ประชากรของตองงามีทั้งสิ้น 103,036 คน นับเป็นอันดับที่ 193 ของโลก

สันนิษฐานว่ามนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยในตองงาครั้งแรกเมื่อ 826 ± 8 ปีก่อนคริสตกาล ตองงาเริ่มก่อตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองใน ค.ศ. 950 ชื่อว่าจักรวรรดิตูอีโตงา ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ตูอีโตงา ตูอิฮาอะตากาลาอัว และตูอิกาโนกูโปลู ต่อมาได้เกิดสงครามกลางเมือง ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะจึงรวบรวมดินแดนทั้งหมดก่อตั้ง อาณาจักรพอลินีเชีย ตองงาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปกป้องตนเองจากการตกเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตก ใน ค.ศ. 2010 ประเทศตองงาจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

ชื่อประเทศ

ภาษาหลายภาษาของกลุ่มพอลินีเชียและภาษาตองงาได้ให้ความหมายคำว่า โตงา (ตองงา: Tonga) ไว้ว่า "ใต้" ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศตองงาที่เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของภูมิภาคพอลินีเชียตอนกลาง ในภาษาตองงาชื่อประเทศถอดเสียงเป็นสัทอักษรได้ว่า ˈtoŋa ส่วนในภาษาอังกฤษจะออกเสียงชื่อประเทศนี้ว่า /ˈtɒŋə/ หรือ /ˈtɒŋɡə/ นอกจากนี้ชื่อประเทศตองงายังมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า โกนา (ฮาวาย: Kona) ในภาษาฮาวายอีกด้วย

นอกจากนี้ในอดีตประเทศตองงาเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกในชื่อ หมู่เกาะมิตรภาพ เนื่องจากกัปตันเจมส์ คุกได้รับการต้อนรับอย่างดีเมื่อมาเยือนครั้งแรกใน ค.ศ. 1773 และมีโอกาศได้เข้าร่วมเทศกาล อีนาซี ซึ่งเป็นเทศกาลถวาย ผลไม้แรก แด่ตูอีโตงา ทว่าในความเป็นจริงเหล่าชนชั้นนำต่างต้องการสังหารกัปตันเจมส์ คุกระหว่างงานเทศกาล แต่ไม่สามารถตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนการได้: 64–5 

ประวัติศาสตร์

วัฒนธรรมแลพีตา

ประเทศตองงา 
เครื่องปั้นดินเผาแลพีตา

ชาวแลพีตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในตองงา มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนในปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ชาวแลพีตาเข้ามาอาศัยในหมู่เกาะตองงาเป็นครั้งแรกยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน โดยในระยะแรกนั้นมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เชื่อว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนประเทศตองงาปัจจุบันเดินทางถึงหมู่เกาะตองงาในช่วงเวลาประมาณ 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการนำเครื่องมือในสมัยนั้นผ่านการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ซึ่งช่วยกำหนดได้ว่าชาวแลพีตาเดินทางเข้ามาอยู่ในตองงาในปี 826 ± 8 ก่อนคริสตกาล เมื่อชาวแลพีตาเดินทางมาถึงหมู่เกาะตองงาแล้ว ได้ลงหลักปักฐานในนูกูเลกา บนเกาะโตงาตาปูเป็นที่แรก และได้ลงหลักปักฐานในฮาอะไปเป็นที่ต่อมา ชาวแลพีตาใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาหารของชาวแลพีตาจึงเน้นอาหารทะเลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เต่า ปลาไหล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อีกด้วย หลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีในช่วงเวลานี้คือเครื่องปั้นดินเผาแลพีตา ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากเปลือกหอยและหิน โดยพบมากในบริเวณเขตการปกครองฮาอะไปในปัจจุบัน

จักรวรรดิตูอีโตงา

ประเทศตองงา 
อาณาเขตจักรวรรดิตูอีโตงา

ประมาณ ค.ศ. 950 อะโฮเออิตูได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นตูอีโตงาแห่งจักรวรรดิตูอีโตงาพระองค์แรก จักรวรรดิตูอีโตงาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าโมโม พระเจ้าตูอิตาตูอิ และพระเจ้าตาลาตามา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิจนมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนของฟีจี ซามัว โทเคอเลา นีวเว และหมู่เกาะคุก บรรดาดินแดนในการปกครองเหล่านี้จะส่งบรรณาการที่เรียกว่า อีนาซี ซึ่งต้องส่งมาถวายตูอีโตงาที่เมืองมูอาอันเป็นนครหลวงของจักรวรรดิทุกปีในฤดูเก็บเกี่ยว อำนาจของจักรวรรดิตูอีโตงาเริ่มตกต่ำลงหลังจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ตูอีโตงาหลายพระองค์ ส่งผลให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาตูอีโตงาพระองค์ที่ 24 ตั้งพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูอาขึ้นเป็นตูอิฮาอะตากาลาอัวพระองค์แรก เพื่อช่วยเหลือตูอีโตงาในการปกครองจักรวรรดิ และอีก 2 ศตวรรษต่อมาได้มีการตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นเพื่อช่วยเหลืออีก 2 ราชวงศ์ในการปกครองจักรวรรดิ ซึ่งต่อมาตูอิกาโนกูโปลูสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ที่มีอิทธิพลแทนที่ตูอิฮาอะตากาลาอัวได้

(บนซ้าย) ชาวตองงาในช่วงการมาเยือนของตัสมัน, (บนขวา) เรือแคนูพื้นเมือง, (ล่างซ้าย) การเต้นรำต้อนรับคุกที่ฮาอะไป, (ล่างขวา) สุสานชนชั้นนำบนเกาะโตงาตาปู

ในยุคจักรวรรดิตูอีโตงานี้ มีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม โดยนักสำรวจที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกนั้นเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ชื่อว่ายาโกบ เลอ แมเรอ และวิลเลิม สเคาเติน ซึ่งเดินทางมาถึงจักรวรรดิตูอีโตงาใน ค.ศ. 1616 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมือง โดยเข้ามาสำรวจในบริเวณเกาะนีอูอาโตปูตาปู ใน ค.ศ. 1643 อาเบิล ตัสมัน ได้เดินทางเข้ามาในตองงาในบริเวณเกาะโตงาตาปูและฮาอะไป แต่การเดินทางเข้ามาทั้ง 2 ครั้งของชาวยุโรปนี้ ยังไม่มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการมากเท่าใดนัก การติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการของชาวยุโรปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจักรวรรดิคือการเดินทางเข้ามาสำรวจของกัปตันเจมส์ คุก ใน ค.ศ. 1773 1774 และ 1777 ซึ่งเจมส์ คุกได้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า "หมู่เกาะมิตรภาพ" (Friendly Islands) โดยชื่อนี้มาจากความประทับใจของเจมส์ คุก ต่อลักษณะนิสัยของชาวพื้นเมือง หลังจากนั้นอเลสซานโดร มาลาสปินาเข้ามาสำรวจตองงาใน ค.ศ. 1793

ค.ศ. 1797 พระเจ้ามูมูอี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 13 สวรรคต พระโอรสองค์โตคือพระเจ้าตูกูอาโฮได้ขึ้นครองราชย์แทน จากบันทึกของมิชชันนารีพบว่าพระเจ้าตูกูอาโฮทรงดำรงพระองค์อย่างทรราชย์ มักลงโทษประชาชนของพระองค์อย่างรุนแรง: 122–3  นำไปสู่การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตูกูอาโฮในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1799 โดยกลุ่มขุนนางผู้ปกครองท้องถิ่นที่มาเข้าร่วมงานฝังพระบรมศพพระเจ้าโตอาฟูนากี ตูอิฮาอะตากาลาอัวพระองค์ที่ 18: 124  การกระทำครั้งนี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา พระญาติสายรองอย่างพระเจ้ามาอาฟูโอลีมูโลอาได้สืบพระอิสริยยศตูอิกาโนกูโปลูต่อ แต่ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์: 127  เจ้าชายตูโปอูมาโลฮีเสด็จกลับโตงาตาปูจากการเข้าร่วมการสงครามในฟีจี ทราบข่าวว่าตูอิกาโนกูโปลูสวรรคตจึงสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลู ย้ายศูนย์กลางอำนาจจากฮีฮีโฟมาอยู่ที่นูกูอาโลฟา พร้อมทั้งสร้างป้อมปราการขึ้น: 127  อย่างไรก็ตามป้อมปราการแห่งนี้ถูกทำลายลงโดยปืนใหญ่ เมื่อฟีเนา อูลูกาลาลา ผู้ปกครองวาวาอูและฮาอะไปเข้าล้อมป้อมปราการและใช้การระดมยิงด้วยปืนใหญ่ ท้ายที่สุดสามารถยึดครองป้อมนูกูอาโลฟาได้สำเร็จ พระเจ้าตูโปอูมาโลฮีเสด็จลี้ภัยไปยังฮาอะไป: 93–6 

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้นำพื้นที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิตูอีโตงามีความขัดแย้งกัน พร้อม ๆ ไปกับความเสื่อมถอยของอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง: 2  ทว่าหลายพื้นที่มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง คณะแรกที่เข้ามานั้นคือสมาคมมิชชันนารีลอนดอน โดยใน ค.ศ. 1826 สมาคมมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งมิชชันนารีจากตาฮีตีเดินทางไปยังฟีจี และมีจุดแวะพักระหว่างทางที่นูกูอาโลฟา เมื่อคณะเดินทางมาถึงนูกูอาโลฟา พระเจ้าอาเลอาโมตูอาได้กักตัวมิชชันนารีชาวตาฮีติ 2 คนไว้กับพระองค์ เพื่อให้ทั้งสองคนสอนศาสนาให้แก่พระองค์ นำไปสู่การสร้างโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนา: 129  แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อย่างไรก็ตามมิชชันนารีคณะเวสเลยันที่เข้ามาใน ค.ศ. 1822 ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนา พระเจ้าอาเลอาโมตูอาในฐานะผู้ที่สนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาตัดสินพระทัยเปลี่ยนศาสนาในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1830: 130  การเข้ามาของมิชชันนารีสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นในตองงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าการเป็นมิตรกับคนผิวขาว เป็นภัยต่อความมั่นคงในอำนาจของตน: 287–8  ความขัดแย้งที่เดิมเคยเกิดขึ้น พัฒนาเป็นความขัดแย้งทางศาสนา นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนคริสต์ศาสนากับกลุ่มความเชื่อดั้งเดิม จนกระทั่งเตาฟาอาเฮา กษัตริย์แห่งฮาอะไปและวาวาอู ผู้นำฝ่ายสนับสนุนคริสต์ศาสนาซึ่งเป็นพระภาติยะของพระเจ้าอาเลอาโมตูอา ได้รับชัยชนะและรวมหมู่เกาะตองงาเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จใน ค.ศ. 1852

หลังการรวมชาติตองงา

(ซ้าย) ชาวยุโรปในการเปิดประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1900, (ขวา) ขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองการยอมจำนนของอิตาลีในสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองตองงาแล้ว พระองค์ได้ตั้งเมืองปาไงในฮาอะไป ซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของพระองค์เป็นเมืองหลวงใน ค.ศ. 1845 หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลีฟูกา ในท้ายที่สุดได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนูกูอาโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันใน ค.ศ. 1851 ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวาวาอู ใน ค.ศ. 1839 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและลดบทบาทเจ้านายในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญตองงาที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1875 การประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1862 นอกจากนี้มีการประกาศความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร เยอรมนีและสหรัฐ ประเทศเหล่านี้ต่างรับรองความเป็นเอกราชของตองงา การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 นั้นเหล่ามิชชันนารีล้วนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองและในรัชสมัยนี้ศาสนาคริสต์ก็แผ่ได้มากขึ้นจากการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์

ในรัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สิบต่อจากพระปัยกา พระองค์ต้องประสบปัญหาทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ: 669–71  ความขัดแย้งในการเลือกพระมเหสี รวมถึงความพยายามขยายอิทธิพลของเยอรมนีจากปัญหาหนี้สินของรัฐบาล: 161  นำไปสู่การตัดสินพระทัยลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพกับสหราชอาณาจักร เป็นรัฐอารักขา ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ขณะที่ยังสามารถบริหารกิจการภายในเองได้: 670  โดยสหราชอาณาจักรจะควบคุมทางด้านการต่างประเทศ และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเท่านั้น อย่างไรก็ตามพบว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของตองงาอยู่เสมอ และใช้วิธีการข่มขู่ให้พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ปฏิรูปการปกครอง: 161  ในช่วงปลายรัชกาล แม้พระองค์จะไม่เต็มใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มากนัก แต่ด้วยสถานะความเป็นรัฐในอารักขา ทำให้พระองค์ต้องเข้าร่วมสงครามอย่างไม่เป็นทางการ มีทหารชาวตองงาบางส่วนเข้าร่วมรบในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังจากนิวซีแลนด์

ช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 ประเทศตองงาประสบปัญหาของการระบาดทั่วไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชากรร้อยละ 8 ของประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์อนุญาตให้กองกำลังสหรัฐตั้งฐานทัพและสนามบินในประเทศ ส่งผลให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดในประเทศ ตองงาเริ่มได้อำนาจการปกครองส่วนใหญ่คืนใน ค.ศ. 1958 และได้เอกราชโดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1970

การเรียกร้องประชาธิปไตย

ประเทศตองงา 
การจลาจลในกรุงนูกูอาโลฟา ค.ศ. 2006

หลังจากตองงาพ้นจากการอารักขาของสหราชอาณาจักรแล้ว ตองงาได้ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4 ใน ค.ศ. 1992 มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมประชาธิปไตยขึ้นในตองงา โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งมีเพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักมาจากขุนนางและชนชั้นสูงที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์ ความไม่พอใจในการปกครองมีมากขึ้นจากการที่รัฐบาลเชื้อพระวงศ์และขุนนางดำเนินการผิดพลาดหลายประการ ทั้งการลงทุนที่ผิดพลาดจนสูญเสียงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การพิจารณาให้ตองงาเป็นสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์ การขายหนังสือเดินทางตองงาแก่ชาวต่างประเทศ การอนุญาตขึ้นทะเบียนเรือต่างประเทศ การถือสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิง 757 ระยะยาวโดยไม่ได้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของสายการบินรอยัลตองงาแอร์ไลน์ รวมไปถึงการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน

จากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจึงเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วกรุงนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2005 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย การประท้วงในครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตานายกรัฐมนตรี และ ดร. เฟเลติ เซเวเล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของตองงา อย่างไรก็ตามการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเก ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการปฏิรูปการปกครองจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้กระบวนการปฏิรูปล่าช้ายิ่งขึ้น ความล่าช้าในการปฏิรูปการปกครองก่อให้เกิดการจลาจลทั่วกรุงนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2006 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจ ใน ค.ศ. 2008 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูโปอูที่ 5 ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ส่วนใหญ่และเริ่มการปฏิรูปการปกครอง โดย ค.ศ. 2010 เป็นปีแรกที่มีการเลือกตั้งทั่วไปที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

การเมืองการปกครอง

ตองงามีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน มีรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ มีพระราชอำนาจทางพิธีการ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และมีพระราชอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล

รัฐธรรมนูญ

ประเทศตองงา 
พระราชวังตองงา ที่ประทับของพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญตองงาฉบับแรกใช้บังคับในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 รัฐธรรมนูญตองงาประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน รูปแบบของรัฐบาล และที่ดิน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2010 สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ ยกเลิกสมาชิกรัฐสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตองงาสามารถทำได้โดยการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ หลังจากนั้นถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การสืบราชบัลลังก์ และที่ดินมรดกของชนชั้นขุนนาง

สถาบันพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐ และฮาอูโอเอ โฟนูอา (ประมุขสูงสุดของหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองของตองงา) พระมหากษัตริย์ตองงาสืบราชสมบัติผ่านทางสายพระโลหิต พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอะโฮเออิตู อูนูอากีโอโตงา ตูกูอาโฮ ตูโปอูที่ 6 ส่วนมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันคือ เจ้าชายซีอาโอซี มานูมาตาโอโง อาลาอีวาฮามามาโอ อาโฮเออีตู กอนสตันติน ตูกูอาโฮ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญซึ่งพระองค์ใช้ได้เองนั้นได้แก่ การดำรงสถานะเป็นจอมทัพของประเทศ การเรียกประชุมรัฐสภา การยุบสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกของรัฐสภา) การแต่งตั้งประธานรัฐสภา (ตามคำแนะนำของรัฐสภา) การแต่งตั้งผู้ว่าการเขตการปกครองฮาอะไปและวาวาอู (ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

ฝ่ายนิติบัญญัติ

สภานิติบัญญัติตองงา (ตองงา: Fale Alea) เป็นสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 26 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 17 คน และมาจากขุนนางเลือกกันเองอีก 9 คน หน้าที่ของสภานิติบัญญัติตองงาหรือฟาเลอาเลอาคือการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายจะพิจารณากันทั้งสิ้น 3 วาระ หากผ่านการลงคะแนนทั้งสามวาระ จึงจะนำถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อผ่านทุกกระบวนการแล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่กำหนดมูลค่าการเก็บภาษีของประชาชน กำหนดงบประมาณ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และถอดถอนคณะองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการเขตการปกครอง (ฮาอะไปและวาวาอู) และผู้พิพากษา

สมาชิกสภานิติบัญญัติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งในตองงาจะแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 17 เขตเลือกตั้งสำหรับตัวแทนของประชาชน และอีก 5 เขตเลือกตั้งสำหรับขุนนาง ในแต่ละเขตการปกครองมีเขตการเลือกตั้งดังนี้

  • โตงาตาปู เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 10 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 3 คน
  • เออัว เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน
  • ฮาอะไป เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
  • วาวาอู เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 3 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
  • นีอูอาส เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน

ฝ่ายบริหาร

ประเทศตองงา 
ที่ทำการนายกรัฐมนตรี

อำนาจของฝ่ายบริหารในตองงาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกในรัฐสภาและสมาชิกนอกรัฐสภาได้ไม่เกิน 4 คน ปัจจุบันประเทศตองงามีกระทรวง 15 กระทรวง นายกรัฐมนตรีตองงามีหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแนะการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตต่อพระมหากษัตริย์ และบริหารราชการแผ่นดิน

ฝ่ายตุลาการ

ฝ่ายตุลาการในประเทศตองงาเป็นอิสระจากอำนาจอื่น ศาลในตองงามี 4 ประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลสูงสุด (Supreme Court) ศาลที่ดิน (Land Court) และศาลแขวง (Magistrates' Court) พระมหากษัตริย๋แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี นอกจากนี้ ศาลสูงสุดมีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการ รวมถึงวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองในประเทศตองงาพรรคแรกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1994 กลุ่มนิยมประชาธิปไตยคือพรรคประชาชน (People's Party) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Human Rights and Democracy Movement - HRDM) พรรคการเมืองเข้าร่วมเลือกตั้งในตองงาเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1996 ใน ค.ศ. 2005 สมาชิกพรรคบางส่วนของพรรค HRDM ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน หลังจาก ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 3 พรรค คือ พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน (Paati Langafonua Tu'uloa) ที่ก่อตั้งใน ค.ศ. 2007 พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองงา (Tongan Democratic Labor Party) ซึ่งกลุ่มข้าราชการก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2010 และพรรคประชาธิปไตยแห่งหมู่เกาะมิตรภาพ (Democratic Party of the Friendly Islands) ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 2010 ปัจจุบันตองงามีพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 5 พรรค

ประเทศตองงา 
การแบ่งเขตการปกครองของตองงา

จากการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2017 พรรคการเมืองทุกพรรคได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 14 ที่นั่ง จากทั้งหมด 17 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นผู้สมัครอิสระ

การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศตองงาแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 5 เขตการปกครอง โดยแต่ละเขตการปกครองมีเมืองหลักดังต่อไปนี้

แต่ละเขตการปกครองมีการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นเขตและหมู่บ้าน โดยใน ค.ศ. 2013 ประเทศตองงามีเขตการปกครองระดับเขต 23 แห่ง และมีหมู่บ้าน 167 แห่ง ในระดับเขตการปกครองนั้นมีเพียง 2 เขตการปกครองเท่านั้นที่มีผู้ว่าการเขตการปกครองคือฮาอะไปและวาวาอู ส่วนในระดับย่อยลงไปนั้นจะมีเจ้าพนักงานประจำเขต (district Officer) ดูแลการปกครอง การบริหารจัดการในระดับเขตและทำรายงานการปกครองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ว่าการเขตการปกครอง (ในกรณีของฮาอะไปและวาวาอู) ส่วนในระดับหมู่บ้านจะมีเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้าน (town Officer) เป็นผู้ดูแลหลัก เจ้าพนักงานประจำเขตและเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยมีวาระคราวละ 3 ปี

โตงาตาปู วาวาอู ฮาอะไป เออัว นีอูอาส

1.  โกโลโฟโออู
2.  โกโลโมตูอา
3.  ไวนี
4.  ตาตากาโมโตงา
5.  ลาปาหา
6.  นูกูนูกู
7.  โกโลไว

8.  เนอิอาฟู
9.  ปาไงโมตู
10.  ฮาฮาเค
11.  เลอิมาตูอา
12.  ฮีฮีโฟ
13.  โมตู

14.  ปาไง
15.  โฟอา
16.  ลูลูงา
17.  มูโอมูอา
18.  ฮาอะโน
19.  อุยฮา

20.  เออัวโมตูอา
21.  เออัวโฟโออู

22.  นีอูอาโตปูตาปู
23.  นีอูอาโฟโออู

อาชญากรรม

ประเทศตองงามีรายงานการเกิดอาชญากรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเป็นหลัก โดยพบว่าใน ค.ศ. 2007 เกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 1,400 ครั้งจากอาชญากรรมที่มีการรายงานทั้งหมด 2,316 ครั้ง ประเทศตองงายังคงโทษประหารชีวิตไว้อยู่ แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดให้ตองงาเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1982

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเทศตองงาเน้นสร้างสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ โดยให้ความร่วมมือในภารกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ กับหลาย ๆ ประเทศ เช่น การส่งกองกำลังเข้าร่วมรบในอัฟกานิสถาน เป็นต้น สำหรับนโยบายการต่างประเทศในปัจจุบันของตองงาคือนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) (ถึงแม้ว่าทวีปเอเชียจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศตองงาก็ตาม) ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับทวีปเอเชีย ประเทศตองงายึดถือนโยบายจีนเดียว โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระดับเอกอัครราชทูตกับสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. 1998 สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้นตองงามีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งประเทศตองงามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหมือนในอดีต เห็นได้จากกรณีการปิดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ในกรุงนูกูอาโลฟาเมื่อ ค.ศ. 2006

ประเทศตองงามีความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งสำคัญเมื่อครั้งที่ตองงาประกาศยึดครองแนวปะการังมิเนอร์วา (สาธารณรัฐมิเนอร์วา) โดยฟีจีไม่ยอมรับการประกาศยึดครองในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศยังคงเจรจาในเรื่องเกี่ยวกับแนวปะการังแห่งนี้อยู่

กองทัพ

ประเทศตองงา 
กองกำลังตองงาระหว่างฝึกซ้อมการรบในอัฟกานิสถาน

กองกำลังป้องกันตองงา (อังกฤษ: Tonga Defense Services) เป็นกองทัพของประเทศตองงา ปัจจุบันมี 2 เหล่าทัพหลักคือกองทัพบกและกองทัพเรือ สำหรับกองกำลังทางอากาศนั้นสังกัดกองทัพเรือ หน้าที่หลักของกองกำลังป้องกันตองงาคือปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ การช่วยเหลือหน่วยงานพลเรือนในกิจการต่าง ๆ และการสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เป็นครั้งคราว ประเทศตองงาไม่มีการเกณฑ์ทหาร ผู้ที่ประสงค์เข้ารับราชการทหารในตองงาต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป โดยได้รับคำยินยอมของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ในสภาวะสงคราม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเรียกระดมพล ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ตองงามีข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐ ประเทศจีน สหราชอาณาจักร อินเดีย และนิวซีแลนด์ โดยเป็นความร่วมมือด้านการฝึกกำลังพลและโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพเป็นหลัก

สำหรับปฏิบัติการทางทหารของประเทศตองงาเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนิวซีแลนด์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกองกำลังป้องกันตองงาขึ้น จนกระทั่งสงครามยุติจึงประกาศยกเลิกหน่วยงานนี้ อย่างไรก็ตามกองกำลังป้องกันตองงาได้เริ่มดำเนินการอีกครั้งใน ค.ศ. 1946 นับแต่นั้น กองกำลังป้องกันตองงามีโอกาสทำหน้าที่รักษาสันติภาพในหลายดินแดน ที่สำคัญคือการรักษาสันติภาพในบูเกนวิลล์ ประเทศปาปัวนิวกินี การรักษาสันติภาพในหมู่เกาะโซโลมอน การเข้าร่วมกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อรักษาสันติภาพในอิรัก รวมไปถึงการร่วมรบในอัฟกานิสถาน ซึ่งตองงาส่งกองกำลังครึ่งหนึ่งของทั้งกองทัพเข้าร่วมรบในครั้งนี้

ภูมิศาสตร์

(บนซ้าย) เกาะที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้สมุทร
(บนขวา) ชายฝั่งของตองงา
(ล่างซ้าย) เกาะวาวาอู
(ล่างขวา) สะพานข้ามลากูนในวาวาอู

ประเทศตองงาตั้งอยู่ในภูมิภาคพอลินีเชีย เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์นเล็กน้อย เมืองหลวงของประเทศคือนูกูอาโลฟา ห่างจากออกแลนด์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1,770 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงซูวา เมืองหลวงของฟีจี ประมาณ 690 กิโลเมตร ตองงามีพื้นที่ 747 ตารางกิโลเมตร โดยที่ 30 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นน้ำ ประเทศตองงาประกอบด้วยเกาะ 169 เกาะ แต่มี 36 เกาะเท่านั้นที่มีประชากรอยู่อาศัย ตองงาประกอบด้วย 3 กลุ่มเกาะหลัก คือ โตงาตาปูซึ่งประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ วาวาอูซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ และฮาอะไปซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะแบบเขตร้อน ดินของตองงามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จุดสูงสุดของประเทศมีความสูง 1,033 เมตรตั้งอยู่บนเกาะเกา

ภูมิประเทศและธรณีสัณฐาน

หมู่เกาะตองงาเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกและอยู่ใกล้แผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย ทางตะวันตกของหมู่เกาะมีร่องลึกตองงา หมู่เกาะตองงามีทั้งเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟและเกาะที่เกิดจากปะการัง หมู่เกาะตองงากำเนิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่สามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าหมู่เกาะตองงาถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 5 ล้านปีก่อนในสมัยไพลโอซีน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าเกาะแรกของหมู่เกาะตองงาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยไมโอซีนแล้ว

เกาะที่สำคัญของตองงาหลายเกาะเกิดจากภูเขาไฟ เช่น อาตา, ฮาอะไป, เกา, โอโงนีอูอา เป็นต้น เกาะภูเขาไฟเหล่านี้เกิดจากแนวภูเขาไฟที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะอาตา แนวภูเขาไฟดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้ตองงามีเกาะใหม่เพิ่มขึ้นมา ทว่าเกาะที่เกิดขึ้นมานั้นมักจะจมลงทะเลในปีถัดไป ปัจจุบันมีเกาะเกิดจากแนวภูเขาไฟแห่งนี้เพียงเกาะเดียวที่ยังคงอยู่

เกาะในเขตการปกครองวาวาอูจะพบว่ายังพบภูเขาไฟที่มีพลังอยู่ ส่วนพื้นดินเกิดจากหินปูน รอบ ๆ เกาะนั้นมักมีปะการังล้อมรอบ ส่วนในเขตการปกครองฮาอะไปพบว่ายังมีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะเกาและโตฟูอา ในขณะที่สภาพดินของเกาะคล้ายกับที่วาวาอูคือเป็นดินที่เกิดจากหินปูน ส่วนในเขตการปกครองโตงาตาปูและเออัวนั้นเป็นเกาะที่กำเนิดจากปะการัง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบที่มีความสูงไม่เกิน 30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีเถ้าจากภูเขาไฟปกคลุมบริเวณเกาะ ทำให้ดินในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการระเบิดของภูเขาไฟในบริเวณหมู่เกาะนี้หลายครั้ง ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดของตองงามีความสูง 515 เมตร มีความกว้าง 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเกาะโตฟูอา ซึ่งเกิดการระเบิดของภูเขาไฟแห่งนี้ครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2013 ส่วนภูเขาไฟที่สูงที่สุดของประเทศนี้ตั้งอยู่บนเกาะเกา มีความสูง 1,030 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ภูมิอากาศ

ประเทศตองงาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศตองงามี 2 ฤดูกาลคือฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูฝนในประเทศตองงายังเป็นฤดูของพายุหมุนด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ส่วนฤดูแล้งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด ซึ่งอาจมีปริมาณน้ำฝนต่อเดือนสูงได้ถึง 250 มิลลิเมตร

อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศตองงาจะอยู่ระหว่าง 23-26 องศาเซลเซียสตามแต่ละท้องถิ่น ในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่อากาศร้อนมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-26 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูแล้งซึ่งอากาศเย็นมีอุณหภูมิระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส จากสถิติที่มีการบันทึกพบว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์ตองงาอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะวาวาอูในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 โดยมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ขณะที่บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในประวัติศาสตร์ตองงาอยู่ที่ฟูอาอะโมตู โดยมีอุณหภูมิ 8.7 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1994

ข้อมูลภูมิอากาศของนูกูอาโลฟา
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 32
(90)
32
(90)
31
(88)
30
(86)
30
(86)
28
(82)
28
(82)
28
(82)
28
(82)
29
(84)
30
(86)
31
(88)
32
(90)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 28
(82)
29
(84)
28
(82)
27
(81)
26
(79)
25
(77)
25
(77)
24
(75)
25
(77)
25
(77)
27
(81)
27
(81)
26
(79)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 25
(77)
25
(77)
25
(77)
24
(75)
23
(73)
21
(70)
21
(70)
21
(70)
21
(70)
22
(72)
23
(73)
23
(73)
23
(73)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 22
(72)
22
(72)
22
(72)
21
(70)
20
(68)
18
(64)
17
(63)
18
(64)
17
(63)
19
(66)
20
(68)
20
(68)
20
(68)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 16
(61)
17
(63)
15
(59)
15
(59)
13
(55)
11
(52)
10
(50)
11
(52)
11
(52)
12
(54)
13
(55)
16
(61)
10
(50)
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) 130
(5.12)
190
(7.48)
210
(8.27)
120
(4.72)
130
(5.12)
100
(3.94)
100
(3.94)
130
(5.12)
110
(4.33)
90
(3.54)
100
(3.94)
120
(4.72)
1,530
(60.24)
ความชื้นร้อยละ 77 78 79 76 78 77 75 75 74 74 73 75 75.9
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย 11 13 14 12 12 10 10 12 10 10 10 10 134
แหล่งที่มา: Weatherbase

ทรัพยากรดิน

ประเทศตองงา 
ป่าฝนเขตร้อนในเกาะเออัว

ทรัพยากรดินในหมู่เกาะของประเทศตองงามีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก ยกเว้นบริเวณที่มีภูเขาไฟเกิดใหม่ ดินส่วนใหญ่ในตองงาเกิดจากการทับถมของเถ้าภูเขาไฟและหินแอนดีไซต์บนหินปูนซึ่งเกิดจากปะการัง ดินในตองงาเป็นดินที่มีคุณสมบัติที่ดี เนื่องจากเป็นดินที่การระบายน้ำดีและมีความสามารถในการเก็บกักน้ำปานกลาง

ดินในเกาะโตงาตาปูเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก เหมาะแก่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่บริเวณชายฝั่งดินส่วนใหญ่เป็นดินเค็ม เพราะอยู่ติดทะเล ขณะที่ดินของเกาะเออัวมีความอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นทางตอนใต้ของเกาะที่เป็นหินปะการัง ส่วนในฮาอะไป เกาะส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของปะการัง โดยในฮาอะไปกำลังเผชิญปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งทำให้ดินในฮาอะไปลดความอุดมสมบูรณ์

ทรัพยากรน้ำ

หมู่เกาะตองงามีทรัพยากรน้ำจืดที่ค่อนข้างจำกัด ชาวตองงานิยมเก็บน้ำจืดไว้ในถังคอนกรีตซึ่งมาจากการเก็บกักน้ำฝนและสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน แหล่งน้ำหรือทะเลสาบสำคัญมักตั้งอยู่ในเกาะภูเขาไฟ โดยแหล่งน้ำที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในเกาะวาวาอู นีอูอาโฟโออู โนมูกา และนีอูอาโตปูตาปู

พืชและสัตว์

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตองงาปกคลุมไปด้วยป่าฝนเขตร้อน อย่างไรก็ตามจากการสนับสนุนเกษตรกรรมตามเกาะต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงไปมาก หญ้าและพืชขนาดเล็กหลายชนิดเข้าปกคลุมพื้นที่ป่าเดิม ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณปากปล่องภูเขาไฟมักพบไม้ล้มลุกเป็นหลัก ประเทศตองงาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีการประกาศพื้นที่เป็นเขตสงวนของชาติ ปัจจุบันในหมู่เกาะตองงามีการประกาศพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว 2 แห่ง (ในเขตการปกครองเออัวและวาวาอู เขตละ 1 แห่ง) และประกาศให้เป็นเขตสงวน 6 แห่ง

สำหรับพืชที่ค้นพบในประเทศตองงานั้น พบว่ามีพืชที่มีท่อน้ำเลี้ยง 770 สปีชีส์ ซึ่งรวมไปถึงเฟิร์นที่มี 70 สปีชีส์ (3 สปีชีส์เป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น) พืชเมล็ดเปลือย 3 ชนิด (Podocarpus pallidus เป็นพืชเมล็ดเปลือยที่พบเฉพาะถิ่น) และมีพืชดอก 698 สปีชีส์ ซึ่งมี 9 สปีชีส์ที่เป็นไม้ดอกท้องถิ่น เกาะต่าง ๆ ของประเทศตองงาต่างมีสปีชีส์ของพืชที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน เช่น เกาะโตงาตาปูมีพืช 340 สปีชีส์ ในขณะที่วาวาอูมีพืช 7 สปีชีส์

แม้จะพบพืชหลากหลายสปีชีส์ในหมู่เกาะของประเทศตองงา แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่กลับไม่มีความหลากหลายมากนัก พบว่ามีสัตว์เลื้อยคลาน 12 สปีชีส์โดยหนึ่งในนั้นเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ค้างคาว 2 สปีชีส์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ท้องถิ่น ในบริเวณชายฝั่งทะเลพบสิ่งมีชีวิตประเภทเต่า มอลลัสกาและปลาหลากหลายชนิด นอกจากนี้ในบริเวณหมู่เกาะตองงายังพบนกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมี 75 สปีชีส์ โดยมีนก 2 สปีชีส์เป็นนกท้องถิ่นคือ Pachycephala jacquinoti ซึ่งอาศัยอยู่ในวาวาอูและ Megapodius pritchardii ซึ่งอาศัยอยู่ในนีอูอาโฟโออู การเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในดินแดนตองงาส่งผลให้นก 23 สปีชีส์สูญพันธุ์ไปจากตองงา

เศรษฐกิจ

ประเทศตองงา 
ธนบัตรสกุลเงินปาอางา

ประเทศตองงามีเศรษฐกิจขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากทรัพยากรมีจำกัดและอยู่ห่างไกลจากแหล่งตลาดโลก ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเดียวกับที่กลุ่มประเทศในทวีปโอเชียเนียประสบอยู่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตองงาขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการประมง การที่ประเทศตองงาอยู่ห่างไกลจากตลาดโลกไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้ค่าขนส่งสินค้าแพงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศตองงาขาดปัจจัยการผลิตอีกด้วย สำนักข่าวกรองกลาง รายงานว่า ใน ค.ศ. 2013 ตองงามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1

เกษตรกรรม

(บนซ้าย) เกษตรกรชาวตองงา, (บนขวา) ท่าเรือเมืองเนอิอาฟู
(ล่าง) การชมวาฬที่เออัว

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมากของตองงา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดลง โดยระหว่าง ค.ศ. 1994 - 1995 ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติร้อยละ 34 ขณะที่ช่วง ค.ศ. 2005 - 2006 ส่วนแบ่งดังกล่าวลดเหลือร้อยละ 25 เท่านั้น สาเหตุหลักเกิดจากการที่รัฐสนับสนุนภาคบริการ จนกลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะช่วยสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ประเทศและสามารถยืนหยัดอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ได้

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญของตองงาคือมะพร้าว ซึ่งรวมไปถึงต้นกล้ามะพร้าว นอกจากนี้ยังส่งออกกล้วย วานิลลา ฟักทอง โกโก้ กาแฟ ขิง พืชหัวชนิดต่าง ๆ และพริกไทย

ประมง

ประเทศตองงามีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 700,000 ตารางกิโลเมตร โดยรัฐบาลตองงาอนุญาตให้กองเรือต่างชาติที่ใบอนุญาตจับปลาได้รับการอนุมัติแล้วเข้ามาทำประมงในเขตดังกล่าวได้ ซึ่งการทำประมงในเขตดังกล่าว กองเรือส่วนใหญ่นิยมจับปลาทูน่าซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและอิทธิพลของเอลนิโญและลานีญาส่งผลให้ปริมาณการจับปลาลดลงจากในอดีต

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เริ่มมีการจับล็อบสเตอร์เพื่อการค้ามากขึ้น โดยนิยมจับบริเวณทางตอนเหนือของฮาอะไปและทางใต้ของแนวปะการังมิเนอร์วา ซึ่งสามารถจับได้ถึง 36 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามปริมาณของลอบสเตอร์ที่จับได้ในปัจจุบันลดลงเหลือ 12 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังพบการจับหอยสองฝาเพื่อใช้บริโภคตามครัวเรือน รวมไปถึงขายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวด้วย ปัจจุบันรัฐบาลตองงาส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงหอยนางรมเพื่อนำไข่มุกมาสร้างรายได้แก่ตน การริเริ่มเลี้ยงหอยนางรมในตองงาเกิดขึ้นในวาวาอู โดยพันธุ์ที่เลี้ยงในระยะแรกเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970

การท่องเที่ยว

ในช่วงหลังยุคอาณานิคมช่วงแรก ธุรกิจการท่องเที่ยวในตองงาซบเซาและไม่มีการพัฒนามากนัก อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 1966 รัฐบาลตองงาตัดสินใจสร้างโรงแรมแห่งแรกในประเทศคือโรงแรมอินเตอร์แนชนัลเดตไลน์ขึ้น การสร้างโรงแรมอินเตอร์แนชนัลเดตไลน์ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจตองงาและเป็นภาคสำคัญที่ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศ ใน ค.ศ. 2011 มีนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตองงา 94,960 คน เพิ่มขึ้นจาก 66,639 คน ใน ค.ศ. 2004 นักท่องเที่ยวกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาจากประเทศนิวซีแลนด์และประเทศออสเตรเลีย จุดประสงค์หลักของการเดินทางเข้าประเทศตองงาคือการพักผ่อนในวันหยุดและการเยี่ยมญาติเป็นหลัก กิจกรรมการท่องเที่ยวในตองงามีอยู่หลายกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น การพายเรือคายัก การดำน้ำ การชมวาฬใต้ทะเล การตกปลา การดูนก การเลือกซื้องานหัตถกรรมพื้นเมือง เป็นต้น

การส่งออกและการนำเข้า

ประเทศตองงาส่งออกสินค้าไปยังประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐ และนิวซีแลนด์เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 18.5, 17 และ 15.6 ตามลำดับ ประเทศอื่น เช่น ฟีจี (ร้อยละ 10.2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.5) ซามัว (ร้อยละ 8.6) อเมริกันซามัว (ร้อยละ 5.4) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.1) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตองงาส่งออกนอกประเทศคือ สควอช ปลาทะเล วานิลลา และพืชหัว

สำหรับการนำเข้าสินค้า ประเทศตองงานำเข้าสินค้าเกินครึ่งหนึ่งจากประเทศฟีจีและประเทศนิวซีแลนด์ โดยคิดเป็นร้อยละ 35.7 และ 24.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ตองงายังนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ (ร้อยละ 10.5) และประเทศจีน (ร้อยละ 10.2) ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ สินค้าที่ตองงานำเข้ามาในประเทศคือ อาหาร เครื่องจักร เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์

โครงสร้างพื้นฐาน

สำมะโนตองงาใน ค.ศ. 2011 ได้รายงานสภาพโครงสร้างพื้นฐานของตองงาในหลาย ๆ ด้าน โดยจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 567 ครัวเรือนจาก 18,033 ครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าถึงน้ำประปา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนบนเกาะโตงาตาปู ในส่วนของการเข้าถึงไฟฟ้านั้นพบว่าครัวเรือนร้อยละ 88.51 มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระแสไฟฟ้าที่จ่ายมาตามเสาไฟฟ้า นอกจากนี้การใช้น้ำมันและพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่นิยมใช้กัน โครงสร้างพื้นฐานที่ดีของประเทศส่วนใหญ่พัฒนาอยู่แต่บนเกาะโตงาตาปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองนูกูอาโลฟา อันถือได้ว่าเป็นเขตเมืองแท้จริงเพียงแห่งเดียวของประเทศ

การคมนาคม

ประเทศตองงา 
ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู

ถนนส่วนมากในประเทศตองงาสร้างโดยใช้เงินบริจาคจากรัฐบาลต่างประเทศ ประเทศตองงามีความยาวถนนรวมกัน 680 กิโลเมตร โดย 496 กิโลเมตรยังไม่ได้ลาดยาง เนื่องจากตองงาเป็นประเทศเกาะขนาดเล็กและการจัดการที่ดินยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาในการพัฒนาระบบถนน ประชาชนนิยมใช้การขนส่งทางเรือในการเดินทางระหว่างเกาะ โดยท่าเรือที่สำคัญของประเทศอยู่ที่นูกูอาโลฟา ปาไง และเนอิอาฟู

ประเทศตองงามีท่าอากาศยาน 6 แห่ง โดยมีเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่มีพื้นลาดยาง (ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู) สายการบินแห่งชาติของตองงาคือรอยัลตองงาแอร์ไลน์ โดยก่อตั้งใน ค.ศ. 1985 ซึ่งต่อมาประสบภาวะล้มละลายและเลิกกิจการใน ค.ศ. 2004 จากการบริหารกิจการที่ล้มเหลวของรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสายการบินเปเอา วาวาอู ขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตสายการบินนี้หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สำนักงานแห่งหนึ่งของสายการบิน สายการบินของต่างประเทศ ได้แก่ แอร์นิวซีแลนด์ เวอร์จินออสเตรเลีย และฟีจีแอร์เวย์ เป็นผู้ดำเนินการการเดินทางระหว่างประเทศในตองงา ส่วนสายการบินเรียลตองงาดำเนินการการเดินทางในประเทศ

การสื่อสาร

ประเทศตองงา 
Tongan Broadcasting Commission

ในประเทศตองงามีสื่อพิมพ์เผยแพร่รายสัปดาห์อยู่ 2 ฉบับ คือ นิตยสารมาตางีโตงาซึ่งเป็นของเอกชนและหนังสือพิมพ์ "Tonga Chronicle" ซึ่งเป็นของรัฐบาล โดยตีพิมพ์ในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เป็นภาษาตองงาและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์เอกชน "the Times of Tonga" ซึ่งตีพิมพ์ในเมืองออกแลนด์ นิวซีแลนด์ โดยรายงานข่าวจากหมู่เกาะตองงา 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ประเทศตองงามีสถานีวิทยุ 4 สถานี ดังนี้ "Kool 90FM" (รัฐบาลเป็นเจ้าของ), "Tonga Radio "Magic" 89.1 FM", "Nuku'alofa Radio" และ "93FM" ซึ่งทั้งสามสถานีหลังเป็นของเอกชน สถานีโทรทัศน์มีผู้ดำเนินการ 2 รายคือรัฐบาลและดิจิทีวีซึ่งเป็นเอกชน

ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเกาะนั้นปรากฏการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยพบว่ามีโทรศัพท์พื้นฐานใช้งาน 30,000 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 56,000 เครื่อง ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8,400 คน

ประเทศตองงา 
นักเรียนชาวตองงา

การศึกษา

ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ในตองงาเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1826 โดยคณะมิชชันนารีเวสเลยัน หลังจากนั้นไม่นานมิชชันนารีกลุ่มอื่น ๆ ทั้งโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ได้เข้ามาจัดการศึกษา จึงอาจกล่าวได้ว่ารากฐานทางการศึกษาของประเทศตองงามาจากกลุ่มมิชชันนารีเหล่านี้ ซึ่งมีการสอดแทรกหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ในการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย การศึกษาภาคบังคับของประเทศตองงากำหนดให้ประชาชนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา ซึ่งข้อกำหนดนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1876 การจัดการศึกษาในประเทศตองงาอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. 1882 เมื่อรัฐบาลเข้าบริหารระบบการจัดการศึกษาเอง อย่างไรก็ตามคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งใน ค.ศ. 1906 ประเทศตองงาถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการศึกษาดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศโอเชียเนียด้วยกัน เนื่องจากประชาชนชาวตองงาส่วนมากรู้หนังสือ โดยรายงานสำมะโนตองงา ค.ศ. 2011 พบว่าประชาชนชาวตองงารู้หนังสือถึงร้อยละ 98.2 นอกจากนี้ร้อยละ 86 ของประชากรสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาตองงา

ประเทศตองงาจัดการศึกษาภาคบังคับให้แก่เด็กอายุตั้งแต่ 6 ถึง 14 ปี แบบให้เปล่า ซึ่งต่างจากหลายประเทศในเขตโอเชียเนีย ระบบการศึกษาตองงาแบ่งระดับชั้นออกเป็นประถมศึกษา 6 ชั้น มัธยมศึกษา 7 ชั้น และระดับอุดมศึกษา โดยในระดับอุดมศึกษาจะมีทุนให้นักศึกษาชาวตองงาเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงการให้ความช่วยเหลือตองงาในด้านการศึกษา

สาธารณสุข

การสาธารณสุขของประเทศตองงาอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในโอเชียเนียด้วยกัน อย่างไรก็ตามประชาชนในตองงายังนิยมการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมอยู่ ประชาชนจะเข้ารับการรักษาตามแผนปัจจุบันก็เมื่อเห็นว่าเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์กับการรักษาพยาบาลของตน ประชาชนชาวตองงาได้รับสวัสดิการจากรัฐในการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่า แต่ต้องชำระค่ายาด้วยตนเอง การสาธารณสุขภาคเอกชนนั้นยังอยู่ในวงแคบและเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ดำเนินกิจการส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบันที่ดำเนินกิจการหลังเสร็จสิ้นการทำงาน นอกจากนี้ในประเทศตองงายังมีระบบการประกันสุขภาพ แต่ระบบการประกันสุขภาพนี้ครอบคลุมเฉพาะข้าราชการ

รัฐบาลตองงาแบ่งเกาะต่าง ๆ ของประเทศออกเป็น 4 ส่วนในการบริหารงานด้านสาธารณสุข ตองงามีโรงพยาบาล 4 แห่ง โดยโรงพยาบาลไวโอลาในกรุงนูกูอาโลฟา เมืองหลวงของประเทศ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ (199 เตียง) โดยเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการรักษาพยาบาลขั้นสูง อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงมากนิยมส่งไปรักษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์โดย Medical Transfer Board เป็นผู้อนุมัติ สำหรับโรงพยาบาลอีก 3 แห่งตั้งอยู่ที่เออัว ฮาอะไปและวาวาอู ส่วนในนีอูอาสไม่มีโรงพยาบาล แต่มีศูนย์การแพทย์ของรัฐบาลรองรับการรักษาพยาบาลในบริเวณนี้ ใน ค.ศ. 2010 ประเทศตองงามีแพทย์ 58 คน พยาบาล 379 คนและทันตแพทย์ 10 คน

ประชากร

(ซ้าย) อาสนวิหารโรมันคาทอลิก, (ขวา) หญิงชาวตองงา

จากสำมะโนประชากรและเคหะ ค.ศ. 2016 ตองงามีประชากร 100,651 คน และมีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 155 คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตการปกครองโตงาตาปู ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในกรุงนูกูอาโลฟา อันเป็นเขตเมืองเพียงแห่งเดียวของประเทศ ขณะที่เขตการปกครองวาวาอู ฮาอะไป เออัวและนีอูอาสมีประชากรอยู่อาศัยร้อยละ 14, 6, 5 และ 1 ตามลำดับ นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชากรตองงามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าจากการสำมะโนในครั้งนี้กลับพบว่าประชากรโดยรวมทั้งประเทศลดลงร้อยละ 0.51

โครงสร้างประชากรของตองงาระหว่างเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกันมาก โดยพบว่ามีประชากรชาย 99.7 คนต่อประชากรหญิง 100 คน แต่หากพิจารณาตามเขตการปกครองอย่างฮาอะไป เออัวและนีอูอาส อัตราส่วนของประชากรชายจะสูงกว่าประชากรหญิงมาก แต่อัตราส่วนของประชากรชายในพื้นที่เหล่านั้นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกาะโตงาตาปูและในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐ หากพิจารณาจากเชื้อชาติของประชากร พบว่าประชากรตองงาในประเทศส่วนมากเป็นชาวตองงา มีจำนวน 97,662 คน (ร้อยละ 97) ส่วนร้อยละ 3 ที่เหลือเป็นประชากรกลุ่มอื่น โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดได้แก่ ลูกครึ่งตองงา ชาวจีน ชาวยุโรปและชาวฟีจี เป็นต้น ประชากรที่มีเชื้อสายอื่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะโตงาตาปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงนูกูอาโลฟา ส่วนนีอูอาสและเออัวมีประชากรเชื้อสายอื่นน้อยมาก ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีประชากรเชื้อสายอื่นรวมกันเพียง 48 คน เท่านั้น ด้วยประชากรเกือบทั้งประเทศเป็นชาวตองงาหรือมีเชื้อสายตองงา ดังนั้นจึงใช้ภาษาตองงาเป็นภาษาหลักประจำชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษานีวเวอย่างมาก ประชากรของตองงาทางตอนเหนือจะพูดภาษาตองงาต่างสำเนียงกับประชากรทางตอนใต้ นอกจากนี้ประชากรตองงาส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย โดยเอกสารราชการส่วนใหญ่ตีพิมพ์เป็นภาษาตองงาและภาษาอังกฤษ

เมื่อพิจารณาการนับถือศาสนาของประชากรตองงาพบว่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ 64.1 ในจำนวนนี้ส่วนมากนับถือฟรีเวสเลยันเชิร์ชคิดเป็นร้อยละ 35.05 ขณะที่มีการนับถือนิกายมอร์มอนรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 18.6 ขณะที่นิกายโรมันคาทอลิก มีผู้นับถือร้อยละ 14.2 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่น ๆ โดยกลุ่มใหญ่สุดเป็นผู้นับถือศาสนาบาไฮ นอกจากนี้จำนวนประชากรที่ไม่นับถือศาสนาใดยังมีจำนวนน้อย แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ประชากรตองงามีอายุคาดหมายเฉลี่ยประมาณ 76.40 ปี นับเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวในระดับปานกลาง คิดเป็นอันดับที่ 87 ของโลก มีอัตราการเกิดที่ 22.20 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน มีอัตราการตาย 4.90 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน ประชากรตองงาเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของประชากรมีน้ำหนักเกินกว่าค่ามาตรฐานตามการคำนวณดัชนีมวลกาย และมีประชากรร้อยละ 60 ของประเทศเป็นโรคอ้วน เมื่อพิจารณาเฉพาะประชากรผู้หญิง พบว่าประชากรหญิงชาวตองงาช่วงอายุระหว่าง 15-85 ปีเป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ 70 ประเทศตองงาและประเทศนาอูรูเป็นประเทศที่มีประชากรน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากที่สุดในโลก

วัฒนธรรม

(บนซ้าย) การเต้นรำโอตูฮากา, (บนขวา) กลองลาลี
(ล่าง) การเต้นรำลากาลากา

สังคมตองงามีการแบ่งชนชั้นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแบ่งชนชั้นในสังคมตองงาเริ่มลดลงหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปัจจุบัน ในสังคมตองงาแบ่งผู้คนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของนักบวชและชนชั้นนำอื่น ๆ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มสามัญชน สถานภาพของบุคลในตองงาตามโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะและอำนาจของบุคคลนั้น เพศและอายุมีส่วนในการจัดโครงสร้างชนชั้นด้วย โดยทั่วไปเพศหญิงมีสถานภาพสูงกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ชายเป็นเจ้าของที่ดินและสามารถส่งต่อบรรดาศักดิ์ของตนแก่บุตรหลานที่เป็นชายได้

ดนตรี

ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงาช่วงก่อนมีการติดต่อกับชาวตะวันตกนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตามกัปตันเจมส์ คุก และวิลเลียม มาริเนอร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับดนตรีและเพลงของตองงาไว้ เครื่องดนตรีตองงาส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องกระทบ เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องกระทบที่สำคัญของตองงา เช่น กลองนาฟาซึ่งทำจากไม้ ตาฟูอาซึ่งทำจากไม้ไผ่และอูเตเตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิณ เป็นต้น นอกจากกลุ่มนี้แล้ว เครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงายังมีทั้งกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องลม อย่างไรก็ตาม เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องหนังนั้นเพิ่งเข้ามาแพร่หลายในตองงาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนำเข้าจากซามัว พร้อมกับการเต้นมาอูลูอูลู ปัจจุบันดนตรีและบทเพลงของตองงาได้รับอิทธิพลจากดนตรีของยุโรปและแคริบเบียน โดยนำดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิภาคอื่นเหล่านี้มาใช้ร่วมกับดนตรีพื้นเมืองและบทเพลงพื้นเมือง

การเต้นรำ

การเต้นรำของตองงาได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การเต้นรำที่ขึ้นชื่อที่สุดของตองงาในปัจจุบันคือการเต้นเมเอตูอูปากี ซึ่งเป็นการเต้นรำที่ใช้ผู้ชายแสดงเท่านั้น โดยใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 ชิ้น คือ กลอง อูเตเตและ Ratchet โดยมีผู้ชายและผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้านหน้าผู้เต้นเป็นผู้ร้องสนับสนุน ในอดีตการเต้นเมเอตูอูปากีจะเต้นในโอกาสการเฉลิมฉลองระดับชาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดแสดงเมเอตูอูปากีตามหมู่บ้านต่าง ๆ บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเต้นรำอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าโอตูฮากา ที่ใช้นักแสดงทั้งชายและหญิง การแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงที่ใช้มือประกอบการแสดงบ่อยมาก เครื่องดนตรีที่นิยมใช้ประกอบการแสดงคือเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเครื่องดนตรีตะวันตกที่นำมาใช้คือกีตาร์ ในขณะที่ตาฟูอาเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้ประกอบการแสดง

การเต้นรำอีกประเภทหนึ่งของตองงาที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ใน ค.ศ. 2013 คือลากาลากา โดยการเต้นรำประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของประเทศตองงา การเต้นรำลากาลากาเป็นการเต้นรำที่ใช้ทั้งการเต้น การพูด การใช้เสียงและเครื่องดนตรี การเต้นลากาลากาจะใช้ผู้แสดงประมาณ 100 คน ผสมผสานกันทั้งชายและหญิง ชายจะแสดงท่าทางที่มีพลัง ขณะที่หญิงจะแสดงท่าทางที่สวยงาม

อาหารและเครื่องดื่ม

ประเทศตองงา 
โอไต

ชาวตองงาสมัยก่อนนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอาหารหลัก อันได้แก่ มันเทศ กล้วย มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากทะเลก็สำคัญเนื่องจากสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคปลาและสัตว์จำพวกหอย โดยที่ปลาต้องผ่านกรรมวิธีการอบความร้อนก่อน ขณะที่สัตว์จำพวกหอยชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคแบบดิบ นิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเลี้ยงสุกรในครัวเรือนชาวตองงาสมัยโบราณอีกด้วย

หลังชาวยุโรปเข้ามา ชาวยุโรปได้นำพืชต่างถิ่นเข้ามาในตองงาส่งผลให้อาหารและเครื่องดื่มของตองงาในยุคหลังได้รับอิทธิพลมาจากพืชเหล่านั้น โดยพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาในตองงาคือ หัวหอม กะหล่ำปลี แคร์รอต มะเขือเทศ ส้ม มะนาว ยักกา รวมไปถึงแตงโม แตงโมกลายเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา เนื่องจากแตงโมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องดื่มของตองงาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือโอไต ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแตงโมและมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ บางครั้งมีการนำมะม่วงหรือสับปะรดเป็นวัตถุดิบด้วย ชาวตองงานอกจากจะนำพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาทำเป็นเครื่องดื่มแล้ว ยังนำพืชนั้นมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูปูลู ซึ่งนำมะเขือเทศและหัวหอมมาปรุงพืชพื้นเมืองตองงาและเนื้อจนได้เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในตองงาอย่างหนึ่ง

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศตองงายังมีเครื่องดื่มยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาวา โดยคาวานั้นทำมาจากต้นคาวา นิยมใช้ในพิธีการรวมทั้งพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ชาวตองงานิยมนำคาวามาใช้รักษาโรคและบรรเทาอาการหลากหลาย ซึ่งคาวามีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดข้อ วัณโรค หนองในและอาการไข้

กีฬา

ประเทศตองงา 
รักบี้ทีมชาติตองงา

กีฬาประจำชาติและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา คือ รักบี้ ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นการจัดชิงแชมป์โลกครั้งแรก การแข่งขันที่ตองงาประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกใน ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2011 ซึ่งสามารถจบในอันดับที่ดีพอที่จะเข้าแข่งขันในครั้งต่อไปโดยอัตโนมัติ

ด้านกีฬาฟุตบอล ประเทศตองงาเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศและสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนียตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ฟุตบอลทีมชาติตองงาเข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในเซาธ์แปซิฟิกเกมส์ โดยการแข่งขั้นในครั้งแรกนั้นพบกับฟุตบอลทีมชาติตาฮีตี ซึ่งฟุตบอลทีมชาติตองงาแพ้ 8–0 ผลการแข่งขันที่แย่ที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการแพ้ต่อฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย 22–0 ใน ค.ศ. 2001 ส่วนผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการชนะฟุตบอลทีมชาติไมโครนีเซีย 7 –0 ใน ค.ศ. 2003

คณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศตองงานั้นก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1963 และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลใน ค.ศ. 1984 ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกใน ค.ศ. 1984 ประเทศตองงาเคยได้รับ 1 เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกใน ค.ศ. 1996 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐ โดยในครั้งนั้น ปาเออา วอฟแฟรม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เหรียญเงิน ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวนั้น ตองงาจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย เป็นครั้งแรก

วันหยุดราชการ

ประเทศตองงาประกาศให้มีวันหยุดราชการ 10 วัน โดยมีวันหยุดราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศ 6 วันและมีวันหยุดราชการที่เป็นสากลอีก 4 วัน เช่น วันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส

วันที่ ชื่อ ชื่อวันในภาษาอังกฤษ
1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่ New Year’s Day
- วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงา Birthday of the reigning Sovereign of Tonga
- วันเฉลิมพระชนมพรรษามกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรตองงา Birthday of the Heir to the Crown of Tonga
- วันศุกร์ประเสริฐ Good Friday
- วันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์ Easter Monday
4 มิถุนายน วันเอกราช Emancipation Day
- วันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงา the Anniversary of the Coronation Day of the reigning Sovereign of Tonga
4 ตุลาคม วันรัฐธรรมนูญ Constitution Day
4 ธันวาคม วันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 The Anniversary of the Coronation of H.M. King George Tupou I
25 ธันวาคม วันคริสต์มาส Christmas Day and the day immediately succeeding Christmas Day

อ้างอิง

อ่านเพิ่ม

ชาติพันธุ์วรรณนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

  • On the Edge of the Global: Modern Anxieties in a Pacific Island Nation (2011) by Niko Besnier. Stanford, CA: Stanford University Press, ISBN 978-0-8047-7406-2
  • Islanders of the South: Production, Kinship and Ideology in the Polynesian Kingdom of Tonga (1993) by Paul van der Grijp. Leiden: KITLV Press. ISBN 90 6718 058 0
  • Identity and Development: Tongan Culture, Agriculture, and the Perenniality of the Gift (2004) by Paul van der Grijp. Leiden: KITLV Press. ISBN 90 6718 215 X
  • Manifestations of Mana: Political Power and Divine Inspiration in Polynesia (2014) by Paul van der Grijp. Vienna and Berlin: LIT Verlag. ISBN 978-3-643-90496-6
  • Becoming Tongan: An Ethnography of Childhood by Helen Morton
  • Queen Salote of Tonga: The Story of an Era, 1900–65 by Elizabeth Wood-Ellem
  • Tradition Versus Democracy in the South Pacific: Fiji, Tonga and Western Samoa by Stephanie Lawson
  • Voyages: From Tongan Villages to American Suburbs Cathy A. Small
  • Friendly Islands: A History of Tonga (1977). Noel Rutherford. Melbourne: Oxford University Press. ISBN 0-19-550519-0
  • Tonga and the Tongans: Heritage and Identity (2007) Elizabeth Wood-Ellem. Alphington, Vic.: Tonga Research Association, ISBN 978-0-646-47466-3
  • Early Tonga: As the Explorers Saw it 1616–1810. (1987). Edwin N Ferdon. Tucson: University of Arizona Press; ISBN 0-8165-1026-1
  • The Art of Tonga (Ko e ngaahi'aati'o Tonga) by Keith St Cartmail. (1997) Honolulu : University of Hawai`i Press. ISBN 0-8248-1972-1
  • The Tonga Book by Paul. W. Dale
  • Tonga by James Siers

สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม

  • Birds of Fiji, Tonga and Samoa by Dick Watling
  • A Guide to the Birds of Fiji and Western Polynesia: Including American Samoa, Niue, Samoa, Tokelau, Tonga, Tuvalu and Wallis and Futuna by Dick Watling
  • Guide to the Birds of the Kingdom of Tonga by Dick Watling

หนังสือท่องเที่ยว

  • Lonely Planet Guide: Samoan Islands and Tonga by Susannah Farfor and Paul Smitz
  • Moon Travel Guide: Samoa-Tonga by David Stanley

บรรณานุกรม

บันเทิงคดี

แหล่งข้อมูลอื่น

Tags:

ประเทศตองงา ชื่อประเทศประเทศตองงา ประวัติศาสตร์ประเทศตองงา การเมืองการปกครองประเทศตองงา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประเทศตองงา กองทัพประเทศตองงา ภูมิศาสตร์ประเทศตองงา เศรษฐกิจประเทศตองงา โครงสร้างพื้นฐานประเทศตองงา ประชากรประเทศตองงา วัฒนธรรมประเทศตองงา อ้างอิงประเทศตองงา อ่านเพิ่มประเทศตองงา แหล่งข้อมูลอื่นประเทศตองงา

🔥 Trending searches on Wiki ไทย:

มณฑลของประเทศจีนอาณาจักรสุโขทัยจังหวัดภูเก็ตสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีจักรราศีจ้าว ลี่อิ่งศุกลวัฒน์ คณารศประเทศอิตาลีชวลิต ยงใจยุทธสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชวรินทร ปัญหกาญจน์ลมเล่นไฟพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรายชื่อวันสำคัญสำราญ นวลมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญามิถุนายนจ้าว ลู่ซือหม่ำ จ๊กมกปีนักษัตรชิงชังวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุขจังหวัดนครราชสีมาเอกซ์เอกซ์เอกซ์เทนเทสซิยอนพรหมโลกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยศาสนาอิสลามรายชื่อประเทศและเขตการปกครองเรียงตามขนาดพื้นที่ทั้งหมดเจ้าหญิงดิสนีย์จังหวัดพะเยาณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์จังหวัดกระบี่โรงเรียนเตรียมทหารประเทศนิวซีแลนด์ประเทศซาอุดีอาระเบียยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหลานม่าณัฐชา นีน่า เจสซิกา พาโดวันละหมาดอินสตาแกรมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยภาษาไทยการฆ่าตัวตายรายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลอริยสัจ 4กรุงเทพมหานครประเทศคาซัคสถานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ศาสนาเชนกฤษณภูมิ พิบูลสงครามสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรกระทรวงในประเทศไทยนรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์ประเทศมาเลเซียรายชื่อประธานาธิบดีสหรัฐปาราชิกปรีชญา พงษ์ธนานิกรเจมส์ มาร์วิทยุเสียงอเมริกาก็อตซิลลาเกิดชาตินี้พี่ต้องเทพมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์วิทยาศาสตร์จังหวัดของประเทศเกาหลีใต้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมษายนรายชื่อละครโทรทัศน์ทางช่อง 7HDรายชื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยเจ้าคุณพระประยุรวงศ์สหประชาชาติธนาคารไทยพาณิชย์รายชื่อสมาชิกบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตหมากรุกไทยบิลลี ไอลิช🡆 More